บทความ: ตอบคำถามปราสาทพระวิหาร "ใช่-ไม่ใช่" ของไทยแล้วใครได้ประโยชน์

ชื่อบทความเดิม: กรณีปราสาทพระวิหาร: คำถามและคำตอบ

 

โดย ศรี ดาวเหนือ

30 มิถุนายน 2551


ความเกลียดชังระหว่างชนชาติ คล้ายกับเชื้อไฟ เมื่อจุดขึ้นแล้ว ขอเพียงลมพัดแรง เชื้อไฟน้อยๆ ก็อาจลามทุ่งได้ ในประวัติศาสตร์โลก มีตัวอย่างมากหลาย ที่แสดงว่า การปลุกปั่นความคลั่งชาติ ได้นำไปสู่สงครามและการทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ เกินกว่าคณานับ การที่พันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์และบรรดาพลังอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย กล่าวหารัฐบาลสมัครว่าทำให้ไทยเสียดินแดน เสียอธิปไตย กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติสนับสนุน คำขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา หวังใช้เรื่องนี้เป็นขีปนาวุธทางการเมืองเพื่อทำลายล้างรัฐบาลสมัคร จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากขีปนาวุธทางการเมืองนี้ เมื่อปล่อยออกไปแล้ว  ยากที่ใครจะควบคุมได้ ทั้งไม่มีใครรู้ว่า อานุภาพในการทำลายล้างและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและประชาชนไทยนั้นแค่ไหนเพียงใด

เพื่อตอบโต้การปลุกปั่นของพันธมิตร จึงควรต้องสะสางกรณีปราสาทพระวิหาร ให้สาธารณชนเข้าใจอย่างชัดเจน ซึ่งได้สรุปเป็นคำถามและคำตอบ ดังนี้

1.คำถาม ปราสาทพระวิหารและที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทเป็นของใคร ?


  คำตอบ ปัจจุบันเป็นของประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ตาม คำพิพากษาของศาลโลก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505(คศ. 1962) ที่ว่า
"ศาลนี้ โดยคะแนน 9 ต่อ 3 เห็นว่า ปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่บนดินแดน ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชา" (THE COURT,By nine votes to three,FINDS THAT THE TEMPLE OF PREAH VIHEAR IS SITUATED IN TERRITORY UNDER THE SOVEREIGNTY OF CAMBODIA.) ซึ่งประเทศไทยโดยคณะรัฐมนตรีในยุคนั้น ได้ลงมติและประกาศว่า ไทยยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก ตามพันธกรณีในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

แม้ว่าไทยได้ประท้วงและสงวนสิทธิ ที่จะขอให้ทบทวนแก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวไว้ ซึ่งตามธรรมนูญศาลโลก ข้อ 61 สามารถทำได้ภายในเวลา 10 ปีนับจากวันที่ศาลโลกมีคำพิพากษา แต่ที่ผ่านมา ไทยไม่เคยยื่นคำร้องขอให้ทบทวนหรือโต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าวอย่างเป็นทางการเลย คงเหลือสิทธิตามข้อ 60 ในการยื่นคำร้อง ขอให้ศาลแปลความหมายหรืออธิบายคำพิพากษา ในกรณีที่มีข้อความใดในคำพิพากษาไม่ชัดเจน ซึ่งไม่มีอายุความ แต่ไทยก็ไม่เคยยื่นคำร้องที่ว่าเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมา พันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัติย์และบรรดาคนที่ประกาศยืนกรานสงวนสิทธิ ไปอยู่เสียที่ไหน? เคยทำอะไรบ้าง? ทำไมจึงเงียบกริบ? การไม่ยอมรับและการสงวนสิทธิที่ว่า จึงเป็นเพียงแค่การสักแต่พูด แต่ไม่มีการใช้สิทธิอะไร ถึงวันนี้ เวลาล่วงมา 46 ปีเศษแล้ว พันธมิตรฯและพรรคประชาธิปัติย์ ก็ยังยืนกรานที่จะสงวนสิทธิต่อไป แต่การดื้อด้านไม่ยอมรับ จะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นอกจาการแสดงความป่าเถื่อนให้ชาวโลกเห็น

ที่พันธมิตรฯและพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ไทยได้ยืนยันยึดถือแนวสันปันน้ำบนทิวเขาพนมดงรัก เป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาโดยตลอด ซึ่งถ้าหากใช้แนวสันปันน้ำที่ว่า ปราสาทพระวิหาร ก็จะอยู่ในดินแดนไทย เรื่องนี้ เป็นเหตุผลเก่าที่ศาลโลกได้วินิจฉัยในคำพิพากษาไปแล้วว่า แนวสันปันน้ำที่ว่า ไม่เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร เพราะเรื่องปราสาทพระวิหาร ต้องถือตามสนธิสัญญาเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พศ.2450 (กรุณาดูรายละเอียด อ้างอิงในคำตอบข้อ 3)
ทั้งไทยก็ไม่เคยยกเรื่องแนวสันปันน้ำ ขึ้นมาโต้แย้งต่อกัมพูชาในตลอดเวลา 46 ปีที่ผ่านมา การยกเรื่องแนวสันปันน้ำมาพูดอีกในเวลานี้ จึงเป็นการแสดงนิสัยพาลแบบเด็กๆ ทำนองไก่แพ้ แต่คนไม่แพ้

ที่พันธมิตรฯ
และพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า กัมพูชาชนะคดีและได้ไปเฉพาะซากตัวปราสาท ไม่รวมถึงดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทและที่ดินบริเวณปราสาท ก็เป็นการบิดเบือนและตะแบงตีความ คำพิพากษาศาลโลกตามอำเภอใจแบบคนเจ้าเล่ห์สับปลับ กรุณาย้อนกลับไปอ่านคำพิพากษาศาลโลก ตามที่ได้อ้างอิงข้างต้นสักหลายเที่ยว คนที่มีใจสัตย์ซื่อและเป็นธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่าคำพิพากษามีผลเฉพาะต่อซากปราสาท ไม่รวมดินแดนที่ตั้งของปราสาทได้เลย

2. คำถาม ใครเป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่แรก?

    คำตอบ
ปราสาทพระวิหาร เริ่มสร้างเมื่อต้นศตวรรษที่ 9 สืบเนื่องมาถึงสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1
(คศ.1002-1050) และเสร็จในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 (คศ.1113-1150) ซึ่งเป็นยุคที่จักรวรรดิเขมรรุ่งเรืองและเข้มแข็งเกรียงไกรมาก ก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปี (กรุณาดูเอกสาร เรื่อง "ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม " ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ หน้า 2 ประกอบ) กล่าวโดยสรุป บรรพบุรุษของชนชาติเขมร เป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่แรก

 

(ภาพจากวิกีพีเดีย -อาณาจักรเขมรในปลายศตวรรษที่ 12)

 

3. คำถาม ปราสาทพระวิหารเคยเป็นของไทยมาก่อน และเสียให้กัมพูชาตามคำพิพากษาศาลโลก ใช่หรือไม่?


    ตอบ แต่ดั้งเดิม ปราสาทพระวิหารเป็นของเขมรตามคำตอบข้อ 2 แต่ในยุคกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) ในรัชกาลสมเด็จเจ้าสามพระยา กองทัพของกรุงศรีอยุธยา ได้รบชนะอาณาจักรเขมร ยึดกรุงศรียโสธรปุระ
(นครวัดนครธม) ซึ่งเป็นเมืองหลวง กัมพูชาต้อง "เสียกรุง" ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวกอุดงมีชัยและพนมเปญตามลำดับ นับแต่นั้นพระตะบอง ศรีโสภณ เสียมเรียบรวมถึงปราสาทพระวิหาร ก็ถูกผนวกเข้ารวมเข้าเป็นดินแดนของสยาม

ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้ทรงลงนามกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทำสนธิสัญญาเขตแดนระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พศ.2450 (Franco-Siamese boundary treaty,23 March 1907)
ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนดินแดน โดยสยามยกเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณและปราสาทพระวิหารให้กับฝรั่งเศส แลกกับจันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย) กลับคืนมา ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอาศัยสนธิสัญญาดังกล่าวว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชา (กรุณาดูเอกสาร เรื่อง "ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม " ของชาญวิทย์ เกษตรศิริและคำพิพากษาของศาลโลกที่อ้างถึงแล้วข้างต้น)

กล่าวโดยสรุป ปราสาทพระวิหารเคยเป็นของไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลสมเด็จเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากไทยชนะสงครามขยายดินแดนกับเขมร แต่ไทยโดยรัชกาลที่ 5 ได้คืนกลับแก่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของลาวและกัมพูชา ตามสนธิสัญญาดังกล่าวข้างต้น ถ้าจะว่าเป็นการเสียดินแดน ก็เสียไปตั้งแต่
.ศ.2450 แล้ว เพราะที่ศาลโลกตัดสินเรื่องปราสาทพระวิหาร ก็ตัดสินตามสนธิสัญญาเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสดังกล่าวนั่นเอง

4.คำถาม การที่กัมพูชานำประสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีผลกับเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือไม่ เพียงใด ?


   ตอบ โดยผลของกฎหมายระหว่างประเทศ การที่กัมพูชาเสนอให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่เกี่ยวและไม่มีผลกระทบกับปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดน หรืออธิปไตยเหนือดินแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ทั้งนี้ เป็นไปตามสนธิสัญญาเรื่องมรดกโลกของยูเนสโก้ (UNESCO World Heritage Convention ) ข้อ 11 - 3  ที่ว่า

"การนำทรัพย์สินใด ขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากรัฐที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของทรัพย์สินที่ตั้งอยู่บนดินแดน อธิปไตยหรือเขตอำนาจซึ่งมีการอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐ ไม่ว่าในกรณีใดๆ จักไม่ผลกระทบต่อสิทธิใดๆ ของรัฐที่พิพาทกันนั้น" (The inclusion of a property in the World Heritage List requires the consent of the State concerned. The inclusion of a property situated in a territory, sovereignty or jurisdiction over which is claimed by more than one State shall in no way prejudice the rights of the parties to the dispute.)


เปรียบเทียบให้ใกล้ตัวเข้ามา คล้ายกับการขึ้นทะเบียนบ้านมรว.คึกฤทธิ์ เป็นโบราณสถาน ย่อมไม่ส่งผลกระทบกับกรรมสิทธิ์ของบ้านหรือข้อพิพาทระหว่างทายาทใดๆ
เรื่องบ้านนั้น (ถ้ามี) ดังนั้น ไม่ว่ากัมพูชาจะเสนอให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารด้วยแผนที่ใดๆ ก็ไม่เกี่ยวและไม่มีผลกระทบกับ เรื่องเขตแดนหรืออธิปไตยเหนือดินแดนหรือปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาที่มี

สำหรับการกำหนดเส้นเขตแดน ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ถูกต้องและชัดเจนนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนไทยกัมพูชา
(Mixed Border Delimitation Commission) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทั้งสองประเทศในการทำหน้าที่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใด

การปลุกปั่นของพันธมิตรฯ
และพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า การที่รัฐบาลสมัครสนับสนุนกัมพูชา ในการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วม ทำให้ไทยเสียดินแดนหรือเสียอำนาจอธิปไตยไปเท่านั้น เท่านี้ จึงเป็นการบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมือง โดยไม่มีมูลความจริงและไม่คำนึงถึงความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น

5.คำถาม ทำไมไทยไม่ยื่นคำขอร่วมกับกัมพูชา ในการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ?


    ตอบ   ที่แล้วมา ไทยเคยยื่นข้อเสนอต่อกัมพูชา ที่จะร่วมกันยื่นคำขอต่อคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก้ ในการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่กัมพูชาได้ยืนยันปฏิเสธมาโดยตลอด เหตุผลคือ เมื่อปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนของกัมพูชา ตามที่ศาลโลกได้พิพากษาแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของกัมพูชา ในการยื่นคำขอนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยลำพัง ไทยไม่เกี่ยวข้อง ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำขอร่วมกับกัมพูชาได้ ถ้ามีการยินยอมให้ยื่นร่วม รัฐบาลกัมพูชาย่อมไม่อาจชี้แจงเหตุผลต่อประชาชนกัมพูชาได้

การที่พันธมิตรฯ
และพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ไทยยืนยัน ที่จะยื่นคำขอร่วมกับกัมพูชา จึงเป็นการเรียกร้องที่ไม่มีเหตุผลหรือใช้เหตุผลแบบคนพาลนักเลงโต ซึ่งรังแต่จะทำให้ไทยเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อนานาอารยประเทศ

6.คำถาม ถ้าปราสาทพระวิหารสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อไทย อย่างไร?


   คำตอบ เมื่อปราสาทพระวิหาร สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้สำเร็จ จะทำให้องค์การยูเนสโก้ จัดเจ้าหน้าที่และงบประมาณจำนวนมากในหลายสิบปีข้างหน้า เพื่อใช้ฟื้นฟูบูรณะและบำรุงรักษาปราสาทพระวิหาร และสภาพแวดล้อมให้สวยงาม ยั่งยืนและมีคุณค่าในฐานะเป็นมรดกโลกร่วมกันของมนุษยชาติ และจะมีการประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก ทำให้ปราสาทพระวิหาร กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่นเดียวกับนครวัด นครธมของกัมพูชา

แต่ว่า โดยสภาพทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในปัจจุบัน การขึ้นไปเยี่ยมชมปราสาท ต้องขึ้นไปจากด้านฝั่งไทย เท่านั้น ไม่สามารถขึ้นไปจากด้านกัมพูชา เพราะหน้าผาสูงชัน ทั้งไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับนักท่องเที่ยวได้ แม้ว่าในอนาคต อาจมีโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นปราสาทจากด้านกัมพูชา ตามที่มีข่าว แต่การลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น สนามบิน ถนน ไฟฟ้า ประปา โรงแรม ฯลฯ ในพื้นที่จังหวัดพระวิหาร คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีหรือหลายสิบปี

ดังนั้น ถ้าปราสาทพระวิหาร สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ ย่อมส่งผลดีอย่างเอนกอนันต์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ที่เกี่ยวข้องหรือสามารถใช้เป็นเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร โดยไม่มีผลเสียใดๆ
เลย การที่ไทยสนับสนุนให้กัมพูชา นำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จึงไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีมิตรภาพและความสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างไทยกับกัมพูชา เท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของไทยเองโดยตรงอีกด้วย

การที่พันธมิตรฯ
และพรรคประชาธิปัตย์โหมปลุกปั่นสร้างความหวาดกลัวในสังคมไทยว่า ไทยจะเสียดินแดนหรือเสียอำนาจอธิปไตย โดยใช้กรณีปราสาทพระวิหารเป็นเครื่องมือ จึงเป็นการเล่นการเมืองแบบน้ำเน่าและสกปรก ซึ่งไม่ก่อผลดีใดๆ กับใครเลย และมีแต่จะสร้างความเสียหายต่อมิตรภาพและความสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างไทยกับกัมพูชาและต่อประโยชน์ของไทยเอง


การที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำฟ้องของตัวแทนพันธมิตรฯ
ที่ให้ระงับมติคณะรัฐมนตรีที่สนับสนุนคำขอของกัมพูชา ก็ยิ่งทำให้ปัญหาและความเสียหายจากเรื่องนี้ลุกลามออกไป  หวังเพียงว่า ในอนาคตประชาชนไทยจะได้จดจำและทวงถามความรับผิดชอบจากกลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์เมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท