บทบาททางประวัติศาสตร์ของไทยในทรรศนะของกัมพูชา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สลักธรรม โตจิราการ

 

 

ปัจจุบันนี้ กำลังมีกระแสการวิตกกังวลว่าประเทศไทยจะต้อง "เสียดินแดนอีกครั้งหนึ่ง" จากการที่ประเทศกัมพูชาประสบความสำเร็จในการนำปราสาทเพรียะวิเฮียร์ หรือในภาษาไทยว่า ปราสาทพระวิหาร ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้มีการปลุกระดมโดยผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งจดหมายลูกโซ่อิเล็คทรอนิคส์ ในทำนองที่ว่า ประเทศไทยผู้รักสงบถูกชาติต่างๆ เข้ามา "รุกราน" และ  "แย่งชิง" เอาพื้นที่ของไทยไปมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาเขตที่เป็นประเทศลาวและประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน (ทั้งเขมรส่วนใน ได้แก่พระตะบอง ศรีโสภน และเสียมเรียบ และเขมรส่วนนอก อันได้แก่ประเทศกัมพูชาส่วนที่เหลือ)

 

แต่ทว่า ใครเล่าจะทราบว่าลัทธิ "คลั่งชาติ"ในประเทศไทย กลับทำให้ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านของเรายิ่งรู้สึกเกลียดชังประชาชนไทยมากขึ้นไปอีกจากที่มีความเกลียดชังคุกรุ่งอยู่แล้ว ดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของกัมพูชา ต่อไปนี้

 

"คนไทยยังคงประท้วงใช้คำหยาบคายต่อว่าชาวกัมพูชาที่บ้านปราสาท โดยอ้างว่าชาวกัมพูชาอยู่บนดินแดนไทยและขอให้รื้อถอนบ้านเรือนออกไป การต่อต้านของไทยมีขึ้นหลังทราบว่า กัมพูชากำลังขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก...." [จาก หนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ]

 

"ความละโมบไร้ขีดจำกัดของไทยจะจบลงอย่างน่าอับอาย เพราะแม้ไทยจะพยายามคัดค้านการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่ประเทศต่างๆ จะมองไปที่คำตัดสินของศาลโลกที่บอกชัดเจนว่าเป็นของกัมพูชาอย่างแน่นอน..."[จาก หนังสือพิมพ์สำเลงยุวชนแขมร์]

 

(อ้างอิงจากบทความเรื่อง ปฏิกิริยาหนังสือพิมพ์ 'กัมพูชา' บอกไทยละโมบไร้ขีดจำกัด ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2551)

 

ในทรรศนะของผมแล้ว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้ มิใช่เรื่องน่าประหลาดใจแม้แต่น้อย ประชาชนในประเทศเหล่านั้นไม่ได้มีความคิดเสียดายที่ต้องแยกออกไปจากการปกครองของไทยเลย มิหนำซ้ำยังกลับมองไทยว่า เป็นผู้กดขี่บีฑาและทำลายล้างประเทศของตนจนไม่สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองได้ ซึ่งหากมองกลับไปในประวัติศาสตร์แล้ว ก็เป็นความจริงอยู่หลายส่วนเลยทีเดียว แต่ว่าเรื่องราวเหล่านี้ถูกพลังอนุรักษ์นิยมในประเทศซึ่งไม่ต้องการให้เห็น "ด้านที่มืดมน" ของการปกครอง "เมื่อครั้งบ้านเมืองดี"  ปิดบังเอาไว้มิให้สาธารณชนได้รับรู้ หรือหากได้รับรู้ ก็รับรู้ในแง่มุมของความรู้สึกว่า "ไทยเป็นผู้ชนะ" หรือว่า "หัวเมืองเป็นกบฏทุรยศ" เป็นต้น

 

ผมเขียนบทความนี้โดยหวังว่า เรื่องราวที่ผมเขียนจะทำให้คนไทยได้รับรู้ความคิดเห็นของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านต่อประเทศไทยในประวัติศาสตร์ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจทรรศนะของพวกเขา อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์อันยั่งยืนบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันต่อไปในภายภาคหน้า

 

ในกรณีของประเทศกัมพูชานั้น ในความรับรู้ของคนกัมพูชาทั่วไป กองทัพไทยเป็นผู้ทำลายเมืองพระนคร(นครธม) อันเป็นราชธานีอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมรโบราณ และได้ปล้นสะดมเอาทรัพย์สินเงินทอง และแรงงานไปจากเมืองพระนครเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์กัมพูชาว่า

 

"ในปี ค.ศ.1350 พระเจ้าสยามนามว่า รามาธิบดี ได้ย้ายพระราชธานีจากสุโขทัยมายังอยุธยาด้วยความประสงค์จะตีเขมร ในปี ค.ศ.1351 พระเจ้าสยามได้ยกทัพเข้ามาตีเมืองพระนคร แต่ พระบาทลำพงราชา (กษัตริย์เขมรในยุคนั้น..ผู้เขียนบทความ) ทรงขับไล่กำจัดศัตรูให้ถอยคืนไป หลังจากนั้นสยามได้ยกทัพเข้ามาอีกแล้วล้อมเมืองพระนครได้

 

ในเวลานั้น พระบาทลำพงราชา ทรงประชวรสวรรคต พระศรีสุริโยทัย ซึ่งเป็นพระอนุชาและพระอุปราช ได้ทรงต่อสู้กับทัพสยามประมาณปีหนึ่ง แต่สุดท้ายในปี ค.ศ.1352 ก็สวรรคตในการสงครามไปอีก สยามเอาเมืองพระนครได้ สยามประมวลเอาวัตถุมีค่าและจับชาวเขมรไปเป็นเชลยจำนวนมาก"

 

(จากหนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์กัมพูชา : แบบเรียนของเขมรที่เกี่ยวข้องกับไทย โดย ชา อวง, ไผ เผง และโสม อิน แปลโดย ศานติ ภักดีคำ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม พ.ศ.2546)  

 

ถึงแม้ว่าอาจมีหลายจุดที่อาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เช่น พระนามของพระมหากษัตริย์ไทย หรือปีที่เกิดเหตุ แต่มีสิ่งซึ่งเป็นประจักษ์พยานของการปล้นสะดมครั้งนั้นคือ รูปประติมากรรมสำริดสัตว์ต่างๆ เช่น สิงห์ ช้างเอราวัณ เป็นต้น ซึ่งกล่าวกันว่ากองทัพไทยในยุคนั้นได้ขนเอาไปจากเมืองพระนครไปยังกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะถูกนำไปจากกรุงศรีอยุธยาในยุคเสียกรุงครั้งที่ 1 ไปยังประเทศพม่า ต่อมาก็ถูกนำไปยังแคว้นยะไข่อีกทอดหนึ่งซึ่งยังคงเหลืออยู่บางตัวในปัจจุบัน

 

หลังจากการทำลายเมืองพระนครแล้ว ไทยก็ได้พยายามเข้ามามีอิทธิพลในกัมพูชาอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดสงครามอีกหลายครั้งในช่วงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสงครามที่รุนแรงอีกครั้งหนึ่งที่ชาวเขมรถือว่าเป็นตราประทับอันโหดร้ายของไทยคือ สงครามที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพมาตีเมืองบันเตียลงแวก (เมืองละแวก) เมื่อปี ค.ศ.1593 ซึ่งทางกัมพูชาถือว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงมากพอๆ กับการทำลายล้างเมืองพระนคร ดังที่กล่าวในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาว่า

 

 "การแตกหักบันเตียลงแวกเป็นเหตุยังประเทศเขมรให้สิ้นฤทธานุภาพตกเป็นรัฐเล็กอยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วซึ่งเขมรต้องสูญเสียตำรับตำราไปหมด นักปราชญ์ราชบัณฑิตกวีถูกศัตรูกวาดต้อนเอาไปประเทศมัน (ประเทศไทย..ผู้เขียนบทความ)....."

 

ความรุนแรงที่ไทยกระทำต่อเขมรนั้นมีมาจนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสงครามที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ในยุคที่ไทยกับเวียดนามเผชิญหน้ากัน เนื่องจากทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในช่วงขยายเขตแดนและอิทธิพลพอดี จึงเกิดการปะทะกันของกองกำลังฝ่ายไทยและเวียดนามโดยใช้ประเทศลาวและกัมพูชาเป็นสมรภูมิซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี ซึ่งถือกันว่าเป็นยุคมืดมนที่สุดยุคหนึ่งของลาวและกัมพูชา (มีผู้ประมาณว่าความเลวร้ายของสงครามครั้งนั้นมีผลต่อกัมพูชาเกือบจะเท่ากับสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ ในประเทศกัมพูชาและความรุนแรงของเขมรแดงในช่วงสงครามเย็น)

 

หลังจากนั้นแล้ว ประเทศกัมพูชาก็ถูกเฉือนออกมาโดยจังหวัดบัตตำบอง (พระตะบอง) ศรีโสภณ และเสียมเรียบ (เสียมราฐ) อันเป็นที่ตั้งของซากเมืองพระนคร (อังกอร์ธม) ได้ถูกแบ่งมาให้เป็นเขตปกครองของขุนนางไทยตระกูลของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ต้นตระกูลอภัยวงศ์) ส่วนกษัตริย์เขมรที่เหลือก็ถูกควบคุมโดยไทย เชื้อพระวงศ์บางส่วนถูกส่งเข้ามาเป็น "ตัวประกัน" ที่กรุงเทพมหานคร และแม้กระทั่งเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกก็ถูกเก็บไว้ที่กรุงเทพมหานคร นี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้กัมพูชารู้สึกจงเกลียดจงชังไทย จนกระทั่งต้องแอบไปทำสนธิสัญญาลับยอมเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา กัมพูชาจึงได้หลุดพ้นจากอำนาจของไทยและเวียดนาม รวมถึงได้ดินแดนเขมรส่วนใน (บัตตำบอง เสียมเรียบ และ ศรีโสภณ) กลับคืนมาสู่ประเทศกัมพูชาอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะต้องเสียกลับไปให้ไทยในช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แม้กระนั้น ความรู้สึกเกลียดชังไทยก็ยังคงดำรงอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

อยากให้ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่า หากประเทศไทยเคยโดนประเทศเพื่อนบ้านกระทำย่ำยีอย่างเลวร้าย ถูกทำลายเมืองหลวงถึง 2 ครั้ง กวาดต้อนเอาผู้คน ทรัพย์สิน และตำรับตำราต่างๆ รวมถึงเคยตัดเอาดินแดนไปให้ขุนนางของประเทศเพื่อนบ้านเอาไปปกครองเช่นเดียวกับที่กัมพูชาเคยได้รับจากเรา แต่ว่าเรายอมอยู่กับเขาอย่างมีสันติจนถึงปัจจุบัน แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ประเทศเพื่อนบ้านรายนั้นกลับมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องเอาโบราณสถานสำคัญตรงพรมแดนเอามาเป็นของตนเอง เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง?

 

เมื่อได้ทราบประวัติศาสตร์เช่นนี้แล้ว จึงไม่แปลกที่เมื่อชาวกัมพูชามาเจอปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะการมีกลุ่มคนไทยบางส่วนเรียกร้องให้ยึดเอาปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นของไทย จะทำให้คนกัมพูชารู้สึกโมโหและเกลียดชังคนไทยขึ้นมาอย่างรุนแรง เนื่องจากว่าประวัติอดีตของกัมพูชาต้องเผชิญกับการย่ำยีจากไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปลายยุคเมืองพระนครเป็นต้นมา

 

เหตุการณ์รุนแรงเคยเกิดขึ้นกับคนไทยในกัมพูชามาแล้วเมื่อครั้งมีการเผาสถานทูตและกิจการของคนไทยที่เมืองพนมเพ็ญ (พนมเปญ) เมื่อ พ.ศ.2546 ผมขอทำนายว่า การปลุกปั่นเพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองเช่นนี้จะสร้างผลเสียอย่างมหาศาลให้แก่ประเทศไทย

 

ผู้ปลุกลัทธิ "ชาติไทยเป็นใหญ่" คือคนที่ไม่รักประเทศชาติ เพราะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้านไปเสียหมด เนื่องจากเราไม่ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ไทยได้ไปกระทำย่ำยีต่อประเทศอื่นๆและภูมิภาคอื่นไว้มากมาย  

 

พึงตระหนักว่าตัวอย่างของประเทศกัมพูชานั้นเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ เราจะไม่มีวันอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสันติสุขสถาพร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท