Skip to main content
sharethis





การเมือง


 


ขึ้นบัญชีหมายจับ "ทักษิณ-พจมาน"


ไทยรัฐ - พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าววานนี้ (11 ส.ค.) ว่า กรณีที่ศาลอนุมัติออกหมายจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ที่ไม่มารายงานตัวต่อศาล ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ถ้าเป็นการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ก็เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด เพราะทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร อยู่ในประเทศอังกฤษ มีสนธิ-สัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน สำนักงานอัยการต้องทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลประเทศอังกฤษ ผ่านทางสถานทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดของข้อหาคดีอะไร ผู้สื่อข่าวถามว่า สตช. สามารถประสานตำรวจอังกฤษได้หรือไม่ พล.ต.ท.วัชรพลกล่าวว่า หากได้รับการประสานงานมาที่ สตช. คิดว่าจะประสานความร่วมมือกับทางตำรวจอังกฤษ ที่เคยทำงานร่วมกันมาได้ แต่ขณะนี้ไม่ได้มีการประสานรายละเอียดเข้ามาแต่อย่างใด


 


พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษก สตช. กล่าวว่า หลังจากที่ศาลออกหมายจับกองทะเบียนประวัติอาชญากร สตช. จะเสนอขึ้นบัญชีหมายจับ  และออกประกาศสืบจับพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งให้ สตม.เพื่อให้ทำหมายเหตุบุคคลที่มีหมายจับ เมื่อพบเห็นบุคคลทั้งสอง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้ทันที


 


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัว พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าวว่า คำแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเขียนด้วยลายมือของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ไม่มีการปลอมขึ้นมา และพ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งแถลงการณ์ดังกล่าวมาจากประเทศอังกฤษ มายังเมืองไทยในสถานที่ต่างๆ เมื่อเช้าวันที่ 11 ส.ค. จนกระทั่งสื่อมวลชนได้รับ รายละเอียดทั้งหมดอยู่ในคำแถลงการณ์หมดแล้ว  ถือว่าชัดเจนแล้ว ทาง พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้บอกให้ทีมโฆษกแถลงเพิ่มเติมใดๆอีก ผู้สื่อข่าวถามว่า  พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานเตรียมทำเรื่องลี้ภัยหรือยัง นายพงศ์เทพตอบว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะดำเนินการอย่างไร จะยื่นเรื่องขอลี้ภัยหรือไม่   ผู้สื่อข่าวถามว่า  ขณะนี้ศาลออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณเรียบร้อยแล้ว นายพงศ์เทพตอบว่า ยังไม่ได้ติดต่อกับ พ.ต.ท.ทักษิณเลย จึงไม่ทราบว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร เพราะตั้งแต่ เดินทางไปประเทศจีน ยังไม่เคยได้ติดต่อกับท่านเลย เมื่อถามว่า  เนื้อหาในแถลงการณ์มีการโจมตีกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างรุนแรง  จะมีผลต่อคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณในชั้นศาลหรือไม่ นายพงศ์เทพตอบว่า ไม่มีความเห็น


 


ประชา ประสบดี เสนอนิรโทษกรรมทักษิณ


ไทยรัฐ - นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน กล่าวเมื่อวานนี้ (11 ส.ค.) ว่า เพื่อสร้างความสมานฉันท์ต่อวิกฤตการณ์การเมือง ทางออกขณะนี้จะต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสงบศึก เพราะคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณเผชิญอยู่นั้นไม่ได้ฆ่าคนตายหรือค้ายาเสพติด ที่จะยอมความกันไม่ได้ อย่างไร ก็ตาม เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาไทยแน่ในช่วงวันที่ 5 ธ.ค.นี้ เพราะปีนี้เป็นปีมหามงคล


 


นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล เลขาธิการมูลนิธิ 111 ไทย-รักไทย กล่าวว่า แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการเขียนมาจากใจ แบบเปิดใจ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะถูกรุมล้อมหลายด้าน ถึงขั้นจะให้ลูกเมียต้องติดคุกด้วย ทำให้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างรุนแรง แต่คงไม่มีเจตนาจะไปหมิ่นกระบวนการยุติธรรม เท่าที่ดูจากคำแถลงการณ์ เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานจะขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศอังกฤษแน่ โดยจะยกเรื่องการถูกกลั่นแกล้ง ทางการเมือง และความไม่ปลอดภัยในชีวิต เป็นเหตุผลหลักในการยื่นขอลี้ภัย ส่วนหากจะมีการขอตัว พ.ต.ท. ทักษิณเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในเมืองไทย ก็คงต้องมาต่อสู้กันทางกฎหมายต่อไป


 


บัวแก้วยังไม่รู้สถานะของ "ทักษิณ"


นายธฤต จรุงวัฒน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะพำนักอยู่ประเทศอังกฤษในสถานะใด สามารถอยู่ได้ในหลายสถานะ ไม่จำเป็นต้อง อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย เพราะบุคคลที่อาศัยในอังกฤษมีได้หลายสถานะ เช่น นักธุรกิจ นักลงทุน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะขอลี้ภัย ในอังกฤษหรือไม่ หาก พ.ต.ท.ทักษิณยื่นเรื่องขอลี้ภัยที่ อังกฤษ ต้องตรวจสอบข้อมูลผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายการเข้าเมืองของอังกฤษระบุว่า ห้ามเปิดเผยสถานะของบุคคล ในการขอเข้าเมือง สำหรับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไทย-อังกฤษ มีสนธิสัญญาอยู่แล้ว ถ้ามีการร้องขอมาจากศาลและอัยการ กระทรวงการต่างประเทศก็จะติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย หรือสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ส่วนการเพิกถอนหนังสือเดินทางทูตของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน มีระเบียบปฏิบัติอยู่ มีหลายองค์ประกอบ กระทรวงก็จะต้องนำข้อพิจารณาของศาลมาประกอบการ พิจารณา แต่ ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนหรือระงับหนังสือเดินทางได้อยู่แล้ว


 


 






เศรษฐกิจ


 


ตลาดหุ้นเด้งรับ "ทักษิณ" ลี้ภัย


ไทยรัฐ - ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วันที่ 11 ส.ค.ว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงในทันทีที่เปิดตลาด โดยเฉพาะเมื่อมีการออกแถลงการณ์ยืนยันชัดเจน ถึงการลี้ภัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรออกมา ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยทวีความร้อนแรง โดยนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้อหุ้น ดันดัชนีปรับตัวขึ้นมาสูงสุดที่ 715.33 จุด บวก 24.63 จุด โดยนักลงทุนคาดหวังว่าการลี้ภัยของอดีตนายกฯ น่าจะช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายลง และช่วยหนุนให้จิตวิทยาการลงทุนดีขึ้น แต่หลังจากนั้นได้มีแรงเทขายทำกำไรออกมาเป็นระยะ กดดัชนีมาปิดตลาดที่ระดับต่ำสุดของวัน ที่ 702.93 จุด แต่ยังคงอยู่ในแดนบวกได้ โดยปรับตัวขึ้นได้ถึง 12.23 จุด ตลอดทั้งวันมีมูลค่าการซื้อขาย 23,933.06 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิ 432.54 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,125.61 ล้านบาท ส่วนรายย่อยขายสุทธิ 693.07 ล้านบาท


 


นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า เนื่องจากนักลงทุนมองว่า สถาน การณ์ทางการเมืองที่มีปัญหา และความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ น่าจะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ทำให้ตลาดตอบรับในทางที่ดีซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา ในระยะสั้น ส่วนแนวโน้มระยะยาว นอกจากปัจจัยการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อตลาดด้วย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการเงินในตลาดโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยมีข้อดี คือราคาหุ้นที่อยู่ในระดับต่ำมากพอสมควร ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันมองว่า น่าจะเป็นโอกาสในการเข้ามาลงทุน


