Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร


 


กระแสความคิดอันหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นโดยนักวิชาการในฝรั่งเศส คือ ชนชั้นกรรมาชีพกำลังประสบกับวิกฤติอัตลักษณ์ของ "ชนชั้น" เมื่อการขยายตัวของชนชั้นกลางซึ่งถือเป็นผลผลิตของระเบียบสังคมแบบทุนนิยมทำให้แรงงานกลายเป็นมนุษย์กินเงินเดือน


 


กีโยม ดูวัล  (Guillaume Duval) บรรณาธิการของวารสาร Alternative économique ได้กล่าวไว้ในบทความของเขาว่าความพ่ายแพ้ของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจากพรรคสังคมนิยมในปี 2007 แสดงให้เห็นถึงการจบลงของระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยและการเกิดขึ้นของวิกฤตของอัตลักษณ์ของชนชั้นแรงงานในฝรั่งเศส [1]  


 


กล่าวคือ ปัจจุบันในฝรั่งเศสเช่นเดียวกับในประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ  แรงงานกว่า 90% ของประเทศอยู่ในสถานะของผู้กินเงินเดือนทั้งสิ้น ขณะที่แรงงานที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนกำลังหายไปและมนุษย์เงินเดือนจำนวนมหาศาลเหล่านี้ก็มีรายได้และมาตรฐานความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก ความขัดแย้งจึงเปลี่ยนจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นไปเป็น "ความขัดแย้งภายในชนชั้น"แทน ดังนั้น ถ้อยคำเก่าๆ เกี่ยวกับชนชั้นและการต่อสู้ของชนชั้นที่พรรคสังคมนิยมเคยใช้จึงไม่ได้ผลในการขอคะแนนเสียงจากชนชั้นแรงงานอีกต่อไป


 


ความขัดแย้งภายในนี้เกิดขึ้นในลักษณะที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเช่นผู้บริหารหรือข้าราชการต้องการรักษาความแตกต่างหรือระยะห่างของรายได้ตนกับของพนักงานหรือแรงงานในระดับต่ำลงไป เพื่อประคองระดับค่าครองชีพและราคาสินค้าบริการไม่ให้สูงเกินไปนัก ในประเทศที่สหภาพแรงงานเข้มแข็งอย่างเช่นฝรั่งเศส การณ์กลับกลายเป็นว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานซึ่งมีซินดิกัลเป็นแกนนำนั้นถูกครอบงำโดยแรงงานค่าแรงสูงและทอดทิ้งให้แรงงานที่ยากจน หรือชนชั้นกรรมาชีพซึ่งมีแนวโน้มที่จะจนลงต้องถูกกันออกไปอยู่นอกขบวนการ


 


ความคิดนี้สอดคล้องกับความคิดของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงอย่างอลัง บาดิอู (Alain Badiou) ที่กล่าวว่าลักษณะการแบ่งแยกขั้วความคิดทางการเมืองเป็น "ซ้าย" และ "ขวา" ที่เป็นมรดกของสังคมการเมืองฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นได้พังทลายลงแล้ว สำหรับบาดิอู ชัยชนะของนิโกลาส์ ซาร์โกซีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2007 เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของการยอมรับระเบียบของทุนนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดในฝรั่งเศส [2]  


 


ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ในบทความของเขา บาดิอูไม่ได้กล่าวถึงเสรีนิยมใหม่แต่อย่างใด แต่เขากลับพูดถึงนีโอเปแตงนิสม์ (neo-Pétainisme) หรือระบอบเปแตงนิสม์ใหม่ โดยเปแตงนิสม์นั้นหมายถึงระบอบการปกครองแบบอนุรักษ์นิยมของจอมพลเปแตง ที่มีอิทธิพลอย่างมากระหว่างปี 1940-1944 ระบอบนี้อ้างอิงกับสงครามและความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยประชาชนจำเป็นต้องอยู่ในระเบียบและเชื่อฟังผู้ปกครองอย่างว่าง่าย เพื่อแลกมาซึ่งความสงบเรียบร้อย ระบอบนี้ยังอ้างอิงกับคุณค่าเชิงศีลธรรมเรื่อง "การทำงานหนัก  ระเบียบวินัยและครอบครัว"


 


ทั้งนี้ บาดิอูไม่ได้เปรียบเทียบซาร์โกซีกับจอมพลเปแตง แต่เขากล่าวว่าชัยชนะของซาร์โกซี เกิดขึ้นจากปัจจัยหรือองค์ประกอบแบบเดียวกับที่เอื้อให้เปแตงสามารถสถาปนาระบอบของความกลัวขึ้นมาในอดีต ต่างกันตรงที่ว่าระบอบของซาร์โกซีนั้นเกิดขึ้นจากทั้งความกลัวของประชาชน (เช่นกลัวชาวต่างชาติ กลัวผู้อพยพ กลัววัยรุ่นจากชานเมือง ฯลฯ ) และความกลัวของความกลัว" (fear of the fear) อีกทอดหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในเชิงการเมืองอย่างที่เข้าใจกัน แต่การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือเชิงอุดมการณ์ของรัฐ (ideological state apparatus) ตามความหมายของอัลธุซแซร์ (Louis Althusser) [3]  ซึ่งซาร์โกซีประสบความสำเร็จในการใช้เป็นเครื่องมือดึงความกลัวและความกลัวของความกลัวเข้ามาอยู่ภายในรัฐและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ [4]  สุดท้าย บาดิอูเสนอให้เราทบทวน "พฤษภา 68" อย่างพินิจพิเคราะห์ เนื่องจากซาร์โกซีได้เคยกล่าวว่าสังคมฝรั่งเศสจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติเชิงคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อสามารถละทิ้งอดีตอย่าง "พฤษภา 68" หรือพูดให้ง่าย สำหรับซาร์โกซี วิกฤติเชิงคุณค่าในวันนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากไม่มี "พฤษภา 68" [5]  บาดิอูจึงเชื่อว่าสิ่งที่รบกวนจิตใจซาร์โกซีนั้นคือ " ผีคอมมิวนิสต์" หรืออุดมการณ์ของการต่อสู้ทางชนชั้นตามแบบมาร์กซิสม์ที่ซาร์โกซีอยากจะให้สังคมฝรั่งเศสกำจัดออกไปจากสังคม [6]   


 


 


พินิจพิเคราะห์ "พฤษภา 68" และการปะทะกันของอุดมการณ์เก่า-ใหม่


 


ครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 1968 ในปีนี้เป็นโอกาสดีที่จะมองกลับหลังไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะมนุษย์เรามักจะมองเห็นและอธิบายสิ่งต่างๆ ได้แจ่มชัดขึ้นเมื่อผ่านพ้นจากเงื่อนไขและข้อจำกัดของเหตุการณ์นั้นมา นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่า "พฤษภา 68" คือเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดแต่สังคมฝรั่งเศสเข้าใจน้อยที่สุดก็ว่าได้ เพราะความพยายามอธิบายเหตุการณ์นี้มักถูกทำให้พร่ามัวด้วยคำสรรเสริญเยินยอและคำขวัญเชิงอุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายที่ได้รับชัยชนะ


 


อลัง ตูเรน (Alain Touraine) นักสังคมวิทยา ซึ่งสอนที่มหาวิทยาลัยนองแตร์ในช่วงปี 68 ได้กล่าวเมื่อครบรอบ 40 ปีของ"พฤษภา 68"ว่า หากมองย้อนกลับไปแล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับปี 68  คือการเข้ามาในเวทีการเมืองอย่างเป็นทางการของประเด็นทางวัฒนธรรม ในฐานะประเด็นหลักของการต่อสู้เรียกร้อง นอกจากนี้ "พฤษภา 68" ยังเป็นการเผชิญหน้ากันทั้งในลักษณะขัดแย้งและผสมกลมกลืนระหว่างวาทกรรมการต่อสู้ทางชนชั้นตามแบบมาร์กซิสม์ที่มีหัวใจอยู่ที่ชนชั้นแรงงานกับวาทกรรมเสรีนิยมตามแบบพวกอนาธิปัตย์นิยม (anarchism)  ที่ปฏิเสธอำนาจรัฐและเน้นความเท่าเทียมกันทางสังคมของทุกชนชั้น การต่อสู้เรียกร้องในพฤษภาคมปี 1968 จึงไม่ได้มีเอกภาพอย่างที่เข้าใจกัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่เข้ายึดมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์นั้นส่วนใหญ่มีแนวคิดการเมืองแบบซ้ายจัด (เช่น กลุ่มนิยมทรอตสกีและนิยมเหมา) ขณะที่ที่มหาวิทยาลัยนองแตร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกฝักใฝ่แนวคิดอนาธิปัตย์นิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์ หากพิจารณาจริงๆ แล้วคำแถลงการณ์ของเหล่าแกนนำนักศึกษาอาจดูลักลั่นเพราะใช้ภาษาแบบมาร์กซิสม์แต่มีเนื้อหาแบบเสรีนิยม [7]  


 


อิทธิพลของกลุ่มอนาธิปัตย์นิยมที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้เอง ที่ทำให้ปี 68 มีความสำคัญในฐานะประตู ที่เปิด ไปสู่ยุคของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ เช่น การเรียกร้องของกลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มรักเพศเดียวกัน ฯลฯ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้ ในทศวรรษต่อมาก็นิยมแสดงออกในรูปแบบของการต่อต้านและในลักษณะปฏิกิริยากับอำนาจในสังคม เพื่อแสดงให้เห็นว่าระเบียบของสังคมที่กำลังใช้อยู่เริ่มมีปัญหา รวมทั้งพื่อชักชวนโน้มน้าวบรรดาคนรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายกับระเบียบที่แช่แข็งและคร่ำครึเหล่านั้นให้เข้าร่วมขบวนการ ลักษณะของขบวนการเหล่านี้ได้รับการขนานนามว่าวัฒนธรรมกบฏหรือ "วัฒนธรรมต้าน" (counter culture) [8]  ทั้งนี้ การ เคลื่อนไหวภายใต้ วัฒนธรรมกบฏหรือวัฒนธรรมต้าน (counter culture) ที่รู้จักกันดีคือ กลุ่มฮิปปีในสหรัฐอเมริกาในยุคเซเวนตี้ (seventies) ส่วนในยุโรป กลุ่มวัฒนธรรมต้านกลุ่มแรกๆ  ซึ่งไม่ค่อยได้รับการพูดถึงนัก คือ กลุ่ม provo ในเมืองอัมสเตอดัม ที่มีบทบาทระหว่างปี 1965-1967 [9] 


 



โปสเตอร์ของกลุ่ม provo (ปกหนังสือ ปี 2007)


 


 


ท่ามกลางแนวคิดต่างๆ ของกลุ่มวัฒนธรรมต้านของทศวรรษ 70 เราพบว่ามีแนวคิดพื้นฐานซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนอันหนึ่งคือ แนวคิดเรื่อง "การบริหารจัดการด้วยตนเอง" (autogestion:fr, self-management:eng) แนวคิดนี้ ในอดีตถูกนำไปใช้กับประเด็นของการทำงานและการศึกษา ซึ่งมักจะตั้งคำถามในลักษณะสุดโต่งกับสถาบันเช่น ครอบครัวหรือโรงเรียน อย่างเช่นใน งานเขียนของอิวาน อิลลิช (Ivan Illich) ผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ในด้านการศึกษา ที่เคยกล่าวในทำนองว่าระบบการศึกษามีแต่ทำลายศักยภาพส่วนบุคคลและทำได้แค่สร้างความหงุดหงิดเสียใจ [10] 


 


 


 


ในฝรั่งเศส แนวคิดเรื่องการบริหารด้วยตนเองของแรงงานปรากฏขึ้นและถูกเผยแพร่ตลอดทศวรรษ 1950 จนกระทั่งภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคมปี 1968 ที่วาทกรรม "การต่อสู้ทางชนชั้น" พุ่งถึงขีดสุด แนวคิดนี้ จึงถูกขบวนการแรงงานนำมาทดลองใช้ในโรงงานที่กำลังประสบปัญหาหลายแห่ง โดยต้นแบบของแนวคิดนี้ คือระบบ "เศรษฐกิจบริหารด้วยแรงงาน" (Labour-managed economy) ของประเทศยูโกสลาเวีย ซึ่งเกิดขึ้นจากข้อเสนอของกลุ่มมาร์กซิสม์รุ่นหลัง ที่ปฏิเสธรูปแบบการวางแผนจากส่วนกลางอย่างเข้มงวดและการผูกขาดโดยพรรคคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของเลนินและสตาลิน [11]


 


ตามคำอธิบายของมิเชล ลัลมอง (Michel Lallement) นักสังคมวิทยา แนวคิดเรื่องการบริหารด้วยตนเองมีอิทธิพลสูงในขบวนการแรงงานของอิตาลีและของเยอรมัน โดยเฉพาะที่เยอรมันแนวคิดนี้ยังถูกนำไปใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเช่น กลุ่มสิทธิสตรีโดยพวกอนาธิปัตย์นิยม [12] 


 


มิเชล ลัลมองกล่าวว่าแนวคิดนี้เป็นรูปร่างขึ้นมาจากสาเหตุ 3 ประการ กล่าวคือ ประการแรก ความคิดนี้เกิดจากข้อเสนอของกลุ่มมาร์กซิสต์แนววิพากษ์ในช่วงทศวรรษ 1960-70  ที่ต้องการปลีกตัวออกจากแบบจำลองสังคมนิยมโดยรัฐ ที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง นักคิดกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักปรัชญาและนักสังคมวิทยาที่เห็นว่าควรเน้นประเด็นของ "การลดค่าความเป็นมนุษย์" (alienation) เป็นประเด็นหลักประเด็นเดียวแทนเรื่องการขูดรีด (exploitation) ตามอย่างพวกมาร์กซิสม์รุ่นเก่า กลุ่มนี้เห็นว่าการตัดสินใจด้านการผลิตด้วยแรงงานเอง ทำให้แรงงานเป็นอิสระจากการถูกลดค่าเป็นแค่ผู้รับจ้างขายแรงงาน เพราะแรงงานสามารถมีส่วนในการกำหนดชะตาชีวิตของตน แนวความคิดนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่นิยมทรอตสกีในฝรั่งเศสเช่นกัน


 


ประการต่อมา แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากพวกซ้ายใหม่ (New Left) ที่ได้รับอิทธิพลจากสำนักคิดสังคมนิยมยูโธเปียและอนาธิปัตย์นิยม กลุ่มซ้ายใหม่ต่างจากพวกมาร์กซิสม์ตรงที่ไม่ต้องการยึดอำนาจรัฐมาใช้เอง แต่สนับสนุนการจัดระบบสังคมนิยมขนาดเล็กแบบกระจัดกระจายควบคู่ไปกับระบบที่เป็นทางการ จึงมองเห็นความเป็นไปได้ของการใช้วิธีการบริหารจัดการโดยแรงงานเป็นแนวทางไปสู่ "การปฏิวัติเงียบและสันติ" เพื่อนำสังคมออกจากระบบทุนนิยม อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดนี้ถูกนำเสนอภายใต้ธงของ "ทางเลือกที่สาม" เมื่อพิจารณาประกอบกับสังคมนิยมและทุนนิยม


 


ประการสุดท้าย แนวคิดนี้ไปได้อย่างดีกับความเชื่อของกลุ่มการเมือง "คริสเตียนซ้าย" ซึ่งสนับสนุนคุณค่า 2 ข้อคือ หนึ่ง คุณค่าขององค์กรธุรกิจหรือสถานประกอบการในฐานะของชุมชนพื้นฐานและสอง คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการส่งเสริมผ่านการเพิ่ม "มูลค่าของทุน" ส่วนในทางการเมือง แนวคิดเรื่องการบริหารด้วยตนเองของแรงงานได้รับการสนับสนุนให้นำไปใช้ในทางปฏิบัติ โดยพรรคสังคมนิยม Parti Socialiste Unifié (Unified Socialist Party: eng) [13], ซินดิกัล CFDT [14]  ซึ่งกำหนดให้การบริหารด้วยตนเองเป็นแนวทางหลักในแผนปฏิบัติการ รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศส ที่รื้อฟื้นแนวคิดขึ้นมาในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์


 


 


 Lip ตำนานของแรงงานผู้ผลิต ขายและจ่ายเงินเดือนตัวเอง [15]


 


เหตุการณ์ยึดโรงงานผลิตนาฬิกาลิป (Lip) ในปี 1973 กลายเป็นจุดอ้างอิงในประวัติศาสตร์ถึงชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพและความสำเร็จในการบริหารจัดการโดยแรงงานในฝรั่งเศส


 


เนื่องจากแผนธุรกิจที่ทะเยอทะยานของผู้บริหารที่หวังจะชิงส่วนแบ่งตลาดจากบริษัทสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในยุโรป (ลิปลงทุนผลิตนาฬิกาแบบควอร์ตซ์เป็นรายแรกของฝรั่งเศส) ทำให้โรงงานประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรงเมื่อยอดขายไม่เป็นไปตามแผน การชุมนุมนัดหยุดงานเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนแรงงานสืบรู้ข่าวว่าโรงงานมีแผนจะปลดคนงานและเลิกจ้าง ถึงแม้ศาลล้มละลายได้แต่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวแล้วก็ตาม  ในวันที่ 15 มิถุนายน ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดการชุมนุมบนถนนในเมืองเบอซองซงที่ตั้งของโรงงานโดยมีผู้ร่วมชุมนุมกว่า หมื่นคน


 


ขณะนั้น พนักงานจำนวนกว่า 300 จาก 1000 คนเป็นสมาชิกของซินดิกัลอยู่แล้ว แม้จะมีความแตกต่างของข้อเสนอระหว่างกลุ่มผู้ที่สังกัดซินดิกัล 2 กลุ่มใหญ่ (CGDT และ CGT) แต่ก็มีมติร่วมกันให้คนงานเข้าควบคุมและบริหารโรงงานภายใต้การสนับสนุนของซินดิกัล โดยเริ่มจากการนำสินค้าในสต็อกออกจำหน่ายในราคาต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง จนกระทั่งตัดสินใจเดินเครื่องจักรเพื่อดำเนินการผลิตอีกครั้ง  อันนำมาซึ่งคำขวัญที่โด่งดังว่า "เป็นไปได้ เราผลิต เราขาย เราจ่าย (เงินเดือน) พวกเราเอง"


 


อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการโดยคนงานครั้งนี้ ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้อุปสรรค แรงงานต้องเผชิญกับการสกัดกั้นและควบคุมโรงงานโดยเจ้าหน้าที่ ข่าวการสกัดกั้นพนักงานไม่ให้เข้าในโรงงานทำให้แรงงานในโรงงานอื่นภายในเมืองเดียวกันและภายในภูมิภาคพากันนัดหยุดงานเพื่อประท้วง การเดินขบวนครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "การเดินขบวนของคนเรือนแสน" จึงเกิดขึ้นในวันที่ 29 กันยายนปีนั้น


 



ใบประกาศเชิญชวนให้ร่วมเดินขบวนต่อต้านการปิดโรงงานและโปสเตอร์ของภาพยนตร์เกี่ยวกับการต่อสู้ของลิปในปี 2007


 


ในเดือนมกราคม ปี 1974 การลงนามร่วมกันระหว่างกลุ่มตัวแทนแรงงานและเจ้าของใหม่ก็เกิดขึ้น ในสัญญาระบุให้โรงงานต้องรับคนงานจำนวน 850 คนกลับเข้าทำงาน การนัดหยุดงานเป็นอันสิ้นสุด โรงงานดำเนินการผลิตไปจนกระทั่งต้นปี 1976 ผู้บริหารรายใหม่ประสบกับปัญหาหลายประการ รวมทั้งการที่ศาลล้มละลายกลับคำตัดสินให้ผู้บริหารชุดใหม่ต้องใช้หนี้ส่วนของผู้บริหารเดิมต่อผู้จัดจำหน่ายสินค้า การณ์ปรากฏว่าผู้บริหารลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม คนงานของลิปจึงเข้ายึดโรงงานและทำการผลิตเองอีกครั้ง  จนกระทั่งบริษัทล้มละลายในเดือนกันยายนปีถัดมาในที่สุด เมื่อไม่มีนายทุนเข้ารับช่วงการบริหารต่อ            


 


กรณียึดโรงงานและบริหารจัดการโดยแรงงานไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่เพียงแห่งเดียว  อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีกรณีใดที่แรงงานสามารถบริหารกิจการได้ยาวนานเช่นที่ลิป การเข้ายึดโรงงานแต่ละแห่งแต่ละครั้งล้วนต้องประสบกับบททดสอบที่หนักหน่วง เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การนัดหยุดงาน-ประท้วงที่ต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่และเกิดความรุนแรง จนอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเรื่องการจัดการด้วยตนเองที่พูดถึงในเชิงอุดมการณ์หรือที่ถูกกล่าวถึงเมื่อมองย้อนหลังกลับไปในอดีตนั้นแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างมาก แต่ละกรณีคือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อปากท้องของคนงานโดยแท้จริง ความสำเร็จในกรณีของลิปนั้นคือข้อยกเว้นท่ามกลางกรณีที่ล้มเหลวซึ่งกลายเป็นเสมือนกฏเกณฑ์ของการต่อสู้ระหว่างแรงงานกับทุนภายในกระแสธารของทุนนิยมที่เชี่ยวกราด


 


ในประเทศฝรั่งเศส มรดกของการบริหารจัดการโดยแรงงานที่เหลืออยู่ในปัจจุบันคือ รูปแบบขององค์กรธุรกิจที่มีลักษณะสหกรณ์ หรือสคอป (Scop) [16]  ซึ่งเป็นผลของการเคลื่อนไหวหลังปี 68 รวมทั้งของประสบการณ์ช่นในกรณีของลิป อาจกล่าวได้ว่าลักษณะการทำงานของสคอป (scop)ในปัจจุบันสะท้อนตรรกะของการประนีประนอมระหว่างแรงงานและทุนในลักษณะที่แรงงานเป็นเสมือน "หุ้นส่วน" ในกิจการ เราอาจจะเรียกโครงสร้างการจัดองค์กรภายในธุรกิจแบบนี้ว่า "ทุนนิยมแบบมีส่วนร่วมของแรงงาน" ที่นำหลักการของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมาใช้และเปลี่ยนมุมมองจากแรงงานในฐานะผู้ถูกจ้างเป็น "พลเมือง" ขององค์กรแทน ที่ยังคงเป็นทุนนิยม เพราะข้ามไม่พ้นจากตรรกะของการสร้างกำไรไม่สิ้นสุดโดยการนำกำไรที่ได้มาลงทุนเพิ่ม หากแต่การจัดโครงสร้างและกลไกการตัดสินใจภายในองค์กรนั้นไม่ได้อยู่ในกำมือของคนกลุ่มเล็กกลุ่มเดียวหรือนายทุนอีกต่อไป แต่กระจายไปยังพนักงานและลูกจ้างทั้งหมด


 


 


สรุป


 


จากตัวอย่างของลิปในข้างต้น เราอาจพูดได้ว่าประสบการณ์ของขบวนการแรงงานในฝรั่งเศสเต็มไปด้วยพัฒนาการทั้งในลักษณะต่อเนื่องและขาดตอน รวมทั้งความขัดแย้งภายในและภายนอก นอกจากนี้ รูปแบบและเนื้อหาของการเคลื่อนไหวนั้นก็ไม่ได้มีเอกภาพอย่างที่เข้าใจกัน ในกรณีของการเข้ายึดโรงงานและบริหารด้วยตนเองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่องการปลดปล่อยทางชนชั้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นส่วนผสมของแนวคิดของมาร์กซ์และการบริหารจัดการตัวเองของ อนาธิปัตย์นิยม ลักษณะการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในฝรั่งเศสจึงเป็นผลจากลักษณะเฉพาะเชิงสังคม วัฒนธรรมและสถาบันที่เข้ามาสนับสนุนและสร้างข้อจำกัด เช่น กฏหมายและองค์กรตัวแทนแรงงานคือซินดิกัล ฯลฯ ในระดับพื้นฐานที่สุด สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การต่อสู้ดิ้นรนของคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและไม่ต้องการจะเป็นฝ่ายพึ่งพาขอรับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว


 


ถึงแม้ความหมายของ "ชนชั้นกรรมาชีพ" จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดในวันนี้ แต่ภายในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแบบทุนนิยมของฝรั่งเศส แรงงานที่ยากจนและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากยังคงปรากฏอยู่และมีแนวโน้มจะจนมากขึ้น ปัญหาอยู่ตรงที่อุดมการณ์ปลดปล่อยชนชั้นกรรมาชีพนั้นได้ถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่ไหนสักแห่งในหน้าประวัติศาสตร์ และพรรคการเมืองที่เคยเป็นกระบอกเสียงของพวกเขากลับพึงพอใจในการทำหน้าที่สะท้อนผลประโยชน์ให้กับพวกสังคมนิยมที่ขยับฐานะมาเป็นนายทุนขนาดเล็กแทน (socialist petty bourgeois) ในที่สุดแล้ว ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป เราอาจต้องทบทวนวิธีคิด-วิธีเข้าใจโลก-และลักษณะการต่อสู้กันใหม่ ไม่ช้าก็เร็ว


 


………


อ้างอิง


 


[1] ชื่อบทความ "La social-démocratie, c"est fini", Libération, 19 Décembre 2007


[2] Alain Badiou, "Spectres of 68", New Left Review, NLR 49, Jan-Feb 2008


[3] อ่านประกอบ http://www.marxists.org/reference/archive/althusser/1970/ideology.htm


[4] Alain Badiou, "Spectres of 68", p.31


[5] 29 เมษายน 2007 ในระหว่างการหาเสียง ซาร์โกซีกล่าวว่า "หลังจากพฤษภา 68 เราไม่สามารถพูดถึงศีลธรรมได้ ศัพท์คำนี้หายไปจากศัพท์การเมือง...พฤษภา 68 ได้ทำให้เกิดลักษณะสัมพัทธ์นิยม (relativism) ในเชิงศีลธรรมและปัญญา ทายาทของพฤษภา 68 ได้ครอบงำความคิดว่าทุกอย่างมีคุณค่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างดีและเลว ระหว่างถูกและผิด ระหว่างสวยงามและน่าเกลียด..." ทั้งที่เหตุการณ์นี้ผ่านไปนานแล้วและนักวิชาการรวมทั้งนักเคลื่อนไหวในอดีตหลายคนก็เห็นว่าสังคมฝรั่งเศสเปลี่ยนไปมาก อำนาจที่เป็นปรปักษ์กับประชาชนได้เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปด้วย ดังตัวอย่างของ Forget 68 หนังสือที่ออกในปีนี้ของ แดลเนียล คอห์น เบนดิทที่เสนอว่าการเคลื่อนไหวต้องละทิ้งรูปแบบและเนื้อหาเก่าๆ


[6]  Alain Badiou, "Spectres of 68", p.34


[7]  Alain Touraine, "Qui somme nous? Les âges de la vie bouleversés", Sciences Humaines, no 193, mai 2008


[8] Martine Fournier, "La contre-culture. La révolte des seventies", Sciences Humaines, Hors-série no 30, Décembre 2000/Janvier-Février 2001


[9]  Marcel H. Van Herpen, "Paris May"68 and Provo Amsterdam"65: Trying to understand two postmodern youth revolts", บทความออนไลน์ www.cicerofoundation.org


[10] อ่านประกอบ Deschooling Society ที่ http://reactor-core.org/deschooling.html


[11] อ่านระบบเศรษฐกิจยูโกสลาเวียเพิ่มเติมจากบทที่ 8 ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7


[12] Michel Lallement, "L"autogestion, une histoire contrariée", Sciences Humaines, no 187, novembre 2007


[13] ดำเนินงานระหว่างปี 1960-1989


[14] Confédération Française Démocratique du Travail องค์กรซินดิกัลที่มีสมาชิกมากที่สุด


[15] ข้อมูลจาก Nicholas Bauche, "L"utopie autogérée des LIP", Sciences Humaines, no 187, novembre 2007 และ http://fr.wikipedia.org/wiki/Lip


[16] Société Coopérative de Production หรือ Cooperative entreprise of production ต้นกำเนิดของรูปแบบการจัดการของสหกรณ์นี้คือแนวความคิดของนักสังคมนิยมชาร์ลส์ ฟูริเย่ (Charles Fourier) ในต้นศตวรรษที่ 19 ที่เสนอแนวคิดของการปกครองและจัดการตนเองในลักษณะสังคมย่อยแทนที่รัฐ ดูรายละเอียดการดำเนินงานในปัจจุบันที่ http://www.scop.coop/p481_EN.htm#481_2006__1


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net