Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา กลุ่มชาวประมงพื้นที่บ้านใน 3 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ สทิงพระ สิงหนครและระโนด และกลุ่มชาวประมงอวนลากอำเภอระโนด กว่า 500 คน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาประสานงานกับบริษัท นิวคอสตอล ประเทศไทย จำกัด ผู้ที่ได้รับสัมปทานสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานหมายเลข G5/43 ในอ่าวไทย นอกฝั่งอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ให้ความชัดเจนในเรื่องค่าชดเชยแก่ชาวประมงที่จะได้รับผลกระทบจากการตั้งแท่นขุดเจาะและผลิตน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวภายใน 3 วัน


 


นอกจากนี้ กลุ่มชาวประมงได้อ้างว่า ทราบข่าวว่า บริษัท นิวคอสตอลฯ จะดำเนินการติดตั้งแท่นขุดเจาะแล้ว ทั้งที่มีข้อตกลงว่าก่อนการดำเนินการจะแจ้งให้ชาวประมงทราบล่วงหน้า 1 เดือน จึงต้องมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้มีความกระจ่างในเรื่องนี้


 


พร้อมกันนี้ แกนนำชาวประมงทั้งสองกลุ่ม ได้แก่นายเจริญ ทองมา ประธานคณะกรรมการตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ และนายบุญช่วย ฟองเจริญ แกนนำกลุ่มอวนลากอำเภอระโนด ได้ยื่นหนังสือต่อนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมกับแนวรายชื่อชาวประมงที่เข้าร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่งด้วย จากนั้นได้นายสนธิ ได้เชิญแกนนำทั้งสองกลุ่มเข้าร่วมประชุมหารือกันในเรื่องดังกล่าว


 


ในการประชุมได้ข้อสรุปว่า นายสนธิรับที่จะประสานงานกับบริษัท นิวคอสตอลฯ ภายในวันเดียวกัน ส่วนทางบริษัท นิวคอสตอลฯ รับปากจะมาร่วมประชุมกับกลุ่มชาวประมงภายใน 3 วันหรือไม่นั้น ไม่สามารถยืนยันได้ แต่จะเร่งให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งแกนนำทั้งสองคนพอใจ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงสลายตัวไปในเวลาประมาณ 12.30 น.


 


สำหรับหนังของกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ยื่นต่อนายสนธิ เขียนที่ทำการกลุ่มเกษตรกรทำประมงพื้นบ้านบ่อแดงหมู่ 4 ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เรื่อง ทวงถามค่าชดเชยเรื่องผลกระทบต่ออาชีพชาวประมงพื้นบ้าน ระบุว่า ตามที่ทางบริษัทนิวคอสตอล ประเทศไทย จำกัด ได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในบริเวณอ่าวไทย (แหล่งสงขลา) นั้น ในการขุดเจาะน้ำมันเกิดผลกระทบต่ออาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ ตามที่คณะกรรมการตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านได้เสนอรายละเอียด พร้อมส่งเอกสารต่อบริษัทผู้รับสัมปทานแล้ว


 


หนังสือระบุอีกว่า บัดนี้ทางบริษัทผู้รับสัมปทาน ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้านตามที่ได้ประชุมกันมาแล้วหลายๆ ครั้ง คณะกรรมการฯจึงได้ทำหนังสือทวงถามถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อประสานกับบริษัทผู้รับสัมปทานและนัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อชี้แจงและให้คำตอบที่ชัดเจนในเรื่องค่าชดเชยผลกระทบต่ออาชีพชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 3 อำเภอ ภายใน 3 วัน


 


ส่วนหนังสือของกลุ่มอวนลากอำเภอระโนด ซึ่งลงชื่อนายบุญช่วย ฟองเจริญ ระบุว่า "ผมนายบุญช่วย ฟองจริญ แกนนำกลุ่มอวนลากอำเภอระโนด มีสมาชิกในอำเภอเมือง สิงหนครและสทิงพระบางส่วน ได้ยื่นรายชื่อชาวประมงอวนลากรวม 119 ลำ ตอนนี้ชาวประมงพื้นบ้านต้องเสียโอกาสทำมาหาเลี้ยงครอบครัว และต้องชะลอการลงทุนอย่างหนักตั้งแต่ทราบว่า บริษัท นิวคอสตอลฯ จะมาขุดเจาะน้ำมัน หน้าอำเภอสทิงพระ ใกล้ฝั่งไม่ถึง 16 กิโลเมตร


 


"ตอนแรกบริษัท บอกว่าจะเจาะ 1 บ่อ คือ แหล่งสงขลา เจาะ 1 - 5 ปี พอถึงเดือนมิถุนายน บริษัทจะมาขอเจาะแหล่งบัวบาน จำนวน 4 บ่อ และขอสำรวจ 4 หลุม และขอเจาะอย่างยั่งยืน 16 ปี และบริษัทได้ตกลงกับนายบุญช่วย ฟองเจริญและชาวประมงพื้นบ้านที่อำเภอระโนด ว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้อวนลาก รวมทั้งหมด 253 ลำ วันละ 1,500 บาท เป็นเวลา 3 ปี = 30 เดือน และตกลงกับชาวประมงพื้นบ้าน วันละ 700/3 ปี= 18 เดือน"


 


"บริษัท บอกว่าจะไม่ขอลดจำนวนเงินหากว่า เขาเป็นบริษัทแม่ เพราะทางบริษัทได้ขอเพิ่มจำนวนบ่อ 4 บ่อ เจาะยั่งยืน และ 4 หลุมสำรวจ และชาวประมงอวนลากได้ตกลงตามที่บริษัทขอ ในเมื่อจะมีการขุดเจาะก็ควรจะให้คำตอบในเรื่องการสำรวจในวันไหนเดือนไหนให้ชัดเจน และจะจ่ายค่าชดเชยให้ชาวประมงอวนลากลำละเท่าไหร่ให้ชัดเจน ชาวประมงให้เวลาพิจารณาคำตอบ เวลา 3 วัน" หนังสือดังกล่าวระบุ


 


นายเจริญ เปิดเผยว่าหลังการประชุมว่า ได้รับแจ้งจากทางบริษัท นิวคอสตอลฯว่า ค่าชดเชยจำนวน 1,100,000 บาท ที่บริษัทจะให้กับชาวประมงนั้น เป็นการคำนวณจากพื้นที่บริเวณฐานแท่นขุดเจาะซึ่งยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ชาวประมงจะได้รับผลกระทบ จึงต้องคำนวณพื้นที่ใหม่เพื่อให้ครอบคลุมกับพื้นที่ที่ชาวประมงจะได้รับผลกระทบจริง ดังนั้นค่าชดเชยจริงอาจเปลี่ยนแปลง


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายสมชัย ถาวรวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 12 (สงขลา) ได้เสนอรายชื่อคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อหาข้อยุติในเรื่องค่าชดเชยแก่ชาวประมงพื้นบ้านและประมงอวนลากดังกล่าว ให้นายสนธิลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง แต่ไม่ทันที่จะมีการประชุมกันกลุ่มชาวประมงได้มาชุมนุมเรียกร้องให้ความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวแล้ว


 


โดยนายสมชัย เปิดเผยว่า สำหรับคณะกรรมการชุมดังกล่าว ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยตนเป็นเลขานุการ แต่ไม่มีตัวแทนของบริษัทและชาวประมงเข้าร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเรียกแต่ละฝ่ายมาชี้แจงและหาข้อตกลงร่วมกัน


 


นายสมชัยเปิดเผยอีกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาจะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ได้มีการประสานกับทั้งสองฝ่าย เพื่อพูดคุยกันนอกรอบ ซึ่งทั้งฝ่ายบริษัทฯ และฝ่ายชาวประมงต่างมีท่าทีดีขึ้น เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะหาข้อตกลงกันได้ โดยทางฝ่ายชาวประมงนั้น ทางสมาคมประมงจังหวัดสงขลา เป็นผู้ประสานทางฝ่ายชาวประมงอีกทีหนึ่ง


 


นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนในเรื่องตัวเลขค่าใช้จ่ายที่เดิมทางบริษัทฯ ยืนยันว่าจะจ่ายให้จำนวน 1,100,000 บาท ในระยะเวลา 3 ปี ส่วนฝ่ายชาวประมงต้องการให้จ่ายเป็นรายลำเรือ ซึ่งรวมแล้วสูงมากประมาณ 800 ล้านบาทนั้น เชื่อว่าคงจะตกลงจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจริงกันได้


 


"เรื่องนี้ ผมคิดว่ามันต้องทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ได้ เพราะแต่ละแห่งมีสภาพ ปัญหาและความคิดเห็นของคนแตกต่างกัน จะบอกว่าทำที่อื่นไม่มีปัญหา แต่มาทำที่นี่แล้วมีปัญหา มันก็ไม่ได้" นายสมชัย กล่าว


 


นายสมชัย กล่าวว่า การทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันนั้น ต้องเอาความจริงมาคุยกัน และหาทางออกร่วมกันด้วยความเป็นธรรม โดยต้องมีผู้รู้มาร่วมกับคิด ซึ่งเมื่อต้องมีการดำเนินโครงการลักษณะนี้ ก็จะสามารถพิจารณาจากมาตรฐานที่กำหนดไว้แล้วได้ เรื่องอย่างนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เคยทำมาแล้วในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน แต่พื้นที่สัมปทานส่วนใหญ่ก็อยู่ห่างฝั่งมาก จึงไม่ค่อยมีปัญหากับประชาชนมากนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net