Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมจัดการอภิปราย "การเมืองสยามประเทศ(ไทย)-หลังสมัคร II และ/หรือ "ตุลาการภิวัตน์-ได้ผลจริงหรือ" ห้อง 201 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ท่าพระจันทร์ ร่วมอภิปรายโดย ดร.คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต สว.ตาก รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ดำเนินการอภิปราย โดย ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.


 


 


0000


 


 


ส่วนแรกจะอธิบาย วิจารณ์ คำว่า "ตุลาการภิวัตน์" ในสังคมไทยเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ เพราะแนวความคิดนี้มาจากต่างประเทศ ในการแสดงความเห็นของผมอาจต้องมีภาษาอังกฤษบ้าง เพราะเป็นถ้อยคำที่มาจากต่างประเทศ จะได้ไปเช็ค อ้างอิงได้


 


ส่วนที่สองจะเป็นคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่มีคำวินิจฉัยแถลงการณ์ร่วม


 


ประเด็นแรก เกี่ยวกับความหมาย ถ้าจะว่าไปในต่างประเทศเองนักวิชาการก็ยังถกเถียงกันอยู่เรื่องความหมายที่แท้จริงของ ตุลาการภิวัตน์ และขอบเขตความหมายของ judicial activism บทความที่อยู่ในมือผม ปี 1999 บทบาทอำนาจหน้าที่ของตุลาการเปรียบเทียบระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก็บอกเลยว่าคำว่า judicial activism ยังคลุมเครือและถกเถียงกันอยู่ ผมกำลังอธิบายว่า ขนาดต้นตอของคำคำนี้ยังเถียงกันอยู่ แล้วนับประสาอะไรกับสังคมไทยที่เรื่องนี้ถูกจุดขึ้นมาโดยนักวิชาการที่ไม่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์ ทำให้ยิ่งสับสนคลุมเครือมากยิ่งขึ้นไปอีก นักวิชาการไทยส่วนใหญ่โหนกระแส เพราะเข้าใจธรรมชาติของคนไทยว่าชอบตามกระแส สร้างความดึงดูดเป็นที่สนใจ ตอนนี้ก็โหนกระแสปราสาทพระวิหาร ทำให้ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย คลาดเคลื่อนไปเยอะ และกว่าเราจะรู้ผลร้ายของมัน มันก็ยากจนเกินเยียวยาแล้ว


 


โดยปกติคำว่า judicial activism จะหมายถึง การใช้อำนาจทางตุลาการที่เกี่ยวข้องกับ making policy คำนี้มีที่มาจากสหรัฐอเมริกา ถามว่าทำไมบทบาทของตุลาการ ผู้พิพากษาจึงมีเยอะ ก็ต้องไปทำความเข้าใจตั้งแต่ที่มาของมัน ต้องอธิบายรากฐานประวัติศาสตร์อเมริกาด้วยซ้ำไป รากฐานของสังคมอเมริกาตั้งอยู่บนปรัชญาปฏิบัตินิยม pragmatism ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติ การแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงตามความเป็นจริง การสรรหาหรือการเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการของอเมริกา ถ้าเป็นระดับมลรัฐจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้พิพากษาสามารถเสนอนโยบายต่างๆ ได้ซึ่งอาจไม่ถึงขั้นต้องหาเสียง เคยถามคนในแวดวงนั้นว่าอย่างนี้ไม่กลัวผู้พิพากษาเป็นนักการเมืองเลยหรือ เขาบอกว่าไม่กลัว เพราะมีระบบการตรวจสอบภายในกันเองที่เข้มแข็ง และประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้พิพากษาได้ ผู้พิพากษาเวลาตัดสินคดีจึงต้องมองความเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชาชนในมลรัฐนั้นๆ แต่ถ้าเป็นผู้พิพากษาระดับสหพันธรัฐ หรือ supreme court ประธานธิบดีจะเป็นผู้เสนอชื่อ แล้ว senator รับรอง พอไปดูการเรียนการสอนเขา คนที่จะเรียนนิติศาสตร์ได้ต้องจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาก่อน อะไรก็ได้ มาเรียนอีก 3 ปี มาจบบาร์อีก 1-2 ปี แล้วยังสอบผู้พิพากษาไม่ได้ต้องทำงานก่อนอีกหลายปี กว่าจะเป็นผู้พิพากษาได้ทั้งความรู้ วัยวุฒิ วุฒิภาวะถูกหล่อหลอมมาแล้ว ปรากฏการณ์ประเภทอายุ 25 ปีเป็น ไม่มีทาง ดังนั้น มันจึงต่างจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง ของไทยเน้นไปทางภาคพื้นยุโรป ตุลาการเป็นผู้ใช้และตีความกฎหมาย บทบาทไม่ได้โดดเด่นมาก


 


ทีนี้แม้แต่ประเทศแคนาดาก็ตาม ซึ่งเป็น common law และอยู่ติดกับสหรัฐอเมริกา แต่เรื่อง judicial activism ไม่เป็นที่ยอมรับในแคนาดา เพราะแคนาดามีจารีตประเพณีว่า เขาจะแยกกฎหมายออกจากการเมือง ไม่อยากให้ตุลาการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าที่บอกว่าตุลาการภิวัตน์เป็นระบบที่แผ่ไปทั่วโลก จริงๆ ไม่ใช่ และตำราเล่มที่เขียนว่าตุลาการภิวัตน์แผ่ไปทั่วโลกนั้น เมื่อไปอ่านดูแล้วจะเห็นว่าหมายถึงศาลชำนาญพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง แต่ไม่ได้ไกลมากแบบบ้านเราทุกวันนี้ ผมเข้าใจว่าสังคมไทยเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนเยอะ


 


ยิ่งไปกว่านั้น มีอีกคำหนึ่งที่เคียงคู่กับ judicial activism แต่อาจารย์ธีรยุทธ (บุญมี) ไม่ได้พูด ก็คือ judicial resplaint  แปลเป็นไทยก็คือ ความยับยั้งชั่งใจหรือความหักห้ามที่จะไม่วินิจฉัยคดีบางอย่างที่เป็นคดีทางการเมือง อย่างในสหรัฐอเมริกาจะมีทฤษฎีอันหนึ่งคือ อะไรก็ตามที่เป็น political question หรือเป็นปัญหาทางการเมือง ศาลจะไม่ยุ่งถือว่าเป็นเรื่องทางการเมือง  จะเห็นได้ว่าการแผ่ขยายอำนาจตุลาการมีขอบเขตจำกัด แต่ของเรากลับเห็นว่าอะไรก็ตามที่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ตุลากรมักเข้าไปคลี่คลาย


 


ผมถามพวกเราว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ถามว่าวันนี้กิจกรรมทางการเมืองคลี่คลายไหม  ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องแถลงการณ์ร่วม วิกฤตการณ์ปราสาทเขาพระวิหารคลี่คลายไหม  ไม่คลี่คลาย และที่น่าแปลกไปกว่านั้น คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เลยไปถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง มันแทบไม่มีผลในทางระหว่างประเทศเลย นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าอำนาจตุลาการมีขอบเขตจำกัด ไม่ได้มีผลคลี่คลายแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้อย่างที่สังคมไทยเข้าใจ  ตอนนี้มีความพยายามเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมากล่าวอ้างให้แถลงการณ์ร่วมเป็นโมฆะ เขาไม่ดูเลยว่ามาตรา 46 อนุสัญญากรุงเวียนนาซึ่งว่าด้วยการทำสนธิสัญญา แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีก็ตาม แต่อนุสัญญานี้ผูกพันในฐานะเป็นกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ มาตรา 46 เขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐจะอ้างความขัดข้อง ว่าขัดต่อกฎหมายภายใน เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญา มาอ้างในทางระหว่างประเทศเพื่อให้เป็นโมฆะไม่ได้ แต่เราก็เข้าใจว่าอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีกว้างขวางมากมาย


 


อีกอันหนึ่ง คือ ตอนนี้เราเข้าใจว่าตุลาการภิวัตน์หมายถึงการที่นำอดีตผู้พิพากษา หรือผู้พิพากษามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหลังรัฐประหาร นี่เป็นความเข้าใจผิด ตุลาการภิวัตน์คงไม่ไปไกลขนาดนำอดีตตุลาการหรือตุลาการมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลาย เช่น คตส. วันดีคืนดี องค์คณะที่เป็นผู้พิพากษาก็กลับไปเป็นผู้พิพากษาเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่คตส.ก็มีฐานะคล้ายๆ กับเป็นพนักงานสืบสวน ตรงนี้ขัดกันหรือเปล่า


 


หรือย่างตุลาการท่านหนึ่งในศาลรัฐธรรมนูญ ก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารมาก่อน แล้วมาอยู่ในสสร. แล้วตอนนี้มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ดีเอสไอ ท่านเป็นตุลาการ มาเป็นฝ่ายบริหาร ตอนนี้กลับไปเป็นฝ่ายตุลาการอีก หรือคำตัดสินในคดีเรื่องภาษี ผมไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญพอ แต่ว่าตอนหนึ่งในคำตัดสินนี้พูดถึง คตส. ว่าคตส. ให้ความเป็นธรรม มีคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถ ผมว่าประชาชนทั่วไปก็คงเข้าใจและดูออกว่า คตส.มาจากบุคคลที่มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์มาก่อน ทำไมศาลจึงเห็นเช่นนี้


 


ขอเสริมอาจารย์สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) ที่ว่าในต่างประเทศการวิพากษ์วิจารณ์ศาลเป็นเรื่องที่ทำได้ หลอดเบ็นนิ่ง ซึ่งเป็นตุลาการที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประเทศอังกฤษเมื่อศตวรรษที่แล้ว พูดไว้เลยว่า คำพิพากษาเมื่อตัดสินออกมาแล้ว เป็นของสาธารณะ คำพิพากษาของศาลเมื่อตัดสินแล้วเป็นของสาธารณะ พูดง่ายๆ ว่าประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังนั้น จะมาอ้างเพื่อไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนี่เป็นวิธีการหนึ่งที่ประชาชนจะตรวจสอบการทำงานของตุลาการ โดยวิจารณ์การให้เหตุผลของตุลาการแต่ละท่าน


 


สิ่งหนึ่งที่วิตกกังวลมากที่สุด คือ สังคมไทยตอนนี้ดูกันที่ผลของผู้พิพากษามากกว่าเหตุผล เหมือนกับคำพิพากษา 50 หน้า พลิกดูหน้า 50 ตอนท้ายว่าศาลตัดสินได้อย่างไร ซึ่งแน่นอน มีทั้งคนที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ผมอยากให้สังคมไทยถอยหลังกันคนละก้าว เปิดใจให้กว้าง แล้วดูกันที่เหตุผลว่าในการตัดสินสุดท้ายนี้ ศาลได้ให้เหตุผลพิเคราะห์อะไรมาบ้าง  และผมเชื่อว่าหลังจากที่คุยกับหลายๆ คน เหมือนสังคมไทยต่างก็มีธง คาดหมายได้ว่าศาลน่าจะตัดสินแบบนี้ น่าจะยุบพรรคแน่ๆ ทำไมประชาชนคนไทยรู้ผลล่วงหน้าหลายคดี ทุกวันนี้เราดูแต่ผล ถูกต้องแล้วที่ศาลตัดสินแบบนี้แต่ไม่ได้วิจารณ์ว่าศาลให้เหตุผลอย่างไร


 


ยกตัวอย่างเช่นอันที่ผมวิจารณ์เรื่องแถลงการณ์ร่วม ประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยศาลได้เอาเหตุผลของผู้ร้องคือ วุฒิสภา มาเป็นเหตุผลในการตัดสินคดี ซึ่งดูแล้วแปลกๆ ศาลต้องฟังคำร้อง แต่ศาลควรมีเหตุผลที่เป็นตัวของตัวเองซึ่งผ่านจากการศึกษาค้นคว้าต่างๆ แต่ศาลดูประหนึ่งเหมือนจะพึ่งพา และเอาคำร้องของผู้ร้องมาเป็นตัวตัดสินคดีเสียเอง 


 


ประเด็นที่สอง ผมวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังก้าวล่วงไปยังอำนาจนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ถ้าดูในคำพิพากษาดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญกำลังอธิบายอบรมฝ่ายบริหารที่อยู่ข้างล่างว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งศาลใช้เวลามาในการอธิบายความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา มากกว่าการวินิจฉัยข้อกฎหมาย คือ ศาลกำลังจะไปคลี่คลายข้อพิพาททางการเมือง ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่บทบาทของศาล บทบาทของตุลาการคือวินิจฉัยข้อกฎหมาย  ในคำวินิจฉัยบอกเลยว่า การพิจารณาในเรื่องการทำหนังสนธิสัญญาต้องทำอย่างรอบคอบ อันเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภายภาคหน้าได้ จึงเล็งเห็นว่าหากลงนามคำแถลงการณ์ร่วมไป ก็อาจก่อให้เกิดความแตกแยกทางด้านความคิดของคนในสังคมของทั้งสองประเทศ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤตแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศกัมพูชา ผมว่าอันนี้มันอยู่นอกเหนือความสามารถ หรืออำนาจหน้าที่ของศาลแล้ว ศาลกำลังคิดว่าการทำแบบนี้จะก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมมติถ้ามีปัญหาจริงเราก็มีกระทรวงการต่างประเทศ มีกลไกคณะกรรมการเขตแดนแก้ไขข้อพิพาทตรงนี้ แต่ศาลอธิบายเหมือนกับกลัว ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ธุระของศาล ศาลกำลังก้าวล่วงไปในการทำงานของฝ่ายบริหารแล้ว


 


พอมาดูฝ่ายนิติบัญญัติ ในรัฐธรรมนูญไม่มีคำว่าอาจ หนังสือสัญญานี้ถ้าจะมีผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยก็ต้องเปลี่ยนแปลง ตัวศาลรัฐธรรมนูญเองก็ลังเล ดังจะเห็นได้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า "สำหรับในแถลงการณ์ร่วมไทย แม้จะไม่ปรากฏสาระสำคัญอย่างชัดเจนว่า...." คือพูดง่ายๆ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังไม่แน่ใจ แล้วความลังเล การคาดคะเน สงสัย มีอยู่ตลอดคำวินิจฉัยเลย ทั้งตัวเหตุผลและตัวตอนที่จะฟัน จะวินิจฉัยก็ยังมี ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า "ดังจะปรากฏให้เห็นคือ อาจจะก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภายภาคหน้าได้" อีกคำหนึ่ง "พึงเล็งเห็นได้ว่าอาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกกัน" อีกตอนหนึ่ง "อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์แก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" คือมีคำว่า อาจจะก่อให้เกิด ประมาณ 4-5 ครั้ง แต่ตัวมาตรา 190 ไม่มีคำว่าอาจ ผมคิดว่าเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญไปเพิ่มถ้อยคำ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเสียเอง


 


หรืออีกเรื่องหนึ่ง คดียุบพรรค ย้อนกลับไปช่วงหลังรัฐประหาร มีผลของคดียุบพรรค และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง 5 คน ทั้งหมด 111 คน ผลจากคำพิพากษาตรงนั้น มีทั้งฝ่ายพึงพอใจหรือไม่พอใจ สงสัยในคำพิพากษา แต่อย่างที่บอกว่าที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทยคือ สังคมไทยจะสนใจแต่ผลของคำวินิจฉัยมากกว่าเหตุผล สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตในคดียุบพรรคคือ ทำไมศาลไม่วิเคราะห์ไปประเด็นเรื่องความได้สัดส่วน สมมติว่าทำผิดจริง ทำไมศาลไม่พิจารณาในเรื่องหลักแห่งความได้สัดส่วน อันนี้เป็นเกณฑ์ที่สำคัญ ใช้ในกฎหมายปกครอง กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศตุรกี ศาลตุรกียุบพรรค welfare party เป็นการยุบพรรคเหมือนกัน แต่ตอนที่จะเพิกถอนสิทธิทางการเมือง เขาตัดแค่ 5 คน อีก 152 คนไม่เกี่ยว


 


ผมไม่ติดใจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญา ไม่ติดใจที่ตุลาการรัฐธรรมนูญจะยุบพรรค แต่ผมติดใจในเรื่องเหตุผล องค์ประกอบ การอธิบาย การวิเคราะห์ถ้อยคำ พยายามเปรียบเทียบดูกฎหมายต่างประเทศ จะตัดสินใจเป็นหนังสือสัญญาก็ไม่ได้ติดใจ จะยุบพรรคเขา จะเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเขา อธิบายเหตุผล แสดงถึงการศึกษาค้นคว้ารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ ที่มาที่ไป หลักวิชา ทฤษฎีกฎหมายแล้วยุบพรรค อย่างนี้ไม่ติดใจและประชาชนก็ยอมรับได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนค้างคาใจคือ ตอนที่จะไปตัดสินเขาคุณให้เหตุผลอะไรบ้าง ทำไมศาลรัฐธรรมนูญไม่เปรียบเทียบกับต่างประเทศ ไม่ดูกฎหมายย้อนหลังเกี่ยวกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทำไมไม่ดูเรื่องการได้สัดส่วน ยิ่งไปกว่านั้นยังตีความว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคลุมถึงสิทธิทางการเมืองทุกประเภท ทำไมไม่ดูว่า ICCPR กติกาของพลเมือง ซึ่งไทยก็เป็นภาคีเขาจำกัดเฉพาะสิทธิเลือกตั้ง และสิทธิรับเลือกตั้ง แต่ของเราตีความห้ามหมดทุกอย่าง ผมว่าสังคมไทยชักจะไปกันใหญ่ เพียงเพราะเราไม่ชอบรัฐบาลชุดหนึ่ง เราก็หาเหตุผลมารองรับความชอบธรรมให้มันจบ เหมือนกับกรณีปราสาทเขาพระวิหาร เราไม่ชอบก็จุดวาทกรรมรักชาติให้รัฐบาลชุดนี้พ้นไป ถ้าใช้วิธีการแบบนี้มากๆ สังคมไทยอาจต้องจ่ายอะไรที่หนักในอนาคต


 


ก่อนจบ มีเอกสารประกอบการสัมมนา เกี่ยวกับมโนธรรมของตุลาการ ถ้าท่านอ่านให้ดีคงจะสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างในเวลานี้ โดยเฉพาะในวรรค 2 เกือบสุดท้าย ที่บอกว่า มีการบีบบังคับให้ตุลาการทำคำสั่งหรือคำตัดสินชนิดข้ามวันข้ามคืน อย่างนี้ตุลาการภิวัตน์ไหม เท่าที่ผมทราบมีคำสั่งตอน 4-5 ทุ่ม อย่างนี้ตุลาการภิวัตน์ไหม ผมอยากให้สังคมไทยได้อภิปราย สิ่งหนึ่งที่อยากฝากคือ นักวิชาการท่านนั้นต้องแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองพูดไป ต้องอธิบายว่าตุลาการภิวัตน์ที่ท่านเสนอหมายความว่าอย่างไร เพราะตอนนี้สังคมไทยเข้าใจกันไปต่างๆ นานา


 


อีกประเด็นหนึ่ง คือ การนำผู้พิพากษา 3 ศาล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเลือกมา 1 ท่าน ผู้พิพากษาศาลฎีกาเลือกมา 1 ท่านมาเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เป็น 3 ใน 7 ของคณะกรรมการสรรหา สิ่งที่ผมสงสัยคือ ตอนที่มีการรับฟังความคิดเห็น อันนี้เป็นเอกสารของสำนักงานศาลยุติธรรม ในสำนักงานศาลยุติธรรมตอนนั้น ไม่ใช่ประธานศาลฎีกาท่านนี้นะ เขาแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับการสรรหาวุฒิสภา ที่ประชุมมีมติว่า "มติที่ประชุมเห็นว่า สมควรตัดผู้พิพากษาในศาลฎีกาออกจากการเป็นกรรมการสรรหาวุฒิสภา โดยให้เหตุผลว่าไม่ควรมีภารกิจในด้านอื่นมากเกินไป ซึ่งอาจกระทบต่อภารกิจหลัก ทั้งอาจจะเสียความเป็นกลาง และความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี" แต่ทำไม ส.ส.ร.ไม่รับฟังข้อคิดเห็นอันนี้ ทำไมยังคงผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นกรรมการสรรหา ส.ว.อีก


 


อีกอันคือเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาคดี วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ท่านก็มีความเห็นว่าสมควรตัดออก "เนื่องจาก ศาลยุติธรรมมีคดีในความรับผิดชอบมากอยู่แล้ว และศาลควรปลอดจากการเมือง" แต่ว่าก็ยังคงอยู่ ที่ติดใจมากคือ กรรมการสรรหาส.ว.ทำไมให้อำนาจแค่ 7 ท่านในการคัดเลือก พูดง่ายๆ ว่า จะเป็นส.ว.แค่ 4 เสียงของคณะกรรมการสรรหาก็ได้เป็นแล้ว ในขณะที่คนมีความรู้ดี ได้คะแนนสองสามแสนใน กทม.ไม่ได้เป็น ท่านจะอธิบายอย่างไร และอำนาจหน้าที่ของส.ว.จากการสรรหา และการเลือกตั้ง มีอำนาจเท่ากันเลย ปัญหาต่อไปคือ ส.ว.ที่มาจากสรรหา เวลาจะไปถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ จะกล้าถอดถอนหรือ เพราะเขาเป็นคนสรรหาตนมา มันก็จะเกิด conflict กัน ตรงนี้ผมคิดว่ายังเป็นปมอีกหลายอย่างในตัวรัฐธรรมนูญ


 


 


การอภิปรายรอบสองของการเสวนา


ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามถึง หลักความได้สัดส่วนที่ได้กล่าวถึงในเบื้องต้น และคำถามเกี่ยวกับคดีหวย 2 ตัว 3 ตัวที่มีจำเลย 47 คน มีประเด็นกฎหมายว่า เมื่อศาลรับฟ้องทั้ง 47 คนจะต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ถ้าปฏิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งในกรณีนี้มีรัฐมนตรี 3 คนรวมอยู่ด้วย ปัญหาคือ การเหมาผู้ต้องหาหรือจำเลย 47 คนว่าเป็นผู้ที่มีการกระทำผิด ได้หลักสัดส่วนไหม เพราะเขาต้องพ้นจากหน้าที่ทันที


 


ประสิทธิ : นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่ตุลาการหรือศาลน่าจะอธิบายว่า จะรวมไปถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องไหม ก็คล้ายกับมาตรา 237 วรรค 2 ที่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าไปดูในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งและกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง มันแยกเป็น 2 กรณีคือ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการ แต่พอตอนดำเนินคดีอาญาให้ดำเนินคดีอาญาผู้นั้น มันขาดคำว่า "ผู้นั้น" ไป ดูประหนึ่งว่าเวลาดำเนินคดีอาญาให้ดูว่าใครบ้างกระทำความผิด แต่พอตอนเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพิกถอนกรรมการบริหารพรรคนั้น ไม่ใช่เพิกถอนกรรมการบริหารผู้นั้น ฉะนั้น เหมือนกับว่าหลักแห่งการได้สัดส่วนมันถูกหยิบยกออกไป


 


อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่เหลือ ขอเสริมส่วนของอาจารย์คณิน บุญสุวรรณ ในเรื่องอำนาจของตุลาการ เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่มอำนาจของศาลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ด้วย ศาลมีอำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวการพิจารณาคดีของศาลนั้นๆ  ไม่ทราบว่ามีกฎหมายประเทศอื่นหรือเปล่าที่ให้อำนาจศาลในการริเริ่มตัวกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาคดีก็ตาม เข้าใจว่าในทางสากล ศาลมีอำนาจในการออกกฎระเบียบในการพิจารณาคดีได้ แต่ของเราถึงขั้นเสนอร่างพ.ร.บ. ยังไม่แน่ใจว่ามีประเทศอื่นให้อำนาจนี้ไหม


 


ประเด็นต่อมา ที่พูดเรื่องกระแส ในรัฐธรรมนูญบอกเลยว่าเวลาศาลตัดสินคดีต้องให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่มีที่ไหนบอกว่าให้เอากระแสตัดสิน เพราะฉะนั้น ศาลฟังกระแสไม่ได้ อัยการก็ฟังกระแสไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมฟังกระแสไม่ได้ โหนกระแสไม่ได้ เอาความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ของมวลชนมากดดันไม่ได้ ต้องเอาเหตุผล หลักกฎหมายเป็นที่ตั้ง แต่ทุกวันนี้สังคมไทยไม่ยึดหลักกัน หลักการกฎหมายก็ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ตอนนี้คนไม่พูดหลักแล้ว แต่พูดผล ขอให้ผลเป็นอย่างสิ่งที่ฉันต้องการ แต่เหตุผลไม่ฟัง ดูแค่ผลลัพธ์ ซึ่งระยะยาว ไม่ต้องระยะยาว ตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลแล้วว่าเป็นผลเสียมากกว่า


 


อีกประเด็น หลายคนก็คงสงสัยเกี่ยวกับคดีซุกหุ้น ตอนที่ศาลอ่านคำพิพากษา ศาลเหมือนกับมีการเกริ่นนำ เนื่องจากมีความขัดแย้งอย่างนี้ ถ้าจำเลยไม่พอใจอย่างไรให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ ถ้าผมเป็นจำเลย ผมรู้ชะตากรรมของผมแล้ว ผมสงสัยว่าในอดีตศาลมีการพูดทำนองแบบนี้หรือเปล่า


 


สุดท้าย เกี่ยวกับกรรมการสรรหาส.ว. ถ้าเลือกแล้วพบว่า ส.ว.ท่านนี้ไม่ดีจะทำอย่างไร สิ่งที่ผมเสนอให้นำตุลาการออกจากการเมืองเพื่อรักษาภาพลักษณ์ คุณลักษณะของตุลาการเอง และเชื่อว่าตุลาการส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ไม่อยากยุ่งการเมือง ดังที่จะเห็นจากข้อเสนอของสำนักงานศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาท่านที่แล้วก็บอกเลยว่า เห็นสมควรตัดประธานศาลฎีกาออกจากกรรมการสรรหาบุคคลในองค์กรอิสระ แต่เขาไม่รับฟัง เหตุผลก็บอกเลยว่าเกรงจะเสียความเป็นกลาง และความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี ควรปลอดจากเรื่องการเมือง


 


ผมจึงคิดว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ควรดึงตุลาการออกจากการเมือง ไม่อย่างนั้นแล้วเวลาคนวิจารณ์เขาก็ต้องวิจารณ์กรรมการสรรหาว่าสรรหามาได้ยังไง แล้วเกณฑ์ที่ใช้ในการสรรหา ส.ว.ก็เป็นนามธรรมมาก ให้คำนึงถึงความรู้ประสบการณ์ แต่มันไม่มีรูปธรรมเลย สมมติประชาชนอยากจะตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจจะตรวจสอบได้ไหม ในนั้นเขียนเลยว่าดุลยพินิจถือเป็นเด็ดขาด ยุติ ที่สำคัญ นักวิชาการจำนวนมากให้ข้อสังเกตว่า โลกาภิวัตน์อาจขัดกับหลักการพื้นฐานที่สุดเลยของประชาธิปไตย ก็คือ อำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชน แล้วทำไมกรรมการ 7 คนถึงมีอำนาจสรรหา ส.ว. แทนการเลือกตั้งของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net