Skip to main content
sharethis


 


วานนี้ (2 ส.ค.51) มูลนิธิโลกสีเขียว ร่วมกับ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park จัดเสวนาเรื่อง "ตะกั่วที่คลิตี้ มรดกที่ไม่อยากได้" ในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากพิษสารตะกั่วของหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี พร้อมพิธีเปิดนิทรรศการ "สายธารเดียวกัน" จัดแสดงภาพถ่ายขาวดำสะท้อนชีวิตเด็กๆ และชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆ จากพิษสารตะกั่วจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ โดยฝีมือการถ่ายภาพของอภิลักษณ์ พวงแก้ว ช่างภาพอิสระ ณ ลานสานฝัน TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้า Central World


 


นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธาน คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวถึงปัญหาในพื้นที่ว่า ตั้งแต่ปี 2541 การปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ซึ่งอยู่ในผืนป่าตะวันตก กลายเป็นข่าวใหญ่ และจากการตรวจของกรมควบคุมมลพิษก็พบว่าน้ำที่ผ่านโรงแต่งแร่คลิตี้ลงสู่ลำน้ำทำให้น้ำมีตะกั่วปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหลายเท่า และพบตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้กว่า 15,000 ตัน


 


สารพิษเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของเด็กและชาวบ้านมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางร่างกายของเด็กแรกเกิดที่แม่ได้รับสารตะกั่วจำนวนมากขณะตั้งครรภ์ อาการปวดตามข้อเนื่องจากสารตะกั่วไปตกค้างอยู่บริเวณข้อต่อ หรือการป่วยด้วยโรคไตในผู้ใหญ่เนื่องจากร่างกายมีสารตะกั่วในปริมาณที่สูง แต่ที่ผ่านมาไม่มีแพทย์คนไหนระบุว่าเป็นโรคที่เกิดจากพิษตะกั่ว อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้เข้าไปดูแลรักษาชาวบ้านอย่างจริงจัง


 


"กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ตามลำดับขั้นตอนคือการตรวจโรค วินิจฉัย และการให้ยากรักษา แต่ที่คลิตี้สิบกว่าปีที่ผ่านมายังอยู่ในขั้นตรวจอยู่เลย" นายสุรพงษ์กล่าว


 


นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันจะมีการยกเลิกกิจการทำเหมืองแร่ทั้งหมดโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ปัจจุบันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านยังคงอยู่โดยไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีก็ได้อนุญาตให้เหมืองแร่เค็มโก้ทำการแต่งแร่ในพื้นที่ห่างจากหมู่บ้านคลิตี้ราว 20 กิโลเมตร ซึ่งแม้ว่าเหมืองแห่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคลิตี้ล่างโดยตรง แต่การทำเหมืองแร่ตามรูปแบบเดิมๆ ที่ทำในระบบเปิดและมีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอกก็ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชน


 


นอกจากนี้ แม่น้ำลำธารในบริเวณผืนป่าตะวันออก รวมทั้งลำห้วยคลิตี้ ได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2532 ได้มีการตรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลองบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พบว่ามีปริมาณสารตะกั่วปนเปื้อนมากกว่าปกติถึง 4 เท่า และมีตะกั่วในเนื้อปลาเกินค่ามาตรฐานนับร้อยเท่า หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการวัดค่าสารตะกั่วในน้ำอีก แต่ที่น่าวิตกคือน้ำในแม่น้ำแม่กลองได้ถูกผันไปใช้เพื่อทำน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีใช้อุปโภคบริโภค


 


ในส่วนของงานในวันนี้ นายสุรพงษ์กล่าวแสดงความหวังว่าจะเป็นการเปิดประเด็นให้คนในส่วนกลางของประเทศได้รับรู้ถึงปัญหา และมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้น เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันของสังคม ที่จะมองเห็นคุณค่าของคน และคืนความเป็นธรรมของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งกรณีของคลิตี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่มองเห็นภาพของผลกระทบที่ชัดเจนและมีงานศึกษาทางวิชาการรองรับ น่าจะสามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกันได้ หรือถ้าแก้ไม่ได้ อย่างน้อยๆ ก็ได้สำรวจความเป็นคนในตัวเองว่าจะทนกับเรื่องเหล่านี้ได้ขนาดไหน


 


ด้านนางจันทิรา โต้งฟ้า ชาวกะเหรี่ยง หมู่บ้านคลิตี้ล่างบอกเล่าถึงปัญหาในพื้นที่ว่า ตอนนี้ชาวบ้านแทบทุกคนประสบภาวะหนี้สิน จากการกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมของรัฐ ตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ และเธอเองก็เป็นหนี้อยู่ในหลักหมื่นแล้ว ซึ่งปัญหานี้เป็นผลจากการที่ชาวบ้านไม่สามารถหากินกับลำห้วยคลิตี้ได้ ทั้งที่การดำรงชีวิตของชาวบ้านเดิมอยู่กับธรรมชาติ จับปลาในลำห้วย หาของป่าก็พอกิน แต่ตอนนี้ทุกคนจำเป็นต้องซื้อหาอาหาร อีกทั้งอาการเจ็บป่วยที่ต้องพึ่งพายารักษา ทุกอย่างล้วนต้องใช้เงิน


 


นอกจากนั้น ปัจจุบันในพื้นที่ยังมีปัญหาความขัดแย้งของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะการทำไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ซึ่งในเรื่องนี้นางจันทิราเล่าว่า ชาวบ้านต้องทำไร่ข้าวโพดเพื่อใช้หนี้หากชาวบ้านไม่ทำก็จะไม่มีรายได้ ไม่มีเงินมาใช้หนี้


 


"เขาบอกเราบุกรุกป่า ใช้ที่เยอะ แต่ชาวบ้านก็ไม่ทำไม่ได้เพราะต้องใช้หนี้เยอะ" นางจันทิรากล่าว พร้อมเล่าว่าคนหนุ่มสาวในชุมชนหลายคนต้องละทิ้งถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมืองเพราะหนี้สินของพ่อแม่ และไม่มีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีวิต


 


ส่วนนายสมพงษ์ ทองผาไฉไล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่าหมู่บ้านคลิตี้เป็นเพียงด่านแรกของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว และคิดว่าจะเกิดผลกระทบเช่นนี้ขึ้นอีกจากเหมืองที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านคลิตี้ก็ได้พยายามต่อสู้ เพื่อเรียกร้องให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับคืนสภาพดังเดิม โดยทางกฎหมายทั้งทางศาลแพ่งและศาลปกครอง ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีการตัดสินแล้วแต่ก็ยังอยู่ในช่วงยื่นอุทธรณ์


 


"ก็คงต้องสู้กันไปต่อจนกว่าจะสิ้นใจตาย" นายสมพงษ์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ


 


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวในการเสวนาว่า ปัญหาเรื่องพิษตะกั่วของคลิตี้ ไม่ใช่ปัญหาของกลุ่มคนเล็กๆ ในพื้นที่ ไม่ใช่ปัญหาสารตะกั่วที่อาจปนเปื้อนในน้ำประปา และไม่ใช่ปัญหาปลาปนเปื้อนสารตะกั่ว แต่เป็นปัญหาของเราทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น โดยอธิบายว่าเหมืองและโรงแต่งแร่เกิดได้เพราะอิทธิพลทางการเมือง มีความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ซึ่งอิทธิพลเช่นนี้สามารถทำให้ระบบราชการทั้งระบบหยุดทำงานทันที จนทำให้เกิดคำถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี กรมโรงงาน ปล่อยให้เกิดเรื่องพวกนี้ได้อย่างไง


 


ทั้งนี้ ความฟอนเฟะทางการเมืองไม่ได้ทำลายเฉพาะเรื่องคลิตี้ แต่ทำลายตั้งแต่เชียงรายถึงสุไหงโกลก ซึ่งชนชั้นกลางมักมองภาพผลกระทบของการคอร์รัปชั่นในระบบราชการเป็นเพียงเรื่องงบประมาณ หรือการใช้เงินภาษีของประชาชนในทางไม่ชอบ แต่มักไม่ค่อยให้ความสนใจผลกระทบของการคอร์รัปชั่นที่ทำความเดือดร้อนให้กับคนเล็กคนน้อย ไม่ว่าในกรณีคลิตี้ เหตุการณ์ที่ตากใบหรือที่กรือเซะซึ่งยังไม่มีการทำความจริงให้ปรากฏ


 


"ถ้าคุณเป็นคนเล็กคนน้อยจะถูกคอร์รัปชั่นทำลายมากกว่าคนที่เสียภาษีในเมือง" ศ.ดร.นิธิกล่าว


 


ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อว่า ปัญหาของคลิตี้ที่เกิดขึ้นมีความยุ่งยากเพราะเป็นเรื่องของพลเมืองชั้น 2 ที่มีสิทธิน้อยอยู่แล้วในสายตาของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในสังคมที่ไม่ได้สอนเรื่องความเท่าเทียม อีกทั้งยังเป็นพลเมืองชั้น 2 ถึง 2 ระบบ คือทั้ง พลเมืองชั้น 2 จากความเป็นชาติพันธุ์ และพลเมืองชั้น 2 จากการดำรงวิถีชีวิตโดยหากินกับธรรมชาติซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบเงินตรา ทำให้ถูกละเลยทอดทิ้งและเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคนในสังคมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความไม่เสมอภาคหรือเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม


 


"ทัศนคติแบบนี้ทำลายเนื้อเยื่อศีลธรรมของคนไทย ทำให้สูญสิ้นความเป็นคนในตัวเองพร้อมๆ กับทำลายความเป็นคนของคนอื่น" ศ.ดร.นิธิกล่าว


 


ในส่วนการป้องกันและการแก้ปัญหานั้น ศ.ดร.นิธิ มองว่าการป้องกันปัญหาจะทำให้เกิดการสูญเสียน้อยกว่าการตามแก้ไขปัญหา แต่ในส่วนของการทำเหมืองแร่ตะกั่วซึ่งมีข้อเสนอให้ทำระบบปิดขั้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้งบประมาณสูง แต่ผลิตภัณฑ์จากตะกั่วในไทยมีราคาถูก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์เบื้องต้นที่จะนำไปใช้แปรรูปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและทำกำไรได้ต่อไป ซึ่งตรงส่วนนี้ประเทศไทยไม่ได้มีเทคโนโลยีที่จะทำได้เช่นนั้น ดังนั้นเพื่อผลกำไรสูงสุดผู้ประกอบการจึงพยายามลดต้นทุนโดยลดต้นทุนเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดลง แล้วผลักภาระที่จะเกิดขึ้นไปให้กับคนเล็กคนน้อยแทน


 


วิธีคิดผลกำไรหรือความคุ้มทุนทางธุรกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้นับรวมถึงความเสียหายที่เกิดกับคน กับธรรมชาติ โดยในส่วนนี้ ศ.ดร.นิธิมองการแก้ปัญหาว่าจะต้อง "นับเงินให้เป็น" คือนับผลเสีย-ผลได้ตามความเป็นจริง โดยนับรวมคนและทรัพยากรธรรมชาติเข้าไปด้วย เช่น การใช้ดัชนีชี้วัดความเจริญที่สอดคล้องกับความเป็นจริง จากกรณีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงของมาเลเซีย ซึ่งหากนับความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนร่วมด้วย จะถือว่าการเติบโตของมาเลเซียติดลบมากว่า 5 ปี และในประเทศไทยเองหากมีการศึกษาก็คงไม่ต่างกัน


 


ส่วน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดี กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ความทุกข์ของคนคลิตี้คือความทุกข์ของคนทั้งหมด เพราะทุกคนกำลังอยู่ในวิกฤติอันตรายของการตายผ่อนส่ง เนื่องจากการไม่รักษาแหล่งต้นน้ำให้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักถึง


 


"เรื่องคลิตี้ไม่ใช่เรื่องของกรรม แต่เป็นเรื่องมนุษยธรรม และเรากำลังต้องเผชิญทุกข์ร่วมกัน" รศ.ศรีศักร กล่าว


 


รศ.ศรีศักร กล่าวต่อมาว่า ที่ผ่านมาสังคมส่วนกลางได้ลงไปละเมิดสิทธิในการจัดการทรัพยากรของคนในท้องถิ่น เข้าไปรุกล้ำจนเกิดความขัดแย้งและการต่อต้าน ซึ่งการลดการจัดการแบบบนลงล่างนี้จะเอื้อให้ท้องถิ่นจัดการแก้ปัญหาของตนเองได้ โดยรัฐธรรมนูญต้องจัดการคืนสิทธิให้คนในท้องถิ่น


 


รศ. สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแก้ปัญหาในกรณีของคลิตี้ว่า ถึงตอนนี้ใครสามารถทำอะไรได้ก็ต้องทำ เพราะที่ผ่านมารอผู้ที่มีอำนาจเข้ามาแก้ไขปัญหาสิบกว่าปียังไม่มีการขยับ ทั้งนี้การเรียนรู้จากความทุกข์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันแก้ปัญหา เพราะเชื่อว่าปัญหาไม่สามารถแก้ได้โดยการโยนให้ระบบโครงสร้างแต่เพียงอย่างเดียว และความรู้สูงๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ถ้าไม่มีความรู้สึกร่วม


 


ด้านนายอภิลักษณ์ พวงแก้ว ช่างภาพอิสระ เจ้าของผลงาน "สายธารเดียวกัน" บอกเล่าความรู้สึกของการจัดแสดงผลงานในครั้งนี้ว่า อยากถ่ายทอดเรื่องราวผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านคลิตี้เปลี่ยนไปตลอดกาลและที่เลือกจัดแสดงที่ TK park ก็เพราะต้องการสื่อให้เด็กในกรุงเทพฯ ได้รับรู้ว่าเด็กๆ ในผืนแผ่นดินเดียวกันมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และในส่วนของผู้ใหญ่เองก็คาดหวังว่าสิ่งที่ถ่ายทอดไปจะทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อให้สังคมดีขึ้น


 


นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนร่วมสนับสนุน "กองทุนเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยจากพิษสารตะกั่วชาวบ้านคลิตี้ล่าง" ด้วยการบริจาคหรือสนับสนุนภาพถ่ายที่จัดแสดงด้วย โดยซึ่งเงินรายได้จะนำเข้าสู่กองทุนดังกล่าว สำหรับนิทรรศการ "สายธารเดียวกัน" จะจัดแสดงระว่างวันที่ 29 ก.ค. - 15 ส.ค. 51


 


 


 


 


 


อ่านเพิ่มเติม:


รายงาน: สารตะกั่วกับชาวบ้านคลิตี้... ความเดือดร้อนเฟส2 เมื่อ "โรงแต่งแร่" คืนชีพ


บทความ: สิบปีจากคลิตี้ถึงเค็มโก้ - ประเทศไทยไม่สิ้นพิษตะกั่ว


ตัดสินคดีคลิตี้ สู้ 4 ปี ได้ค่ากับข้าวคนละสามหมื่น แต่ไม่มีคำตอบการฟื้นฟูลำห้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net