 


แบงก์กรุงเทพยังอายัดเงิน "ทักษิณ"


ไทยรัฐ - นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าว กรณีเงินฝากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ที่ฝากอยู่ในธนาคารกรุงเทพ จำนวน 18,156 ล้านบาท และถูกอายัดไว้ว่า เงินฝากดังกล่าวตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ก่อนการตอบข้อซักถามนั้น นายชาติศิริค่อนข้างมีการครุ่นคิดค่อนข้างนานก่อนตอบคำถาม


 


นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในคำถามเดียวกันว่า เงินฝากของ พ.ต.ท.ทักษิณที่อยู่ในธนาคารปัจจุบันมีอยู่เพียง 1,000,000 บาทเท่านั้น เนื่องจากมีการถอนเงินออกไปก่อนที่จะถูกอายัด ส่วนเงินที่เหลืออยู่นั้นก็ยังถูกอายัดไว้เหมือนเดิม


 


อาเซียนถกญี่ปุ่นพัฒนาพลังงานทดแทนรองรับเศรษฐกิจโต 3 เท่าใน 3 ทศวรรษหน้า


เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ - ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (4-8 สิงหาคม) ได้มีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านพลังงานจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และ อุตสาหกรรม (เมติ) แห่งประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานอาเซียนครั้งที่ 26 ซึ่งในครั้งนี้ ประเทศไทยรับหน้าที่จัดการประชุมที่กรุงเทพมหานคร


 


ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร รองโฆษกกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่าที่ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านพลังงานอาเซียน-เมติ ได้รับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการอาเซียน เอฟเฟกต์ทีฟ เอนเนอร์ยี (ASEAN Effective Energy) ในประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีข้อจำกัดในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน โดยให้ความรู้และความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่อาคาร บ้านเรือน ในประเทศเหล่านั้นในการประหยัดพลังงาน และสามารถลดปริมาณการใช้พลังงานของอาคาร บ้านเรือนใน 4 ประเทศลงได้ 10-15% ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะขยายผลโครงการไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศเหล่านั้นต่อไปในอนาคต


 


นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าของโครงการจัดตั้งศูนย์สถิติการใช้พลังงานอาเซียน และการจัดทำเอกสาร อาเซียน เอนเยอร์ยี ดีมานด์ เอาท์ลุค 2030 (ASEAN Energy Demand Outlook 2030) ซึ่งเป็นบทสรุปของการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านพลังงานอาเซียน-เมติ ครั้งที่ 9 ซึ่งจะสามารถนำออกเผยแพร่ภายในสิ้นปี 2551 นี้


 


เอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นผลงานการวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันวิศวกรรมพลังงานของญี่ปุ่น (ไออีอีเจ) และอาเซียนเซ็นเตอร์ ฟอร์ เอนเนอร์ยี เอด มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการใช้พลังงานของอาเซียนและภูมิภาคเอเชียในช่วง 30 ปีข้างหน้า โดยระบุว่าอาเซียนจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในระดับ 3.3 เท่าภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยพิจารณาจากฐานรายได้ต่อหัว (Income Per Capita) ของประเทศสมาชิกอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำ และมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก ขณะเดียวกันนั้นอัตราการใช้พลังงานของอาเซียนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับเกือบ 3 เท่าตัวจากระดับปัจจุบัน เป็นไปตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเฉลี่ยการบริโภคพลังงานทดแทนของอาเซียนยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราเฉลี่ยการบริโภคพลังงานทดแทนของประเทศอื่นๆในโลก


 


น้ำมันยังคงเป็นพลังงานหลักสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน แต่มีแนวโน้มที่จะลดการพึ่งพาลงไปและอาเซียนจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำจากเขื่อนในสปป.ลาว และ จีนตอนใต้ นอกจากนั้นยังมีการพึ่งพาพลังงานทางเลือกอื่นๆเช่นถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาเซียนมีทรัพยากรดังกล่าวอย่างอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการเชื่อมโยงแหล่งพลังงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต


 


เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านพลังงานของเมติยังได้ นำเสนอข้อมูลจากการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (จี8) ที่จัดขึ้น ณ เมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นไปเมื่อไม่นานมานี้ให้เจ้าหน้าที่ด้านพลังงานของประเทศสมาชิกได้ทราบอีกด้วย


 


เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นนำเสนอว่าที่ประชุมจี 8 ครั้งล่าสุดนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานเป็นอย่างมาก โดยในที่ประชุมจี8 ได้นำเสนอแนวคิดในการดำเนินการเกี่ยวกับพลังงาน 4 ประการประกอบไปด้วย การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกสู่บรรยากาศน้อย การลงทุนในภาคการผลิตน้ำมัน และ การคิดค้นนวัตกรรมการผลิตพลังงาน


 


กลุ่มประเทศจี 8 และญี่ปุ่นยังได้กำหนดแนวทางสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ 21 ประเภทในการผลิตพลังงานสำหรับอนาคต (21 Key Technologies for the future) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งตัวแทนจากไทยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ


 


นอกจากนั้นในกรอบการประชุม จี8+3 (จีน อินเดีย และ บราซิล) ยังได้มีความริเริ่มกรอบความร่วมมือ อินเตอร์เนชั่นแนล พาร์ตเนอร์ชิพ ฟอร์ เอฟฟิเชียนซี เอนเนอร์ยี โคโอเปอเรชัน (International Partnership for Efficiency Energy Cooperation : IPEEC) เพื่อการส่งเสริมการดำเนินการประหยัดพลังงานในระดับนานาชาติ โดยญี่ปุ่นได้ชวนให้อาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกจัดตั้งไอพีอีอีซี กรอบความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดขึ้นในการประชุมจี 8 ครั้งต่อไปที่ประเทศรัสเซีย


 


ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ด้านพลังงานของอาเซียนยังได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมมือกับอาเซียนในการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมทั้งเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งสิ่งที่อาเซียนต้องการจากญี่ปุ่นมากที่สุดคือเทคโนโลยีในหลากหลายรูปแบบที่ญี่ปุ่นมีอยู่


 


เลี้ยบตีปี๊บเมกะโปรเจ็กต์ ดึงนักลงทุน "มิ่ง" จี้BOIปรับแผน


ไทยโพสต์ - นพ.สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาประชุมเพื่อเตรียมจัดการสัมมนาโครงการเมกะโปรเจ็กต์ครั้งใหญ่   ภายหลังก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการจัดสัมมนาดังกล่าวระหว่างวันที่  12-14  ก.ย.นี้    ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์   โดยจากการประชุมร่วมกันได้กำหนดชื่องานว่า  "มั่นใจไทยแลนด์ การลงทุนเพื่อคนไทยในอนาคต"  ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าจะใช้งบประมาณ  30  ล้านบาทในการจัดงาน


 


ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอ  ครม.เห็นชอบได้ในวันที่  19  ส.ค.นี้  นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า  งานสัมมนาดังกล่าวมีทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์มูลค่า  1.7  ล้านล้านบาท  ของรัฐบาลในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า แต่ยังไม่รวมการลงทุนในส่วนของรัฐวิสาหกิจ  เช่น  บริษัท  การบินไทย  จำกัด  (มหาชน)  เป็นต้น  รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน   โดยต้องมีการประเมินมูลค่าทั้งหมดอีกครั้ง  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายได้แก่  ประชาชนทั่วไป  ภาคเอกชนของไทย  นักธุรกิจต่างประเทศที่อยู่ในไทย  และนักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่  รวมถึงผู้จัดการกองทุนต่างๆ  ด้วย  นอกจากนี้จะมีการสัมมนาทั้งรูปแบบเน้นให้ความรู้กว้างๆ  และสัมมนาเชิงลึก


 


"ที่ผ่านมาภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติยังรับรู้กันไม่กว้างพอ ว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของไทยจะเดินหน้า   ดังนั้นการจัดงานนี้จะเป็นการประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่าไทยพร้อมแล้วที่จะเริ่มลงทุน" นพ.สุรพงษ์ กล่าว


 


สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมเตรียมงาน  ประกอบด้วย  หน่วยงานภาครัฐ  ได้แก่  กระทรวงการคลัง  สำนักงบประมาณ  กระทรวงการต่างประเทศ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.)  กระทรวงคมนาคม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข  รัฐวิสาหกิจ  ได้แก่  การรถไฟแห่งประเทศไทย  (ร.ฟ.ท.)  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.)  บริษัท  ท่าอากาศยานไทย  จำกัด  (มหาชน)  บริษัท  การบินไทย  จำกัด  (มหาชน)  และบริษัท  ปตท.จำกัด  (มหาชน)  และภาคเอกชน  ได้แก่  สมาคมธนาคารไทย  และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย


 


ด้านนายมิ่งขวัญ  แสงสุวรรณ์  รมว.อุตสาหกรรม  กล่าวภายหลังมอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  (บีโอไอ)  ว่า  บีโอไอจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การลงทุนด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศมากขึ้น  และอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนา เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตและวิจัยยา  สร้างบุคลากรทางการแพทย์  โดยกำหนดแผนปฏิบัติการหาผู้ลงทุนในต่างประเทศ  เช่น  ในประเทศเศรษฐกิจใหม่  จีน  เกาหลี  และญี่ปุ่น


 


ทั้งนี้  อุตสาหกรรมที่เข้าลงทุนจะมีการจัดโซนนิ่ง  แยกสัดส่วนระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรและพื้นที่ที่อยู่อาศัยเพื่อไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม  โดยพิจารณาภาพรวมทั้งประเทศและสร้างนิคมอุตสาหกรรมพิเศษตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน


 


นายสาธิต ชาญเชาว์กุล เลขาธิการบีโอไอ  กล่าวว่า ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 7  เดือนแรกลดลง  6%  จาก  257,000  ล้านบาทปีก่อน  เหลือ  242,000  ล้านบาท  แต่มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจาก 724 โครงการ เป็น  749  โครงการ  ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาวะถดถอยของการลงทุนในประเทศ  แต่เป็นการคัดเลือกอุตสาหกรรมที่ตรงตามความต้องการและเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศได้  เช่น  เหล็ก  ยังเชื่อว่ายอดปีนี้ไม่ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้  6  แสนล้านบาท


 


 






คุณภาพชีวิต


 


ชาวเกียกกายชุมนุมค้านไม่เอารัฐสภาแห่งใหม่


เว็บไซต์คมชัดลึก - นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เข้าร่วมรับฟังและตอบคำถามประชาชนต่อกรณีการใช้พื้นที่ย่านเกียกกายในการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีประชาชนและข้าราชการเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 สิงหาคม ที่ห้องประชุมโรงเรียนขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ย่านเกียกกาย กทม.


 


ชาวบ้านในย่านเกียกกายและข้าราชการที่ได้รับผลกระทบได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกคัดค้าน ใจความระบุว่า การจะใช้พื้นที่ย่านเกียกกายสร้างรัฐสภาแห่งใหม่นั้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 12,620 คน ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการ ต้องย้ายไปทำงานที่วัดสลัก จ.ปทุมธานี ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา อาทิ โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ โรงเรียนช่างกลขนส่งทหารบก และโรงเรียนโยธินบูรณะ เป็นต้น หากต้องย้ายโรงเรียนและย้ายสถานที่ทำงานก็จะได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน


 


