Skip to main content
sharethis






ประภัสส์ ชูวิเชียร


 


เป็นนักศึกษาปริญญาเอกในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่นิยามตัวเองสั้นๆว่า เป็น "พลเรือนชั้นประทวน"  รักงานวิชาการที่เกี่ยวเรื่องเก่าๆ มักหาเวลาเดินทางด้วยสองขาและรางเหล็กตามไปดูสิ่งสวยงามในดินแดนไทย     


 


 


 


"ข้าวขึ้นราคาอย่าหลงวาจาเสี่ยหนุ่ม พี่อยู่ไกลหัวใจกลัดกลุ้ม ร้อนรุ่มดั่งเดือนเมษา"


 


เพลง "สาวผักไห่" ของชาตรี ศรีชล แม้จะขับร้องกันมานานแล้ว แต่ก็เข้ากันกับบรรยากาศและสถานการณ์ตอนนี้ คือข้าวขึ้นราคา พร้อมๆกับข้าวของอื่นๆที่ถีบตัวพุ่งสูงอย่างน่าใจหายตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๕๑ นี้เป็นต้นมาโดยไม่มีใครฉุดอยู่แม้แต่นายกรัฐมนตรีที่ทำกับข้าวเป็นอาชีพเสริม


 


"ข้าว" เป็นอาหารหลักไม่เฉพาะแค่คนไทยอย่างเราๆท่านๆ แต่เป็นอาหารของคนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ภาวะที่ข้าวขึ้นราคาอย่างนี้จะไม่ให้อดกินข้าวหันไปกินเผือกกินมันแทนคงจะไม่ไหวเช่นกันเพราะเราคนไทยร้อยทั้งร้อยกินข้าวกันมาตั้งแต่เกิด แล้วก็ต้องกินข้าวกันต่อไปจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง


           


มิติทางสังคมของข้าวยังคงมีอะไรๆที่หลากหลายกว่าเรื่องราคา ไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นมาของพืชชนิดนี้ มาจนถึงมิติด้านความเชื่อต่างๆในการกสิกรรมหรือกระบวนการผลิตข้าวออกมาจนเป็นเมล็ดให้กินกัน


           


ในยามข้าวยากหมากแพงอย่างนี้ เราลองหันมาทบทวนเรื่องราวอื่นๆของ "ข้าว" ดูกันดีกว่า ผู้เขียนเองอยากเราให้ลองมอง "ข้าว" ในด้านวัฒนธรรมให้มากขึ้น เพราะเพียงการที่เราคนไทย "กินข้าว" อยู่ทุกวันและเดือดร้อนจากภาวะข้าวขึ้นราคาก็นับเป็นผลพวงทางวัฒนธรรมที่มาจากข้าวทั้งสิ้น


 


ลองดูอย่างแรกก็ได้ คือเรื่องความเป็นมาของการที่ผู้คนในดินแดนประเทศไทยกินข้าวกันเป็นอาหารหลักนั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?  คำถามนี้หากไปถามกับชนชั้นผู้บริหารประเทศไล่ลงมาถึงคนที่กำลังนั่งกินข้าวแกงข้างถนนอยู่ก็คงบอกว่า


 


"ไม่รู้  รู้ไปก็ให้ลดราคาข้าวไม่ได้หรอก จริงมะ"


 


แต่ถ้าบังเอิญไปเจอผู้ที่ร่ำเรียนทางด้านวิชาโบราณคดีมา เขาก็คงจะชวนให้นั่งลงแถวใต้ร่มไม้สักแห่งก่อนที่จะสาธยายยืดยาวออกมาว่า


 


"จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ถ้ำปุงฮุง แม่ฮ่องสอน เราได้พบเมล็ดข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุถึง ๓,๐๐๐ ถึง ๓,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล หรือ ราวๆ๓,๕๐๐ ถึง ๔,๐๐๐ ปี  ก่อนพระพุทธเจ้าของเราจะประสูติเสียอีกนะคุณ ส่วนที่โนนนกทา จังหวัดขอนแก่นก็พบเศษเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีรอยแกลบข้าวติดอยู่ ซึ่งพอนำมากำหนดอายุโดยเครื่องมือวิทยาศาสตร์แล้วได้ผลว่าเป็นข้าวที่เก่าถึง ๕,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว"


           


"นอกจากนี้ในการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานี เรายังได้เจอร่องรอยแกลบข้าวติดอยู่กับเครื่องมือที่ทำจากเหล็กด้วย สำหรับข้าวที่พบในการขุดค้นบ้านเชียงนี้เรากำหนดอายุไว้ได้ราวๆสองพันกว่าปีมาแล้ว ส่วนในภาคกลางและภาคตะวันออก ที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี ก็พบขี้เถ้าจากแกลบข้าว  สรุปได้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้กินข้าว หรืออย่างน้อยก็รู้จักการปลูกข้าวกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์"


 



 


คำอธิบายรูป ๑ เปลือกข้าวจากถ้ำปุงฮุง จ.แม่ฮ่องสอน อายุราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นหลักฐานของการ 'กินข้าว' ที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งในดินแดนไทย (ที่มา : ข้าวไพร่ ข้าวเจ้าของชาวสยาม.กรุงเทพฯ : มติชน,๒๕๓๑.)


"พอเข้าถึงสมัยประวัติศาสตร์ หรือช่วงที่ผู้คนในแถบนี้เริ่มรู้จักการบันทึกภาษาพูดด้วยตัวอักษรกันแล้วนั้น ก็ยิ่งพบว่าข้าวเป็นปัจจัยหลักของสังคมเลยทีเดียว จากการที่นักวิชาการชาวญี่ปุ่นได้ศึกษาร่องรอยของแกลบข้าวในอิฐที่เก็บไปจากโบราณสถานในประเทศไทย เขาพบว่ามีข้าวผสมอยู่เป็นจำนวนมากในอิฐที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือหนึ่งพันห้าร้อยปีก่อนหน้านี้ที่เรียกกันว่า "สมัยทวารวดี" ต่อเนื่องมาถึงสมัยสุโขทัยเมื่อ ๗๐๐ ปีที่แล้ว สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ล้วนมีร่องรอยของข้าวที่ผสมอยู่ในอิฐโบราณทั้งนั้น"


 


"แน่นอน คนโบราณเขาคงไม่ปลูกข้าวเพื่อแค่เอามาผสมอิฐหรอก แกลบข้าวที่พบน่าจะเป็นผลพลอยได้จากการผลิตข้าวเพื่อบริโภคกันอย่างแน่นอน เพราะว่าแกลบข้าวจะช่วยให้อิฐเผาสุกทั้งข้างนอกข้างในและมีเนื้อแกร่งพอที่จะเอาไปก่อสร้างอาคารหรือเจดีย์ใหญ่ๆได้ ดูอย่างสมัยนี้เขายังใช้แกลบข้าวเอามาเผาอิฐมอญกันอยู่เลย"


 



 


คำอธิบายรูป ๒ อิฐสมัยทวารวดี อายุราว ๑,๕๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ปีมาแล้วที่พระประโทนเจดีย์ จ.นครปฐม  


มีแกลบข้าวผสมในอิฐจำนวนมาก บ่งว่าคนในดินแดนไทยยังคงกินข้าวเป็นอาหารต่อเนื่องจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์


 


"เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องอิฐไป กลับมาที่เรื่องข้าวดีกว่า คราวนี้ในสมัยสุโขทัยก็มีข้อความจากจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แสดงว่าความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารเป็นเรื่องที่ผู้คนชั้นปกครองในสมัยโบราณให้ความสำคัญด้วย และยังมีจารึกของฐานเทวรูปพระอิศวร พบที่เมืองกำแพงเพชร  บอกถึงการขุดคลองชลประทานให้ประชาชนได้ทำนากันนอกฤดูกาล จารึกอันนี้เขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๐๕๓ เป็นเวลาที่กรุงศรีอยุธยามีอำนาจในภาคกลางทั้งหมดแล้ว"


 


"ในสมัยกรุงธนบุรี ก่อนจะย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ช่วงนั้นเป็นภาวะอดอยากเพราะเพิ่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองมาใหม่ๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงโปรดให้เอาเงินส่วนพระองค์ซื้อข้าวเลี้ยงคนโซในกรุง เห็นกันอย่างนี้แล้วก็คงไม่ต้องบอกกันละว่าคนสมัยนั้นกินข้าวเป็นอาหารหลักหรือเปล่า"


 


"อย่าเพิ่งเบื่อนะคุณ ผมจะพูดจบแล้ว เอาเป็นว่าถ้าถามว่าเรากินข้าวมาตั้งแต่เมื่อใหร่ ก็ตอบว่าคนในดินแดนไทยของเราเนี่ย รู้จักกินข้าวมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อย่างน้อยก็ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว และกินกันอยู่อย่างนั้นมาจนถึงปัจจุบันเหมือนกับที่คุณกำลังรู้สึกหิวแล้วไป "กินข้าว" นั่นแหละ ก็ไอ้คำว่ากินข้าวน่ะมันติดอยู่ในภาษาปากของคนไทยไปแล้ว ถึงคุณจะหิวแล้วไปสั่งก๋วยเตี๋ยวนั่งซด คุณก็ยังบอกคนเดินสวนกันมาว่าคุณจะไปกินข้าว ใช่ใหม?"


 


"เอาละ พอแล้วก็ได้ เดี๋ยวเราไปหาข้าวหมูแดงกินกันที่หัวมุมตึกนั่น เลี้ยงผมด้วยนะ"


 


ห้าพันปีมาแล้วที่เรา "กินข้าว" กัน แล้ว "ชาวนา" ที่ปลูกข้าวให้เรากินเมื่อห้าพันปีเขาเป็นยังไง เขาทำนากันอย่างไร เขาให้รัฐบาลขึ้นราคาข้าวได้ไหม?


 


ติดตามต่อตอนหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net