Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พวงทอง ภวัครพันธุ์


ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


            จากกรณีที่รัฐบาลกัมพูชาได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมอาเซียน ยูเนสโก และสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้องค์กรเหล่านี้เข้ามามีบทบาทตัดสินกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับไทย นับเป็นการใช้ยุทธศาสตร์การทูตเชิงรุกอย่างชาญฉลาดยิ่ง ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานของไทยเป็นฝ่ายต้องตามแก้เกมที่กัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดไว้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหาทางเดินเกมการทูตเชิงรุกบ้าง แต่ก่อนที่ฝ่ายไทยจะสามารถวางยุทธศาสตร์เชิงรุกได้ จำเป็นที่จะต้องถามก่อนว่าอะไรคือจุดอ่อนหรือจุดแข็งของไทยในกรณีนี้ และจะรุกไปเพื่อเป้าหมายอะไร


            ผู้เขียนเห็นว่าในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร จุดอ่อนของไทยในเวทีระหว่างประเทศก็คือจุดแข็งที่กัมพูชาใช้เดินเกม นั่นก็คือ ทัศนะของประชาคมโลกที่มองว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกนับแต่ปี พ.ศ. 2505 คำตัดสินของศาลโลกคือฐานรองรับความชอบธรรมของกัมพูชา แต่ฝ่ายไทยกลับปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินศาลโลกทั้งๆ ที่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบมาตลอด 46 ปี


ประชาคมโลกยังมองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากปัญหาการเมืองภายในของไทยเอง ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลพยายามใช้กระแสชาตินิยมเพื่อล้มรัฐบาล ฉะนั้น จึงเสมือนว่ากัมพูชาต้องเดือดร้อนจากปัญหาของไทยเอง ส่วนเรื่องข้อพิพาทเหนือดินแดนทับซ้อนมิใช่ "ต้นตอ" ของความขัดแย้ง แต่ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้ความขัดแย้งแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น ทัศนะทำนองนี้สามารถดูได้จากสื่อในประเทศต่างๆ ที่นำเสนอข่าวข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา เช่น  New York Times (21 July 08) The International Herald Tribune (20 July 08 ) สำนักข่าว AP (19 July 08) Reuter (20 July 08) แน่นอนว่ารัฐบาลกัมพูชาย่อมเห็นสิ่งนี้ และเชื่อว่าหมากทางการทูตของตนจะทำให้กัมพูชาได้รับความเห็นอกเห็นใจจากนานาชาติมากขึ้น


            ฉะนั้น เป้าหมายเร่งด่วนของการทูตของไทยจึงต้องมุ่งไปที่การทำความเข้าใจและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนกับนานาชาติว่า ปัญหาข้อพิพาทในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องตัวปราสาทเขาพระวิหารซึ่งรัฐบาลไทยเคารพต่อการตัดสินของศาลโลก แต่เป็นปัญหาพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนที่ยืดเยื้อมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม การผลักดันเพียงแค่นี้ยังไม่เพียงพอ


            ผู้เขียนเห็นว่ายุทธศาสตร์การทูตเชิงรุกของไทยในขณะนี้ต้องประกอบด้วย ข้อเสนอที่สามารถยุติการเผชิญหน้าระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เป็นไปได้ (practical) และเป็นข้อเสนอเชิงสันติที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่ายได้ด้วย การมีข้อเสนอเชิงสันติที่เป็นไปได้จะทำให้ประชาคมโลกเห็นว่า ประเทศไทยมิใช่รัฐอันธพาล แต่มุ่งมั่นหาทางออกเชิงสันติอย่างแท้จริง ในที่นี้ ผู้เขียนใคร่เสนอดังต่อไปนี้



  1. ให้ทั้งสองฝ่ายประกาศให้ปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อนโดยรอบตัวปราสาทเป็นเขต "อุทยานสันติภาพ" (the Preah Vihear Peace Park) ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลร่วมกัน โดยประสานงานกับคณะกรรมการมรดกโลก  
  2. ให้ทั้งสองฝ่ายค่อยๆ ถอนกำลังทหารออกจากบริเวณพื้นที่ทับซ้อน ให้คงเหลือเพียงกองกำลังผสมขนาดเล็กระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่ควรพกพาอาวุธสงคราม แต่มุ่งรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวในอนาคตเท่านั้น
  3. รายได้จากการเช่าร้านค้าบริเวณปราสาทพระวิหาร ควรนำมาใช้เพื่อการดูแลปรับปรุงบริเวณ "อุทยานสันติภาพ"

ข้อเสนอข้อแรก วางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าตราบเท่าที่ทั้งไทยและกัมพูชายังคงยืนยันใช้เอกสารในการปักปันเขตแดนคนละฉบับกัน (ฝ่ายไทยใช้สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศสปี พ.ศ.2447 ที่กำหนดให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน ฝ่ายกัมพูชาใช้แผนที่ที่จัดทำโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนสมัยฝรั่งเศส) ทั้งสองฝ่ายย่อมไม่มีทางที่จะตกลงเรื่องเส้นเขตแดนกันได้ และไม่มีใครสามารถบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมรับเอกสารของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ อาเซียน หรือแม้แต่ศาลโลกที่กัมพูชากล่าวว่าจะนำไปฟ้องอีกครั้ง เพราะขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นคู่สัญญาของศาลโลกอีกต่อไป ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจบังคับใช้เหนือไทย


ฉะนั้น เมื่อลู่ทางในการปักปันดินแดนบริเวณนี้แทบไม่มีอยู่เลย หนทางเฉพาะหน้าที่ดีที่สุด และอาจรวมถึงระยะยาวด้วย ก็คือ การตกลงพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งจะทำให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงสงวนสิทธิ์การอ้างอธิปไตยของตนเหนือพื้นที่ทับซ้อนไว้ได้


ฝ่ายไทยต้องตระหนักว่า ในขณะนี้กัมพูชากำลังเร่งพัฒนาถนนและทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหารจากฝั่งของกัมพูชา หากเราปล่อยให้ทางขึ้นทางฝ่ายไทยต้องถูกปิดตายเป็นเวลานาน เราจะสูญเสียโอกาสของการแสวงหาประโยชน์จากปราสาทเขาพระวิหารไปอย่างน่าเสียดาย ในทางกลับกัน ฝ่ายกัมพูชาก็คงไม่อยากเห็นมรดกโลกชิ้นใหม่ของตนนี้ต้องถูกปิดตายเป็นเวลานาน เพราะกว่าสาธารณูปโภคทางฝั่งกัมพูชาจะแล้วเสร็จ ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี


เหตุผลของข้อเสนอที่ 2 ก็คือ การคงกองกำลังนับพันคนไว้ในระยะที่ค่อนข้างประชิดกันเป็นระยะเวลานาน ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพ แม้ว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะยืนยันว่าจะยึดมั่นในสันติวิธี ไม่ต้องการให้เกิดสงคราม แต่เราก็ต้องระวัง "อุบัติเหตุ" ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่นมีการทำปืนลั่น แล้วนำไปสู่ความเข้าใจผิด เป็นต้น รวมทั้งโอกาสของการก่อเหตุบริเวณชายแดนจากกลุ่มการเมืองในไทยก็ยังอาจเกิดขึ้นได้อีก


สำหรับข้อเสนอที่ 3 มุ่งแก้ปัญหาที่ฝ่ายไทยมองว่าร้านค้าชาวเขมรลุกล้ำเขตแดนของไทยหรือพื้นที่ทับซ้อน แต่หากนำรายได้จากการเช่าที่มาใช้เพื่อดูแลอุทยานสันติภาพ ย่อมถือว่าทั้งไทยและกัมพูชาได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ปัจจุบันสภาพของร้านค้าเหล่านั้นก็ทรุดโทรม ไม่น่าดู เมื่อปราสาทเขาพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ก็สมควรปรับปรุงให้มีสภาพที่ดีขึ้น และอนุญาตให้ทั้งผู้ค้าทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชามีสิทธิ์ขอเช่าที่ได้


ผู้เขียนเชื่อว่า ข้อเสนอที่มุ่งไปที่การจัดการพื้นที่ทับซ้อนนี้จะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดที่จะช่วยยืนยันกับนานาชาติว่า ประเทศไทยไม่ได้ต้องการเรียกร้องเอาปราสาทเขาพระวิหารคืน แต่มุ่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนรอบตัวปราสาทเท่านั้น และเป็นการกระทำอย่างอารยชนที่มีวุฒิภาวะทางการเมือง ซึ่งหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็ปฏิบัติเช่นนี้ รวมทั้งไทยกับมาเลเซียที่หันมาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอ่าวไทย จนสามารถนำแก๊สธรรมชาติมาแบ่งปันกันใช้ในปัจจุบัน


การช่วงชิงผลักดันข้อเสนอเชิงสันติภาพนี้ จะทำให้เราเป็นฝ่ายมีบทบาทในการกำหนดเกมการทูตและแผนการพัฒนาร่วมกันได้มากขึ้น ประการสำคัญ นี่คือหนทางที่ทั้งสองฝ่ายมีแต่ได้ ขณะที่สงครามมีแต่จะนำความสูญเสียมาให้กับทุกฝ่าย มันจึงไม่ควรเป็นคำตอบสำหรับเราอีกต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net