นายนิคมกล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมในการย้ายและอพยพประชาชนไปยังพื้นที่แห่งใหม่ แต่การย้ายผู้คนออกจากพื้นที่คงไม่ทำภายใน 1-2 เดือนนี้ อย่างแน่นอน แต่อาจจะใช้พื้นที่บางส่วนที่ติดริมแม่น้ำพระยา เพื่อวางศิลาฤกษ์เท่านั้น สำหรับพื้นที่อื่นๆ จะย้ายภายใน 1-2 ปี เชื่อว่าประชาชนจะไม่เดือดร้อนมากนัก แต่คงไม่มีการพิจารณาพื้นที่แห่งใหม่ เพื่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะ ครม.อนุมัติให้ใช้พื้นที่นี้แล้ว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายนิคมชี้แจงเสร็จแล้ว ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนซักถาม โดยคำถามส่วนใหญ่ถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงเลือกพื้นที่ย่านเกียกกาย และทำไมรัฐบาลจึงไม่ไปสร้างอาคารในพื้นที่ที่ประชาชนไม่เดือดร้อน ทำให้บรรยากาศการประชุมค่อนข้างตึงเครียด


 


"ก่อนที่ ครม.จะอนุมัติให้ใช้สถานที่นี้ ผู้ใหญ่ได้เข้ามาชี้แจงแล้ว และยืนยันว่าทุกคนจะมีที่อยู่ที่ดีกว่าเดิม แต่คงไม่สามารถเลือกใช้สถานที่อื่นในการก่อสร้างได้แล้ว อีกทั้งมีการศึกษาอย่างแน่ชัดแล้วว่า เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ทั้งด้านพื้นที่และประวัติศาสตร์" นายนิคมกล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายนิคมกำลังจะเดินทางกลับนั้น ชาวบ้านในละแวกดังกล่าวที่มาชุมนุมคัดค้าน ได้พากันส่งเสียงโห่ขับไล่ พร้อมทั้งขว้างปาขวดน้ำ บางรายใช้มือทุบรถยนต์ของนายนิคมจนเป็นรอยบุบ อย่างไรก็ตาม นายนิคมสามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย


 


 






ต่างประเทศ


 


21เมืองสหรัฐคุมปล่อยก๊าซสู้ภาวะโลกร้อน


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - เมือง 21 แห่งในสหรัฐ รวมถึงนครนิวยอร์ก และเมืองนิวออร์ลีนส์ ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (10 ส.ค.) ว่า จะเริ่มใช้มาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นความพยายามร่วมกัน เพื่อยุติและเอาชนะปัญหาโลกร้อน


 


21 เมืองดังกล่าวจะใช้ระบบตรวจวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแบบเดียวกับที่บริษัท 1,300 แห่งทั่วโลกที่เป็นอาสาสมัครเปิดเผยตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สาธารณชนได้รับรู้


 


นายพอล ดิ๊กคินสัน หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คาร์บอน ดิสโคลสเชอร์ โปรเจค (ซีดีพี) ระบุว่า 70% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาทั่วโลกนั้น เป็นก๊าซที่ปล่อยออกมาจากเมืองใหญ่ ถ้าเมืองใหญ่เหล่านี้ยังไม่ยอมให้ตรวจวัดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาโลกร้อนได้


 


ทั้งนี้ ซีดีพี ซึ่งก่อตั้งในปี 2543 ที่กรุงลอนดอน เป็นตัวแทนของสถาบันการลงทุน 385 แห่งทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันเป็นจำนวนมากกว่า 57 ล้านล้านดอลลาร์


 


โครงการครั้งนี้ ซีดีพีจะร่วมมือกับไอซีแอลอีไอ โลคัล กัฟเวอร์เมนท์ ฟอร์ ซัสเทนอะบิลิตี้ องค์กรที่มีสมาชิกเป็นรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐราว 450 แห่ง และมีจุดมุ่งหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในท้องถิ่น


 


เมืองทั้ง 21 แห่งจะต้องเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการปฏิบัติงาน อาทิเช่น แผนกดับเพลิง แผนกรถพยาบาลฉุกเฉิน ตำรวจ อาคารสำนักงาน รวมถึงพาหนะและบริการอื่นๆ โดยซีดีพีจะนำตัวเลขดังกล่าวไปประเมิน และเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อนและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับทั้งเมือง


 


นอกจากนี้ ซีดีพียังจะนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียง


 


ระเบิดถล่มซินเจียงรอบใหม่รับโอลิมปิค


โพสต์ทูเดย์ - กลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดนและมือระเบิดฆ่าตัวตายได้เปิดฉากก่อเหตุระเบิด 12 แห่งในเมืองคูฉา ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ของจีน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย โดยถือเป็นการโจมตีครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในเขตปกครองตนเอง ซินเจียง หลังจากที่เกิดเหตุโจมตีสถานีตำรวจเมื่อวันที่ 4 สค. ที่ผ่านมา


 


สำนักข่าวซินหัว ของจีน รายงานว่า กลุ่มผู้โจมตีได้ปาระเบิดที่ผลิตเองไปยังพื้นที่ต่างๆ ในเมืองคูฉา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งราว 3,000 กิโลเมตร ในช่วงก่อนและประมาณรุ่งสาง


 


"ผู้ก่อเหตุโจมตีครั้งนี้ ได้ขับรถแท็กซี่ มายังสำนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ทำการธุรกิจและอุตสาหกรรม และพื้นที่ต่างๆ ก่อนที่จะปาระเบิดที่ผลิตไปยัง เป้าหมาย ซึ่งการโจมตีดังกล่าวยังได้สร้างความเสียหายให้กับรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คันอีกด้วย" ซินหัว ระบุ


 


สื่อแดนมังกรยังรายงานเพิ่มเติมว่า  มือระเบิดพลีชีพ 4 คนเสียชีวิตในการโจมตีสำนักงานของรัฐ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต  1 คน ขณะที่ผู้ก่อความรุนแรงอีก 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต


 


ทางการท้องถิ่นของเมืองคูฉา ปฏิเสธที่จะเปิดเผยจำนวนของผู้เสียชีวิต และสาเหตุของการเสียชีวิต โดยกล่าวเพียงว่า การโจมตีดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับกองกำลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดน


 


ก่อนหน้านี้กลุ่มก่อการร้ายในประเทศ ซึ่งรวมถึงกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเขตปกครองตนเองซินเจียง ได้ขู่จะทำการโจมตีครั้งใหญ่ในระหว่างการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก


 


ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างคำกล่าวของ หวังเหว่ย รองประธานคณะกรรมาธิการจัดงานแข่งขันโอลิมปิกของกรุงปักกิ่ง ไม่เชื่อว่า เหตุโจมตีครั้งนี้จะ ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยจีนเตรียมจะดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้นในพื้นที่ที่หวั่นอาจจะถูกโจมตี


 


รัสเซียโวศึกใกล้ยุติ-ผู้นำจอร์เจียลงนามสัญญาหยุดยิง


เว็บไซต์ไทยรัฐ - สงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย สืบเนื่องจากกรณีพิพาทเหนือแคว้นเซาธ์ออสเซเตีย ซึ่งต้องการแยกเอกราชโดยมีรัสเซียหนุนหลัง ยังปะทุหนักเป็นวันที่ 4 เมื่อ 11 ส.ค. แม้จอร์เจียจะถอนทหารออกจากเซาธ์ออสเซเตียเกือบทั้งหมดรวมทั้งกรุงสคินวาลี แล้ว โดยจอร์เจียอ้างว่าเครื่องบินรบรัสเซียกว่า 50 ลำบุกทิ้งระเบิดถล่มทั่วจอร์เจียตั้งแต่คืน 10 ส.ค. เป้าหมายโจมตีรวมทั้งเรดาร์ที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงทบิลิซี เมืองกอรี และท่อส่งน้ำมัน รวมทั้งท่อส่งไปยังเมืองท่าเซย์-ฮานในตุรกี แต่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่ยอมรับว่าเครื่องบินรบของตนถูกยิงตกอีก 2 รวมเป็น 4 ลำ ทหารเสียชีวิตอีก 3 นายจากการสู้รบ และอ้างว่ายิงเรือรบของจอร์เจียจม 1 ลำ จับสายลับจอร์เจียที่วางแผนโจมตีรัสเซียได้ 10 คน


 


รัสเซียซึ่งปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงและขอเจรจาสันติภาพของจอร์เจียยังเตรียมส่งทหารอีก 9,000 นาย ยานหุ้มเกราะ 350 คัน เข้าสู่แคว้นอับคาเซีย ดินแดนกบฏแบ่งแยกดินแดนอีกแห่งในจอร์เจีย และขีดเส้นตายให้ทหารจอร์เจียวางอาวุธภายใน 3 ชั่วโมง ด้านประธานาธิบดีดมิทรี เมียดแวเดียฟ แถลงว่า "ปฏิบัติการหลัก" ของรัสเซียในเซาธ์ออสเซเตียใกล้ยุติแล้ว หลังยึดกรุงสคินวาลีและขับไล่ทหารจอร์เจียสำเร็จ แต่ไม่มีแผนจะส่งทหารบุกเข้าจอร์เจีย รัสเซียยังแฉว่ามีทหารต่างชาติเข้าไปช่วยจอร์เจียรบด้วย แต่ไม่ระบุว่าเป็นชาติใด ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากการสู้รบสูงกว่า 2,000 ศพ มีผู้อพยพลี้ภัยกว่า 40,000 ศพ แต่จอร์เจียระบุยอดผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 92-150 ศพ


 


นายแบร์นาร์ด คุชเนอร์ รมว.ต่างประเทศฝรั่งเศสซึ่งเข้าไปไกล่เกลี่ยศึกในจอร์เจียเผยว่า ประธานาธิบดีมิฮาอิล ซาคาสวิลี แห่งจอร์เจีย ยอมรับข้อเสนอเกือบทั้งหมดของสหภาพยุโรป (อียู) และยอมลงนามให้สัญญาว่าจะหยุดยิงตามข้อเสนอของอียู คุชเนอร์ยังกล่าวหาว่าสหรัฐฯเป็นส่วนหนึ่งของกรณีพิพาทนี้ ส่วนซาคาสวิลีชี้ว่ารัสเซียมีเจตนายึดจอร์เจียเพื่อฮุบท่อส่งพลังงานผ่านภูมิภาคคอเคซัสและเปลี่ยนรัฐบาลของตนที่ฝักใฝ่ตะวันตก เขายังอ้างว่าจอร์เจียสังหารทหารรัสเซียได้หลายร้อยนาย ยิงเครื่องบินรัสเซียตกอย่างน้อย 80 ลำ ด้านประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ เจรจากับปูตินขณะไปร่วมชมกีฬาโอลิมปิกในจีนและประณามการโจมตีของรัสเซียว่าเป็นสิ่งที่ "ยอมรับไม่ได้" และ "เกินเหตุ"


 

รมว.ต่างประเทศของกลุ่มจี 7 เปิดประชุมฉุกเฉินเรื่องวิกฤติเซาธ์ออสเซเตียใน 11 ส.ค. ส่วนอียูประกาศมอบเงิน 1 ล้านยูโรช่วยเหลือช่วยเหยื่อสงครามในเซาธ์ออสเซเตีย ก่อนที่ รมว.ต่างประเทศอียูจะประชุมใน 13 สค. ด้านสายการบินของอาเซอร์ไบจาน ออสเตรีย และตุรกีสั่งระงับเที่ยวบินสู่กรุงทบิลิซี และรัฐบาลโปแลนด์นำเครื่องบินไปอพยพคนของตน 95 คน จากจอร์เจีย แต่อิสราเอลเผยว่าจะไม่หยุดส่งอาวุธให้จอร์เจีย ขณะที่ชาวจอร์เจียหลายพันคนเดินขบวนในกรุงทบิลิซีประท้วงการโจมตีของรัสเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net