Skip to main content
sharethis



 







 


 


"ถ้าคนไทยใหญ่ทำงานกู้ชาติกันทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ทำงานที่ไหนก็ตาม ขอให้ทำงานเพื่อชาติ จะทำให้การการกู้ชาติเกิดขึ้นได้ง่าย จะคอยแต่ชาวต่างชาติมาช่วยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเขาอาจไม่เข้าใจอุดมการณ์ของเรา ไม่สามารถช่วยเราได้ทุกเรื่อง"


 


"ทุกวันนี้ ในประเทศพม่ายังคงถูกปิดกั้นทางการศึกษาอยู่เหมือนเดิม ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ยิ่งถ้าอยู่ในเขตที่มีการสู้รบ หรือในเขตที่มีทหารพม่าเข้ามาคุมเช่นในพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐฉาน กะเหรี่ยง กะเรนนี ก็ยังคงมีการขับไล่ชาวบ้านตลอดมีการบังคับย้ายถิ่นฐานมากกว่าแปดแสนคน...และจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีการไปบังคับให้ย้ายอีก"


 


"เจ้ายอดศึก" ยังได้ฝากบอกไปยังคนไทยใหญ่ที่อยู่อาศัยอยู่กระจัดกระจายในหลายๆ พื้นที่ว่า "อยากฝาก 3 ประเด็น คือ 1.ไทยใหญ่อยู่ที่ไหนขอให้สามัคคีกัน ให้กลับมารักชาติ กู้ชาติ 2.ไทยใหญ่อยู่ที่ไหน ก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎของประเทศนั้น ไม่ต้องเป็นผู้ร้าย และ 3.ไทยใหญ่อยู่ที่ไหนให้หาความรู้เยอะ ๆ ถ้ามีโอกาสก็ขอให้กลับมาพัฒนาประเทศเราต่อไป"


 


"ความหวังก็คือ เวลาที่เราเห็นว่าเยาวชนหรือว่ากลุ่มของผู้หญิงหลายกลุ่ม กลุ่มของชุมชนที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือว่าอะไรก็ตาม เราเห็นว่าตรงนี้คือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างนี้ก็จะอยู่ไปกับอนาคตด้วย"


 


 


 


 


อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นนั่นแหละว่า เด็กกำพร้าบนดอยไตแลง ไม่ใช่มีแค่เพียงเด็กชาวไทยใหญ่เท่านั้น หากยังมีเด็กเผ่าปะหล่อง ปะโอ จากเขตรัฐฉาน ซึ่งทุกคนล้วนมีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกันมากนัก หมู่บ้านถูกรื้อ ยุ้งข้าวถูกเผา พ่อแม่ถูกทหารพม่า ปล้น ฆ่า ข่มขืน ทุกคนต้องหนีตายกระเซอะกระเซิง พากันหนีข้ามน้ำ ข้ามดอย กระทั่งมาพักอยู่รวมกันที่นี่


 


แน่นอน ดอยไตแลงยามนี้ จึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงฐานทัพกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ที่ใครๆ รู้จักกันเท่านั้น


หากยังมีชุมชนหมู่บ้าน "ว่านป่ายเพ" (หมู่บ้านคนทุกข์) วัด โรงพยาบาลขนาดยี่สิบเตียง โรงเรียนเด็กกำพร้า และบ้านพักเด็กกำพร้า ตั้งอยู่เรียงรายกันไปตามสันดอย


 


สาเหตุที่พี่น้องชาวไทยใหญ่ต้องมาอาศัยอยู่รวมกันบนดอยไตแลง แห่งนี้ ก็เพราะว่าจริงๆ แล้ว พวกเขานั้นอยากหนีภัยสงคราม ข้ามน้ำข้ามดอยเข้ามาหาที่พึ่งหลบภัยในฝั่งไทย แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทางการไทยไม่ยอมให้มีค่ายผู้อพยพ หรือค่ายผู้ลี้ภัยในไทย นั่นทำให้พี่น้องชาวไทยใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ กำพร้า เด็กผู้หญิง คนชรา รวมทั้งคนพิการ จำต้องมีชีวิตอยู่ตามสันดอยกลางป่าลึกบนดอยไตแลงแห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ปัจจุบัน มีนักเรียนที่เรียนหนังสือในโรงเรียนเด็กกำพร้าทั้งหมด 250 คน เป็นผู้หญิง 72 คนที่เหลือเป็นผู้ชาย 175 คน


 


"ครูจายเมืองหอบ" ผู้ประสานงานด้านวิชาการ (Academic Coordinator) บนดอยไตแลง ได้บอกย้ำให้เราฟังว่า การศึกษาคืออีกแนวทางหนึ่งของการกู้ชาติไทยใหญ่ และไม่ใช่การศึกษาเฉพาะภายในโรงเรียนเด็กกำพร้าบนดอยไตแลงเท่านั้น แต่หมายถึงทั่วทุกหนแห่งที่พี่น้องชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่ ในป่า ในเขตชายแดน ในเมืองไทย หรือในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ


 


"ถ้าคนไทยใหญ่ทำงานกู้ชาติกันทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ทำงานที่ไหนก็ตาม ขอให้ทำงานเพื่อชาติ จะทำให้การการกู้ชาติเกิดขึ้นได้ง่าย จะคอยแต่ชาวต่างชาติมาช่วยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเขาอาจไม่เข้าใจอุดมการณ์ของเรา ไม่สามารถช่วยเราได้ทุกเรื่อง"


 


สอดคล้องกับ "พันเอกเจ้ายอดศึก" ผู้บัญชาการกองบัญชาการสูงสุด กองทัพกู้ชาติไทยใหญ่ (Shan Stat Army - SSA) ได้บอกกับเราเนื่องในวันชาติรัฐฉาน เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า การศึกษาและวัฒนธรรม เป็นสิ่งจำเป็นต้องอนุรักษ์และฟื้นฟู ให้ทุกคนมีความสำนึกในความเป็นคนไทยใหญ่


 


"อย่างการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่เหล่านี้ เราจะฟื้นฟูตรงนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อจะทำให้เยาวชนลูกหลานได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ของเรา ถ้าได้รู้ ได้เห็น ในสิ่งที่เป็นของเรา เขาจะได้รักชาติ แต่ถ้าเราไม่ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ความรักชาติก็จะจืดจางไป ถ้าประชาชน เยาวชน ไปอยู่เมืองไทย ได้เห็นวัฒนธรรมของเมืองไทย อยู่อเมริกา เห็นของอเมริกา อีกหน่อยก็ลืมของเรา ลืมชาติ ความรักชาติก็จะไม่มี"


 


"เราอยากจะบอกประชาคมโลกว่า เราเป็นคน เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งในโลก เรามีประเทศ มีวัฒนธรรมของเรา"


 


"เจ้ายอดศึก" ยังได้ฝากบอกไปยังคนไทยใหญ่ที่อยู่อาศัยอยู่กระจัดกระจายในหลายๆ พื้นที่ว่า "อยากฝาก 3 ประเด็น คือ 1.ไทยใหญ่อยู่ที่ไหนขอให้สามัคคีกัน ให้กลับมารักชาติ กู้ชาติ 2.ไทยใหญ่อยู่ที่ไหน ก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎของประเทศนั้น ไม่ต้องเป็นผู้ร้าย และ 3.ไทยใหญ่อยู่ที่ไหนให้หาความรู้เยอะ ๆ ถ้ามีโอกาสก็ขอให้กลับมาพัฒนาประเทศเราต่อไป"


 


 


เช่นเดียวกับอาจารย์ "คืนใส ใจเย็น" จาก สำนักข่าวไทยใหญ่ ( S.H.A.N) ซึ่งถือได้ว่า สำนักข่าวไทยใหญ่ เป็นการขับเคลื่อนภาคประชาชน เป็นขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนอีกองค์กรหนึ่งของชาวไทยใหญ่ ที่ทำงานโดยการสื่อสารกับสังคมโลก ได้บอกเล่าให้ฟังว่า สถานการณ์การต่อสู้ของพี่น้องไทยใหญ่ ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นไม่มีหวังหรือไม่มีทางออก


 


"แม้ว่ามันจะมีช่วงหนึ่งที่มันเลวร้าย แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีกองทัพกู้ชาติไทยใหญ่(SSA) ของเจ้ายอดศึก กับกลุ่ม SWAN ของแม่หญิงไทยใหญ่ก็มีบทบาทโดดเด่นไม่แพ้กัน นี่ก็เป็นอาวุธที่แหลมคมอีกชนิดหนึ่ง" อาจารย์คืนใสบอกเล่าให้ฟังในวันนั้น 


 


