เสวนาเขาพระวิหาร: ดร. พิภพ อุดร: มองจากมุมการบริหารจัดการ ไทยอยู่อย่างไรในสังคมโลก

เมื่อวันที่ 13 .. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์, สมาคมจดหมายเหตุสยาม, และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการอภิปรายเรื่อง สยามประเทศ (ไทย) หลังสมัคร 1: การเมืองกับลัทธิชาตินิยม— กรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร/รัฐบาลสมัคร—ปัญหาและทางออก ณ ห้อง 201 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.

 

มีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตส.ว.จังหวัดตาก และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ., ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดี มธ., รศ.ดร.พิภพ อุดร อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ., รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการอภิปรายโดย สมฤทธิ์ ลือชัย

 

พิภพ อุดร

 

ในขณะที่กัมพูชามองเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไทยกลับปลุกเร้าเรื่องดินแดน และอธิปไตย จุดยืนของไทยนั้นเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเสี่ยงต่อการเสียโอกาสของการลงทุน คำถามคือ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกอยู่ตรงไหน มุมมองแบบไหนที่เขารับได้

 

 

ดร. พิภพ อุดร: มองจากมุมการบริหารจัดการ ไทยอยู่อย่างไรในสังคมโลก

ผมมี 3 ประเด็น คือ เหรียญคนละด้านของเงินคนละสกุล นั่นคือมุมมองของไทยและกัมพูชาต่อเรื่องเขาพระวิหารนั้นต่างกัน ประเด็นที่ 2 คือประวัติศาสตร์ช่วงใกล้ๆ คือ2544 - ปัจจุบัน และประเด็นสุดท้าย คำถามที่ยังค้างคาและข้อสรุป

 

เขาพระวิหาร เหรียญสองด้านของเงินคนละสกุล เมื่อไทยมองเรื่องอธิปไตยและดินแดน แต่กัมพูชามองเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ

ประเด็นแรก ทำไมไทยกับกัมพูชาจึงมองเรื่องนี้เป็นเหรียญคนละด้าน ประเทศไทยนั้นมองแค่ 2 ประเด็นคือ เรื่องการเสียดินแดนและอำนาจอธิปไตย แต่เราไม่ได้ยินเรื่องนี้จากกัมพูชา เพราะสำหรับกัมพูชาแล้ว เขาพระวิหารนั้นไม่ใช่ประเด็นเรื่องดินแดนและอธิปไตยแต่หมายถึงคือมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ

 

จริงๆ แล้วการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้นเป็นการเดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจ (จตุโกณ)ของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาซึ่งประกอบไปด้วย 1.เรื่อง การเติบโต ทางเศรษฐกิจ 2.การสร้างงาน 3.ความเสมอภาค และ 4.เสรีภาพ นี่คือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของกัมพูชา (Cambodia Millennium Development Goal) ภายใต้การสนับสนุน UNDP

 

ฉะนั้นความหมายแปลว่า ปราสาทเขาพระวิหารซึ่งขณะนี้ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของยูเนสโก แปลว่า สนามบินใหม่ กระเช้าไฟฟ้า โรงแรม กาสิโน การจ้างงาน 300,000 กว่าราย เงินรายได้ 2,000 ล้านเหรียญจากการท่องเที่ยว นี่คือสิ่งที่กัมพูชามอง

 

ถามว่าทำไมมองอย่างนั้น เขาพระวิหารนั้นเป็นลำดับที่ 2 ของกัมพูชา ถ้าเราไปดู นครวัดซึ่งขึ้นทะเบียนไปเมื่อปี 2535 เฉพาะค่าเข้าชมอยู่ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาทไม่รวมค่าที่พัก ใช้จ่าย ของที่ระลึก ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวใช้จ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวคือ 600 - 700 เหรียญต่อวัน ดังนั้น มรดกโลกคือเขาพระวิหารนั้นคือเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนการเติบทางเศรษฐกิจของกัมพูชา อย่าลืมว่ารายได้หลักของกัมพูชามาจากการท่องเที่ยว ซึ่งนี่มีความหมายมากสำหรับกัมพูชาซึ่งประชาชนประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

 

ดังนั้น ความหวังที่เกิดขึ้นจากการที่ปราสาทเขาพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็คือ รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านเป็น 3.4 ล้าน ภายในปี 2553 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 2,000 ล้านเหรียญ คือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จะสร้างงานเพิ่มขึ้น 360,000ราย ตามแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยว และผลักดันให้กัมพูชาเป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยว แปลว่าถ้ามาอุษาคเนย์ต้องแวะกัมพูชา

 

ถามว่าทำไมต้องผลักดันขนาดนี้ เอาเข้าจริงแล้วรัฐบาลกัมพูชานั้นมีการจัดการด้านนโยบายที่ดีมาก เพราะกัมพูชาเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2547 ซึ่งผลคือการถูกยกเลิกการนำเข้าโควตาสิ่งทอ ซึ่งเป็นรายได้หลักของกัมพูชาคือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นกัมพูชาจึงมองว่า การท่องเที่ยวจะเข้ามาชดเชย ปราสาทเขาพระวิหารจึงได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2549 ใช้เวลา 2 ปี มาจบลงในปี 2551 เรียกได้ว่ากัมพูชาสามารถจัดการประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทย ยุทธศาสตร์ไทยทุกวันนี้ท่านอาจนึกไม่ออก

 

แล้วรายได้จะเกิดขึ้นอย่างที่คาดการณ์จริงหรือไม่ ข้อมูลสถิติจากองค์กรการท่องเที่ยวโลก World Tourism Organization ระบุว่าเมื่อใดก็ตามที่สามารถจดทะเบียนสถานทีเป็นมรดกโลก โอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมีประมาณ 4-10 เท่าตัว ตัวอย่างเช่น ป่าดงพญาเย็นปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 20 -30 เปอร์เซ็นต์ เกิดโรงแรมใหม่ๆ เกิดรายได้และการลงทุนในด้านต่างๆ มรดกโลกจึงแปลว่ามหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ ในความหมายของการพัฒนา

 

 

ทำไมไม่ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน

คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมไม่ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน คำถามนี้จะต้องแบ่งเป็น 2 ช่วงคือก่อนปี 2547 และ ปี 2548 เป็นต้นมา

 

ก่อนปี 2547 มีเรื่องสำคัญคือประเทศไทยและกัมพูชามีมติคณะรัฐมนตรีร่วมกันเมื่อ 2546 ว่าทั้งสองประเทศจะร่วมกันพัฒนาเขาพระวิหาร เพื่อประโยชน์ด้านการส่งเสริมท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตลอดจนพัฒนาปริมณฑลรอบปราสาทเขาพระวิหารเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ รวมทั้งเพื่อให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างไทยกับกัมพูชา

 

ปี 2546 มีมติคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างชัดเจน แล้วฝ่ายไทยก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ชุดที่ 1 คือกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน มีอนุกรรมการสองชุด คือ อนุกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทเขาพระวิหาร และคณะอนุกรรมการวางแผนการพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร ประธานคือ คุณบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

 

แล้วในปี 2547 ก็มีแถลงการณ์ความคืบหน้าเรื่อยมา ว่ามีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ และปี 2547 ก็เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญมากๆ คือการที่เราตัดสินใจให้ความช่วยเหลือสร้างถนนในกัมพูชา 3 เส้น คือ เส้นทางหมายเลข 48 ตราด-เกาะกง เป็นระยะทาง 153 กิโลเมตร เราลงทุนสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามแม่น้ำ และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่กัมพูชา ถนนเส้นที่สองคือเส้นทางหมายเลข 67 ช่องสะงำ ศรีสะเกษ - เสียมเรียบ 157 กิโลเมตร ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะจะไปเชื่อมที่เส้น 68 และ 64 ไปจบที่กำปงธม ถนนสามเส้นนี้ สอดรับกับนโยบายของสมเด็จฮุนเซ็นเรื่องสามเหลี่ยมการท่องเที่ยว คือพระวิหาร เสียมเรียบ และกัมปงธม เป็นจุดที่รัฐบาลกัมพูชาต้องการโปรโมทให้เป็นสามเหลี่ยมการท่องเที่ยว และรับบาลไทยก็ยังเสนอว่าจะช่วยเรื่องถนนถนนหมายเลข 38 คือจากสุรินทร์ ไปเสียมเรียบ ถ้าท่านดูเผินๆ ก็เห็นว่าการพัฒนาพวกนี้มีประโยชน์กับไทยมาก และสิ่งที่ทำทั้งหมดก็สอดคล้องกับเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสามประเทศที่เรียกว่า สามเหลี่ยมมรกต คือไทย กัมพูชา และลาว ไทยคือฝั่งศรีษะเกษ อุบลราชธานี และยังเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี คือ ไทย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม รวมไปถึงเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ The Greater Mekong ซึ่งประกอบไปด้วยไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และจีน

 

ความร่วมมือเหล่านี้ทำให้การค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาเติบโตอย่างมาก มูลค่าการค้าไทย-กัมพูชาประมาณ 48,000 ล้าน โดยที่ไทยได้ดุลการค้าประมาณ 70เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหากเกิดปัญหาขึ้น รายได้ที่เราได้กำไรตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้น

 

เมื่อย้อนไปดู เราพบว่ามีมติคณะรัฐมนตรีร่วม มีการตั้งคณะกรรมการแต่แล้วจู่ๆ ปี 2549 กัมพูชาก็อ้างของขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวโดยอ้างคำตัดสินของศาลโลก

 

และในทางปฏิบัติ ถ้าผมพูดอย่างคนที่จัดการเรื่องการลงทุน และกัมพูชาเขาพอใจกว่า เพราะเมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อเขาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเฉพาะตัวปราสาท แต่บริเวณโดยรอบไม่ถูกคุม โรงแรม ศูนย์การค้า กระเช้าลอยฟ้า ไม่ถูกควบคุม ฉะนั้นกัมพูชาต้องแฮปปี้แน่ ถ้าขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว แต่คำถามคือ 1 ทำไมกัมพูชากล้าขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ในเมื่อมีการตลกลงความร่วมมือกับเราที่มีมายาวนาน และสวนมติครม.ร่วม

 

2 รัฐบาลไทยทราบหรือเปล่า เขายื่น มกราคม 2549 และข้อ 3 คือแล้วรัฐบาลไทยทำอะไรหรือเปล่า คำตอบทั้งหมดมันอยู่บนคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศทั้งหมด

 

1 เม.ย. 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่กัมพูชา พูดว่า "ไทยยินดีที่จะช่วยผลักดันให้เขากระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดก และจะดำเนินการพัฒนาเขาพระวิหาร และฝ่ายไทยจะให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาในการบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทเขาพระวิหารต่อไป"

 

ปี 2549 รัฐมนตรีต่างประเทศคนเดิมพูดว่า ไทยได้รับแจ้งจากฝ่ายกัมพูชาว่า องค์การมรดกโลกจะประกาศให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกในปีนี้ ดังนั้นไทยจะร่วมมือกับกัมพูชาในการบูรณะเขาพระวิหารต่อไป

 

สิงหาคม 2549 ก่อนเกิดรัฐประหาร พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเยือนกัมพูชา ไปเจรจาเรื่อง การเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมทางบก สองเจรจาเรื่องการแบ่งเขตแดนทางทะเล และพื้นที่ทับซ้อนเพื่อให้ทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงและช่วยกันกันสำรวจและใช้ทรัพยากรใต้ทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤตพลังงาน ประเด็นนี้ คือเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลเพราะบริษัทเชฟรอนของสหรัฐนั้นสำรวจพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้สำรวจไป 7 แหล่ง ซึ่งหากข้อของ WTO และ UN ถูกต้อง คาดว่าจะมีน้ำมัน 2,000 ล้านบาร์เรล และมีก๊าซอีกล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

 

กันยายน 2549 เกิดรัฐประหาร

ตุลาคม 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและคณะไปกัมพูชายืนยันว่าจะยังคงให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ยืนยันเรื่องการให้ความช่วยเหลือการสร้างถนนทั้งสามสายคือ สาย48 ,67 และ 68 จะยังให้ความช่วยเหลือต่อไป และกำชับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเจรจาต่อ สำหรับการการเปิดช่องทางที่บริเวณช่องทางเข้าเขาพระวิหาร ไทยยินดีที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

 

ตุลาคม 2549 รัฐบาลไทย รับทราบว่ามีกัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเรียบร้อยแล้ว

 

2550 มีการประชุมเรียบร้อย และประกาศว่าไทยและกัมพูชาจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ไทยเห็นพ้อง และพึงพอใจ....นี่คือข้อแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศ

 

กรกฎาคม 2550 ดร. มนัสพาสน์ ชูโต เชิญประชุมหน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้อง บอกว่าทางการไทยสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารมรดกโลกมาโดยตลอด และขอให้หน่วยงานราชการแสดงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือร่วมมือ

 

สิงหาคม 2550 ดร. มนัสพาสน์ ชูโต บอกว่าประเทศไทยยอมรับคำเชิญของรัฐบาลกัมพูชาที่จะเป็นกรรมการร่วมระหว่างประเทศ ประเทศไทยรับรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2550 และตอบรับเป็นกรรมการร่วมฯ ไปตั้งแต่นั้น

 

มีนาคม 2551 คุณสมัคร สุนทรเวชไปเยือนกัมพูชา และยืนยันว่านายกฯ กัมพูชายืนยันว่าเป็นการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับเขตแดนไทยและกัมพูชาเด็ดขาด

 

พฤษภาคม 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปกรุงปารีสและยืนยันว่าไทยสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

 

ที่ไล่เลียงมาก็คือรัฐบาลไทยทราบเรื่องมรตลอด จุดยืนของไทยนั้นให้เขาพระวิหารขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ผ่านมา 3 รัฐบาล ทั้งหมดที่รัฐบาลไทยพูดแปลว่า ยินดี เชิญขึ้นทะเบียนไปเลย.... แล้วเราทำอะไร ยุทธศาสตร์ของไทยก็คือ เมื่อคุณขึ้นทะเบียนแล้ว เราขอเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่และลงทุนเพราะมองว่า การขึ้นทะเบียนกับดินแดนนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

 

แต่ที่น่าสนใจก็คือหลังจากดำเนินนโยบายมาอย่างต่อเนื่องมา 3 รัฐบาลแล้ว ศาลปกครองก็มีคำสั่งให้คุ้มครองมติครม. ที่ไปออกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นสนธิสัญญา ปรากฏการณ์นี้ สะท้อนอำนาจตุลาการที่อยู่เหนืออำนาจฝ่ายบริหาร นี่เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก

 

คำถามที่ผมยังค้างคาใจคือ การเจรจามาถึงปี 2547 เป็นประเด็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศตลอดมา แต่เมื่อปี 2548 เปลี่ยนหมดเลย คำถามคือเหตุใดรัฐบาลไทยจึงยินยอมและยินดีให้รัฐบาลกัมพูชาขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ทำไมจึงยอมให้เปลี่ยนจากมติ ครม. ร่วม คำถามคือเกิดการเปลี่ยนแปลงตอนไหนเพราะอะไร นี่คือคำถามสำคัญที่ยังต้องหาคำตอบ

 

เหรียญด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา นั้นประสบความสำเร็จ แต่เหรียญด้านไทย !!!?

ประเด็นสุดท้ายคือกัมพูชามีความรุดหน้าอย่างมาก ในการระดมความช่วยเหลือมาพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นการเตรียมตัวถึงความต่อเนื่องในเรื่องการลงทุน นี่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ มิหนำซ้ำยังพาตัวเองมาอยู่ในสถานะของการเรียกร้อง ทวงคืน สิ่งที่ไม่ได้เป็นของเรามาเป็นเวลา 46 ปี เราบอกว่า ขอสงวนสิทธิไม่ทำตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่เราบอกว่า กัมพูชาต้องฟังศาลปกครองของไทย ในขณะที่กัมพูชามองเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไทยกลับปลุกเร้าเรื่องดินแดน และอธิปไตย 2 ประเทศจึงมองคนละด้าน

 

คำถามคือ ประเทศในโลกส่วนใหญ่อยู่ตรงไหน มุมมองไหนที่เขารับได้ จุดยืนของไทยนั้นเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เสี่ยงต่อการสูญเสียโอกาสในการลงทุน รวมทั้งความปลอดภัยของคนไทยว่า 1,500 ชีวิตที่ลงทุนทำธุรกิจอยู่ในกัมพูชาทั้งโรงแรม ร้านอาหาร อุตสาหรรมเกษตร เหมืองแร่

 

จากนี้ไทยต้องทำอะไร ผมคิดว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น สะท้อนความสำเร็จของรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งหากเรามองว่าเหรียญด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา นั้นประสบความสำเร็จ แต่เหรียญด้านไทย กลับไม่สามารถแสดงจุดยืนได้เพราะสิ่งที่รัฐบาลไทยเพียรย้ำแม้จะถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ผมว่ามันสะท้อนต้นทุนความน่าเชื่อถือทางสังคมที่ต่ำมากของรัฐบาล

 

ท้ายสุด สิ่งที่น่ากังวลคือสิ่งที่ตกค้างคือการปลุกระดมของพันธมิตรฯ ก็คือบาดแผลทางประวัติศาสตร์ เพราะมันจะลุกลามไป ผมเรียนว่าหากบาดแผลระหว่างไทยกับกัมพูชาจะเกิดซ้ำ เมื่อนั้นประโยชน์ของตัวหมากต่างๆ ก็ย่อมไร้ค่า

 

 

 

 


อ่านส่วนที่เกี่ยวข้อง

เสวนา : พนัส ทัศนียานนท์ : ประมวลเหตุพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร และการวินิจฉัยของศาล 

เสวนา : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ลัทธิชาตินิยมภาค 3 - ปัญหาและทางออกรัฐบาลสมัคร

เสวนาเขาพระวิหาร: ดร. พิภพ อุดร: มองจากมุมการบริหารจัดการ ไทยอยู่อย่างไรในสังคมโลก

เสวนาปราสาทพระวิหาร: สุรชาติ บำรุงสุข: รักชาติต้องไม่เอาชาติเข้าสงคราม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท