Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม : เหยื่อซ้อมทรมาน รอการพิจารณาคดีนัดแรก หนึ่งปีสามเดือน ร้องขอสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดี


 


พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ


โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย


มูลนิธิผสานวัฒนธรรม


 


นายสุกรี อาดำ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เหยื่อการซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพถูกจับกุมและถูกฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหาฆ่า คดีหมายเลขดำที่ 832/2550 นายสุกรี อาดำ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำจังหวัดปัตตานีมานับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 เป็นเวลากว่าหนึ่งปีสามเดือนเพื่อรอการพิจารณาคดีนัดแรกในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2551 เรียกร้องขอสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม


 


การนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องโดยนัดสืบพยานในวันที่ 5,6,7 สิงหาคม 2551 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 4,5 กันยายน 2551 และจะมีนัดหมายเพิ่มเติมอีกหลายนัดซึ่งอาจจะทำให้คดีมีความล่าช้าไปอีก


 


ก่อนถูกดำเนินคดีอาญา นายสุกรี อาดำ ได้ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์วิวัฒน์สันติ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 11 เมษายน - วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2550 เพื่อซักถามภายใต้กฎหมายพิเศษ คือ พรบ.กฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉินฯ ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวเพื่อซักถามนั้น ญาติได้ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เยี่ยมนายสุกรี เป็นระยะเวลากว่า 10 วัน


 


และต่อมานายสุกรี อาดำ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ช่วงวันที่ 11 - 13 เมษายน 2550 นั้น ได้ถูกซ้อมทรมานที่ห้องซักถาม ถูกบังคับให้ถอดกางเกง นำกางเกงครอบหัวแล้วมีการรุมทำร้ายโดยบุคคลหลายคน โดยมีการถีบและบีบอวัยวะเพศ นายสุกรี ถูกซ้อมตามร่างกายประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงจนกระทั่งสลบไป มีบาดแผลปรากฏบริเวณริมฝีปาก หลังและหน้าแข้ง มีอาการเจ็บปวดที่หน้าอก


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เดินทางไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ และได้เข้าพบพร้อมทั้งซักถามนายสุกรี อาดำ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2550 พบว่ามีการทำร้ายร่างกายนายสุกรี อาดำจริง และนำมาสู่พิจารณาลงโทษเป็นการภายในของหน่วยงานต้นสังกัดกับผู้ควบคุมตัวที่ทำร้ายร่างกายนายสุกรี อาดำในค่ายอิงคยุทธฯ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อศูนย์ซักถามใหม่เป็นศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์


 


นายสุกรี อาดำ จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมูฮัมาดียะห์ บ้านสลาม ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 ร่วมกันฆ่าตัดศีรษะเจ้าของโรงสีข้าว วัย 72 ปี ที่โรงสีข้าว ข้างโรงฆ่าสัตว์เทศบาลตำบลนาประดู่ ริมถนนสายหน้าสถานีรถไฟนาประดู่


 


โดยนายสุกรี อาดำ ถูกซัดทอดจากผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ บางส่วนได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว คดีนี้มีผู้ต้องหาร่วมกันอีกสองราย โดยถูกฟ้องในฐานความผิด คือร่วมกันก่อการร้ายและร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยทรมาน โดยกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันเป็นซ่องโจร มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และพาอาวุธปืน อาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีเหตุสมควร โดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลนาประดู่


 


นายสุกรี อาดำ ปฏิเสธข้อกล่าวหาและปฏิเสธไม่ให้คำสารภาพระหว่างการถูกควบคุมตัว และได้ร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนในเรื่องการซ้อมทรมานบังคับให้สารภาพ ซึ่งเป็นกรณีแรกที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ต้องสงสัยในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้การใช้พรก. ฉุกเฉินฯ จนทำให้ศูนย์วิวัฒน์สันติมีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบ  นายสุกรี อาดำ ได้ร้องของความเป็นธรรมในการขอประกันตัวชั่วคราวตามสิทธิของผู้ต้องหาที่จะต้องได้รับแต่ได้รับการปฏิเสธ


 


ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง


 


ปัจจุบันมีจำนวนผู้คุมขังในเรือนจำสามจังหวัดและเรือนจำสงขลาสูงขึ้นทุกปีปัจจุบันรวมแล้วกว่า 400 คน  จากการสำรวจเบื้องต้นแยกตามเรือนจำจังหวัดได้ดังนี้


 




























เรือนจำจังหวัด


เม.ย.-50


เม.ย.-51


นราธิวาส


55


172


ยะลา


50


114


ปัตตานี


39


85


สงขลา*


50


50


รวม


194


421


 


*ไม่มีข้อมูลปี พ.ศ.2551 จากเรือนจำจังหวัดสงขลา


 


เนื่องจากสถานการณ์ก่อเหตุร้ายรายวันและการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดยังไม่มีที่ท่าว่าจะสงบลงในระยะเวลาอันใกล้ อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายยุติธรรมที่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาความแออัดของทางเรือนจำในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้


 


ปัจจุบันยังมีการดำเนินจับกุมผู้ต้องสงสัยและดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหามาโดยตลอด  อีกทั้งขั้นตอนและกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาในระยะเวลา 4-5 ปี ยังคงมีความไม่พร้อมต่อสภาพปัญหาและปริมาณของคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้น ทำให้มียอดผู้ต้องขังรอการพิจารณาคดีอยู่เป็นจำนวนมาก


 


การดำเนินให้ความช่วยเหลือทางคดีไม่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการดำเนินคดีในชั้นอัยการและชั้นศาลมีความล่าช้าอย่างมาก ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือคดีความมั่นคงมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ ผู้ต้องขังรอการพิจารณาคดีบางคนถูกกักขังเป็นเวลาหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่งเพื่อรอการพิจารณาคดี


 


ผู้ต้องขังคดีอาญาเกือบทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ญาติและครอบครัวมีฐานะยากจนและทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีพกรณีหัวหน้าครอบครัวที่ต้องถูกคุมขังขณะรอพิจารณาคดีเป็นระยะเวลายาวนานหลายปีกว่าคดีจะถึงที่สุด เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net