เสวนา: สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ตุลาการภิวัตน์ใต้ระบอบพันธมิตร


เมื่อวันที่ 3 ส.ค. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมจัดการอภิปราย "การเมืองสยามประเทศ(ไทย)-หลังสมัคร II และ/หรือ "ตุลาการภิวัตน์-ได้ผลจริงหรือ" ห้อง 201 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ท่าพระจันทร์ ร่วมอภิปรายโดย ดร.คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต สว.ตาก รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ดำเนินการอภิปราย โดย ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.

 

00000

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

 

ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยุ่งยากมาก ในช่วงชีวิตของผมที่ผ่านมา ผมคิดว่าขณะนี้สังคมไทยต้องใช้สติและความรู้ในการแก้ปัญหามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

 

ผมคิดว่าหลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มีการตั้งรัฐบาลโดยพรรคพลังประชาชนแล้ว ขณะนี้สังคมไทยกำลังเข้าสู่ระบบการเมืองแบบหนึ่งซึ่งไม่ว่ารัฐบาลคุณสมัครจะอยู่หรือจะไปผมคิดว่าจะยังยู่ภายใต้ระบอบการเมืองชุดนี้ต่อไป รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ด้วย ผมขอเรียกว่าสังคมไทยภายใต้ระบอบพันธมิตร ผมคิดว่าระบอบพันธมิตรเป็นรูปแบบการเมืองการปกครองแบบหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบัน การทำความเข้าใจต่อระบอบนี้จะทำให้เราสามารถมองเห็นภาพการเมืองทั้งหมดเข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ด้วย

 

ระบอบพันธมิตร มีองค์ประกอบหลัก 3 ประการคือ

 

1 การเมืองมวลชน ณ ถนนราชดำเนิน

2 อำนาจอำมาตยาธิปไตยใหม่

3 ตุลาการภิวัตน์

 

องค์ประกอบแรก การเมืองมวลชน ณ ถนนราชดำเนิน เป็นฐานหลักสำคัญของระบอบพันธมิตรเพื่ออ้างสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนเพื่อเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในเมื่อรัฐบาลอ้างว่ามาจากประชาชน สิ่งที่พันธมิตรฯ ทำก็คือบอกว่าเรามีคนสนับสนุนตัวเป็นๆ เห็นๆ เลย ณ ถนนราชดำเนิน ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปที่โน่นที่นี่บ้าง

 

แต่สิ่งที่จะเกิดมวลชนได้ก็ต้องมีการสร้างประเด็นให้เกิดการรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปลุกเร้า ประเด็นในการนำเสนอ ถ้าเราวิเคราะห์จะพบว่าประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมานำเสนอนั้นง่ายต่อการปลุกเร้า สะดวกต่อการปลุกปั่น เช่น ชาตินิยม ความเป็นชาติ กู้ชาติ ขายชาติ ซึ่งหากพูดในฐานะนักเคลื่อนไหวก็จะเห็นว่าประเด็นเรื่องความเป็นชาตินิยมเป็นประเด็นที่จุดติดง่าย กรณีเขาพระวิหารเป็นกรณีที่เห็นชัดว่าประเด็นชาตินิยมนั้นจุดติดง่าย

 

นอกจากชาตินิยม ก็คือสถาบันกษัตริย์ กรณีที่น่าสนใจคือ ท่ามกลางช่วงระยะเวลาที่สังคมไทยเรามักจะอธิบายว่าเรามีความจงรักภักดี หรือมีความมั่นคงสูงสุด ขณะเดียวกันผมเก็บข้อมูลแล้วกลับพบว่า สังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เกิดขึ้นมากกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือ

 

การใช้ประเด็นที่ง่ายต่อการปลุกเร้า สะดวกต่อการปลุกระดม ข้อท้วงติงอย่างหนึ่งคือบางครั้งมันนำมาซึ่งผลลัพธ์ซึ่งอันตรายต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก กรณีเขาพระวิหาร สร้างความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับคนกัมพูชาโดยไม่จำเป็น

 

คุณวีระ สมความคิด นำคนไปชายแดนแล้วบอกว่าจะยึดเขาพระวิหารกลับคืนมา...คือถามง่ายๆ นะครับถ้าเกิดมีคนบอกว่าจะเอาพระแก้วมรกตกลับไปล่ะ ถ้าพูดโดยนัยยะนี้ผมคิดว่า สังคมไทยน่าจะอารยะขึ้นพอสมควรนะครับ การพูดง่ายๆ ว่าเราจะไปเอาโน้นอันนี้กลับมานั้น ต้องไม่ลืมนะครับว่าชาติไทยที่เกิดขึ้นหลังรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมานั้นก็เอาอะไรต่อมีอะไรของคนอื่นมาเยอะแยะนะครับ ถ้าคิดในภาษาเดียวกัน แล้วถ้าคนอื่นมาบอกว่าจะเอากลับไปบ้างล่ะ

 

หลังรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาเราได้สร้างรัฐสมัยใหม่ การสร้างรัฐสมัยใหม่ โดยการขีดเส้นแดนนั้นมีปัญหาอยู่มาก หลายๆ อย่างมันพอจะลงตัวบ้าง การลุกขึ้นบอกจะเอาอะไรต่อมิอะไรคืน... นี่ยังดีนะครับไม่บอกว่าจะไปเอาเชียงตุงด้วย เพราะเคยเป็นของไทยช่วงปี 2488 ถ้าจะเอาเชียงตุงคืนก็ต้องรบกับพม่าและจีน

 

เราใช้ประเด็นชาตินิยมโดยไม่สนใจว่าอะไรจะตามมา กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกนำมาใช้และป้ายสีกันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นมีเพื่อปกป้องสถาบันไม่ให้ถูกใส่ร้ายป้ายสี แต่สิ่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ถามว่าทุกวันนี้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นเพราะคนที่ใช้กฎหมายดังกล่าวมีเจตนามุ่งปกป้องสถาบันจริงหรือ มีคดีที่เกิดขึ้นอย่างเลอะเทอะเป็นจำนวนมาก แต่ผลปรากฎว่ากระบวนการตามกฎหมายก็ต้องดำเนินต่อไป

 

มีข้อกล่าวหาจำนวนมากที่ผมฟังแล้วคิดว่า อาจจะนำมาซึ่งความเข้าใจผิดต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก มีการพูดในการชุมนุมกล่าวหาว่าคณะรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังซ่องสุมนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดโค่นล้มสถาบัน การใช้ประเด็นแบบนี้มาปลุกเร้าหรือปลุกปั่น ผมคิดว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่ทำได้ผมไม่ปฏิเสธ แต่หัวใจสำคัญคือการใช้ความรู้และเหตุผล เพื่อชักจูงให้คนอื่นมองเห็น นี่คือหัวใจของอารยะขัดขืน การชุมนุมไม่ใช่เพื่อปิดหูปิดตาหรือปลุกเร้าคนอื่นให้เชื่อในสิ่งที่ไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริง นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องระวัง

 

องค์กระกอบที่ 2 อำนาจของอำมาตยาธิปไตยใหม่ รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้เกิดการฟื้นกลับของระบบอำมาตยาธิปไตย แต่แตกต่างไปจากเดิม หลังทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา อำมาตยาธิปไตยนั้นมีทหารทำหน้าที่หลัก แต่อำมาตยาธิปไตยใหม่ มี 3 องค์กรที่เป็นตัวแทนของระบอบอำมาตยาธิปไตย คือ ส.ว.จากระบบ สรรหา องค์กรอิสระ และ ศาล

 

บทบาทของสิ่งที่เรียกว่า อำมาตยาธิปไตยใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะเห็นได้จากคดีที่เกิดขึ้นจำนวนมากเป็นผลมาจากการดำเนินการของอำมาตยาธิปไตยใหม่แทบทั้งสิ้น เช่น ส.ว.เป็นแกนหลักในการยื่นฟ้อง ยื่นคำร้องอะไรต่อมิอะไร ซึ่งเราก็จะเห็นว่า ส.ว. หลักๆ ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวก็คือ คุณคำนูณ สิทธิสมาน คุณสมชาย แสวงการ นี่คือ ส.ว. สรรหา ที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการยื่นคำร้อง คำฟ้องต่างๆ ซึ่งองค์กรอิสระก็จะทำหน้าที่รวบรวมคำฟ้อง คำร้อง แล้วก็ส่งไปยังศาล

 

ศาลในปัจจุบัน สิ่งที่เราเห็นคือ ศาลก็ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในการวินิจฉัย ศาลได้ปรับเปลี่ยนท่าทีในหลายๆ เรื่องอย่างน่าสนใจ

 

ศาลรัฐธรรมนูญหลังปี พ.ศ. 2540 มีแนวโน้มพิทักษ์รัฐบาลและอำนาจรัฐมากว่ารัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเช่น กรณีข้อขัดแย้งเรื่องหนังสือเจตจำนง (Letter of intend) ในการกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ มีการยื่นขอให้วินิจฉัย ศาลวินิจฉัยว่าไม่

 

มีกรณี กฎหมายแร่ มีการแก้กฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐเข้าไปแสวงประโยชน์จากพื้นดินที่อยู่ภายใต้ที่ดินเอกชน มีการยื่นคำร้องว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ศาลวินิจฉัยว่ากรณีนี้เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

 

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหลังปี พ.ศ. 2550 มีแนวโน้มจำกัดอำนาจของรัฐบาลเป็นหลัก กรณียังเกิดขึ้นไม่มาก แต่น่าจะเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น กรณีตีความรัฐธรรมนูญ เรื่องแถงการณ์ร่วม เป็นตัวอย่างการตีความโดยการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้น รัฐธรรมนูญเขียนว่ากรณีสนธิสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคง อำนาจอธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าหนังสือสัญญาใดที่ "อาจ" กระทบต่ออำนาจอธิปไตย อันนั้นถือเป็นหนังสือสนธิสัญญาที่ต้องผ่านรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งผมคิดว่าเขียนใหม่ด้วยซ้ำ

 

บทบาทของศาล มีความกระตือรือร้นมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง แต่จะดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้ เช่น กรณีมติ ครม. ที่สนับสนุนเรื่องแถลงการณ์ร่วม ระหว่างไทยกับเขมร ทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญต่างก็รับพิจารณาคดี ในฐานะนักเรียนกฎหมายมหาชนก็งงครับ ว่าคดีเดียวกันนี้จะขึ้นสองศาลพร้อมกันได้อย่างไร ถ้าเป็นคดีทางปกครอง ศาลปกครองก็ต้องรับ ศาลรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยว แต่ถ้าเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัย ศาลปกครองไม่เกี่ยว แต่บัดนี้ ด้วยความแอคทีฟเป็นอย่างยิ่ง ศาลปกครองก็รับ ศาลรัฐธรรมนูญก็รับ ก็...จะบอกว่าดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่นี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของอำมาตยาธิปไตยใหม่

 

องค์ประกอบที่ 3 ตุลาการภิวัตน์ ท่ามกลางข้อขัดแย้งทางการเมืองที่แตกแยกแบ่งเป็นขั้วเป็นข้างชัดเจน ยากที่จะประสาน และท่ามกลางการล้มละลายของสถาบันการเมืองอื่นๆ ตุลาการถูกฝากความหวังไว้มาก ด้วยการอ้างอิงกระแสที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ บ้างอ้าง judicial activism บ้างอ้าง judicialization โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าตุลาการภิวัตน์ในต่างประเทศก็มี เหตุไฉนเมืองไทยเราจะมีไม่ได้

 

ผมไม่ปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ในต่างประเทศนั้นมี แต่ควรจะต้องตะหนักถึงเงื่อนไขข้อจำกัดในความสำเร็จของตุลาการภิวัตน์ในต่างประเทศซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 3 เรื่องคือ

 

1. อำนาจตุลาการในต่างประเทศมีการยึดโยงกับประชาชนในฐานะที่มาของอำนาจอธิปไตย ในการให้ความเห็นชอบและการตรวจสอบ ในต่างประเทศตุลาการมีการยึดโยงกับประชาชนโดยเฉพาะตุลาการในระดับสูงต้องได้รับความเห็นชอบกับตัวแทนประชาชน คำถามคือตุลาการระดับสูงของประเทศไทยต้องยึดโยงกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่เคยถูกตั้งคำถาม

 

2. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานหรือคำตัดสินของศาล ในต่างประเทศการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนมี ในอเมริกา เพิ่งเกิดกรณีเมื่อเดือนที่ผ่านมา ศาลตีความรัฐธรรมนูญใหม่ว่าให้ประชาชนพกปืนได้มากขึ้น มีคนบอกว่า นี่คือคำตัดสินที่จะทำให้คนตายมากขึ้น นี่คือ Freedom of expression เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาการหรอก

 

การวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นการตรวจสอบ ศาลอเมริกาเคยมีแนวทางการตีความแบบอนุรักษ์นิยม ศาลเคยวินิจฉัยว่าการคุ้มครองแรงงานหญิงในลักษณะพิเศษมากกว่าแรงงานชายคือเลือกปฏิบัติ ภายหลังคำวินิจฉัยศาลถูกด่าเละ และด้วยการถูกด่าเละนี่แหละ ทำให้ศาลหันมาปรับแนวทางเป็นเสรีมากขึ้น

 

ศาลไทย กรณีคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เตรียมข้าวผัดและโอเลี้ยงไปเยี่ยม ก.ก.ต. ชุดคุณวาสนา เพิ่มลาภ ที่ถูกศาลตัดสินให้จำคุก โดยบอกว่าจะไปเยี่ยมในฐานะรุ่นพี่ที่เคยติดคุกมาก่อน การกระทำของคุณชูวิทย์ถูกเตือนว่ากำลังทำให้สิ่งที่เรียกว่า ละเมิดอำนาจศาล

 

เท่าที่ผมอ่านเอกสาร ในประเทศไหนๆ ที่เรียกว่าอารยะ การละเมิดอำนาจศาลคือการกระทำที่ห้ามต่อการกระทำที่ขัดขวางกระบวนวิธีพิจารณาเป็นหลัก เช่น ในหลายๆ ประเทศมุ่งไปสู่การยับยั้งการกระทำที่ทำให้วิธีพิจารณาไปต่อ แต่เมืองไทย มันถูกขยายไปกว้างขวางมากจนกระทั่งไอ้ที่ผมพูดๆ อยู่นี้ ละเมิดอำนาจหรือยัง

 

3 ตุลาการภิวัตน์ในหลายประเทศเกิดขึ้นจากการตัดสินที่สร้างความเข้มแข็งหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น คือมีข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับรัฐแล้วศาลตัดสินคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วนำไปสู่การปรับตัวของหน่วยงานรัฐ แต่ในเมืองไทย ไม่ใช่ แต่ตอนนี้ดูราวกับว่าการทำงานของตุลาการเป็นการไปยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่งทางการเมือง คือหมายความว่า สังคมไทยเรียกร้องให้ตุลาการไปยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่งทางการเมือง ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นอันตราย ตุลาการภิวัตน์ของต่างประเทศไม่ไปยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมือง แต่มุ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

 

แต่กรณีของศาลไทย มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนขนาดไหน ผมขอยกตัวอย่าง คดีคุณสมบุญ สีคำดอกแค เป็นแรงงานในโรงงานทอผ้า แล้วป่วยจากการสูดฝุ่นฝ้ายเข้าไปในปอด เจ็บป่วย เป็นโรคบิสซิโนซิส คุณสมบุญ ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย เมื่อปี 2538 เรียก 2 ล้านบาท หลังจากผ่านไป 8 ปี 6 เดือน ศาลแรงงานตัดสินให้โรงงานมีความผิด จ่าย 2 แสนบาท โรงงานอุทธรณ์ศาลฎีกาพิจารณาอีก 2 ปี 5 เดือน รวม 10 ปี 11 เดือน ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ตุลาการภิวัตน์ซึ่งกำลังอภิวัตน์ในการเมืองอย่างเข้มข้น คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนขนาดไหน ถ้าใครเดินเข้าไปในศาลแรงงานจะเห็นนะครับ "ประหยัด สะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรม"

 

ข้อเสนอตุลาการภิวัตน์ในสังคมไทยนั้น ผมคิดว่าเป็นแบบนี้ครับ

1 เสนอโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับตุลาการ พูดตรงๆ เลย อาจารย์ธีรยุทธ บุญมีนี่แหละ เป็นคนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสถาบันตุลาการ ไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับสถาบันตุลาการ

 

2 เป็นข้อเสนอที่ไร้ความรับผิดชอบทางวิชาการ ไม่รู้แล้วพูด ผมคิดว่านักวิชาการที่ไม่รู้แล้วแล้วเสนอ ขยันพูด เป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบทางวิชาการ จะนำพาให้สังคมไทยไปสู้สิ่งที่ยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องตุลาการภิวัตน์นั้น ในทัศนะของผม มันสุ่มเสี่ยงมากที่จะทำให้เกิดตุลาการวิบัติ

 

 

.......................

หมายเหตุ: โปรดติดตาม การอภิปรายของ พนัส ทัศนียานนท์, คณิน บุญสุวรรณ และประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ที่นี่ เร็วๆ นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท