ทัศนะ ธำรงศักดิ์-พวงทอง ว่าด้วยสถานการณ์การเมืองในกัมพูชา

ขณะที่คนไทยบางคนตั้งข้อสงสัยว่ากัมพูชาปลุกกระแสชาตินิยมมาชนกับฝ่ายไทย แต่ขณะเดียวกันยังมีอีกมิติหนึ่ง ซึ่งตัวผู้นำกัมพูชาเองก็ตกเป็นเป้าโจมตี ด้วยกระแสชาตินิยมภายในประเทศมาตลอดเช่นกัน 

 

ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความว่าด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในกัมพูชา ผ่านหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 26 ก.ค. โดยเสนอว่า กระแสเรื่องชาตินิยมที่ถูกจุดขึ้นโดยกลุ่มการเมืองระบอบเก่าในกัมพูชานั้น ดูจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับชาวกัมพูชา ที่กำลังมุ่งหน้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกต่อไปแล้ว

 

00000 

 

ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

 

การเลือกตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองในกัมพูชา

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาการเมืองในประเทศกัมพูชามีการเลือกตั้งทุกๆ 5 ปี ผู้ได้รับเลือกตั้งอยู่จนครบวาระ เช่น มีการเลือกตั้งในปี 2541 2546 และ 2551 ภาพสะท้อนการเมืองแบบนี้เป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพมากกว่าประเทศไทย แม้ประชาชนจำนวนมากของกัมพูชามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยากจนและสภาพสังคมก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยในหลักการที่เราเข้าใจ แต่ประเทศกัมพูชามีเสถียรภาพทางการเมืองจากการเลือกตั้ง ย่อมทำให้กัมพูชามีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์ความเติบโตทางเศรษฐกิจได้

 

การเลือกตั้งของประเทศกับกัมพูชากับการผลักดันกรณีปราสาทพระวิหาร

การเลือกตั้งของประเทศกัมพูชาครั้งนี้ประจวบเหมาะกับกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกัมพูชานำโดยสมเด็จฮุนเซน ตระหนักถึง "จังหวะก้าว" การผลักดันเรื่องปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกและการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่ารัฐบาลออกธนบัตรรุ่นใหม่ที่มีภาพปราสาทพระวิหารปรากฏบนธนบัตรซึ่งนี่คือการเตรียมการยกระดับสถานะของปราสาทพระวิหารจากสัญลักษณ์ทางเอกราชของกัมพูชาเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้วให้กลายมาเป็นความสำเร็จของสมเด็จฮุน เซน ผู้นำรัฐบาลซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินการอย่างที่ไม่มีใครทำมาก่อน

 

ความสำคัญของปราสาทพระวิหารในแง่สัญลักษณ์ต่อประเทศกัมพูชา

การได้ปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาศาลโลกในปี 2505 เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อเอกราชอันสมบูรณ์ของกัมพูชา มีความสำคัญทางจิตใจในเรื่องเอกราช เพราะหลังจากประเทศกัมพูชาสิ้นสุดการตกเป็นประเทศใต้อาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส ในปี 2496 ในปีต่อมา 2497 รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามส่งทหารไปเชิญธงชาติไทยขึ้นบนปราสาทพระวิหารเพื่อเป็นเครื่องหมายต่อสู้เอกราชสมบูรณ์รอบสอง แต่ฝ่ายกัมพูชาใช้เงื่อนไขตามการจัดระเบียบโลกใหม่ในนามองค์การสหประชาชาติ ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 ขณะนั้นประเทศไทยมีฐานะเป็นผู้แพ้สงครามร่วมกับประเทศญี่ปุ่น แต่ประเทศไทยก็สามารถเอาตัวรอดจากสถานะผู้แพ้สงครามได้ และมุ่งหวังที่จะเข้ามาอยู่ในการจัดระเบียบโลกใหม่ เป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ จึงยอมสละการใช้ดินแดนจากเพื่อนบ้านกลับคืนไปเป็นสถานะเดิมก่อนสงคราม ซึ่งหมายความว่าปราสาทพระวิหารกลับคืนไปเป็นของอาณานิคมฝรั่งเศสเช่นกัน

 

ประเด็นการเมืองภายในประเทศกัมพูชาและสถานะของสมเด็จฮุน เซน

ภาพการเมืองภายในกัมพูชานั้น พอมองภาพในเบื้องต้นแบ่งได้ 2 ฝ่ายหลักๆ ประกอบด้วย สมเด็จฮุน เซน และผู้นำทางการเมืองในระบอบเก่านำโดยสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ ซึ่งมีข้อโจมตีสมเด็จฮุน เซน เรื่อง "ชาตินิยม" โดยใช้ประเด็นทางการเมือง อาทิ ความสัมพันธ์ของกัมพูชากับไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของกัมพูชา ซึ่งมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลั่งไหลจากไทยเข้ากัมพูชาอย่างมากมาย ซึ่งมีความหมายคือกัมพูชาจะสูญเสียเอกราชหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของไทยหรือไม่ นี่คือประเด็นโจมตีไปยังสมเด็จฮุน เซน

         

ส่วนประเด็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่ผู้นำในระบอบเก่าใช้โจมตีและรณรงค์เรียกร้องหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในประเทศกัมพูชาทุกครั้ง คือ ข้อโจมตีว่าสมเด็จฮุน เซน มักอ่อนข้อ ยอมเสียเปรียบด้านดินแดนให้ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ประเทศคือไทยและเวียดนาม ทำให้กัมพูชาเสียดินแดนเรื่อยมา ซึ่งเรื่องอิทธิพลทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของไทยและปัญหาการเจรจาเรื่องดินแดน เป็นประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามมักหยิบยกขึ้นมาก่อนวันเลือกตั้ง

         

นอกจากนั้นปัญหาสำคัญซึ่งเป็นที่ค้างคาภายในประเทศ คือสมเด็จฮุน เซน ได้ขึ้นมามีอำนาจโดยการสนับสนุนจากกองทัพเวียดนาม ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยมีสงครามกลางเมืองหลายฝ่าย ในปี 2521 โดยในปี 2522 เด็กหนุ่มที่ชื่อฮุน เซน ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นอายุ 27 - 28 ปี และในอีก 6 ปีต่อมาคือปี 2528 สมเด็จฮุน เซนได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วอยู่ในตำแหน่งถึง 23 ปี ขณะที่กลุ่มการเมืองในระบอบเก่า ต้องการขับไล่คนเวียดนามซึ่งเข้ามาพร้อมกับกองทัพเวียดนาม มาลงหลักปักฐานทำมาหากินบนผืนแผ่นดินกัมพูชา มีประเด็นโจมตีสมเด็จฮุน เซน ในเรื่องปมปัญหาที่ค้างคาในประเทศ

 

ความเป็นไปได้ที่สมเด็จฮุน เซน จะชนะการเลือกตั้ง         

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ คาดว่าพรรคประชาชนของสมเด็จฮุน เซน ชนะการเลือกตั้งแน่นอน เพราะสมเด็จฮุน เซน สามารถบรรลุเป้าหมาย 2 อย่าง คือเสถียรภาพทางการเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา แต่อาจจะไม่ได้จำนวน ส.ส.ถึง 2 ใน 3 ที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวตามรัฐธรรมนูญได้

         

ส่วนข้อโจมตีที่นำมาใช้โจมตีสมเด็จฮุน เซน ก่อนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมานั้น อาจไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของชาวกัมพูชาขณะนี้ เพราะในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชาเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย ทำให้คนละทิ้งประเด็นเรื่องชาตินิยมและประเด็นปัญหาข้อกังวลใจที่ถูกนำเสนอโดยกลุ่มการเมืองจากระบอบเก่าได้บ้าง อีกทั้งการที่นครวัดและบริเวณโดยรอบได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของสมเด็จฮุน เซน ยิ่งตอกย้ำภาวะผู้นำของสมเด็จฮุน เซน มากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีการลงทุนด้านการท่องเที่ยว และเงินจากนักท่องเที่ยวที่แพร่สะพัดในกัมพูชา ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

 

00000

ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรื่องปราสาทพระวิหารถูกนำมาปลุกกระแสชาตินิยมในกัมพูชาเพื่อหวังผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.หรือไม่

ภายในกัมพูชาเองไม่โหมกระแสชาตินิยมมากในขณะนี้เพราะเกรงว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์เช่นกรณีเผาสถานทูตไทยในกัมพูชาเมื่อปี 2546 แล้วส่งผลให้ฝ่ายกัมพูชาดูแย่ในสายตาของประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม คิดว่าท่าทีของรัฐบาลกัมพูชาซึ่งนำโดยสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีปราสาทพระวิหาร มีความสัมพันธ์กับการเลือกตั้งของกัมพูชา ตรงที่รัฐบาลกัมพูชาต้องทำให้ประชาชนในประเทศเห็นว่าเขาไม่ได้หยุดนิ่งในปัญหาเรื่องดินแดนซึ่งเป็นประเด็นระหว่างประเทศ มิเช่นนั้นประชาชนกัมพูชาจะมีคำถามว่าทำไมรัฐบาลจึงเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ แต่คิดว่ารัฐบาลกัมพูชาก็ไม่ได้ถึงขนาดนำเรื่องปราสาทพระวิหารมาใช้ในการหาเสียงก่อนวันเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะเขาผลักดันเรื่องนี้มานานแล้ว เนื่องจากมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภาคตะวันตกของประเทศและเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาติกัมพูชา

 

แนวโน้มผลการเลือกตั้งซึ่งมีการคาดหมายว่าสมเด็จฮุน เซน จะชนะการเลือกตั้ง

แม้ประชาชนกัมพูชาจะเบื่อสมเด็จฮุน เซน แต่ประชาชนก็ไม่มีทางเลือกอื่น ส่วนพรรคการเมืองในประเทศกัมพูชาแม้ไม่ได้มีเพียงพรรคการเมืองเดียว แต่พรรคที่เหลือก็มีข้อด้อยมากกว่าสมเด็จฮุน เซน เช่น พรรคของนายสม รังสี ก็เป็นพรรคเล็กและหัวหน้าพรรคไม่มีภาวะผู้นำ ส่วนพรรคการเมืองสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ก็ไม่มีความสามารถในการบริหาร ขณะที่สมเด็จฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาตลอดหลายปีมีฐานเสียงกระจายไปในภูมิภาคต่างๆ

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 26 ก.ค. 51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท