Skip to main content
sharethis

ธนาคารโลกและสหประชาชาติระบุประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออก กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากสาเหตุภาวะโลกร้อน  เตือนผู้บริหารเมืองใหญ่ในแต่ละประเทศควรเร่งวางมาตรการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน  รวมทั้งปรับปรุงเมืองให้สามารถลดและรับมือกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้ก่อนสายเกินแก้


 


เมื่อเร็ว ๆ นี้  ธนาคารโลกร่วมกับหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติชื่อ United Nations International Strategy for Disaster Reduction (UN/ISDR) และ Global Facility for Disaster Reduction and Recovery (GFDRR) ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถดำเนินโครงการเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติของตนและฟื้นฟูประเทศหลังจากภัยธรรมชาติ  ได้ร่วมกันจัดสัมมนาขึ้นที่เมืองพัทยา จ. ชลบุรี  ภายใต้หัวข้อว่า Green Cities Workshop: Reducing Vulnerability to Climate Change Impacts and Related Natural Disasters in Asia หรือ "การลดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องในเอเชีย"  ในงานนี้มีผู้แทนจาก 17 ประเทศทั้งในเอเชีย อเมริกา และยุโรปเข้าร่วม โดยส่วนมากจะเป็นระดับผู้บริหารหรือที่ปรึกษาของเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ


 


จุดประสงค์ของงานสัมมนาในครั้งนี้คือเพื่อช่วยให้ผู้บริหารเมืองสำคัญ ๆ ของเอเชียตะวันออกได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นสาเหตุจากภาวะโลกร้อน  และอาจส่งผลกระทบต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมากถึง 660 ล้านคนด้วยกัน โดยธนาคารโลกและ UN/ISDR ได้ระบุว่าปกติแล้วภูมิภาคนี้ก็มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติสูงอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวในจีน พายุไซโคลนในพม่า หรือพายุไต้ฝุ่นในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ การที่เอเชียตะวันออกเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่มากถึง 30 เมืองด้วยกัน และแต่ละเมืองนั้นก็ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำ  ก็ทำให้ความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนของภูมิภาคสูงขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าภาวะโลกร้อนได้ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นนั่นเอง  ประเทศที่กำลังเผชิญความเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อนก็มีไทย เวียดนาม จีน พม่า และฟิลิปปินส์  


 


"ผลกระทบที่จะเกิดต่อเมืองต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกนั้น จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารของแต่ละเมืองได้ดำเนินมาตรการอะไรไปบ้างเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เมืองของตนเอง" นายจิม อดัมส์ รองประธานธนาคารโลกสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกกล่าว  "ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารของเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคจะทำความเข้าใจกับภาวะเสี่ยงของตนเองก่อน และนำความเข้าใจนี้ไปใช้พัฒนายุทธศาสตร์สำหรับลดความเสี่ยงของเมืองขึ้น ทังนี้ก็เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชากรในเมืองใหญ่จากสภาพอากาศที่แปรปรวนขึ้นทุกวันอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน"


 


สถิติที่รวบรวมโดยสภากาชาดสากลนั้นชี้ให้เห็นว่า  ความถี่ในการเกิดภัยธรรมชาติในโลกนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากจำนวนภัยธรรมชาติทั้งสิ้น 428 ครั้งในช่วงปี 2537-2541 ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 707 ครั้งในช่วงปี 2542-2547 นอกจากนี้ ความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งก็ดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย  ทั้งนี้ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ทุก ๆ หนึ่งเมตรของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้น  จะทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงจนสามารถลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากถึง 2% ทีเดียว อันเป็นผลจากการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับดื่มใช้  และจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมการเกษตร การประมง และการท่องเที่ยว รวมทั้งการขาดแคลนพลังงานอีกด้วย  


 


"การเจริญเติบโตของเมืองนั้นมีความสัมพันธ์อย่างมากต่อความสามารถของเมืองเองในการลดความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ และจากภาวะโลกร้อน" นายสาโรช กุมาร จา ผู้บริการกองทุน GFDRR กล่าว  "เนื่องจากในปัจจุบันนี้ทิศทางการบริหารของเอเชียตะวันออกกำลังเป็นไปตามแนวทางกระจายอำนาจมากขึ้น  นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมความรับผิดชอบในการบรรเทาความเสี่ยงและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบป้องกันภัยธรรมชาติจึงมาตกอยู่ที่ผู้บริหารเมืองหรือจังหวัดใหญ่ ๆ  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้บริหารเมืองใหญ่ ๆ จะต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของตนเองเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติและภาวะโลกร้อนของเมือง  รวมทั้งวางนโยบายที่จะช่วยรับมือหรือบรรเทาผลกระทบนั้นด้วย"  


 


ในการนี้ ธนาคารโลกและ UN/ISDR รวมทั้ง GFDRR จึงได้ร่วมกันจัดทำ "คู่มือสำหรับลดความเสี่ยงต่อจากภาวะโลกร้อนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติในเอเชียตะวันออก" ขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้บริหารเมืองใหญ่ ๆ ในภูมิภาคได้ใช้เป็นแนวทางในการรับมือกับความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบต่อเมืองเอง โดยหน่วยงานทั้งสามได้ร่วมกันเผยแพร่คู่มือเล่มนี้อย่างเป็นทางการในระหว่างการสัมมนาเพื่อลดความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่พัทยาเมื่อเร็ว ๆ นี้


 


หนังสือคู่มือเล่มนี้ได้รับการออกแบบมาให้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับสาเหตุของภาวะโลกร้อนและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อภัยธรรมชาติ   โดยได้เสนอแนวทางต่าง ๆ มากมายที่จะช่วยให้ผู้บริหารเมืองใหญ่ ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละเมือง ทั้งเพื่อบรรเทาการเกิดภาวะโลกร้อนและปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป คู่มือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเมืองสำคัญ ๆ ในเอเชียตะวันออกต่อภาวะโลกร้อน  และนำเสนอตัวอย่างที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในระดับเมือง  


 


ผู้สนใจสามารถขอรับคู่มือ (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่แผนกสิ่งแวดล้อม ธนาคารโลก โทร. (0) 2686-8300 หรืออีเมล tphetmanee@worldbank.org และดาวน์โหลดได้ที่ www.worldbank.or.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net