Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

*ชื่อบทความเดิม: ปราสาทตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา กับดักความอ่อนแอทางปัญญาด้านวัฒนธรรม


 


ประภัสสร์  ชูวิเชียร


 



 


หลังจากกรณีเกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหารซึ่งกัมพูชาได้ยื่นเสนอการเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเพียงลำพังและฝ่ายไทยได้ยอมรับอย่างเป็นทางการ จนเกิดความตึงเครียดในระหว่างสองฝ่ายมาแล้วนั้น กระแสเกี่ยวกับพื้นที่ตามแนวชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ตั้งโบราณสถานซึ่งเป็นปราสาทหลายแห่งได้รับการปลุกเร้าจากสื่อขึ้นอย่างเกรียวกราวว่ามีการเรียกร้องและล่วงล้ำเขตแดนเพื่ออ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวจากประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ปราสาทตามเมือนธม จ.สุรินทร์  ปราสาทสด็กก็อกธมและล่าสุดคือปราสาทเขาน้อยสีชมพูในจังหวัดสระแก้วเช่นเดียวกัน


 


การที่สื่อนำเสนอภาพลักษณ์การเรียกร้องเพื่อถือครองพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาดูเหมือนจะเป็นการเร่งเร้าให้ความคิดเกี่ยวกับเพื่อนบ้านดูจะเป็นไปในทางไม่ดีมากขึ้น ทั้งนี้ตัวแทนของพื้นที่ที่ถูกยกนำมาเป็นประเด็นคือโบราณสถานที่เป็นปราสาทอันสร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมร


 


ก่อนอื่นต้องเป็นที่ยอมรับกันก่อนว่าในอดีตนั้นอิทธพลทางวัฒนธรรมของเขมรจากศูนย์กลางเมืองพระนคร(ปัจจุบันคือเมืองเสียมเรียบ) ในกัมพูชามีบทบาทในดินแดนแถบนี้ค่อนข้างสูง มีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมเข้ามาในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันโดยทิ้งหลักฐานทางด้านโบราณคดีเอาไว้เป็นจำนวนมาก  บนเส้นทางการคมนาคมจากเมืองพระนครมายังหัวเมืองต่างๆนั้นปรากฏการสร้างศาสนสถานที่เป็นปราสาทเอาไว้เพื่อเป็นจุดพักหรือสร้างทับบนชุมชนเก่าแก่ที่มีมาก่อน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตามเส้นเขตแดนตามธรรมชาติ (อย่างคร่าวๆที่คนโบราณได้กำหนดไว้เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินทางไม่ใช่พรมแดนแบบที่รู้จักกันในปัจจุบัน) จึงพบปราสาทเหล่านี้ตั้งอยู่กระจายกันไปตามภูมิประเทศของชายแดนไทย-กัมพูชาที่มีลักษณะแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณภาคอีสานตอนล่างแถบเทือกเขาพนมดงรักที่ทางฝั่งไทยเป็นภูเขาลาดเอียงขึ้นไปทางทิศใต้ในขณะที่ทางฝั่งกัมพูชาจะเป็นหน้าผา และมีช่องเขาหรือทางราบที่ใช้เดินทางติดต่อกันเช่น


 


การคมนาคมเช่นนี้มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากการที่ชาวไทยและชาวกัมพูชาสามารถเดินทางผ่านเส้นทางดังกล่าวมาพบปะและแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันได้ เส้นทางใดเป็นเส้นทางใหญ่พบพื้นราบและมีความสะดวกก็จะได้รับความนิยมใช้อย่างคับคั่ง เช่น เส้นทางช่องจอม หรือเส้นทางอรัญประเทศ-คลองลึก-ปอยเปต เป็นต้น


 


ปราสาทหลายแห่งที่สร้างอยู่บนบริเวณตามแนวชายแดนไทยและกัมพูชาบนเส้นทางเหล่านี้ล้วนตอบสนองการเดินทางติดต่อระหว่างคนในสองพื้นที่มาช้านาน เนื่องจากการเดินทางในสมัยโบราณจะต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน ปราสาทที่สร้างขึ้นตามเส้นทางจะเป็นจุดหมายสังเกตให้ทราบถึงระยะทางระหว่างชุมชนได้ด้วย ปราสาทเหล่านี้บางแห่งมีอายุสมัยที่เก่าแก่จนถึงสมัยก่อนเมืองพระนคร เช่นปราสาทเขาน้อยสีชมพู จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก (พุทธศตวรรษที่ 12) ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยเมืองพระนคร เช่นปราสาทตาเมือนธม ซึ่งมีความสำคัญคือการสลักศิวลึงค์ขึ้นจากหินธรรมชาติบนภูเขาที่เรียกกันว่า "สยัมภูวลึงค์" และบางแห่งยังพบหลักฐานที่แสดงความสำคัญของเส้นทางและชุมชนที่ทางเมืองพระนครอันเป็นศูนย์กลางเองก็ไม่พบ เช่น จารึกจากปราสาทสด็กก็อกธม ซึ่งกล่าวถึงราชวงศ์และสายตระกูลพราหมณ์ของกัมพูชาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16


 


หันกลับมามองที่ปราสาทเขาพระวิหาร ด้วยหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันล้วนพบว่าแม้จะมีการสร้างพบภูมิประเทศที่สอดคล้องกับชุมชนบนพื้นที่ราบสูงบนเขาพนมดงรัก แต่ก็มีความสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่บนพื้นราบด้านล่างลงไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นงานช่างที่อาศัยรูปแบบจากศูนย์กลางในเมืองพระนคร อีกทั้งยังตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมโบราณจากเมืองพระนครสู่ลุ่มน้ำมูลในภาคอีสานของไทย


 


ส่วนปราสาทหลังอื่นๆที่มีที่ตั้งอยู่บนแนวชายแดน ซึ่งเป็นตกเป็นกระแสที่ทราบในปัจจุบัน ได้แก่ปราสาทตามเมือนธม จ.สุรินทร์ ปราสาทสด็กก็อกธม และปราสาทเขาน้อยสีชมพู จ.สระแก้ว นอกจากนี้แล้วยังมีปราสาทอีกหลายแห่งที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้แนว เช่น ปราสาททัพเสียม จ.สระแก้ว และเร็วๆนี้ได้มีการค้นพบปราสาทอีกแห่งในบริเวณใกล้ชายแดนกัมพูชา คือปราสาทตาควาย กิ่ง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์  นอกจากนี้ ในแถบ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ก็ยังได้พบโบราณสถานที่เป็นปราสาทอยู่ในสภาพชำรุดหลายแห่งตั้งอยู่ในป่าลึกของเทือกเขาพนมดงรัก  แน่นอนว่าที่ตั้งของปราสาทเหล่านี้คงจะอยู่บนเส้นทางคมนาคมโบราณที่ติดต่อระหว่างที่ราบต่ำในกัมพูชาและที่ราบสูงในภาคอีสานของไทย และมีที่ตั้งตามเส้นพรมแดนในเขตประเทศไทยอย่างชัดเจน


 


อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับตัวปราสาทในอดีตไม่อาจอ้างอิงอยู่กับเส้นพรมแดน แต่ในเมื่อเส้นพรมแดนถูกขีดขึ้นเพื่อระบบระเบียบในการบริหารตามโลกในปัจจุบัน หลักฐานทางวัฒนธรรมเหล่านี้จึงควรตั้งอยู่บนความเข้าใจทางวัฒนธรรมร่วมกัน โดยยอมรับและเคารพสิทธิเหนืออาณาเขตซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งในความเป็นจริง ประชาชนทั่วไปเองไม่เคยมีเส้นพรมแดนต่อกัน เห็นได้จากการติดต่อค้าขายที่มีอยู่เป็นประจำบนพื้นที่และเส้นทางดังกล่าว เมื่อภาครัฐและสื่อมุ่งจุดแต่ประเด็นด้านพื้นที่โดยไม่เคยสร้างความเข้าใจด้านวัฒนธรรมขึ้น  ความขัดแย้งที่อยู่บนพื้นฐานความไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจนับวันก็จะลุกลามใหญ่โตจนยากที่จะรื้อฟื้นได้อีก


 


หลักฐานทางด้านโบราณคดีคือปราสาทที่ตั้งอยู่ใกล้แนวชายแดนนี้ ผู้มีความอุดมคติทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวกัมพูชาย่อมรู้ดีว่าคือองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลศึกษาเพื่อเข้าใจซึ่งกันและกัน  กระแสที่ถูกทำให้มีขึ้นมาไม่ว่าจะหวังผลด้านใดย่อมให้ผลเสียในระยะยาว และเป็นผลเสียที่ขาดพื้นฐานด้านความเข้าใจอย่างเสมอภาคกันทางวัฒนธรรมด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net