Skip to main content
sharethis

"สังคมประชาธิปไตยทั้งหมดอยู่บนหลักการที่ว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง คืออำนาจที่มาจากประชาชน พันธมิตรฯโจมตีเรื่องการเลือกตั้ง โจมตีได้ แต่ว่าทางออกของพันธมิตรฯไม่ใช่ทางออกที่ทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ทำให้คนบางกลุ่มที่มีอำนาจในการแต่งตั้งมีอำนาจขึ้นมาเอง นั้นคือการกลับไปสู่การเมืองของอภิสิทธิชน"

 

 

"ถ้ามองในแง่รัฐศาสตร์ แนวความคิดแบบนี้ มีเบื้องหลังมาจากทหารกลุ่มชนชั้นสูง กลุ่มชนชั้นนำมาเป็นเวลา 30 ปี"

"พันธมิตรฯ ก็รู้ว่าเรื่องการเมืองใหม่จะออกมาพูดให้ชัดเจนไม่ได้ เพราะยิ่งพูดชัดเจนเท่าไหร่ พันธมิตรก็จะยิ่งเสียในทางการเมืองมากขึ้น"

"พูดได้ว่าแนวคิด 70: 30 เป็นแนวคิดที่ถอยหลังเข้าคลอง เป็นแนวคิดที่ดูเหมือนก้าวหน้า แต่จริงๆแล้วเป็นแนวคิดแบบปฏิกิริยาล้าหลัง เป็นความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่พยายามโจมตีการเลือกตั้ง"

"สังคมประชาธิปไตยทั้งหมดอยู่บนหลักการที่ว่า อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง คืออำนาจที่มาจากประชาชน พันธมิตรฯโจมตีเรื่องการเลือกตั้ง โจมตีได้ แต่ว่าทางออกของพันธมิตรฯไม่ใช่ทางออกที่ทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ทำให้คนบางกลุ่มที่มีอำนาจในการแต่งตั้งมีอำนาจขึ้นมาเอง นั้นคือการกลับไปสู่การเมืองของอภิสิทธิชน"

การเมืองมวลชนไม่เท่ากับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อให้มีมวลชนบนท้องถนนแค่ไหน ถ้าขบวนทั้งขบวนไม่ยึดหลักว่า "คนทุกคนเท่ากัน" ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิด ฐานทางสังคมแบบไหน หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน นั่นก็ไม่ใช่ขบวนการประชาธิปไตย

"ถ้าขบวนทั้งขบวนไม่ยึดหลักว่า "คนทุกคนเท่ากัน" ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิด ฐานทางสังคมแบบไหน หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน นั่นก็ไม่ใช่ขบวนการประชาธิปไตย"

 

 

"ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์" นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐฮาวาย ให้สัมภาษณ์ประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" โดยได้วิพากษ์ข้อเสนอล่าสุดของพันธมิตรฯที่ให้มีการเมืองแบบ 70: 30 ว่าเป็นแนวคิดถอยหลังเข้าคลอง อนุรักษ์นิยม ปฏิกิริยาล้าหลัง คลั่งชาติขึ้นเรื่อยๆ

ดูเหมือนว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะมีข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นใหม่ขึ้นมาทุกวัน ล่าสุด มีการเสนอการเมืองแบบใหม่ แบบ 70: 30 มีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ ?

เท่าที่ได้ฟังทางกลุ่มพันธมิตรพูด โดยเฉพาะคุณสุริยะใส พยายามจะบอกว่า ปัญหาของการเมืองไทยตอนนี้เกิดขึ้นจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากเกินไป ต้องหาทางออกโดยการกันอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง  แล้วข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตร ก็คือ ต่อไปในในอนาคต นักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศทั้งหมดที่มาจากการเลือกตั้งจะลดลงให้เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากการแต่งตั้ง แต่ว่าจะแต่งตั้งด้วยวิธีไหนก็ยังไม่มีการออกมาพูดให้ชัดเจน

แนวคิดนี้ ในแง่รัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เท่าที่จำได้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มี 2 ครั้งแล้วที่มีข้อเสนอแบบนี้ ครั้งแรกในช่วงปี 2523 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตอนนั้นเป็นแกนนำของกลุ่มทหารประชาธิปไตย มีความใกล้ชิดกับนักวิชาการบางกลุ่มที่ทำงานให้กับรัฐ คือคุณประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ได้เสนอแนวความคิดนี้ โดยปัญหาของการเมืองไทย คือ รัฐสภาและคนที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากเกินไป ระบบเลือกตั้งทำให้นายทุนนักธุรกิจเข้ามามีอำนาจผ่านรัฐสภา ต้องหาทางออกจากระบบเลือกตั้ง ด้วยการเอาระบบแต่งตั้งเข้ามาคาน โดยเอาทหารเข้ามาแทน 

ครั้งที่สอง ปี 2536-2537 อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทรวานิช ได้เสนอแนวความคิดนี้เหมือนกัน ว่าปัญหาของการเมืองไทยเกิดจากสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจมาก ทางออกคือ ให้ตั้งสภาขึ้นมาซึ่งไม่ใช้วุฒิสภา ใช้คำว่า "สภากระจก" มีการแต่งตั้งตัวแทนคนกลุ่มต่างๆขึ้นมา เอาสภานี้ขึ้นมาคุมอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น ภาพรวมที่กลุ่มพันธมิตรฯ พูดว่าเป็นการสร้างการเมืองใหม่ จริงๆแล้วไม่ได้ใหม่ เป็นการนำแนวคิดที่เคยเสนอขึ้นมาแล้วโดยทหาร โดยชนชั้นนำ ที่พยายามจะบอกว่าการเลือกตั้งไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องแก้ปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่ดีโดยการเอาการแต่งตั้งขึ้นมาคุมอีกที่หนึ่ง ตรรกะจะเป็นเช่นนี้ตลอดเวลา

ในแง่ประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แนวความคิดแบบนี้ถูกเสนอโดยคนกลุ่มที่เป็นชนชั้นสูง ชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น กรณีพลเอกชวลิต ก็เสนอในนามของทหารประชาธิปไตย ด้วยเงื่อนไขในปี 2523 เราเริ่มมีรัฐบาลที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเริ่มมีอำนาจมากขึ้น พลเอกชาวลิตในเวลานั้น เป็นแกนนำของกลุ่มทหารหนุ่มที่พยายามจะเข้ามาแทรกแซงการเมือง ก็เลยเสนอแนวความคิดแบบนี้ว่า พรรคการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช้ตัวแทนภาคประชาชนจริงๆ ในกรณีของอาจารย์ชัยอนันต์ เรื่องสภากระจก ก็มีวิธีคิดแบบนี้เหมือนกัน ถ้ามองในแง่รัฐศาสตร์ แนวความคิดแบบนี้มีเบื้องหลังมาจากทหารกลุ่มชนชั้นสูงกลุ่มชนชั้นนำมาเป็นเวลา 30 ปี

แล้วแนวคิดเบื้องหลังในกรณีของพันธมิตรฯ คืออะไร?

คนที่พยายามเสนอแนวความคิดนี้ ไม่เข้าใจว่า ข้อเสนอนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมการเมืองไทยมันจะถูกตั้งคำถามคล้ายกันทุกสมัย ว่าจะเอาอำนาจจากไหนมาตั้งคนกลุ่มหนึ่ง อำนาจนี้มาจากใคร คนที่ตั้งมีความชอบธรรมในการตั้งคนอื่นแค่ไหน

ในกรณีของพลเอกชวลิต ในนามทหารประชาธิปไตย มันชัดเจนว่า คนที่จะตั้งผู้แทนกลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็คือ "ทหาร" ในสมัยอาจารย์ชัยอนันต์ คนที่จะมีอำนาจในการตั้งสภากระจก ก็คือกลุ่มนักวิชาการกลุ่มผู้รู้หรือที่เรียกว่า "อภิชนาธิปไตย" เป็นพวกอภิชน

ในกรณีของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่พูดให้ชัดเจน พันธมิตรฯ ก็รู้ว่าเรื่องการเมืองใหม่จะออกมาพูดให้ชัดเจนไม่ได้ เพราะยิ่งพูดชัดเจนเท่าไหร่ พันธมิตรก็จะยิ่งเสียในทางการเมืองมากขึ้น เพราะจะต้องถูกตั้งคำถามว่า "แล้วคนที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาชนจำนวนมากไม่สำคัญหรืออย่างไร" หรือคำถามที่สำคัญคือ "ใครจะเป็นคนเลือกว่าคนกลุ่มไหนจะเป็นตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ" สมมุติมีความพยายามสร้างการเมืองใหม่อย่างที่กลุ่มพันธมิตรฯว่าจริง  

ถ้าพันธมิตรบอกว่า คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นตัวแทนของวิชาชีพสื่อมวลชนจะได้หรือเปล่า ในที่สุดปัญหาของการเลือกแบบนี้ ก็คือพยายามอ้างว่าตัวแทนจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ได้เป็นตัวแทนจริงๆ แล้วบอกว่าความเป็นตัวแทนที่แท้จริง คือการเอาตัวแทนมาจากอาชีพต่างๆ ปัญหาคืออาชีพต่างๆไม่ได้มีการจัดตั้งทางการเมือง ในบางอาชีพที่มีการจัดตั้งทางการเมือง โครงสร้างการจัดตั้งอยู่กับคนไม่กี่คน เป็นคนเด่นดัง เป็นผู้มีอิทธิพลในอาชีพนั้น  เช่น ตัวแทนสื่อมวลชน ถ้าเป็นตัวแทนอย่างคุณสนธิ จะถือว่าเป็นตัวแทนนักข่าวที่ทำงานในภาคสนามได้หรือเปล่า  

วิถีชีวิตต่างกัน ความเชื่อต่างกัน ฐานเศรษฐกิจต่างกันมหาศาล แนวทางแบบนี้อ้างว่าเอาวิชาชีพต่างๆ เข้าสู่สภาโดยตรงมีพลังในบางระดับ ทำให้คนเด่นคนดังในอาชีพต่างๆ คิดว่า จะเข้าไปอยู่ในสภาได้แล้วต่อให้ไม่เคยลงเลือกตั้งไม่มีคนรู้จักนอกวิชาชีพก็ตาม คนจำนวนมากอาจเคลิ้ม เช่น คนที่อยู่ในองกรค์จัดตั้งที่มีการรวมกลุ่มมาแล้วอย่างดี เช่น องค์กรครู องค์กรเกษตรกรบางกลุ่ม ทำให้ผู้นำบางคนรู้สึกว่าเราจะเข้าไปอยู่ในสภาได้ คำถามก็คือจะรู้ได้อย่างไรว่า คนแต่ละคนเป็นตัวแทนคนในอาชีพนั้นจริงหรือเปล่า โดยในเงื่อนไขที่ส่วนใหญ่ สังคมเราเป็นสังคมที่ปราศจากการจัดตั้งประชาชนเป็นกลุ่มก้อน เช่น ส.ว.สรรหาชุดนี้ชัดเจนในกรณีของคุณคำนูณ สิทธิสมาน เข้าไปสู่การเป็น ส.ว.ด้วยโควต้านักวิชาการ ซึ่งจริงๆแล้วต้องเข้าไปด้วยโควตาสื่อมวลชน ซึ่งไม่รู้ว่าคุณคำนูณเป็นนักวิชาการเมื่อไหร่

สรุปคุณมองว่าแนวคิดการเมืองแบบ 70: 30 ที่พันธมิตรฯ เสนอออกมานั้นก้าวหน้าหรือถอยหลัง?

พูดได้ว่าแนวคิด 70: 30 เป็นแนวคิดที่ถอยหลังเข้าคลอง เป็นแนวคิดที่ดูเหมือนก้าวหน้า แต่จริงๆแล้วเป็นแนวคิดแบบปฏิกิริยาล้าหลัง เป็นความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่พยายามโจมตีการเลือกตั้ง ทุกคนรู้ว่าการเลือกตั้งมีปัญหา การเลือกตั้งทำให้คนบางกลุ่มมีอำนาจมากเกิน แต่วิธีการโจมตีสร้างกระแสแบบนี้ขึ้นมาเป็นคนละเรื่องกับทางออกที่กลุ่มพันธมิตรฯเสนอ  

คือพันธมิตรฯ พูดถึงปัญหาที่ทุกคนบนโลกรู้ว่า มันมีอยู่แต่ทางออกที่เอาระบบแต่งตั้งขึ้นมามันไม่ได้แก้ปัญหา พูดได้ว่าเป็นการมั่วประเด็น มีปัญหาในเรื่องการเลือกตั้งเลยบอกว่าไม่เลือกตั้ง เลยเอาแต่งตั้งมาดีกว่า นี้คือการมั่วประเด็นทางการเมือง ถ้าการเลือกตั้งมีปัญหาวิธีแก้ต้องจัดการเลือกตั้งให้มีปัญหาน้อยลง เช่น ให้พรรคการเมืองตั้งได้อิสระมากขึ้น ควบคุมบริหารการใช้เงินมากขึ้น จัดเขตเลือกตั้งให้เล็กลงเพื่อให้คนที่เป็นตัวแทนระดับรากฐานจริงๆมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วชนะได้ เช่น ในสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 ชัดเจนเพราะเขตเลือกตั้งเล็ก ตัวแทนจำนวนหนึ่งเป็นตัวแทนที่ประชาชนชอบและเข้าไปได้จริงๆ

ปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง โยงกับวิธีจัดการเลือกตั้ง วิธีการบริหารการเลือกตั้ง ไม่ได้มีทางออกที่บอกว่า เลิกการเลือกตั้ง แล้วการแต่งตั้งเข้ามาแทน ในแง่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองทั่วโลก ปัญหาที่มีมา คือการต่อสู้ของอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจที่มาจาการแต่งตั้ง ใครควรถือว่าเป็นตัวแทนประชาชนที่แท้มากกว่ากัน  

สังคมประชาธิปไตยทั้งหมดอยู่บนหลักการที่ว่า อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง คืออำนาจที่มาจากประชาชน  พันธมิตรฯโจมตีเรื่องการเลือกตั้ง โจมตีได้ แต่ว่าทางออกของพันธมิตรฯไม่ใช่ทางออกที่ทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ทำให้คนบางกลุ่มที่มีอำนาจในการแต่งตั้งมีอำนาจขึ้นมาเองนั้นคือการกลับไปสู่ "การเมืองของอภิสิทธิ์ชน"

หลักการสำคัญ คือประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ประชาชน หมายถึงประชาชนระดับปัจเจก คือคนแต่ละคน ประชาธิปไตยทำงานบนความเชื่อที่คนแต่ละคนเท่ากัน หมายความว่า คนแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่า อยากยกคะแนนเสียงของตนให้ใคร อยากให้ใครเป็นนายกฯ  

แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมา พันธมิตรฯไม่เชื่อในหลักการแบบนี้ ?

ปัญหาคือ พันธมิตรฯไม่เชื่อเรื่องนี้ พันธมิตรฯเชื่อว่า ประชาชนจำนวนหนึ่งในประเทศของเราโง่ การศึกษาต่ำไม่เข้าใจการเมืองดีพอ ถึงถูกหลอกให้ซื้อเสียงแล้วก็ไปเลือกนักการเมืองที่ไม่ดีขึ้นมา ความคิดว่าการเมืองควรจะเป็นเรื่องของคนที่มีการศึกษา มีความคิดดี มีความเข้าใจการเมืองดีแล้วเท่านั้น ความคิดแบบนี้ เป็นความคิดแบบชนชั้นสูง อนุรักษ์นิยม พวกปฏิกิริยา

การเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ได้วัดว่า ใครฉลาดกว่ากัน ใครเป็นคนดีกว่า ใครมีการศึกษาสูงกว่ากัน แต่มีความเชื่อว่าแม้กระทั่งคนที่มีการศึกษาต่ำที่สุด ก็มีเสียงเท่ากับคนที่มีการศึกษาดีที่สุดของประเทศ เพราะฉะนั้น จึงใช้วิธีว่าหนึ่งคนหนึ่งเสียงในที่สุดทุกคนเท่ากันหมด ฐานในการสร้างการเมืองใหม่ต้องยึดเรื่องความเชื่อที่ว่า คนแต่ละคนเท่ากัน ถ้าไม่เอาเรื่องนี้เป็นหลักการ เสนอข้อเสนอใดใดก็จะออกทะเล หรือเข้ารกเข้าพงไป

แม้กระทั่งในฝ่ายพันธมิตรฯเองยังรับเรื่อง 70: 30 ไม่ได้ จากที่ได้อ่านในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่คุณสุริยะใส ให้สัมภาษณ์เองว่า พวกพันธมิตรเองก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง 70:30 ถ้าพูดเล่นๆ ก็ไม่รู้ว่าจะมีแต่คุณสุริยะใสที่เข้าใจคนเดียวหรือเปล่า? โดยกระแสสังคมยังเข้าใจได้ยาก เพราะว่าไม่มีหลักประกันว่า คนแต่ละกลุ่มอาชีพจะถูกดึงเข้าไปอยู่ใน 70 เปอร์เซ็นต์ได้อย่างไร เป็นข้อเสนอที่ในทางการเมืองเลื่อนลอย เหมือนกับบอกให้ประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองเซ็นเช็คเปล่า ยกอำนาจให้พันธมิตรไป แล้วเชื่อว่าพันธมิตรฯจะเอาเช็คไปใช้เพื่อเราจริงๆ  

เมื่อก่อนพวกพันธมิตรชอบโจมตีพวกนักการเมืองว่า เป็นพวกที่มาจากการเลือกตั้ง 5 วินาที ประชาชนก็เหมือนเซ็นเช็คเปล่าให้นักการเมืองไปทำอะไรตามอำเภอใจ แต่ว่าระบอบใหม่ของพันธมิตรแย่กว่านั้น เพราะหลอกประชาชนให้ไปเซ็นเช็คให้ใครก็ไม่รู้ ในระบบเลือกตั้ง เรายังรู้ว่าเซ็นเช็คให้ใคร ยังรู้ว่าจะไปยึดเช็คคืนจากใครได้  แต่ในระบบ 70: 30 ไม่มีใครรู้ว่าระบบเป็นอย่างไร อาจเป็นแนวทางที่เคยเกิดในการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร ซึ่งพันธมิตรไม่เคยคัดค้านเลย คือคน 7 คนมีอำนาจในการเลือก ส.ว.เท่ากับคน 30 ล้านคน เป็นไปได้อย่างไรที่ระบบประชาธิปไตยในประเทศนี้อ้างว่าคน 7 คนมีอำนาจเท่ากับคน 30 ล้านคน ในการเลือก ส.ว. พันธมิตรไม่เคยพูดเรื่องพวกนี้ว่าเป็นเรื่องที่ผิด

มาถึงตรงนี้ มองการขับเคลื่อนของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง?

กลุ่มพันธมิตรฯมาจากองค์ประกอบหลายส่วน เฉพาะพวกที่เรียกว่าตนเองเป็นภาคประชาชน หรือพวกที่เป็นนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย มีปัญหาคือ ไม่เคยเจอการเมืองมวลชนหรือการเมืองบนท้องถนนที่มีขนาดเท่าพันธมิตรมาก่อน เลยคิดว่าการมีมวลชนจำนวนมาก เท่ากับเป็นการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่

การเมืองแบบมวลชนในหลายประเทศ ไม่ได้หมายถึงการเมืองแบบประชาธิปไตย การเมืองแบบมวลชนอาจจะเป็นการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม การเมืองชาตินิยม ราชาชาตินิยมก็ได้ คนที่ฆ่านักศึกษาตอน 6 ตุลา ก็มีมวลชนจำนวนมากบนท้องถนนที่พร้อมจะฆ่านักศึกษาเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น การเมืองมวลชนไม่เท่ากับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อให้มีมวลชนบนท้องถนนแค่ไหน ถ้าขบวนทั้งขบวนไม่ยึดหลักว่า "คนทุกคนเท่ากัน" ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิด ฐานทางสังคมแบบไหน หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน นั่นก็ไม่ใช่ขบวนการประชาธิปไตย โดยส่วนตัว เชื่อว่าพวกพันธมิตรจะเป็นพวกคลั่งชาติขึ้นมาเรื่อยๆ

มีความเห็นอย่างไรที่หลายฝ่ายบอกว่าขณะนี้สังคมไทยใกล้วิกฤติ มีการแบ่งขั้ว มีการเผชิญหน้ากัน ?

การเผชิญหน้าทางการเมืองไม่ได้หมายถึง การมีความรุนแรงทางการเมือง ถ้าเราเชื่อจริงๆว่าการชุมนุมเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย พันธมิตรก็จะชอบพูดว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย ถ้าเช่นนั้นการชุมนุมก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร โดยส่วนตัวก็คิดว่า ไม่ต้องสนใจอยากจะชุมนุมก็ชุมนุมไป เป็นสิทธิเสรีภาพของคนที่เชื่อแบบพันธมิตร แต่ไม่ได้หมายความว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรงแล้ว ทั้งฝั่งรัฐบาลกับฝั่งพันธมิตรคล้ายๆกัน คือพยายามทำให้คนในสังคมรู้สึกว่า สถานการณ์ในประเทศแบ่งขั้ว แล้วประชาชนต้องเลือกข้าง  

การแบ่งขั้ว ไม่ได้หมายถึงความรุนแรงในตัวมันเอง อย่างเช่น ถ้าพันธมิตรพยายามให้การแบ่งขั้ว มันยกระดับไปสู่ความรุนแรงในหลายเรื่อง เช่นเรียกทหารออกมา เวลาผู้นำพันธมิตรขึ้นปราศรัย ก็จะพูดว่าให้ทหารที่รักบ้านเมืองออกมาได้แล้ว ประเด็นคือ เป็นการยกระดับจากการชุมนุมทางการเมือง การแบ่งขั้วทางการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องน่าตกใจอะไร แต่การเรียกทหารออกมาเป็นเรื่องอันตราย เป็นปัญหาของพันธมิตรที่แยกไม่ได้ว่า การต่อสู้เพื่อพันธมิตรเองไม่ได้เพื่อตอบปัญหาสังคมแล้ว

การชุมนุมของพันธมิตรเองก็แปลกประหลาด จากการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยหลายเรื่อง เช่น วิธีจัดชุมนุมวิธีเคลื่อนชุมนุมแบบทางทหาร ในส่วนตัวคิดว่าไม่มีการชุมนุมที่ไหนในโลกที่ทำแบบที่พันธมิตรทำ แบบที่บุกทำเนียบ  ที่แบ่งประชาชนเป็นกลุ่มต่างๆ แล้วเคลื่อนเพื่อให้ยึดพื้นที่ได้มากที่สุด วิธีการยึดพื้นที่เป็นเรื่องของการทหาร ไม่ใช่วิธีของการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของการจูงใจคนในสังคมให้อยู่กับฝ่ายเรา

การต่อสู้ทางการเมืองในแบบพันธมิตร มีมิติหลายๆ เรื่องที่เราต้องถกเถียงต่อว่า เป็นการชุมนุมแบบประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยแฝงอยู่เยอะ อย่างเช่น การชูเรื่องชาตินิยม ชาติ พระมหากษัตริย์ ใครที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตร คือคนที่ไม่จงรักภัคดี เป็นคนที่ทำลายชาติ การชุมนุมแบ่งนี้เป็นการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยหรือเปล่าอย่าง เช่น ในสมัยตอน 6 ตุลา คนจำนวนมากก็ออกไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปฯ แล้วอ้างว่าสู้เพื่อปกป้องชาติศาส กษัตริย์ แล้วก็ฆ่าคนไปเป็นจำนวนมาก  

เพราะฉะนั้น การชุมนุมแบบที่เน้นเรื่องความมั่นคงของชาติ เน้นเรื่องชาตินิยม การจงรักภักดี เป็นการชุมนุมแบบประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า!?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net