Skip to main content
sharethis


ป่าผาดำ


 



กลางป่าผาดำกับประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ


 



ประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ


 


ข่าวบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำผาดำ ป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของจังหวัดสงขลา ในท่ามกลางความอ่อนแอขององค์กรภาครัฐ มีมาเป็นระยะยาวนานและต่อเนื่อง


 


ส่งผลให้ "ประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ" อันเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้าน ที่ลุกขึ้นมาปฏิบัติการปกป้องป่าผืนนี้ด้วยตนเอง ต้องออกมากดดันทุกฝ่ายที่มีภารกิจในการปกป้องป่าผืนนี้อยู่เป็นระยะ


 


ทว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏป่าผืนนี้ ก็ยังถูกบุกรุกทำลายลงทุกวัน


 


อันปรากฏตามคำยืนยันของแกนนำประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ อย่าง "ประวิทย์ ทองประสม" ประธานประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ และ "จรัญ ช่วยเอียด" ที่ปรึกษาประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ


 


"ปีนี้ เป็นปีที่ป่าถูกบุกรุกทำลายมากที่สุด นับตั้งแต่มีการบุกรุกป่าต้นน้ำผาดำ"


 


ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 เป็นต้นมา พบว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำผาดำและพื้นที่ป่าในเขตเทือกเขาวังพา ครอบคุลมพื้นที่อำเภอสะเดา อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ถูกบุกรุกทำลายประมาณ 2,000 ไร่ หรือเฉลี่ยเดือนละกว่า 330 ไร่


 


"ประวิทย์ ทองประสม" บอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคายางพาราพุ่งสูงขึ้นกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม นับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้คนต่างถิ่นเข้ามาบุกรุกทำลายป่าผาดำ เพื่อนำพื้นที่ไปปลูกยางพารา


 


นอกจากนี้ จากข้อสังเกตของประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำยังพบว่า การบุกรุกทำลายป่าน่าจะมีมาก่อนปี 2545 อันเป็นปี "สหายเก่า" กลับเข้าไปยังป่าต้นน้ำผาดำอีกครั้ง เพื่อเยือนสถานที่ที่เคยเป็นฐานที่มั่นของการเคลื่อนไหวในนาม "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" หรือ พคท. ของพวกเขาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน


 


นี่คือ ที่มาของการตั้ง "ประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ" ขึ้นมาปกป้องป่าผืนนี้


 


ป่าต้นน้ำผาดำเป็นส่วนหนึ่งของ เขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาวังพา มีเนื้อที่รวมประมาณ 110,000 กว่าไร่ ถูกประกาศเป็นสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ (สวนป่าสิริกิติ์) มีพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาแก้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง


 


ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด


 


มีหน่วยงานรัฐที่ดูแลพื้นที่ประกอบด้วย หน่วยพิทักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำคลองอู่ตะเภา หน่วยพิทักษ์ป่าคลองจำไหร หน่วยพิทักษ์ป่าเทือกเขาวังพา สังกัดกรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช


 


มีสายน้ำสำคัญ ประกอบด้วย คลองแก้ว คลองจำไหร หรือเตราะวัด คลองสอ คลองวาด คลองหลา


 


ทั้งหมดไหลลงคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสายน้ำสายหลักหล่อเลี้ยงคนพื้นที่ราบจำนวนมาก โดยน้ำในคลองอู่ตะเภาถูกนำไปผลิตเป็นน้ำประปาหล่อเลี้ยงคนเมืองใหญ่ อย่างเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองบ้านพรุ เทศบาลนครสงขลา เทศบาลเมืองสิงหนคร


 


นอกจากนี้ ยังมีชุมชนอีกหลายแห่งตามสายคลองอู่ตะเภา ที่ใช้ประโยชน์จากน้ำในลำคลองสายนี้ เช่น ปริก คลองแงะ ทุ่งลุง คลองแห ควนลัง คูเต่า เป็นต้น


 


ส่วนหนึ่งของต้นน้ำคลองอู่ตะเภา คือ พื้นที่เขาน้ำค้าง บริเวณรอยต่ออำเภอสะเดากับอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา อันเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่ถูกทำลายไปหมดแล้ว


 


กิจกรรมหลักของ "ประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ" คือ การลาดตระเวนพื้นที่ป่าเดือนละ 2 ครั้ง


 


จากการรวบรวมข้อมูลการทำลายป่า ทำให้พวกเขาพบข้อเท็จจริงว่า ป่าต้นน้ำผาดำถูกทำลายเพิ่มเติมมาตลอด โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถป้องกันได้


 


000


 


"จรัญ ช่วยเอียด" บอกว่า จากเนื้อที่ป่าทั้งหมดของเทือกเขาวังพา มีพื้นที่ป่ากว่า 20,000 ไร่ ถูกทำลายไปแล้ว ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตอำเภอคลองหอยโข่ง ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเทือกเขาวังพา ที่มีเนื้อที่เฉพาะในเขตอำเภอคลองหอยโข่งทั้งหมด 40,000 ไร่


 


สอดรับกับคำบอกเล่าของ "ประวิทย์ ทองประสม"ที่ระบุว่า ในเขตเทือกเขาวังพา มีพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ถูกบุกรุกทำลายอย่างหนักทั้งหมด 5 จุด


 


จุดแรกในเขตพื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านบางพง ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จุดนี้นับเป็นแหล่งป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก


 


ส่วนอีก 4 จุดอยู่ในเขตอำเภอคลองหอยโข่ง คือ จุดที่สองพื้นที่คลองหลา เข้าทางอ่างเก็บน้ำคลองหลา ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง และตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่


 


จุดที่สองพื้นที่ใต้น้ำตกผาดำ มีทางเข้าที่สะดวกที่สุด คือ ทางบ้านบาโรย หมู่ที่ 11 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา


 


ประเด็นที่ต้องเก็บนำมาคิด ก็คือ หากใช้เส้นทางนี้เข้าไปแผ้วถางป่า จะต้องผ่านที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบาโรย


 


เช่นเดียวกัน จุดที่สี่บ้านทับช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง เส้นทางเข้าพื้นที่ต้องผ่านที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าคลองจำไหร


 


คำถามที่ต้องเก็บนำมาครุ่นคิดอีก ก็คือ ผู้บุกรุกเดินทางเข้า - ออก ผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ ณ บ้านบาโรย และบ้านทับช้างได้อย่างไร


 


จุดที่ห้า พื้นที่เตราะวัด(เตราะ หมายถึง สายน้ำขนาดเล็ก) อยู่หลังเขาควนรู เข้าทางบ้านเก่าร้าง ตำบลคลองหอยโข่ง


 


แต่ละแห่งมีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อปลูกต้นยางพารา โดยมีการถางซุยตบตาเจ้าหน้าที่ พื้นที่บุกรุกป่าทั้ง 4 จุดในอำเภอคลองหอยโข่ง พบขนำ (กระท่อม) แห่งละประมาณ 40 หลัง รวมแล้วมีขนำอยู่ในป่าผาดำประมาณ 200 หลัง


 


นั่นจึงเป็นที่มาของการกำหนดทั้ง 4 จุดนี้ ให้เป็นพื้นที่สนธิกำลังกันระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจภูธรอำเภอคลองหอยโข่ง ตำรวจตระเวนชายแดน และทหาร ร่วมกับกลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ เข้าสำรวจและจับกุมผู้กระทำผิดบุกรุกทำลายป่า


 


ทว่า เข้าตรวจสอบได้เพียง 3 จุดก็ล้มเลิก ทั้ง "จรัญ ช่วยเอียด" และ "ประวิทย์ ทองประสม" ระบุว่าล้มเหลว เพราะไม่มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้บุกรุก


 


"จรัญ ช่วยเอียด" บอกว่า การบุกรุกในพื้นที่ดังกล่าว เป็นไปเพื่อต้องการพื้นที่ปลูกยางพารา เพราะฉะนั้นต้นไม้ขนาดใหญ่จึงถูกโค่นทิ้ง นำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ


 


หลังจากถางซุยแล้วก็ปลูกต้นยางพารา นำไปซื้อขายเปลี่ยนมือต่อ พร้อมๆ กับชักชวนญาติพี่น้องเข้ามาบุกรุกทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการบุกรุกเพื่อทำไม้เถื่อนมีน้อยลง เท่าที่เหลืออยู่เป็นรายเล็กๆ ตัดโค่นไม้นำมาใช้ปลูกสร้างบ้านเท่านั้น


 


นอกจากนี้ ข้อมูลของ "ประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำ" ได้จำแนกกลุ่มผู้บุกรุกทำลายป่า พบว่า มี 3 - 4 กลุ่ม ได้แก่...


 


กลุ่มคนยากจน ต้องการพื้นที่ทำกินจริงๆ


กลุ่มคนที่ละโมบโลภมาก ต้องการยึดครองพื้นที่


กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ เข้าไปหาประโยชน์เรียกรับเงินจากผู้บุกรุก เพื่อแลกกับการไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี


 


นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกแทน หรือจ้างให้เข้าไปบุกรุก ด้วยหวังว่าเมื่อมีการประกาศตั้งเป็นหมู่บ้านป่าไม้ หรือรัฐอนุญาตให้เข้าไปใช้ที่ดินได้ ก็จะเข้าไปครอบครองพื้นที่อย่างเปิดเผยต่อไป


 


ส่วนการบุกรุกป่าในพื้นที่อื่นๆ คือ ในเขตพื้นที่อำเภอสะเดา มักเป็นการบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำไม้เถื่อน แต่จะพบนานๆ ครั้ง ทั้งขึ้นอยู่กับยอดสั่งจากโรงเลื่อย ครั้งล่าสุดมีการจับกุมดำเนินคดีคนทำไม้เถื่อน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา


 


ขณะที่ด้านอำเภอรัตภูมิ มีการบุกรุกอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาพระ แต่ไม่มากนัก เนื่องจากป่าแถบนั้น อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านำตกโตนงาช้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูแลเข้มงวดมากกว่า


 


ด้านจังหวัดสตูล พบว่ามีการบุกรุกจากชาวบ้านในพื้นที่ มีการแผ้วถางป่าเพื่อปลูกยางพารา


 


000


 


ทั้ง "ประวิทย์ ทองประสม" และ "จรัญ ช่วยเอียด" ยืนยันว่า ป่าต้นนำผาดำที่เหลืออยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำคอยจี้รัฐให้เอาจริงเอาจังกับการป้องกันและปราบปรามผู้บุกรุกทำลายป่า ถึงกระนั้น การบุกรุกป่าต้นน้ำผาดำ ก็ยังอยู่ในระดับรุนแรงอยู่ดี


 


ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็มีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า แต่เนื่องจากไม่มีสมาชิกของประชาคมรักษ์ป่า หรือมีน้อยและยังไม่เข้มแข็งพอที่กระทุ้งรัฐได้ จึงไม่ค่อยมีข่าวว่าจับกุมผู้กระทำผิด


 


คำถามที่ต้องให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษ หากไม่มีชาวบ้านออกมาอนุรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำแล้ว ป่าต้นน้ำแห่งนี้จะเป็นอย่างไรและมีผลกระทบกับมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ อย่างไร


 


คำตอบจาก "ประวิทย์ ทองประสม" ก็คือ ผลกระทบที่ชาวบ้านเห็นตำตา ก็คือ ขาดน้ำ ที่สัมผัสได้ชัดเจนคือ สายน้ำขนาดเล็กหลายสายไม่มีน้ำแล้ว อย่างเช่น สายเตราะวัด ซึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตน้ำ เมื่อพื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นสวนยางพารา ทำให้น้ำแห้ง เหลือแต่แก่งหิน


 


เมื่อสายน้ำเล็กๆ ทยอยแห้งลง จนเริ่มเห็นชัดขึ้น เมื่อประมาณ 3 - 4 ปี ที่ผ่านมา ปัจจุบัน พื้นที่นี้จึงเหลือแต่สายน้ำขนาดใหญ่ เช่น คลองหลา แต่สายน้ำเหล่านี้ก็มีน้ำน้อยลง จากที่ระดับน้ำเคยลึกประมาณ 7 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำลึกแค่ 1 เมตรเศษ แน่นอน ย่อมส่งผลต่อปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภา อันเป็นแหล่งน้ำหลักของชุมชน และทะเลสาบสงขลา


 


"ประวิทย์ ทองประสม" บอกอีกว่า ผลกระทบประการที่สองที่เห็นชัดเจน คือ เมื่อมีฝนตกลงมา น้ำฝนจะไหลลงมารวมกับสายน้ำขนาดใหญ่เร็วมาก จากที่ในอดีตน้ำหลากจากเทือกเขาไหลมาถึงหมู่บ้านในเวลา 1 วัน แต่ปัจจุบันไม่ถึง 1 ชั่วโมง และไหลไปถึงหาดใหญ่ภายใน 1 วัน จากเมื่อก่อนใช้เวลา 1 สัปดาห์


 


เมื่อน้ำหลากไหลเร็ว ความเสียหายก็จะมีมากขึ้นไปด้วย


 


สิ่งที่ "ประวิทย์ ทองประสม" หวั่นเกรงมากที่สุด ก็คือ หากเกิดฝนตกหนักจริงๆ พวกท่อนซุงขนาดใหญ่ที่ถูกตัดทิ้งจะไหลลงมากับน้ำ ชะล้างหน้าดินถล่มลงมาทับหมู่บ้านด้านล่าง


 


ยังไม่นับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปลูกพืชเชิงเดียวอย่างยางพารา โดยเฉพาะการใช้ยาฆ่าหญ้า ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมาก


 


แน่นอนสารเคมีจากยาฆ่าหญ้าเหล่านี้ ย่อมไหลลงคลองอู่ตะเภาที่คนพื้นราบใช้ทำน้ำประปาเลี้ยงคนหลายแสนคนใน 4 เมืองใหญ่ของจังหวัดสงขลา


 


รวมทั้งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่ง "ประวิทย์ ทองประสม" เองก็ไม่สามารถปะติดปะต่อได้ว่าจะมีผลกระทบอะไรตามมา เพราะไม่มีความรู้ แต่ก็เชื่อว่ามีผลกระทบกับคนจังหวัดสงขลา และรอบทะเลสาบสงขลาแน่นอน


 


"ประวิทย์ ทองประสม" ยืนยันว่า การแก้ปัญหาการบุกรุกป่าและการฟื้นฟู ทำได้ไม่ยาก อันดับแรกให้เอาคนบุกรุกป่าออกมาจากป่าให้หมด ปล่อยทิ้งให้ป่าที่ถูกทำลายไปแล้วไว้เพียง 1 ปี ป่าก็จะฟื้นขึ้นมา เพราะโดยสภาพธรรมชาติของพื้นที่ สามารถช่วยให้ป่าฟื้นเร็วขึ้นอยู่แล้ว


 


"ประวิทย์ ทองประสม" ฝากให้คนพื้นราบช่วยลุกขึ้นมาเป็นแนวหลังให้กับ "ประชาคมรักษ์ป่าต้นนำผาดำ" ที่พร้อมจะเป็นแนวหน้าต่อสู้กับการทำลายป่า ตามแนวทางที่พอทำได้


 


ด้วยหวังว่า "คนเมือง" ซึ่งมีความรู้มากกว่า เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันกระทุ้งภาครัฐหันกลับมาให้ความสำคัญและเข้มงวดเอาจริงเอาจังกับการรักษาป่าผืนสุดท้ายของจังหวัดสงขลามากขึ้น


 


บางทีเมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลายหมดไปแล้ว "คนเมือง" อาจคิดมาเป็นแนวหน้าให้เองเลยก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net