Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ชื่อบทความเดิม: ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: ข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีสถานะทางกฎหมายของคำแถลงการณ์ร่วม


ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทนำ


ผู้พิพากษา Lord Denning กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลเป็นของสาธารณะ สาธารณชนพึงวิจารณ์คำพิพากษาของศาล อนุสนธิจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินสถานะทางกฎหมายของคำแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) นั้นมีข้อสังเกตที่ควรพิจารณา ดังนี้



1. เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความหมายของหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550


            จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับขอบเขตความหมายของคำว่า "หนังสือสัญญา" ตามมาตรา 190 วรรคแรกนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวิเคราะห์หรืออธิบายความหมายของคำว่า "หนังสือสัญญา" ไม่ละเอียด แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีก่อนสองคดีคือคดีเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตจำนงกับคดีการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย และที่น่าแปลกใจที่สุดคือการนำ "ความเห็นของผู้ร้อง" คือวุฒิสภามาเป็น "เหตุผล" หลักในการอธิบายความหมายของคำว่า "หนังสือสัญญา" โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญแทบมิได้ใช้ความพยายามใดๆ ที่จะค้นคว้าอ้างอิงเกณฑ์ที่ศาลโลกได้เคยกล่าวไว้ในคดีไหล่ทวีปแห่งทะเลอีเจียน (Aegean Sea Continental Shelf) ระหว่างประเทศกรีซกับตุรกีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.. 1978 ซึ่งเป็นคดีที่ศาลโลกได้กล่าวถึงเกณฑ์สามประการที่ใช้ประกอบพิจารณาว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นสนธิสัญญาหรือไม่ เกณฑ์ที่ว่านี้ได้แก่ การใช้ถ้อยคำ บริบทของการทำแถลงการณ์ร่วม (Context) และทางปฎิบัติของรัฐภายหลังทำแถลงการณ์ร่วม (Subsequent conduct) อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้พิจารณาทางปฎิบัติของนานาประเทศเกี่ยวกับสถานะของแถลงการณ์ร่วมว่า ส่วนใหญ่มีสถานะทางกฎหมายเป็นสนธิสัญญาหรือไม่


 แต่ดูเหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังนำข้ออ้างหรือข้อสนับสนุนของวุฒิสภามาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแถลงการณ์ร่วมโดยไม่ได้ให้น้ำหนักต่อคำชี้แจงของอธิบดีกรมสนธิสัญญาแต่ประการใด การที่ศาลรัฐธรรมนูญรวบรัดสรุปว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญานั้นมีประเด็นที่ควรกล่าวถึง ดังนี้


ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า "เมื่อคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมิได้กำหนดให้อยู่ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐใดรัฐหนึ่ง จึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ"  การสรุปของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ทำให้เข้าใจต่อไปว่า "คำแถลงการณ์ร่วม" จำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้ "กฎหมาย" เสมอ โดยกฎหมายนั้นถ้าไม่เป็น "กฎหมายภายใน" ก็ต้องเป็น "กฎหมายระหว่างประเทศ" แต่ในทางปฎิบัติระหว่างประเทศมีคำแถลงการณ์ร่วมมากมายที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (non-legal binding) แต่เป็นเพียงการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองหรือท่าทีทางการเมืองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น โดยปกติแถลงการณ์ร่วมจะไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐในรัฐหนึ่งเพราะการทำแถลงการณ์ร่วมมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของรัฐ (Equality of state) สถานะของแถลงการณ์ร่วมกับ "สัญญาสัมปทาน" (Concession) นั้นมีความแตกต่างกัน


ประการที่สอง ข้อความตอนหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า "….ซึ่งปกติแถลงการณ์ร่วมที่ไม่ประสงค์จะให้มีผลทางกฎหมายนั้นไม่มีความจำเป็นต้องลงนาม….." ไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญนำหลักกฎหมายข้อนี้มาจากที่ใด มีแถลงการณ์ร่วมมากมายที่ลงนามโดยประมุขของรัฐ (Head of State) ประมุขของรัฐบาล (Head of Government) หรือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (Ministers for Foreign Affairs) หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายในฐานะที่เป็นสนธิสัญญา เช่น คำแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศจีนกับประเทศญี่ปุ่น ลงนามวันที่ 29 กันยายน ค.. 1972 ที่กรุงปักกิ่ง ก็มีการลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ เป็นต้น


ประการที่สาม หนึ่งในเกณฑ์ที่สำคัญที่ใช้พิจารณาว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นสนธิสัญญาหรือไม่คือ ทางปฎิบัติภายหลังของรัฐของคู่สัญญา (Subsequent practice) ว่ามี "เจตนา" ที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ในทางระหว่างประเทศ เกณฑ์เรื่องเจตนา (Intention test) มีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแถลงการณ์ร่วมว่าเป็นสนธิสัญญาหรือไม่ ซึ่งไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้คำนึงเกณฑ์ข้อนี้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้มีหนังสือแจ้งไปยังทางกัมพูชาเพื่อขอระงับการใช้แถลงการณ์ร่วม กรณีนี้ไม่ทราบว่าทางกัมพูชาได้มีหนังสือโต้ตอบทางการทูตหรือไม่ และหากหนังสือโต้ตอบทางการทูตจากกัมพูชามีเนื้อหาสาระฟังได้ว่ารัฐบาลกัมพูชาไม่มีเจตนาที่จะให้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นสนธิสัญญา (พูดง่ายๆ ก็คือต่างฝ่ายต่างมีเจตนาตรงกันที่จะให้แถลงการณ์ร่วมก่อให้เกิดความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่) ศาลรัฐธรรมนูญจะอธิบายประเด็นนี้อย่างไร


กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนไม่ติดใจที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาแต่อยากเห็น "เหตุผล" หรือ "เกณฑ์" ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้พิจารณาสถานะทางกฎหมายของแถลงการณ์ร่วมรอบคอบกว่านี้



2. การก้าวล่วงบทบาทอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ


            หลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย โดยฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ตรากฎหมาย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่บริหารประเทศตามกฎหมาย และฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ตีความและใช้กฎหมายตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น หากตุลาการขยายขอบเขตอำนาจของตนมากจนเกินไปจนล้ำแดนของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารแล้ว (ultra vires) ก็จะส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศได้ อีกทั้งยังอาจขัดต่อคุณลักษณะของความเป็นองค์กรตุลากรที่เรียกว่า Judicial Propriety ด้วย เมื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีหลายตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้าไปก้าวล่วงอำนาจหรือภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ดังนี้


            1) การก้าวล่วงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ


ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ตีความและใช้กฎหมายตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น ซึ่งมีนัยว่า การตัดสินคดีฝ่ายตุลาการถูกผูกพันว่าจะต้องวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ในกรณีที่ถ้อยคำมีความคลุมเครือ หรือกำกวม ตุลาการสามารถตีความกฎหมายได้แต่ตุลาการต้องไม่บัญญัติกฎหมายขึ้นเสียเอง


มาตรา 190 วรรคสองบัญญัติว่า "หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย …" หมายความว่า หนังสือสัญญานั้นต้องมี "บท" ซึ่งแสดงว่าต้องมีข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการ "เปลี่ยนแปลง" คือทำให้ดินแดนหรืออาณาเขตไทยเพิ่มมากขึ้นหรือลดลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจริงมิใช่ "อาจมีบท" อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน การเพิ่มถ้อยคำคำว่า "อาจ" เข้าไปโดยพลการ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้าไปก้าวก่ายงานของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว


2) การก้าวล่วงการทำงานของฝ่ายบริหาร


ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่หลายตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงบทบาทเกินขอบเขตขององค์กรตุลาการอย่างที่ควรจะเป็น เช่นกล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ผู้ทำหนังสือสัญญาจะต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการทำหนังสือสัญญาดังกล่าว…" "….การดำเนินการและพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนี้จึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ" และ "….ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภายหน้าได้" และ "…..พึงเล็งเห็นได้ว่า หากลงนามคำแถลงการณ์ร่วมไป  ก็อาจก่อให้เกิดการแตกแยกกันทางด้านความคิดของคนในสังคมทั้งสองประเทศ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤติแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศกัมพูชา" ที่น่าฉงนก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญกำลังคิดแทน  "คนกัมพูชา" ว่า การลงนามจะก่อให้เกิดความแตกแยก ยิ่งกว่านั้น หากคิดกลับกัน การไม่ทำแถลงการณ์ร่วมแล้วยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยพ่วงแผนที่ฉบับแรกที่เสนอในที่ประชุม ณ ประเทศนิวซีแลนด์ปีที่แล้ว ก็จะที่กินพื้นที่ฝั่งไทยเข้ามาเป็นจำนวนมากจะไม่เป็นการสร้างความแตกแยกหรือ


จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ดูประหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารเสียเองในเรื่องเกี่ยวกับกิจการด้านการต่างประเทศ "Foreign Affairs" หรือการดำเนินวิเทโศบาย ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลย่อมอาศัยช่องทางทางทูต (Diplomatic Channels) เป็นวิถีทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีความถนัดและประสบการณ์มากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ


นอกจากนี้ คำกล่าวข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีลักษณะของ "การตำหนิหรืออบรม" การทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงศาลพยายามแก้ไข "ข้อพิพาททางการเมือง" (Political dispute) มากกว่าที่จะใช้ความพยายามที่จะวินิจฉัยปัญหา  "ข้อพิพาททางกฎหมาย" (Legal dispute) ดังจะเห็นได้จากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลามากไปกับการกล่าวถึงข้อวิตกห่วงใยถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศมากกว่าที่จะใช้เวลาในการอธิบายหลักกฎหมายเกี่ยวกับการทำสนธิสัญญา (Conclusion of Treaty) หรือการขอความเห็นชอบจากสภา (Parliamentary Approval) หรือวิเคราะห์ ตีความ ถ้อยคำต่างๆ ที่เป็นศัพท์เฉพาะทางกฎหมาย เช่น คำว่า "เปลี่ยนแปลง" "อาณาเขตไทย" "ความมั่นคงทางสังคม" ฯลฯ  ว่ามีความหมายแคบกว้างเพียงใด



3. ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร


            ข้อความตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยกล่าวว่า "แต่หากแปลความเช่นนั้น ก็จะไม่เกิดผลตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะตรวจสอบควบคุมการทำหนังสือสัญญาก่อนที่ฝ่ายบริหารจะไปลงนาม…" ศาลรัฐธรรมนูญกำลังสับสนระหว่าง "การควบคุมตรวจสอบ" (Monitoring) หรือ "การถ่วงดุล" (Check and balance) แต่การเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบกับสนธิสัญญาบางประเภทนั้น นักกฎหมายระหว่างประเทศเรียกว่า "การมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติ" (Parliamentary Participation) ในกระบวนการทำสนธิสัญญา เช่น ในหนังสือชื่อว่า " Parliamentary Participation in the Making and Operation of Treaties" บรรณาธิการคือ Stefan Riesenfeld ตีพิมพ์ ค.. 1994


ความคลาดเคลื่อนสับสนนี้เกิดขึ้นเพราะเนื้อหาของมาตรา 190 เองที่ผู้ร่างต้องการความคุมการทำหนังสือสัญญาของฝ่ายบริหารจนมากเกินควร เสียจนไปกระทบหลักใหญ่ที่รับรองว่าการทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร (มาตรา 190 อยู่ในหมวดของคณะรัฐมนตรี มิใช่รัฐสภา)


กล่าวโดยสรุปแล้ว มาตรา 190 มิใช่เป็นเรื่องการควบคุมตรวจสอบหรือการถ่วงดุล แต่เป็นเรื่องการเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำสนธิสัญญา



4. การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลังจากที่แสดงเจตนาผูกพันแล้ว


หากรัฐธรรมนูญไทยต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญควบคุมการทำหนังสือสัญญาแล้ว ควรระบุให้ชัดเจนว่า ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในทางระหว่างประเทศ (Consent to be bound) ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา "ก่อน" อย่างรัฐธรรมนูญของประเทศโคลัมเบีย ค.. 1991 ตามมาตรา 240 ข้อ 10 แต่กรณีนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามแล้ว จึงมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า การลงนามนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็หามีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันไม่ เนื่องจากอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.. 1969 มาตรา 46 บัญญัติห้ามมิให้รัฐอ้างการละเมิดกฎหมายภายใน (ในที่นี้คือรัฐธรรมนูญ) เกี่ยวกับการทำอำนาจทำสนธิสัญญามาเป็นเหตุปฎิเสธพันธกรณีระหว่างประเทศได้ เว้นแต่การละเมิดกฎหมายภายในนั้นจะแจ้งชัด อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติการอ้างมาตรา 46 ทำได้ยากมาก เพราะจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำสนธิสัญญามาก



5. ความไม่แน่ใจของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับขอบเขตของคำแถลงการณ์ร่วม


            ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า "สำหรับคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 นั้น แม้จะไม่ได้ปรากฎสาระสำคัญอย่างชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยแปลงเขตพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อพิจาณาจากข้อบททั้งหมดในคำแถลงการณ์ร่วม….."


            ประโยคข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่มั่นใจว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือไม่ แต่ประเด็นนี้ผู้เขียนเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งก็เหมือนกับประชาชนคนไทยที่ยังสับสน ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยเสียดินแดนหรืออำนาจอธิปไตยอาณาบริเวณรอบๆ ปราสาท (Perimeter) หรือไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไม่เคยถูกทำให้กระจ่างแจ้งหรือเป็นที่ยุติเสียที แผนที่หรือแผนผังที่นำเสนอสู่สาธารณชนนั้นมีมากมาย ต่างฝ่ายต่างเถียงกันถึงความถูกต้อง ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าในเมื่อประเด็นเรื่องแผนที่และพื้นที่รอบๆ ปราสาทว่าจะรุกล้ำเข้ามาในฝั่งไทยหรือไม่ยังไม่ยุติลงเป็นเด็ดขาด ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ควรวินิจฉัยประเด็นนี้จนกว่าข้อเท็จจริงจะฟังเป็นที่ยุติอย่างชัดเจนก่อน ในคำวินิจฉัยไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังคำชี้แจงจากกรมแผนที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่เทคนิค มีเพียงคำชี้แจงจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาเท่านั้น นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 216 วรรค 4 บัญญัติว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยเหตุผลในการวินิจฉัยใน "ปัญหาข้อเท็จจริง" แต่ปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังไม่เป็นที่ยุติลงเด็ดขาด ดังนั้น จึงเข้าใจได้ว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงตัดสินว่า "แถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลง…" ในทางปฎิบัติ หากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน ศาลหรืออนุญาโตตุลาการได้ไปเยือนพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทด้วยตนเองหรือไม่ก็อาจแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเสียก่อน ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย



6. ความคาดคะเนของศาลรัฐธรรมนูญ


            นอกจากความไม่แน่ใจของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของศาลยังอิงหรือตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "การคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น" ดังจะปรากฎให้เห็นหลายตอนในคำวินิจฉัยเช่น อาจจะก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภายหน้าได้" " พึงเล็งเห็นได้ว่า ก็อาจก่อให้เกิดความแตกแยกกัน…." "อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤติแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา…" การคาดคะเนของศาลรัฐธรรมนูญยังพบเห็นได้อีกครั้งตอนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยว่า "แถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ…"  ที่น่าแปลกที่สุดก็คือ ความคาดคะเนของศาลรัฐธรรมนูญมีตลอดทั้งในส่วนที่เป็น "เหตุผล" และตอนที่กำลังจะมี "คำวินิจฉัย" ที่เรียกว่า Dispositif



บทส่งท้าย


            เมื่อพิจารณาจาก "เหตุผล" และ "คำวินิจฉัย" ของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่ง "ก็อาจก่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างองค์กรฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ เสียไป" หรือ "ก็อาจก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ" ตามมาในอนาคตก็เป็นได้ ความกังวลในเรื่องความลังเลของศาลสะท้อนจากคำกล่าวของท่าน Shigeru Oda อดีตผู้พิพากษาศาลโลกในความเห็นแย้ง ในคดีความชอบด้วยกฎหมายของอาวุธนิวเคลียร์ที่กล่าวว่า "การที่ศาลสามารถกล่าวถึงข้อสรุปที่ไม่ชัดเจนแน่นอนนั้นแทบจะไม่เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ศาล (โลก) แต่อย่างใด"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net