คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแสดงความผิดหวังคณะกรรมการมรดกโลก





หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 51 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดย ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน เพื่อแสดงถึงความกังวลและความผิดหวังอย่างยิ่ง กรณีขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยองค์กรของสหประชาชาติ

 

 

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการมรดกโลก กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน เพื่อแสดงถึงความกังวลและความผิดหวังอย่างยิ่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติของไทย ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยองค์กรของสหประชาชาติที่ละเลยต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ การมีมติของคณะกรรมการมรดกโลก (ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ เมื่อ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1972) ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามข้อเสนอของกัมพูชา แต่เพียงฝ่ายเดียว

 

ข้อตัดสินใจที่ 32 COM 8B.102 ของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยที่ 32 ที่เมืองคิวเบค แคนาดา ขัดต่อวัตถุประสงค์อันล้ำค่าอย่างชัดเจนของกฎบัตรสหประชาชาติที่จะส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างชาติต่างๆ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สะท้อนในอารัมภบทของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับข้อบทต่างๆ ที่ปรากฏในปฏิญญาสากลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 28 ซึ่งกล่าวว่า "ทุกคนมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศซึ่งจะเป็นทางให้สิทธิและ เสรีภาพที่กำหนดในปฏิญญานี้ได้บรรลุผลอย่างเต็มที่"

 

เหตุการณ์ก่อนและหลังการตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกแสดงให้เห็นว่า ประเด็นเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเองและพื้นที่โดยรอบ มีความขัดแย้งอย่างสูงนับตั้งแต่การตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 และหนังสือของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ.1962 ถึงรักษาการเลขาธิการสหประชาชาติที่แสดงความไม่เห็นด้วยของประเทศไทยต่อคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและสงวนสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต

 

ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์คัดค้านของประชาชนไทยอย่างกว้างขวาง เพราะเห็นว่ารัฐบาลไทยชุดปัจจุบันพยายามที่จะสนับสนุนให้กัมพูชาเป็นผู้เสนอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้มีการคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับการบังคับใช้แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.2008 และคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์เหล่านี้ได้มีการรายงานข่าวอย่างกว้างขวางตามสื่อ ทั้งในประเทศ ในภูมิภาค และระหว่างประเทศ องค์การยูเนสโกซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่และมีประสบการณ์อย่างยาวนานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่อาจปฏิเสธการรับรู้ถึงการถกเถียงและความขัดแย้งในเรื่องปราสาทพระวิหารที่ดำเนินอยู่ก่อนหน้าที่จะมีคำตัดสินที่ 32 COM 8B.102 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลไทยได้แสดงการคัดค้านในที่ประชุม คณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ว่าขาดกระบวนการที่ชอบธรรมในการเสนอขึ้นทะเบียนปราสาท พระวิหารแต่เพียงฝ่ายเดียวของกัมพูชา นอกจากนี้ กรณีปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องพิเศษที่ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงและคับข้องใจภายในประเทศไทย ต่อความอยุติธรรมมาโดยตลอด ได้เคยเกิดเหตุการณ์ที่เผาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2003 ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชนของสองประเทศได้ผ่านความยากลำบากต่างๆ มามากแล้ว จึงไม่ควรที่จะทำให้เกิดความตึงเครียดที่ไม่สมควรขึ้นมาอีก ซึ่งจะก่อให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์และความขมขื่นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ทั้งภายในและระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา

 

เหตุการณ์ข้างต้นได้ก่อให้เกิดความสงสัยอย่างยิ่งและคำถามเกี่ยวกับวิธีการที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของสิทธิมนุษยชน ซึ่งตราสารระหว่างประเทศที่สำคัญยิ่งคือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำลังจะมีการ เฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีในปีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงใคร่ขอให้ท่านได้พิจารณา คำถามและข้อสงสัยบางประเด็น ซึ่งอาจจะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ดังต่อไปนี้

 

1. ใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดข้อ 3 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกข้างต้น ทำให้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต้องตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิของประชาชนในอันที่จะมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงอย่างถาวรของบุคคล เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.2008 ได้เกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้คัดค้านที่เดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อต้องการปกป้องอธิปไตยของประเทศไทยกับชาวบ้านบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้ปราสาทพระวิหาร และเกรงว่าจะสูญเสียการดำรงชีพและความมั่นคง เนื่องจากความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ โชคร้ายที่เหตุแห่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงและการคุกคามต่อชีวิตเกิดจากการดำเนินการของคณะกรรมการมรดกโลกเอง เหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมเป็นเพียงตัวอย่างของสิ่งที่จะตามมาในอนาคต

 

2. ปัจจุบัน กองกำลังของไทยและกัมพูชากำลังเผชิญหน้าในสภาพพร้อมรบ ซึ่งสร้าง ความตึงเครียดตามแนวชายแดนและอาจขยายเป็นการเผชิญหน้าซึ่งใหญ่โตมากขึ้น ประชาชนของ ทั้งสองประเทศที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาเป็นเวลานาน เริ่มเห็นว่าสันติภาพกำลังถูกสั่นคลอนจาก คำตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลก เป็นที่ชัดเจนว่าความขัดแย้งดังกล่าวได้บั่นทอนสภาพแวดล้อม อันเกื้อกูลทางสังคมและสันติของประชาชนไทยและกัมพูชา ในอันที่จะใช้สิทธิต่างๆ ทั้งหมดตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะเหตุจากความไม่สงบภายในประเทศและการขยายความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ใครเล่าจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดข้อ 28 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

3. เหตุใด คณะกรรมการมรดกโลกถึงได้เร่งรีบนัก ในการตัดสินเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.2008 ในฐาน "กรณียกเว้น" โดยละเลยเงื่อนไขของบูรณภาพที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงไว้ซึ่ง คุณลักษณะของมรดกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งที่ตระหนักเป็นอย่างดีถึงข้อขัดแย้งเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบระหว่างไทยกับกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลกอาจอ้างได้ว่า การตัดสินใจมิได้กระทบต่อสิทธิของคู่กรณีในข้อพิพาทของอนุสัญญาตามที่ระบุในข้อที่ 11(3) ของอนุสัญญา ค.ศ.1972 ว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติว่า "การรวมทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตอธิปไตย หรือเขตอำนาจหนึ่งใดที่มีการอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐ จะไม่กระทบต่อสิทธิของ รัฐภาคีในกรณีพิพาทนั้น" แต่ทัศนคติท่าทีเช่นนั้นเป็นการสะท้อนถึง การขาดความละเอียดอ่อนต่อกรณีปราสาทพระวิหารที่เป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งอย่างสูงและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าด้วยเหตุใด การตัดสินใจเช่นว่า ไม่ได้ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างชาติ และไม่ช่วย สร้างสรรค์ให้เกิดระเบียบสังคมและระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการให้เกิดสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่เกิดผลในทางตรงข้าม คณะกรรมการมรดกโลกควรที่จะได้มีการวินิจฉัยอย่างมีวุฒิภาวะและความระมัดระวังให้มากขึ้นที่จะพิจารณาว่าแนวทางการจัดการร่วมเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการเสนอจากกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวโดยพลการเช่นนั้น

 

4. ทำไมคณะกรรมการมรดกโลกจึงไม่ขอให้กัมพูชายื่นการขอขึ้นทะเบียนเสียใหม่ ในเมื่อเห็นว่าได้มีการเปลี่ยนแผนที่ของปราสาทพระวิหาร ซึ่งก็เป็นแนวทางปฏิบัติโดยปกติอยู่แล้ว การละเลยแนวทางปฏิบัติที่ได้กระทำมาช้านานในเรื่องเกี่ยวกับเอกสารที่ยื่นเพื่อเสนอขอการขึ้นทะเบียนเช่นว่า ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุจูงใจอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ ที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินอย่างรีบเร่ง โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนของทั้งสองประเทศ

 

5. การตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางโบราณคดี ที่หนักแน่นโดยคำนึงถึงความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ดูเหมือนว่าความเห็นของฝ่ายไทย ได้ถูกละเลยมาโดยตลอด ทั้งที่บริเวณพื้นที่การจัดการที่เป็นแนวกั้นและภูมิทัศน์ทั้งหมดของปราสาท พระวิหารอยู่ในเขตแดนของไทย

 

6. ยิ่งเป็นที่น่ากังขามากขึ้นไปอีก เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ขอให้กัมพูชา โดยความ ร่วมมือของ ยูเนสโกให้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองและพัฒนาสถานที่ดังกล่าว ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2009 โดยเชิญให้รัฐบาลไทยเข้าร่วม พร้อมกับประเทศอื่นที่ เหมาะสมอีก ไม่เกิน 7 ประเทศ ตัวคณะกรรมการมรดกโลกเอง ได้มีอำนาจมาอย่างไร ในอันที่จะขอให้กัมพูชาจัดตั้งคณะกรรมการเช่นว่า และประเทศที่ได้รับเชิญมีอำนาจได้อย่างใดที่จะกำหนดเส้นแบ่งบริเวณพื้นที่จัดการและแนวกั้นในบริเวณที่อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนกำลังเป็นที่โต้แย้งกันอย่างร้อนแรง การดำเนินการเช่นว่าเป็นเรื่องของอธิปไตยซึ่งอยู่นอกเหนือสิทธิอำนาจของ คณะกรรมการมรดกโลกอย่างชัดเจน

 

คำถามและข้อสงสัยข้างต้นทั้งหมดทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ สหประชาชาติ จะต้องมีความโปร่งใส ความคงเส้นคงวา ความเที่ยงตรงและธรรมาภิบาล รวมถึงการเคารพอย่างสูงยิ่งในเรื่องสิทธิมนุษยชน การกระทำของคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกแสดงถึงการเพิกเฉยและการไม่นำพา และการไม่คำนึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะของชาวไทยและกัมพูชา ข้าพเจ้าขอให้ท่านได้โปรดตั้งคณะกรรมการไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกลางที่มี คุณธรรมสูงยิ่ง เพื่อแสวงหาคำตอบต่อคำถามข้างต้น และเพื่อเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนว่าสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการเคารพ ไม่เพียงแต่โดยประเทศสมาชิกของสหประชาชาติเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงตัวองค์กรสหประชาชาติและองค์กรที่เกี่ยวข้องเองด้วย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญในโอกาสเฉลิมฉลองการครบรอบ 60 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

ในการนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สำเนาหนังสือเปิดผนึกเรียนผู้เกี่ยวข้องดังมีรายชื่อดังต่อไปนี้

 

1. นายโคอิชิโร มัตซูร่า                  ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก

2. นายฟรังเซสโก บานดาริน           ผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลกยูเนสโก

3. นางหลุยส์ อาร์เบอร์                   ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

4. นายโฮมายูน อลิซาเดห์ ผู้แทนภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน

ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5. ประเทศสมาชิกอิโคโมสรวมทั้งประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

6. ประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก

7. สถาบันต่างๆ ทุกแห่งที่มีความเกี่ยวข้องและสนใจ

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

28 กรกฎาคม 2551

เอกสารประกอบ

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภาษาอังกฤษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท