Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 .. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์, สมาคมจดหมายเหตุสยาม, และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการอภิปรายเรื่อง สยามประเทศ (ไทย) หลังสมัคร 1: การเมืองกับลัทธิชาตินิยม— กรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร/รัฐบาลสมัคร—ปัญหาและทางออก ณ ห้อง 201 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.


 


มีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตส.ว.จังหวัดตาก และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ., ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดี มธ., รศ.ดร.พิภพ อุดร อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ., รศ.ดร.สุ รชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการอภิปรายโดย สมฤทธิ์ ลือชัย


 


สุรชาติ บำรุงสุข


 


ปัญหาเขาพระวิหาร ทางรัฐศาสตร์มีสี่ประเด็น 1.การกำหนดเส้นเขตแดนของสยาม 2.การรับคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศเมื่อปี 2505 3.ปัญหาการสงวนสิทธิของรัฐบาลไทย ปี 2505 และ 4.ปัญหาการสงวนเส้นเขตแดนของรัฐบาลไทย ปี 2505


 


เวลาอธิบายปัญหาเขาพระวิหาร จะเจอปัญหาใหญ่หนึ่งคือ เวลาเราพูดถึงปัญหากรณีเขาพระวิหาร แต่สังคมไทยกำลังพูดถึงกรณีทักษิณ (ชินวัตร) บวกสมัคร (สุนทรเวช) และเขาพระวิหาร เพราะฉะนั้น ต้องแยกวาทกรรมสองชิ้นนี้ออกจากกันให้ได้


 


ขอแย้ง อ.ชาญวิทย์ว่า ในอดีต เหนือปราสาทพระวิหารไม่ใช่องค์เทพอย่างที่ อ.ชาญวิทย์พูด แต่คือธงฝรั่งเศส เหนือปราสาทพระวิหาร หลังปี 05 คือ ธงชาติกัมพูชา เราเคยพยายามปักธงชาติไทย ปี 2505 จะเห็นคำสั่งที่จอมพลประภาส (จารุเสถียร) สั่งให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเอาธงขึ้นไปปัก แต่เมื่อคำตัดสิน เมื่อมิถุนายน 2505 ออกมาเราต้องเอาธงลง


 


และต้องย้อนต่อนิดหนึ่งว่า วันนี้เวลาพูดเรื่องนี้ต้องตระหนักว่าพูดในบริบทของการเมือง ซึ่งไม่รู้จะเรียกว่าอะไร หลายคนเรียกการเมืองใหม่ 70:30 ตุลาการภิวัตน์ แล้วเรากำลังมีการทูตใหม่ คู่ขนานกับการเมืองใหม่ ในอนาคต การทำความตกลงทุกอย่างรวมถึงการออกแถลงการณ์ร่วมจะถูกกำหนดให้เป็นสนธิสัญญา เป็นมิติที่นักเรียนรัฐศาสตร์ที่เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องตั้งหลักใหม่ทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างนี้ อนาคตประชาธิปไตยไทยไม่ใช่ตรวจสอบและถ่วงดุล แต่ผมคิดว่า เรากำลังเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและเกินดุล คือไม่มีดุลพินิจแล้ว ยกเว้นแต่ในอนาคตเราจะเอากระทรวงต่างประเทศไปไว้อยู่ใต้สถาบันตุลาการ และให้สถาบันตุลาการเป็นคนปกครองแทน


 


ประเด็นหลักสี่ประเด็น สังคมไทยวันนี้ต้องเริ่มต้องสติ มีคำพุทธอยู่คำหนึ่ง คือ โยนิโสมนสิการ


 


อ.พนัส เป็นนิสิต ปี 4 ตอนเกิดเรื่องเขาพระวิหาร ผมเป็นนักเรียน ป.1 ผมไม่ได้เดินขบวนครั้งแรกในชีวิตด้วยเรื่อง 14 ตุลา 2516 แต่เดินขบวนด้วยด้วยคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรียกร้องเขาพระวิหารคืน เมื่อปี 05 คนยุคผมมีตะกอนใจค้าง อ.ชาญวิทย์ใช้คำว่า แผลเก่า แต่ผมคิดว่า แผลเขาพระวิหาร มันไม่เก่า แต่ก็ไม่ใช่แผลสด มันเป็นแผลกลางเก่ากลางใหม่ ที่ตกค้างอยู่กับคนไทยที่อายุประมาณ 50 ปีขึ้น จะจำได้ดี มีตัวอย่างคือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 51 อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ จัดเสวนาเรื่องเขาพระวิหาร มีผู้ฟังที่เป็นผู้ใหญ่กว่าผม ฟังเสร็จแล้วยกมือเรียกร้องให้เอาเขาพระวิหารคืน เรียนตรงๆ ว่าตกใจ เพราะถ้าจะอธิบายเรื่องนี้ เริ่มแรกต้องเคลียร์กันก่อนด้วยสติ โยนิโสมนสิการ คือต้องเรียนรู้ที่จะเห็นรากเหง้าของปัญหา 


 


ปัญหาทั้งหมด เริ่มด้วยการกำหนดเส้นเขตแดนของสยาม อดีต สยามไม่มีเส้นเขตแดน วันนี้ เปิดหนังสือเรียนของลูกๆ จะเห็นหนังสือแผนที่ของนายทองใบ แตงน้อย จะมีภาพระบายสีอาณาเขตของกรุงสุโขทัย อาณาเขตของอยุธยา ถามจริงๆ ว่า มันเป็นเขตแดนจริงหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะเขตแดนยังไม่เกิด รัฐในยุโรปก่อตัวเป็นรัฐ หรือที่เรียกว่าประเทศ ในยุคสมัยใหม่จริงๆ เมื่อ ค.ศ. 1648 ประมาณ พ.ศ. 2100 เศษๆ ถึงเริ่มก่อกำเนิดความเป็นประเทศขึ้น และเริ่มมีคำถามที่รัฐบาลที่มีประชาชนอยู่ในอำนาจการปกครอง ต้องตอบว่า อำนาจนี้สิ้นสุด ณ จุดใดในภูมิศาสตร์ หรืออำนาจที่รัฐมีนั้นสิ้นสุดตรงไหน หลายประเทศมีสภาพทางธรรมชาติเป็นตัวแบ่ง ถ้าเป็นคอหนังคาวบอย จะเห็นว่า โจรที่ปล้นธนาคารในสหรัฐฯ จะหนีข้ามแม่น้ำเล็กๆ ชื่อริโอแกรนด์ ไปอยู่ในเม็กซิโก นายอำเภอสหรัฐฯ ที่จะตามเข้าไปจะต้องปลดดาวออกแล้วขี่ม้าข้ามแม่น้ำเล็กๆ นั้นไป หรืออย่างจีนกับเกาหลีเหนือ ก็มีแม่น้ำยาลูเป็นเส้นแบ่ง


 


เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐมหาอำนาจเคลื่อนตัวเข้าสู่อาณานิคมทางเอเชียใต้ เมื่ออังกฤษครอบครองดินแดนจากอินเดีย เข้ามาสู่พม่า รวมถึงมลายาและสิงคโปร์ ส่วนอีกด้านหนึ่งฝรั่งเศสเข้าสู่พื้นที่ด้านตะวันออกของสยาม ถามว่าเขตอิทธิพลของอินโดจีนฝรั่งเศส รวมถึงเขตอิทธิพลของอินเดีย ของอังกฤษ สิ้นสุดตรงไหนในทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรอยต่อกับสยาม ปัญหามันเกิดเพราะเดิมเราไม่มีเส้นเขตแดน


 


พี่น้องสองฝั่งแม่น้ำโขงกับพี่น้องสองฝั่งแม่น้ำเมยของโลกในอดีต ถ้าต้องข้ามแม่น้ำไม่เคยต้องมีหนังสือเอกสารราชการรองรับ ไม่จำเป็นต้องใช้ border pass ใครอยู่กับรัฐไหนไม่มีคำตอบในความเป็นจริง แต่เมื่อวันหนึ่งเราต้องตอบ เพราะสถานะทางการเมืองของรัฐที่มัดอยู่กับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ต้องมีความชัดเจนว่า สุดท้ายอำนาจอธิปไตยของสยามสิ้นสุดตรงไหน เช่นเดียวกัน อำนาจอธิปไตยของอินโดจีนฝรั่งเศสนั้นสิ้นสุดตรงไหน เราจะเริ่มเห็นการปักปันเขตแดนที่ผู้แทนของรัฐบาลสยามทำกับรัฐบาลของฝรั่งเศส ต้องยอมรับว่า การปักปันเขตแดนหรือดินแดนในยุคอาณานิคม รัฐเล็กๆ เป็นฝ่ายเสียเปรียบ


 


แม้กระทั่งตัวอย่างความสัมพันธ์ของจีนกับอินเดีย ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นสู่อำนาจ เหมาเจ๋อตุงบอกไม่รับเส้นเขตแดนที่รัฐบาลจีนเดิมปักปันกับอังกฤษในกรณีที่ครอบครองอินเดีย เกิดผลคือ สงครามตามแนวชายแดนด้านเหนือของอินเดีย หรือที่เรียกกันว่า สงครามตามแนวแมคมาฮอน (McMahon) แต่รบแล้ว ไม่ได้ปรับ


 


จากตรงนี้ จะเห็นว่า เราเสียเปรียบฝรั่งเศสเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง การปักปันเขตแดนในลำน้ำโขงของฝรั่งเศสไม่ได้ใช้ร่องน้ำลึกเป็นแนวแบ่งตามแบบกฎหมายระหว่างประเทศปกติ แต่ใช้แนวเกาะแก่งเป็นเส้นแบ่ง เพราะฉะนั้น น้ำอยู่ฝั่งเรา เกาะอยู่ฝั่งเขา ทำให้ในหลายจุดเกิดปัญหา แต่ปัญหาจบ เพราะเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนฝรั่งเศส มีการให้สัตยาบันรับรองเส้นเขตแดนเหล่านี้ รวมถึงการแลก 3 ต่อ 3 เราแลกพระตระบอง เสียมราบ ศรีโสภณ กับ จันทบุรี ตราดและด่านซ้าย วันนี้ แผนที่ที่มีเส้นเป็นรูปขวานอย่างที่เราเห็น เป็นผลจากการปักปันเขตแดนซึ่งต้องถือว่า เส้นเขตแดนตรงนี้มีข้อยุติ แต่ปัญหาที่เกิดไม่ใช่เกิดจากการปักปันที่ไม่ชัดเจน แต่เกิดจากเงื่อนไขหรือสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป


 


ในจุดนี้ต้องชัด เพราะในช่วงที่กรณีเขาพระวิหารเป็นกระแสสูง มีชาวบ้านบางพื้นที่เรียกร้องให้เอาพระตระบอง เสียมราบ ศรีโสภณ คืน วันนี้ไม่ชัดไม่ได้ เพราะถ้าท่านก้าวล่วงไปสู่ประเด็นเรียกร้องดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ต้องตอบว่าเป็นไปได้ไหมที่รัฐไทยในโลกปัจจุบันจะสามารถเปลี่ยนเส้นเขตแดนของรัฐได้ โดยประชาคมระหว่างประเทศให้การรับรอง


 


เราเคยเปลี่ยนไหม สยามเคยเปลี่ยนครับ ตามที่ อ.ชาญวิทย์ พูด 2484 เราเอาพระตระบอง เสียมราบ ศรีโสภณ คืน 2486 เราเอาสัฐมาลัย คือ กลันตัน ตรังกานู และปะลิส บวกรัฐฉานเข้ามาไว้กับเรา 2488 สงครามสงบ 2489 เราคืนทั้งหมด ขอแย้งชาญวิทย์นิดเดียวว่าผมเข้าใจว่า คำว่า คืนทั้งหมด คือคืนในฐานะของเส้นเขตแดนเดิม ที่ยอมรับตอนให้สัตยาบันตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้น โดยข้อกฎหมายเขาพระวิหาร น่าจะกลับไปอยู่ฝั่งเขา ตั้งแต่เมื่อปี 2489


 


ที่ต้องคืน เพราะอยากเป็นสมาชิกยูเอ็น ไม่คืนไม่ได้ สงครามสงบ มหาอำนาจตะวันตกกลับเข้ามาปกครองดินแดนประเทศแถบนี้ การไม่คืนเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เส้นเขตแดนสยามถูกปรับเพียงแค่ จากปี 2484 2486 และสิ้นสุดเมื่อปี 2489 เพราะฉะนั้น ต้องเคลียร์ว่า การปรับเส้นเขตแดนเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้อีก และถ้าเกิดด้วยการที่สยามสมัยใหม่ตัดสินใจใช้เครื่องมือทางทหารเป็นคำตอบ ต้องถามคำถามเดียวกับ อ.พิภพ ว่าแล้วตกลงในเวทีโลกใครยืนกับเราบ้าง คำถามตรงนี้ใหญ่ เพราะสงครามในอดีต ให้ค่าตอบแทนที่ชัดเจน 2 ประการคือ ดินแดนกับแรงงานหรือเชลย แต่สงครามสมัยใหม่ ท่านทำแล้วไม่ได้ดินแดน เพราะประชาคมระหว่างประเทศไม่ยอมรับการปรับเส้นเขตแดน ตกลง ท่านอยากได้อะไร ถ้าอยากได้คน ท่านไม่ต้องทำสงคราม เพราะแม้ไม่ทำสงคราม แรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาก็เยอะอยู่แล้วในบ้าน หรือปัญหาชายแดนด้านตะวันตกกรณีพม่าก็เช่นเดียวกัน ถ้าเชื่อว่า ทำสงครามเพราะต้องการแรงงานเช่นในอดีต ไม่จำเป็นต้องทำสงครามเลย แค่เปิดประตูชายแดนรับแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แรงงานจะทะลักเข้ามาทันที เพราะฉะนั้นประเด็นเส้นเขตแดนต้องชัด


 


สอง ปัญหาคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศที่เราเรียกกันว่า ศาลโลก เมื่อมิถุนายน ปี 2505 คำตัดสินในหน้า 36 "ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา" ถ้าตีความว่ามีแต่ตัวปราสาท ผมคิดว่าต้องคิดต่อ เพราะมีคำว่าอาณาเขตอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมคิดว่าต้องยอมรับ ถ้าหลายท่านบอกไม่รับ ลองอ่านคำพูดของจอมพลสฤษดิ์เมื่อ 4 กรกฎาคม 05 "แม้ว่ารัฐบาลและประชาชนไทยจะได้มีความรู้สึกสลดใจและขมขื่นเพียงใด ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติก็จะต้องปฎิบัติตามพันธะกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ จำต้องยอมให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือพระวิหารนั้น ตามพันธะกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ" รัฐบาลไทยตั้งแต่ปี 2505 ไม่เคยปฎิเสธพันธะตรงนี้ ด้วยการยอมรับอย่างชัดเจนว่า พื้นที่ตรงปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐกัมพูชา เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องชัดว่า ปราสาทพระวิหารบวกพื้นที่ส่วนหนึ่ง พื้นที่ตรงนี้กว้างยาวเท่าไหร่ คำตอบคือไม่รู้ เพราะศาลระหว่างประเทศไม่มีอำนาจขีดเส้นเขตแดนของรัฐ พูดง่ายๆ ศาลระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการปักปันเขตแดน


 


แต่ประเด็นนี้จะโยงอยู่กับเรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ เมื่อศาลระหว่างประเทศทำการตัดสิน คณะรัฐมนตรีสมัยจอมพลสฤษดิ์ได้ออกเส้นเขตแดนกำกับพื้นที่ตัวปราสาทพระวิหาร คือมีเส้นเขตแดนเกิดรอบตัวปราสาทพระวิหาร ถ้าดูตามแผนที่จะมีเวิ้ง ที่มติ ครม. ปี 05 ลากเส้นกำกับไว้แล้ว ว่ามีปราสาทพระวิหารและมีอาณาเขตที่เป็นดินแดนอีกส่วนหนึ่ง อยู่ล้อมรอบตัวปราสาทพระวิหาร ยกเว้นแต่วันนี้ท่านแย้งว่าไม่รับมติ ครม. 2505 ก็จะเป็นปัญหาอีก ไม่แน่ใจว่าจะฟ้องศาลที่ไหนให้ มติ ครม. ปี 05 เป็นโมฆะ ดังนั้นวันนี้สังคมไทยต้องเปิดใจยอมรับว่าอะไรคือข้อเท็จจริงและอะไรคือข้อกำหนด


 


ประเด็นที่สี่ จอมพลสฤษดิ์ ได้แถลงไว้ต่อว่า "แต่รัฐบาลขอตั้งข้อประท้วงและข้อสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจจะมีขึ้นในภายหน้า เพื่อจะได้กรรมสิทธิ์นี้กลับคืนมาตามโอกาสอันควร"


 


หลายท่านคงได้ฟังว่า ในรอบ 2-3 สัปดาห์ มีนักวิชาการเปิดประเด็นว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เคยทำข้อสงวนสิทธิ์ไว้ แต่โดยหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ การสงวนสิทธิมีอายุความ 10 ปี ผมไม่คิดว่าการสงวนสิทธิ์มีอายุความตราบสิ้นดินฟ้า จนสิ้นสลายของรัฐไทย ถ้าสมมติการสงวนสิทธิ์มีอายุความ 10 ปี สิทธิ์นี้สิ้นสุดที่ปี 2515 แต่สำคัญกว่าการสงวนสิทธิ์คือ รัฐบาลไทยหลังจากนั้นไม่เคยมีการใช้สิทธิ์ที่ตนสงวน คือไม่เคยส่งความเห็นแย้งให้กับศาลระหว่างประเทศ


 


ดังนั้น ต้องชัดเจนว่าหนึ่ง เส้นเขตแดนของสยามถูกกำหนด และชัดเจนว่า ตัวปราสาทพระวิหารวันนี้ไม่ได้อยู่ในอาณาเขตของรัฐไทย และถ้าเห็นคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ เห็นการลากเส้นเขตแดนของ ครม. ปี 05 เห็นคำสงวนสิทธิ์ต้องมีอายุความ ถ้ารับเรื่องเหล่านี้เป็นเบื้องต้น จะสบายใจมากกว่านี้


 


ผมพูดอย่างนี้ไม่ใช่ไม่รักชาติ แต่จุดยืนผมชัด รักชาติต้องไม่เอาชาติเข้าสงคราม แต่ถ้ารักชาติวันนี้ ต้องพาชาติออกจากวิกฤตให้ได้ เพราะวิกฤตตอนนี้ คือวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน หรือเรียกว่า ติดหล่ม ผมไม่อยากเห็นเราตกหล่มของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เราตกมาเป็นระยะแต่เราไม่รู้สึก


 


ย้อนอดีต กุมภาพันธ์ 44 ที่มีหนังบางระจัน ละครโทรทัศน์อตีตา โฆษณายาชูกำลังชุดไทยรบพม่า แต่เหตุการณ์ใหญ่กว่านั้นคือ วิกฤตการณ์แนวชายแดนด้านตะวันตกของไทย-พม่า เกือบรบกัน เพราะถูกทับซ้อนหลังจากหนังเรื่องบางระจันออก ละครอตีตา โฆษณาไทยรบพม่า เราถูกซ้อนด้วยวาทกรรมชุดเก่าที่สังคมไทยใช้ง่าย คือ วาทกรรมไทยรบพม่า


 


ถามว่า สงครามไทยรบพม่ามีจริงหรือ ในทางรัฐศาสตร์ สยามเกิดเป็นประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะความเป็นประเทศเกิดชัดเจนเมื่อเรามีเส้นเขตแดนของรัฐ พม่าเกิดเมื่อได้รับเอกราชของอังกฤษ วาทกรรมระหว่างสงครามไทยรบพม่า ไม่มี เพราะโลกในอดีต เป็นสงครามระหว่างเจ้ากรุงศรีอยุธยากับเจ้ากรุงหงสาวดี โลกในอดีตไม่เคยอธิบายชุดของสงครามด้วยวิธีคิดของรัฐสมัยใหม่ คำว่าเสียเอกราชเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อรัฐเป็นรัฐอธิปไตยแบบสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นเอกราชไม่มีทางเสีย แต่คำอธิบายคือบุญญาธิการของกษัตริย์นั้นสูงกว่ากันต่างกัน อย่าเอาโลกของสองเวลาซ้อนกัน ไม่อย่างนั้นเราจะอยู่กับเพื่อนบ้านด้วยแผลเก่าและตะกอนใจ


 


พฤษภาคม 45 เป็นช่วงระยะเวลาที่เฉียดสงครามระหว่างไทยกับพม่ามากที่สุด ก่อนปี 46 เราเจอปัญหากรณีนักร้องไทย 2 คน คือ เท่ห์ อุเทน พรหมมินทร์ กับนิโคล เทริโอ ซึ่งคงไม่ได้พูดอะไรเท่าไหร่ แต่คงมีอะไรเกิดขึ้นบางอย่างในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว จนเกิดการประท้วงว่านักร้องของไทยพูดจาดูถูกแม่หญิงลาว กรณีกบ สุวนันท์ คงยิ่ง เป็นปัญหาแรกของพระวิหารในยุคใหม่ กรณีเผาสถานทูต มาจากการที่คนกัมพูชาส่วนหนึ่งเชื่อว่า สุวนันท์ทวงเขาพระวิหารคืน ผมไม่เชื่อว่าจริง แต่ในโลกปัจจุบัน เวลาข่าวถูกลือออกไป มันเป็นปัญหาความเท็จที่ถูกสร้างให้เป็นวาทกรรมบางชุดขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเมือง


 


เมื่อเห็นตัวอย่างอย่างนี้จะพบว่า เรากับเพื่อนบ้านมีแผลเก่าและตะกอนใจเยอะ แต่รอบนี้มันกลายเป็นแผลกลางเก่ากลางใหม่ สะเก็ดมันตก เอามือไปขูดทีเลือดออกซิบๆ


 


อย่างไรก็ตาม ตามที่อ.พิภพ (อุดร) พูดไว้ว่า รัฐบาลตั้งแต่ 46 ชัดว่า ไทยอยู่ในสถานะที่สนับสนุนเขมร ในการขึ้นปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ในกรณีอย่างนี้ ปัญหาที่ลำบาก รัฐบาลไม่เคยอธิบาย รัฐบาลพูดด้วยมติ ครม. เข้าใจว่ารัฐบาลคิดสบายรึเปล่าว่าคนเข้าใจได้ ไม่ได้เตรียมตัวอะไร เข้าใจว่าใน ครม. หลายคนเกิดหลังปี 05 เลยไม่รู้สึกกับผลพวงที่จะเกิดขึ้นว่าจะกลายเป็นปัญหา ดังนั้นคำชี้แจงทั้งหลายไม่ออก จนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 51 เขมรยื่นแผนที่ฉบับสุดท้ายที่จะขึ้นทะเบียนให้รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ไทยให้กรมแผนที่วัดพิกัดจากภาพที่ฝั่งเขมรส่งเข้ามาให้เรา คำตอบชัด เขมรขอจดทะเบียนเขาพระวิหารและพื้นที่ตามมติ ครม. ปี 05 เท่ากับเขมรจดพื้นที่ที่เรานั่นแหละขีดให้เขา ตกลงอย่างนี้ทำอย่างไร อะไรก็ไม่รับหรือ แล้วจะพูดกับคนนอกบ้านอย่างไร


 


สำหรับทางออกระยะสั้น วันนี้เราเล่นบทคนใจกว้างบ้างได้ไหม สังคมไทยเวลาพูดเรื่องเพื่อนบ้าน เราใช้คำว่า บ้านพี่เมืองน้อง เราบอกเราเป็นพี่ทุกครั้ง ซึ่งไม่ใช่ภาษาที่เพื่อนบ้านชอบ ผมใช้ว่า จริงๆ แล้วเราเป็นญาติกัน เรากับคนในล้านช้าง เป็นญาติทางสายเลือด เพราะเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน เรากับเขมรเป็นญาติกัน อยุธยาคือแบบจำลองของเขมร ภาษาที่เราใช้เป็นราชาศัพท์เป็นภาษาในเขมรทั้งสิ้น มากกว่านั้น ในอยุธยามีอำเภอชื่อ อ.นครหลวง ซึ่งสำหรับคนแถบนี้ คำว่า นครหลวงคือนครวัดนครธม รำ เราก็รับจากเขา แต่รำเขมรหายไป จากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา พอวันนี้เขาอยากรำ เขาขอให้กรมศิลป์ส่งนางรำเรากลับไปสอนนางรำบ้านเขา วันนี้เรากับลาวเป็นญาติโดยสายเลือด เรากับพี่น้องทางกัมพูชาเป็นญาติทางวัฒนธรรม


 


สมเด็จฮุนเซนเดินทางมาเจรจาความเมืองครั้งแรกกับประเทศไทย มีคนบอกว่า สมเด็จฮุนเซนขอไปดูนครวัดจำลองในวัดพระแก้ว พูดง่ายๆ ราชสำนักไทยรับเอาวัฒนธรรมเขมรมาอยู่กับเรานานแล้ว


 


วันนี้ใจกว้างพอไหม ถ้าคิดว่าเป็นพี่กล้าแสดงความยินดีกับน้องไหม หรือคิดว่าเป็นญาติกล้าแสดงความยินดีไหม วันที่บ้านเขาได้ของที่เป็นความหวังของคนในบ้าน ผมว่าวันนี้สังคมไทยต้องกล้าเปิดใจและใจกว้างที่จะกล้าแสดงความยินดีกับพี่น้องในกัมพูชา เพื่ออย่างน้อยสร้างเงื่อนไขเชิงบวกระหว่างไทยกับกัมพูชาในอนาคต และที่สำคัญลดเงื่อนไขของข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น


 


ถ้าอยากกลับเข้าสู่ยุค 2484 หรือยุคชาตินิยม ผลพวงมรดกของชาตินิยมยุคจอมพล ป. คือ พระพุทธชินราชอินโดจีน โดยพระหลายชุดที่อยู่ในตลาดพระปัจจุบัน สร้างในยุคสงครามโลก 2484-86 แต่พระพุทธชินราช สร้างเพื่อเตรียมเป็นขวัญกำลังใจให้ทหารที่จะไปรบที่อินโดจีน เพื่อเอาพระตระบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณคืน


 


วันนี้เหลืออย่างเดียวคือ เอาสติเป็นที่ตั้ง เอาปัญญาเป็นฐานที่มั่น ถ้าไม่มีทั้งสองอย่างกำกับจะลำบาก เพราะถ้าอะไรก็ไม่รับ มติศาลระหว่างประเทศ ปี 05 ก็ไม่รับ เส้นเขตแดนปี 05 ที่เราขีดเองก็ไม่รับ จะเอาคืนอย่างเดียว ต้องตอบโลกเหมือนกันว่า ตกลงสังคมไทยจะอยู่ในประชาคมระหว่างประเทศอย่างไร


 


สอง ระยะกลาง ต้องเริ่มคิดปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทางรัฐศาสตร์แก้ด้วยการปรับสนามรบหรือพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม หรือ Joint Development Area (JDA) โดยมีการทำแล้ว ที่ชัดเจนคือ พื้นที่ด้านล่างของเรา ที่เรียกกันว่า JDA ไทย-มาเลเซีย


 


แม้สิ่งที่ยุ่งยากมากที่สุดเราก็ทำสำเร็จ หากคิดว่า เส้นเขตแดนทางบกยุ่งยาก ทางทะเลยากกว่า เพราะเขตแดนทางทะเลยุ่งยากกว่า เพราะกฎหมายทางทะเลเป็นกฎหมายที่ซับซ้อนที่สุดในกฎหมายระหว่างประเทศ กองทัพเรือไทยประสบความสำเร็จหลายปีแล้วในการทำความตกลงกับกองทัพเรือเวียดนาม ในการปรับพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย เป็นพื้นที่ลาดตระเวนร่วมระหว่างราชนาวีไทยกับกองทัพเรือของเวียดนาม เรามี 2 ตัวแบบที่ชัดเจนว่าเราสามารถข้ามพ้นธรณีประตูของสงครามไปสู่สันติได้


 


เอาไหม ในอนาคต ทำพื้นที่ที่มีปัญหาตามแนวชายแดนกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอบปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม Joint Cultural Development Area (JCDA) เพราะถ้ากัมพูชาสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวชุดใหญ่ แบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นครวัดนครธม ต่อเข้าสู่ปราสาทพระวิหาร น่าคิดต่อว่า ถ้าคิดว่าปัญหาพระวิหารเป็น win-win solution อาจทำทัวร์วัฒนธรรม จากอีสานไปบรรจบที่ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทหินพิมาย หรือไล่ไปทางอิสานใต้ เพราะโรงแรมและระบบถนน การบริการฝั่งเราก็ดีกว่า ถ้าพัฒนาได้ อีสานจะเป็นประตูเปิดสู่อินโดจีนด้านล่าง และมีวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อม ถ้าคิดอย่างนี้ โลกในอนาคตไม่ต้องรบ เพราะวันนี้รบ สุดท้ายก็ปรับเส้นเขตแดนไม่ได้ แล้วรบเพื่ออะไรล่ะ แต่ถ้าไม่รบ ก็น่าจะทำความตกลงในพื้นที่ทับซ้อนและหาข้อยุติ


 


การแก้ปัญหาระยะยาว กรอบใหญ่ของปัญหาระยะยาว คือ ความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านรอบตัว วันนี้มีตะกอนเก่าระหว่างเรากับเพื่อนบ้านทางตะวันตก คือพม่า เรากับล้านช้างคือลาว เรากับกัมพูชาก็เกิดแผลสดแล้ว  เรากับมาเลเซียก็มี ดังนั้นต้องเริ่มคิดว่า จะลดเงื่อนไขที่เป็นปัญหาระหว่างประเทศอย่างไร ในกรณีกับกัมพูชา ถ้ามองเฉพาะปัญหาที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เรามีพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นปัญหาอยู่ทั้งหมด 15 จุด ต้องเริ่มคิดเรื่องการปักปันเส้นเขตแดนในอนาคตที่อาจมีพื้นที่ทับซ้อนบางส่วน แต่ต้องคิดให้ละเอียด ไม่เช่นนั้นจะเจอปัญหาแบบบ้านร่มเกล้า สิทธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส บอกว่า พื้นที่บ้านร่มเกล้าแบ่งที่แม่น้ำเหลือง ถ้าลงไปในพื้นที่บ้านร่มเกล้า พบว่ามีแม่น้ำเหลืองใหญ่กับแม่น้ำเหลืองเล็ก ถ้าอย่างนั้นถามว่าแบ่งตรงไหน ถ้าเอาแม่น้ำหนึ่งเป็นเส้นเขตแดน ไทยได้ ถ้าเอาอีกแม่น้ำหนึ่งเป็นเส้นเขตแดน ลาวได้ ฉะนั้น เอาไหมให้พื้นที่บ้านร่มเกล้าตรงกลางแม่น้ำเหลือง เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม แบบที่เกิดในยุโรปหรือในสหรัฐฯ


 


หรือหลายท่านที่เคยท่องเที่ยวในต่างประเทศ น้ำตกไนแองการ่าอยู่ระหว่างชายแดนของสหรัฐฯ กับแคนาดา ถ้าท่านบอกว่า 2 รัฐต้องแบ่งอธิปไตยให้ชัดเจน ก็จะต้องขีดเส้นแบ่งน้ำตกไนแองการ่าแล้วปักปันเขตแดน แต่วันนี้ สหรัฐฯ และแคนาดาเปิดการท่องเที่ยวใหญ่ มาจากตรงไหนก็ได้ ขอให้จ่ายสตางค์ เขาเถียงกันเพียงอย่างเดียวว่ามุมของประเทศไหนสวยกว่ากัน


 


เพราะฉะนั้น เราต้องเริ่มคิดเรื่องมิติเชิงบวกของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องเปิดเวทีอย่างที่อ.ชาญวิทย์ อ.สมฤทธิ์จัด เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะเรียนรู้เรื่องไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เช่นนั้นแผลเก่าและตะกอนใจเดิมๆ จะกลายเป็นแผลสดของโลกปัจจุบัน


 


 


อ่านส่วนที่เกี่ยวข้อง


เสวนา : พนัส ทัศนียานนท์ : ประมวลเหตุพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร และการวินิจฉัยของศาล 


เสวนา : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ลัทธิชาตินิยมภาค 3 - ปัญหาและทางออกรัฐบาลสมัคร

เสวนาเขาพระวิหาร: ดร. พิภพ อุดร: มองจากมุมการบริหารจัดการ ไทยอยู่อย่างไรในสังคมโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net