อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ : ความมั่นคงของสังคมกับระบบความยุติธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อรรถจักร สัตยานุรักษ์

 

           

คนในสังคมไทยมีความกังวลสูงมากขึ้นต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งแยกคนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย และใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งตลอดสองสามปีที่ผ่านมา ความกังวลนี้ได้ทำให้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยต้องการเห็นสังคมที่ดีกว่า แต่มักจะคิดถึงสังคมที่ไม่มีความขัดแย้ง ดังปรากฏในการแสดงออกผ่านทางสื่อต่างๆของคนจำนวนไม่น้อยทำนองว่าทะเลาะกันทำไม คนไทยด้วยกัน

 

ความปรารถนาสังคมที่ไม่มีความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีทางที่จะได้รับการตอบสนองอย่างแน่นอน และเป็นความคิดทางสังคมที่ไร้เดียงสาอย่างยิ่ง  เพราะการแสดงความคิดเห็นที่อยากจะเห็น "สังคมสงบ" มักจะหวนกลับไปถวิลถึงการใช้อำนาจเด็ดขาดกำราบความขัดแย้ง ดังที่มีคนดีใจกับการยึดอำนาจรัฐในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เนื่องจากหลงคิดไปว่าอำนาจเด็ดขาดจะแก้ความขัดแย้งในสังคมได้  ซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีทางเป็นไปได้

 

คนที่หลงคิดไปว่าความสงบของสังคมได้แก่สังคมที่ไม่มีความขัดแย้ง มักจะหลงไปกับความคิด " ชาตินิยมทางวัฒนธรรม" ที่สร้างความเฉพาะของ "ความเป็นไทย" ที่มีผลิตซ้ำกันตลอดมาว่า  " คนไทยรักกันและมีความสามัคคีกัน " ตัวอย่างการหยิบประเด็นในประวัติศาสตร์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เมื่อสมัยรัชกาลที่ห้ามาเน้นว่า "ชาติไทยจะเสียอิสรภาพเมื่อคนไทยแตกสามัคคี" ดังนั้นต้องรักษาคุณลักษณะเฉพาะของความเป็นไทย คือ จงสามัคคีกันให้แน่นหนักต่อไป

 

การสร้าง " ชาตินิยมทางวัฒนธรรม" ที่เน้นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของความเป็นไทยเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับ "ชาตินิยมทางวัฒนธรรม" ที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น แต่ " ชาตินิยมทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น : ความเป็นญี่ปุ่น ( Nihonjinron ) ได้ทำให้คนในสังคมญี่ปุ่นก้าวข้ามความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคมได้ ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวยอมรับความแตกต่างกันได้มากขึ้นจากเดิมที่มีความขัดแย้งทางความคิดในสังคมญี่ปุ่นรุนแรงมากในทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ มาสู่การยอมรับความแตกต่างทางความคิดได้เป็นอย่างดี นักการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นสามารถครองอำนาจในเมืองเกียวโตได้นับสิบปีทีเดียว

 

สำหรับสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สลับซับซ้อนและลึกซึ้ง จนกระทั่ง กรอบความคิดที่เน้นความสามัคคีจำเป็นที่จะต้องได้รับการทบทวนกันใหม่ เพราะความสามัคคีแบบเดิมนั้นไม่ได้ทำให้รับรู้ได้ว่าเป็นความสามัคคีภาคใต้การนำของใคร

 

  ที่สำคัญ เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าจะสามัคคีกันไปเพื่ออะไร เพราะเราถูกทำให้รู้เพียงในระดับว่า " สามัคคี" แล้วมันจะดีในตัวมันเอง ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นไปอย่างนั้น เนื่องจากความแตกต่างระหว่างชนชั้นทางสังคมมีมากเกินกว่าที่จะให้ใครสามัคคีกับใครได้อย่างไม่เสียประโยชน์ ตัวอย่างของการต่อรองค่าแรงงานขั้นต่ำ ก็จะพบว่ากรอบความคิดเรื่องความสามัคคีก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือในการต่อรองอย่างแน่นอน

 

ดังนั้น เราจำเป็นต้องคิดเรื่องสังคมกันใหม่โดยหันมาเน้นว่าหากจะมี " ชาตินิยมทางวัฒนธรรม" ก็จะต้องประกอบด้วยเป้าหมายที่สำคัญคือ ความมั่นคงของสังคม  ความเป็นไทยต้องมีมิติที่สำคัญคือความมั่นคงของสังคม

 

ความมั่นคงของสังคมต้องได้รับการให้ความหมายใหม่ว่าไม่ใช่สังคมที่ราบเรียบและราบรื่นไม่ความขัดแย้งใดๆ   สังคมที่มีความมั่นคงได้แก่สังคมที่สมาชิกในสังคมทั้งหมดรับรู้และหมายรู้ได้ว่าการกระทำอะไรจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร และระบบของสังคมเช่นนี้จะไม่มีใครหน้าไหนจะล่วงละเมิดได้  

 

ความมั่นคงของสังคมเช่นนี้เป็นหัวใจสำคัญของสังคมญี่ปุ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้าง " ชาตินิยมทางวัฒนธรรม " จนเป็นเสมือนความหมายของความเป็นญี่ปุ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาหลังสงครามโลกและได้นำพาให้สังคมญี่ปุ่นให้รอดพ้นความขัดแย้งทางความคิดของสังคมได้

 

ความมั่นคงของสังคมที่ทำให้สมาชิกของสังคมทุกคนหมายรู้ได้ว่าการกระทำอะไรจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร จะกลายเป็นพลังทางภูมิปัญญาที่ผลักดันทั้งสังคมร่วมกันก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ความมั่นคงของสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ความมั่นคงของสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อระบบยุติธรรมของสังคมเป็นหลักหมายที่สำคัญในการผดุงรักษามาตรฐานความคาดหมายของสังคมเช่นนี้ 

 

ระบบความยุติธรรมของสังคมหมายรวมตั้งแต่จุดเริ่มต้นได้แก่ อำนาจตำรวจ ( Police power  ซึ่งมากกว่าตำรวจ) ไปจนถึงอำนาจของศาลสูงสุด กระบวนการดำเนินการของระบบความยุติธรรมต้องเป็นเนื้อเดียวกันกับสังคม และจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามจังหวะความเปลี่ยนแปลงของสังคม

 

ดังนั้น คนในระบบยุติธรรมที่สัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกับสังคมนั้นจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่ไม่ใช่เพียงรอบรู้เรื่องกฎหมายเท่านั้น หากแต่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่ตระหนักรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม

 

ความพยายามที่จะทำให้ระบบความยุติธรรมสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกับสังคม และซาบซึ้งในความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคมปรากฏในระบบยุติธรรมที่ใช้ระบบลูกขุนในหลายประเทศ เพราะจะทำให้คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่การตัดสินในความยุติธรรม

 

สำหรับประเทศไทย ระบบยุติธรรมของไทยลอยตัวเหนือความเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดมา จึงทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยกลัวระบบยุติธรรมแต่ก็ยังทำผิดในเรื่องต่างๆมากมาย เพราะความที่ไม่สามารถจะคาดหมายได้ว่าทำอะไรแล้วจะได้รับผลอย่างไร ความกลัวระบบยุติธรรมจึงปนไปด้วยการวัดดวงในการกระทำอะไรก็ได้ โดยคิดว่าอาจจะรอดระบบยุติธรรมได้

 

หากจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า " ตุลาการภิวัฒน์" จริงๆ ก็หวังว่าจะเกิดการปรับตัวของระบบยุติธรรมให้สร้างความสัมพันธ์กับสังคมให้ลึกซึ้งมากขึ้น แทนที่จะเกิดการ "ภิวัฒน์" เพื่อจัดการกับนักการเมืองบางคนเท่านั้น

 

 

 

.....................................................................

พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ " ใต้กระแส "กรุงเทพธุรกิจวันศุกร์ที่  1 สิงหาคม 2551

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท