ปชป. ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ สมัคร พ่วง 7 รมต. วันนี้

ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 14.00 น. นายชุมพล กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ฐานะประธานส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุม ส.ส.ของพรรค โดยมีวาระสำคัญพิจารณาถึงเรื่องการเสนอเสนอญัตติไม่ไว้วางใจ ต่อรัฐสภา หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้หารือกับทางแกนนำพรรคและได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว

 

จากนั้นในเวลา 17.30 น. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมว่าที่ประชุมมีมติยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสมัคร สุนทรเวช ฐานะนายกรัฐมนตรี ด้วยประเด็นดังต่อไปนี้ คือ 1. เมื่อได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล นายสมัคร ฐานะเป็นนายกฯ ได้ไปสนองตอบและรับใช้อดีตนักการเมืองผู้สูญเสียประโยชน์ อย่างโจ่งแจ้ง ไม่ใส่ใจต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในบ้านเมือง การคัดเลือกบุคคลเข้าร่วมรัฐมนตรีไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับ ตกอยู่ภายใต้การครอบงำ ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองที่สังกัด และก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน 2. นายกฯ ยอมรับให้นำบุคคลที่ไม่มีวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นสมุนรับใช้อดีตนักการเมืองที่สูญเสียงผลประโยชน์เข้าดำรงตำแหน่ง 3. นายกฯ บกพร่องอย่างร้ายแรง ที่ปล่อยให้รัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินตามอำเภอใจ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไร้ทิศทาง ขาดความรู้ มัวแต่จะสร้างภาพของตน จนทำให้การบริหารงานเชิงนโยบายล้มเหลว 4.นายกฯ ปล่อยให้มีการใช้ข้าราชการ ที่ยอมตนเป็นพวก แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่ล้างแค้นบุคคล และองค์กร ที่ตนไม่พอใจ ขณะเดียวกันก็ปกป้องพวกพ้องของตนเอง ทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง

 

นายองอาจ กล่าวด้วยว่า 5. นายกฯแสดงท่าทีปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดอย่างออกนอกหน้า ในหลายกรณี และไม่ใส่ใจถึงผลกระทบนั้นๆ 6.นายกฯ บริหารไปเพียงวันๆ ไม่สนใจแก้ปัญหาวิกฤตที่กระทบต่อปากท้องของประชาชน ปล่อยให้ปัญหาลุกลามไปในวงกว้างถึงประชาชนทุกชนชั้น และต้องเผชิญสภาวะปัญหาข้าวยาก หมากแพง ราคาสินค้าสูงขึ้น และมีการเรียกร้องจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา 7.นายก ในฐานะรมว.กลาโหม ทอดทิ้งและไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ยังตกอยู่ในสภาพที่ไร้ความหวัง และมีแนวโน้มจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ 8. ขณะที่ปัญหาของประเทศบานปลาย และลุกลามกลายเป็นวิกฤตรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่นายกฯ กลับเฉยเมย มองข้ามและมีความรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เนื่องจากจะสนองความต้องการผู้ที่บกการอยู่เบื้องหลัง โดยการรวบรัด แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยเหลือผู้มีบุญคุณ และลบล้างบทลงโทษในคดีที่พรรคการเมืองของตนได้ทำผิดไว้ในการเลือกตั้ง และ 9. นายสมัคร ในฐานะนายกรัฐมนตรีแสดงต่อสาธารณะอย่างไร้วุฒิภาวะมีพฤติกรรมภาวะผู้นำบกพร่อง พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าสมควรที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสมัครตามมาตรา 158

 

 นายองอาจกล่าวอีกว่า ฝ่ายค้านยังยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีอีก 7 คนตามมาตรา 159 คือ 1.นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรมว.การคลัง ในข้อหาไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกด้าน 2.นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในข้อหาการแก้ปัญหาราคาข้าว และการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง 3.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม และ4.นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม ในข้อหา การเช่ารถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวีของขสมก. ที่ส่อทุจริตจำนวน 6,000 ล้านบาท เนื่องจากทั้งสองคนเป็นคณะกรรมการจัดการระบบขนส่งทางรางและขนส่งมวลชน 5.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ในกรณีการบริหารบุคคลที่ผิดพลาดและการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางมิชอบ รวมไปถึงกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันแปละปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) 6.นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ข้อหาการบริหารงานที่ผิดพลาดบกพร่องภายในกระทรวง รวมไปถึงการนำปราสาทเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และ 7.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ข้อหาไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตัดสัญญาณเอเอสทีวี

 

นายองอาจกล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน ไปยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) เวลา 10.30 น. ให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยยืนยันว่าอาจจะสามารถอภิปรายได้ทันในการปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญภายในวันที่ 28 มิ.ย.นี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม การวางตัวผู้อภิปรายนั้นจะไม่เน้นให้มีผู้อภิปรายเยอะ โดยคาดว่าจะมีคนอภิปรายทั้งผู้ที่เป็นครม.เงา และส.ส.ของพรรคประมาณ 1-2 คน ต่อรัฐมนตรี 1 คน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่ประชุมว่า กรณีความเห็นจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ประชุมได้เสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1. ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ ที่เห็นว่าควรจะอภิปรายเฉพาะตัวนายสมัคร เท่านั้น เพราะเกรงว่าเวลาจะไม่พอ และ 2. ฝ่ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ที่เห็นว่าควรอภิปรายนายกฯ และรัฐมนตรี ด้วย จึงตัดสินโดยการให้ ส.ส.ในที่ประชุมลงคะแนนเลือก ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นตามนายสุเทพ

 

ด้านนายสาทิตย์ กล่าวว่า การยื่นญัตติดังกล่าว จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใยรัฐบาลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับท่าทีของนายชัย ถึงแม้ว่านายชัยจะระบุว่า จะพิจารณาญัตติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ตนก็ยังไม่เชื่อ เพราะอาจจะมีการนำไปหารือกับรัฐบาล และมีการใช้วิถีทางในการดึงเวลาในการดึงญัตติไว้ ไม่ให้อภิปรายไม่ไว้วางใจได้ทันสมัยประชุมนี้ ซึ่งตนก็ยังคิดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่ยังไม่มีการเปิดประชุมสภา ก็อาจจะเสนอให้รัฐบาลเปิดให้มีการประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดเวทีให้มีการอภิปราย แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูท่าทีของ สมาชิกวุฒิสภาก่อน

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมมือกับส.ว.ขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 129 นายสาทิตย์กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ถึงเวลาที่จะใช้ช่องทางดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูท่าทีของนายชัย และรัฐบาลต่อการยื่นญัตติในวันนี้

 

ที่มา: http://www.naewna.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท