Skip to main content
sharethis



 



 


วันนี้ (5 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. กลุ่มพนักงานหญิงบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำไทรอัมพ์ ในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ กว่า 1,500 คน ได้เดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนพิษณุโลก เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ขอได้ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและสหภาพแรงงาน ในกรณีที่บริษัทไทรอัมพ์ฯ เลิกจ้าง น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย อย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีการกระทำที่แสดงถึงการล้มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ


 


ทั้งนี้ การรวมตัวสืบเนื่องจากการที่บริษัทบอดี้ แฟชั่นฯ ได้ขออำนาจศาลเลิกจ้าง น.ส.จิตราและได้เรียกตัวน.ส.จิตราเข้าพบผู้บริหารของบริษัทเพื่อแจ้งให้ทราบถึงคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 8 ก.ค.51 อนุญาตให้เลิกจ้างได้ และบริษัทให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.เป็นต้นไปและไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น โดยให้เหตุผลว่า การใส่เสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการ "กรองสถานการณ์" ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้ง" เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็น การทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง ทำให้ คนงานกว่า 3,000 คน ของบริษัทได้รวมตัวผละงานและร่วมชุมนุมกันที่หน้าบริษัทไทรอัมพ์ฯ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา


 


โดยพนักงานที่ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท 3 ประกอบด้วย 1.ให้บริษัทรับประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กลับเข้าทำงานเหมือนเดิมโดยไม่มีเงื่อนไข 2.ให้บริษัทไม่ลงโทษใดๆ และไม่เอาผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญากับกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน และพนักงานบริษัททุกคนที่ผละงาน 3.บริษัทเอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับคนลูกจ้างและส่อพฤติกรรมทำลายสหภาพออก ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ถูกนำมาเขียนในเอกสาร "เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงาน คือการล้มสหภาพแรงงาน" แจกจ่ายสื่อมวลชนที่มาทำข่าวบริเวณหน้าทำเนียบ


 


การชุมนุมในวันนี้ ผู้รวมชุมในชุดเครื่องแบบพนักงานบริษัท บอดี้ แฟชั่นฯ สวมชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำของไทรอัมพ์ฯ ไว้ด้านนอกเดินถือป้าย "เอาสหภาพของเราคืนมา" "ไม่มีสหภาพแรงงานจะอยู่อย่างไร" "กรรมาชีพลุกขึ้นสู้ล้มล้างเผด็จการนายทุน" ฯลฯ พร้อมปราศรัยเรียกร้องให้นายสมัครออกมาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาให้แก่สหภาพแรงงานฯ อยู่บริเวณหน้าทำเนียบ จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.30 น. จึงมีการเชิญตัวแทนสหภาพเข้าไปพูดคุยในทำเนียบ ร่วมกับร้อยเอกทวิช ศุภวรรณ หัวหน้าฝ่ายประสานงานมวลชน กองรับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล


 


หลังจากนั้น น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ 1 ใน 6 ผู้ที่เข้าไปเจรจา ได้ขึ้นปราศรัยถึงผลการพูดคุยว่า ทางหัวหน้าฝ่ายประสานงานมวลชน ได้รับเรื่องไว้เพื่อยื่นข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานต่อรัฐบาล แต่เมื่อสอบถามถึงการพูดคุยกับผู้มีอำนาจเพื่อร่วมพูดคุยหาแนวทางแก้ปัญหาก็ได้รับการปฏิเสธ เพียงแต่รับปากว่าจะประสานไปยังกรรมคุมครองแรงงานจังหวัดเพื่อเชิญนายจ้างมาร่วมพูดคุยเจรจาหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้ง ซึ่ง น.ส.จิตตาไม่คิดว่าจะทำให้เกิดการเจรจาได้ดังที่รับปาก


 


โดยก่อนหน้านี้ น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ให้สัมภาษณ์ว่าก่อนหน้าที่จะมีการจัดแบ่งพนักงานที่ชุมนุมกันอยู่ที่หน้าโรงงานกว่า 3,000 คน เดินทางเข้ามาชุมนุมที่หน้าทำเนียบนั้น เมื่อเวลา 7.30 น.ของวันเดียวกันนี้ (5 ส.ค.) ทางนายจ้างได้เรียกพบตัวแทนสหภาพฯ จำนวน 5 คน แต่การพูดคุยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีเนื่องจากตัวแทนสหภาพได้ยืนยันข้อเสนอเดิมทั้ง 3 ข้อ แต่ทางนายจ้างไม่รับพิจารณาตั้งแต่ในข้อแรกซึ่งเกี่ยวกับการรับตัวประธานสหภาพเข้าทำงาน อีกทั้งยังพยามกักตัวตัวแทนสหภาพทั้ง 5 เอาไว้เพื่อลงไปชี้แจงถึงผลการเจรจาเอง ทั้งที่ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้น


 


"นี่คือขบวนการล้มสหภาพที่ชัดเจนที่สุด" น.ส.จิตรากล่าว


 


น.ส.จิตรา กล่าวต่อว่า ปัญหาที่มีขณะนี้คือนายจ้างใช้วิธีสกปรกไม่มีการพูดคุย และไม่ยอมพูดคุยใดๆ กับสหภาพ เพราะที่ผ่านมาการมีสหภาพฯ ทำให้คนงานมีชีวิตที่ดี มีสวัสดิการที่ดี จึงต้องการลดอำนาจการต่อรองของแรงงาน ด้วยเหตุผลที่ต้องการเปลี่ยนระบบการจ้างงานจากที่มีระบบการทำงานที่มั่นคง เป็นในรูปแบบใหม่คือการจ้างเหมาช่วง (Sub-contract)


 


ในส่วนคดีเลิกจ้างนั้น น.ส.จิตรา กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการออกหมายศาล ซึ่งก็จะต้องมีการต่อสู้คดีกันต่อไปในชั้นศาล อย่างไรก็ตามคดีนี้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหภาพฯ ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของสหภาพฯ ก็ยังยืนยันตามข้อเสนอเดิมทั้ง 3 ข้อ และจะยืนหยัดที่จะชุมนุมกันต่อไปเพื่อกดดันการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของนายจ้าง


 


นางสนิท สาธาวงศ์ พนักงานตัดเย็บเสื้อผ้า บริษัทบอดี้ แฟชั่นฯ อายุงาน 9 ปี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อพนักงานมีปัญหากับนายจ้างสหภาพจะทำหน้าที่ช่วยในการพูดคุยไกล่เกลี่ย และช่วยเหลือในหลายๆ เรื่อง ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันมาอย่างเต็มร้อย เพื่อให้ประธานสหภาพได้กลับเข้าทำงานและเพื่อรักษาสหภาพแรงงานฯ เอาไว้ให้ได้


 


ด้านพนักงานหญิง ฝ่ายผลิต อายุงาน 7 ปี คนหนึ่งกล่าวว่า คนที่มาชุมนุมในวันนี้ส่วนใหญ่มีอายุการทำงานมาก หลายคนทำงานที่บริษัทไทรอัมพ์ฯ มากว่า 30 ปี และหลายคนก็อยู่กันจนใกล้เกษียณแล้วก็ยังมาร่วมชุมในครั้งนี่เพราะเห็นความสำคัญของการมีสหภาพฯ แม้ว่าขณะนี้ทางนายจ้างจะมีประกาศชี้แจงมาว่าจะไม่รับพนักงาน 3,000 คนที่มาประท้วงหากยังไม่รีบกลับเข้าทำงาน และจะจ้างพนักงานใหม่เข้ามาทำแทน ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทก็ได้ทำการประกาศรับสมัครคนทำงานใหม่อยู่ แต่พนักงานที่มาร่วมต่างก็คิดว่าจะต่อรองสำเร็จหากมีการเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น


 


"ถ้ารวมกลุ่มกันอย่างนี้ไม่กลัวหรอก แต่ถ้าหากขาดสหภาพเราก็ตาย ดังนั้นเราเลยต้องช่วยกัน" พนักงานหญิงคนดังกล่าวบอกกับผู้สื่อข่าว


 


ทั้งนี้ ภายหลังจากการยื่นจดหมายกลุ่มผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันกลับ และยังยืนยันที่จะชุมนุมเพื่อกดดันบริษัทต่อไป โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า สหภาพแรงงานฯ จะมีการยื่นหนังสือไปยังสถานทูตเยอรมนี ร่วมกับสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส (TIG) ในวันพรุ่งนี้


 






 


ที่ สพท. 051/2550


วันที่ 5 สิงหาคม 2551


 


เรื่อง      ขอได้ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและสหภาพแรงงาน


เรียน      ฯพณฯ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี


สิ่งที่ส่งมาด้วย (1) ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


 (2) ประกาศบริษัทบอดี้แฟร์ชั่น(ประเทศไทย)จำกัด (Triumph)


 


            ด้วยสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และองค์กรแรงงานต่างๆ ได้ประชุมพิจารณาปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากนายจ้างได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานขอเลิกจ้างนางสาวจิตรา คชเดช กรรมการลูกจ้าง และเป็นประธานสหภาพแรงงาน และกล่าวหาว่า ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ให้เลิกจ้างได้ และวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 นายจ้างแจ้งให้เขียนใบลาออกจะจ่ายเงินให้ 11 เดือน ถ้าไม่เขียนใบลาออกก็ขอเลิกจ้างโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2551


            จากเรื่องดังกล่าวข้างต้น ได้นำไปสู้การผละงานประท้วงของลูกจ้างหรือสมาชิกสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 เวลา 07.00 . และมีคำประกาศของนายจ้างออกมาตามเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วยข้อ 2 จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการเจรจากันมาแล้ว 2 ครั้ง ไม่สามารถตกลงกันได้


            สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และองค์กรแรงงานต่างๆ ขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งดังกล่าว โดยเชิญนายจ้างมาร่วมเจรจาหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้ง เพื่อความสงบสุขของสังคมต่อไป


สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และองค์กรแรงงานต่างๆ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะได้ให้ความกรุณาช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานต่อไป และขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง


 


ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างยิ่ง


 


(นายพรมมา ภูมิพันธ์)


ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ


 


 


................
อ่านเพิ่มเติม


ปธ.สหภาพไทรอัมพ์ ถูกเลิกจ้าง นายจ้างอ้างใส่เสื้อ "ไม่ยืนฯ" ทำ บ.เสียชื่อ


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์รวมตัวผละงาน เรียกร้องรับ "ปธ.สหภาพ" กลับเข้าทำงาน


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 400 กว่าคนบุกสำนักงานใหญ่ กดดันนายจ้างเรียกร้องความเป็นธรรม


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ผละงานวันที่ 3 นายจ้างยันไม่รับประธานสหภาพเข้าทำงาน


ร่อนจดหมายประณามเลิกจ้าง ปธ.สร.ไทรอัมพ์ จี้หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน-ทำลายสหภาพแรงงาน


 


บทความ :เมื่อคนงานไทรอัมพ์ฯ ลุกขึ้นสู้ กอบกู้ศักดิ์ศรีกรรมาชีพ


เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร : ทัศนะที่อันตรายกรณีไทรอัมพ์


 


คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจังหวัดสมุทรปราการ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net