Skip to main content
sharethis

พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ คิดต่อจากคำให้สัมภาษณ์ของประภาส ปิ่นตบแต่ง ว่าด้วย ภาคประชาชน นอกจากความเกลียดทักษิณแล้ว มีอะไรที่มวลชนเสื้อเหลืองกับมวลชนของ ภาคประชาชน มีผลประโยชน์ร่วมกันจริงๆ บ้าง แล้วใครล่ะที่ ภาคประชาชน คาดหวังจะให้เป็นผู้ปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้เป็นธรรมขึ้นมาได้

พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์

 

การวิจารณ์แนวทางการเคลื่อนไหวรอบล่าสุดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยประภาส ปิ่นตบแต่ง ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์แท็บบลอยด์ ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2551 ดูจะส่งผลสะเทือนพอสมควรต่อพันธมิตรฯ ซีกที่ว่ากันว่าเป็น "ภาคประชาชน" คนกลุ่มนี้ต้องแก้เกมด้วยการออกแถลงการณ์ของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ "ในทุกรูปแบบ " รวมทั้งนำตัวแทน "ภาคประชาชน" จากภาคใต้ เหนือ อีสาน และตะวันออก ขึ้นเรียงหน้ากระดานปราศรัยบนเวทีพันธมิตรเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา

คำว่า "ภาคประชาชน" นี้ ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าน่าจะหมายถึง เอ็นจีโอและกลุ่มประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องในประเด็นความเดือดร้อนต่างๆ ที่เอ็นจีโอทำงานอยู่ด้วย

ที่ผ่านมา ศัตรูหลักตลอดกาลของ "ภาคประชาชน" ก็คือ ทุนนิยมและรัฐ

ในปัจจุบันนี้ ศัตรูตัวแรก หรือศัตรูฝ่ายทุนนิยม ดูจะมีความหมายเฉพาะเจาะจงไปที่ทุนข้ามชาติ กับทุนที่เพิ่งเติบโตขึ้นมาใหม่ พูดให้ง่ายคือทุนโลกาภิวัตน์และทุนสามานย์ ส่วนทุนอื่นนอกเหนือไปจากนี้ ดูจะไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าใดนัก ที่พิเศษในตอนนี้คือ ปรากฏมี "ทุนฝ่ายเทพ" อยู่ด้วย ซึ่งก็คือทุนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของทุนสองอันแรกนั่นเอง

ศัตรูที่เป็นรัฐในตอนนี้คือ เผด็จการรัฐสภาที่ครอบงำโดยนายทุนขั้วสามานย์และนักเลือกตั้ง ส่วนทหารและอำมาตยาธิปไตยไม่ใช่ศัตรูอีกต่อไป หากแต่ตรงกันข้ามกลับกลายมาเป็นที่พึ่งของ "ภาคประชาชน"

ศัตรูทั้งหมดนี้รวบยอดมาอยู่ในตัวคนๆ เดียวคือ ทักษิณ ชินวัตร

น่าสังเกตว่าคำแถลงของกป.อพช.ใต้ ย้ำคำว่า "ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา" ของระบอบทักษิณอยู่บ่อยครั้ง นั่นหมายความว่าพวกเขาจงใจลืมช่วงปีกว่าๆ ของคมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์ไปเลย

ท่าทีอย่างนี้คือท่าทีของภาคประชาชนส่วนใหญ่ "ในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา"

"ภาคประชาชน" มีปัญหามากมายสารพัดกับ "ระบอบทักษิณ" แต่กลับนิ่งเฉยกับ "ระบอบอมาตยาธิปไตย" ถึงขั้นที่หลายคนหันไปปรองดอง นับญาติเป็นพี่เป็นน้องกับขุนศึกบางคนด้วยซ้ำไป

"ภาคประชาชน" มีปัญหากับการขายหุ้นเลี่ยงภาษีของทักษิณ แต่กลับไม่มีปัญหากับการเบิกค่าใช้จ่ายในการรัฐประหาร 19 กันยาของคมช. ไม่มีปัญหากับการควบตำแหน่งรับเงินสองสามทางของคมช. ไม่มีปัญหากับการขึ้นเงินเดือนพิเศษ 2 ขั้นให้กับบุคลากรในสังกัดคมช.  ไม่คัดค้านงบประมาณกองทัพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะงบซื้อเครื่องบินของกองทัพอากาศและเรือดำน้ำของกองทัพเรือหลายหมื่นล้านบาท ไม่วิพากษ์วิจารณ์การขึ้นเงินเดือนองคมนตรีและรัฐบุรุษโดยรัฐบาลสุรยุทธ์เพียงไม่กี่วันก่อนพ้นวาระ (หลังจากนั้นไม่นานสุรยุทธ์ก็กลับมาเป็นองคมนตรี) ไม่ตั้งคำถามกับการใช้งบประมาณกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทเพื่อทำงานมวลชนระดับหมู่บ้านของคมช. (จากคำแถลงของพล.อ.มนตรี สังขทรัพย์, บางกอกโพสต์ 22 ส.ค. 2550) ฯลฯ

"ภาคประชาชน" มีปัญหาเหลือเกินกับการแทรกแซงองค์กรอิสระและอำนาจตุลาการโดยทักษิณ แต่ไม่มีปัญหาแม้แต่นิดเดียวกับการที่คมช.ตั้งองค์กรอิสระเสียเอง หรือการกำหนดที่มาขององค์กรอิสระแบบใหม่ให้มาจากการตัดสินใจของศาลเพียงไม่กี่คน หรือการแทรกแซงตุลาการโดยอำนาจอื่นที่อยู่เหนือคมช.

"ภาคประชาชน" ไม่มีปัญหากับการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่มีปัญหากับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่กระบวนการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างฯ ไปจนถึงการบังคับลงประชามติแบบมัดมือชก แต่กลับเป็นเดือดเป็นแค้นกับการแก้รัฐธรรมนูญ 2550

น่าขำที่ "ภาคประชาชน" ส่งคนลงสมัครวุฒิสมาชิกในระบบสรรหาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะในบรรดาตัวแทน "ภาคประชาชน" ที่เข้าประกวดนั้น  ไม่มีใครเข้าตากรรมการสรรหาทั้ง 7 คนเลย

 "ภาคประชาชน" บางส่วนเพิ่งจะมามีปัญหากับสนช.เอาก็ต่อเมื่อลิเกใกล้จะเก็บวิกแล้ว คงเป็นเพราะว่าสนช.ออกกฎหมายมาไม่ถูกใจซะมากกว่าอะไรอย่างอื่น

 "ภาคประชาชน" มีปัญหากับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของทักษิณ แต่ไม่มีปัญหากับความเปลี่ยนแปลงแบบย้อนยุคที่ให้ทหารกลับเข้าไปกุมรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง บางแห่งมีความชอบมาพากลถึงขนาดพวกเดียวกันเองแท้ๆ อย่างผู้จัดการ-สะพรั่ง-บรรณวิทย์ ยังแตกคอออกมาบลัฟกันเองในเรื่อง "เหลือบในคราบวีรบุรุษ" กับ "1 ปี TOT"

น่าอนาถที่ "ภาคประชาชน" ไม่เข้าใจว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขั้ว "ทุนสามานย์" หรือขั้ว "ทุนคุณธรรม" ก็ล้วนแล้วแต่มีแนวทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเข้ากระเป๋าใคร

 "ภาคประชาชน" เคียดแค้นชิงชังโลกาภิวัตน์ ขุ่นแค้นถึงขั้นเคยขอนายกฯ พระราชทาน โดยมาตรา 7 พร้อมพ่วงประเด็นยกเลิก FTA ไปด้วย แต่ครั้นได้สุรยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี ผลงานชิ้นแรกๆ ของนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคือการบินไปเซ็น FTA กับญี่ปุ่น

ความผิดหวังในครั้งนั้นทำให้ "ภาคประชาชน" ต้องหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเคลื่อนไหวให้ยกเลิก FTA ที่ศาลหลักเมือง (FTA วอทช์หันพึ่งศาลหลักเมือง หวังดลใจ "สุรยุทธ์" ล้มเซ็นสัญญาญี่ปุ่น, แนวหน้า, 2 เม.ย. 2550) เมื่อไม่เป็นผล "ภาคประชาชน" ก็ต้องกลับลำหันมาพึ่งระบบรัฐสภา โดยบอกว่า รัฐบาลสุรยุทธ์เป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว ไม่มีสิทธิตัดสินใจ ต้องรอรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา น่าจะสรุปได้แล้วกระมังว่าขั้วอำนาจสองฝ่ายฟาดฟันกันเพราะความขัดแย้งทางผลประโยชน์  และที่สำคัญ ผลประโยชน์ของแต่ละขั้วก็ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของมวลชนของ "ภาคประชาชน" เองด้วย

ในช่วง คมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์มีอำนาจ พวกเขาเคยมีท่าทีชะลอโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียที่ อ.จะนะ จ.สงขลา บ้างไหม?  โรงไฟฟ้าจะนะโรงที่สองผุดขึ้นมาในแผนก็ในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์นี้เอง

ถ้าจะตอบปัดไปว่าโรงไฟฟ้าโรงที่สองนี้เป็นมรดกบาปของทักษิณ ก็ต้องไม่ลืมว่า ในปี 2541 ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีไทยและมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นสักขีพยานในการลงนามโครงการฯ ระหว่างปตท.กับเปโตรนาส ที่สวนพล.อ.เปรม จ.สงขลา  รวมทั้ง พล.อ.จรัล กุลละวนิชย์ ประธานประชาพิจารณ์อาบเลือดในปี 2543 ก็มาเป็นรองประธานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุคคมช.

โครงการโรงถลุงเหล็กสหวิริยาที่อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ ที่มีความขัดแย้งในพื้นที่จนปะทะกันเลือดตกยางออก คนตายไปหนึ่งคน ก็เกิดในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์เช่นกัน

"ภาคประชาชน" พอใจไหมกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับสนช. ที่เฝ้ารอคอยมานานแสนนาน?

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

พ.ร.บ.ความมั่นคง

ฯลฯ

เมื่อขั้ว "คุณธรรม" เอาชนะขั้ว "ทุนสามานย์" ได้เบ็ดเสร็จแล้ว การปฎิรูปที่ดิน การกระจายการถือครองปัจจัยการผลิต การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า การเก็บภาษีมรดก ฯลฯ จะสามารถเป็นไปได้หรือไม่?

ระบอบทักษิณแทรกแซงและทำลายกลไกการตรวจสอบ แล้ว "ภาคประชาชน" สามารถตรวจสอบ "ระบอบคุณธรรม" ได้สักครั้งหนึ่งไหม?

หลังการรัฐประหาร 19 กันยา อำนาจจากขั้วทุนสามานย์ถูกโยนกลับไปอยู่ที่อีกขั้วหนึ่ง แต่ภาคประชาชนก็ไม่สามารถตรวจสอบผู้ครองอำนาจได้อยู่ดี เพราะฝ่ายนั้นว่ากันว่ามี "คุณธรรม" และ "จริยธรรม"

"ภาคประชาชน" เกิดอาการตาลุกน้ำลายสอ เมื่อเห็นมวลชนเรือนหมื่นของสนธิ ลิ้มทองกุล ชนิดที่ยากจะหามาได้ด้วยตัวเอง จึงเกิดความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะใช้เป็นโอกาสในการให้ข้อมูล "ให้การศึกษา" แก่ชนชั้นกลางเสื้อเหลืองทั้งหลายให้เห็นถึงความทุกข์ยากของมวลชนผู้ยากไร้

แต่แล้วในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานี่เป็นอย่างไร? หลังจากโค่นทักษิณลงไปได้แล้ว (ชั่วคราว) ชนชั้นกลางเสื้อเหลืองได้ถือเป็นธุระบ้างไหมกับ "วาระของภาคประชาชน"?

นอกจากความเกลียดทักษิณแล้ว มีอะไรที่มวลชนเสื้อเหลืองกับมวลชนของ "ภาคประชาชน" มีผลประโยชน์ร่วมกันจริงๆ บ้าง?

มวลชนเสื้อเหลืองเดือดร้อนไหมกับการที่รัฐบาลสุรยุทธ์พลิกมติครม.ให้ปิดเขื่อนปากมูนถาวรจากการแทรกแซงของคมช.? (ดู สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์ ซัด คมช. "รังแกคนจน" และ ผลักไสชาวแม่มูน ปิดเขื่อนต่อ ไล่พ้นทำเนียบรัฐบาล)

ในตอนนี้ เป็นไปได้ว่าชนชั้นกลางเสื้อเหลืองอาจจะมีความเห็นใจย้อนหลังให้กับสมัชชาคนจนที่ถูกสลายการชุมนุมจากข้างทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2546 เพราะคนที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการควบคุมการรื้อเพิงพักของสมัชชาคนจนในวันนั้น คือผู้ว่ากทม.ที่ปัจจุบันนี้เป็นนายกฯ นอมินีของทักษิณที่ชื่อ สมัคร สุนทรเวช นั่นเอง

"ภาคประชาชน" ส่งตัวแทนลง ส.ว.สรรหา โดยไม่รังเกียจกับเนื้อหาและที่มาของกติกาที่ร่างโดยอำมาตยาธิปไตย ใช่หรือไม่ว่าภาคประชาชนมีลักษณะหลงตัวเอง (self-righteous) และอำนาจนิยม จนคิดว่าตนเองสามารถดลบันดาลความเป็นธรรมให้กับพี่น้องมวลชนผู้ยากไร้ได้โดยไม่ต้องยึดติดกับรูปแบบใดๆ ?

มันเป็นความมักง่ายที่จะเหมารวมทุกอย่างให้เป็นทักษิณ มันอธิบายง่าย สร้างอารมณ์ร่วมได้ง่าย เพราะมันเห็นเป็นตัวปีศาจชัดเจนดี แต่การเด็ดหัวทักษิณ ถามว่าจะแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่ภาคประชาชนได้พรรณนามานี้ได้หรือไม่? หรือต้องให้สนธิ ลิ้มทองกุล สร้างระบอบอะไรขึ้นมาใหม่เพื่อจะทำลายล้างต่อไปอีก?

บรรจง นะแส เลขาธิการกป.อพช.ใต้ ปิดท้ายรายการบนเวทีพันธมิตรในคืนวันที่ 5 มิ.ย.นั้นว่า "ต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจก่อน ประชาธิปไตยกินได้ กินไม่ได้ ไม่มีความหมาย" ("ประชาธิปไตยกินได้" คือคำขวัญของสมัชชาคนจนที่ไม่เข้าร่วมกับพันธมิตร)

แล้วใครล่ะที่ "ภาคประชาชน" คาดหวังจะให้เป็นผู้ปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ (ให้เป็นธรรมขึ้นมาได้)?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net