เช่นเดียวกับ "จ๋ามตอง" หนึ่งในผู้ก่อตั้ง "เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่" (Shan Women's Action Network - SWAN) ที่บอกว่า แนวทางการต่อสู้ มันไม่ใช่มีวิธีเดียว แล้วเราคิดว่าการต่อสู้มันทำให้เป็นการเปิดเวทีที่กว้างมากขึ้น มันเป็นการต่อสู้ที่ไร้พรมแดน เป็นการต่อสู้ที่ไม่มีพรมแดน ที่เราสามารถนำเรื่องของการต่อสู้ อย่างเช่นโดยเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งคิดว่ามันจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้น การต่อสู้ของเรา เราก็ต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมหรือให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ


 


จ๋ามตอง บอกอีกว่า ทุกวันนี้ ในประเทศพม่ายังคงถูกปิดกั้นทางการศึกษาอยู่เหมือนเดิม ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ยิ่งถ้าอยู่ในเขตที่มีการสู้รบ หรือในเขตที่มีทหารพม่าเข้ามาคุมเช่นในพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐฉาน กะเหรี่ยง กะเรนนี ก็ยังคงมีการขับไล่ชาวบ้านตลอดมีการบังคับย้ายถิ่นฐานมากกว่าแปดแสนคน


 


"และจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีการไปบังคับให้ย้ายอีก จึงทำให้คนเหล่านี้เขาก็ไม่ต้องไปสนใจอยู่แล้วเรื่องการศึกษา เพราะสิ่งแรกก็คือต้องนึกถึงการเอาตัวรอด ต้องมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ว่าจะอยู่ไปยังไง เพราะฉะนั้น การศึกษาจะไม่มีเลย" 


 


ดังนั้น ในเมื่อไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ในประเทศไทย เธอและอีกหลายกลุ่มจึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ เปิดโครงการฝึกอบรมทักษะชีวิตเพื่อรองรับเด็ก ๆ ที่พ่อแม่หนีข้ามมาเป็นแรงงาน แล้วไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ก็เข้าไปส่งเสริมให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้อ่านออกเขียนได้


 


"นอกจากนั้น อีกระดับที่พยายามทำตอนนี้ ก็คือ อยากจะสอนเยาวชนที่เขาจะสามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เช่น การสื่อสารด้านภาษาอังกฤษ หรือว่าให้มีการเรียนรู้เรื่องสังคมศาสตร์ต่าง ๆ เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือว่าเรื่องใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน การเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งการหัดถ่ายรูป การใช้กล้องถ่ายวิดีโอเพื่อที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปใช้เก็บข้อมูลได้"


 


จ๋ามตอง ยังย้ำให้ฟังอีกว่า กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการสร้างเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองในอนาคตด้วย


 


"อยากให้เยาวชนมีส่วนร่วมและมีความรู้ไม่ใช่เฉพาะเขา แต่เขายังสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับนี้ไปแบ่งปันให้คนอื่นได้ ถ้าเขาเป็นครูเขาก็สอนคนอื่นได้อีกหลายคน ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายที่หลายคนที่เขาเริ่มเป็นครูและเราเห็นได้ชัดว่าเยาวชนมีความสามารถมากขึ้น และมีเยาวชนหลายร้อยคนที่หันมาสนใจที่จะทำงานเพื่อชุมชนและทำงานเพื่อที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะเรื่องภาษา การสื่อสารขั้นพื้นฐาน"


 


จ๋ามตอง ยังมีความหวังว่า สักวันหนึ่ง แผ่นดินรัฐฉานจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง!


 


"ความหวังก็คือ เวลาที่เราเห็นว่าเยาวชนหรือว่ากลุ่มของผู้หญิงหลายกลุ่ม กลุ่มของชุมชนที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือว่าอะไรก็ตาม เราเห็นว่าตรงนี้คือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างนี้ก็จะอยู่ไปกับอนาคตด้วย"


 


เธอบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่พูดว่าอยากได้การเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องแสดงให้สังคมโลกเห็นว่า เรายังมีความพยายามที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพยายามหาความรู้เพิ่มเติมด้วย เพื่อที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า


 


"...มันเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับตอนนี้ และสำหรับอนาคตด้วย" เธอกล่าวด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาและเปี่ยมหวัง


 


 


 


อ่านตอนแรก:


รายงาน: โรงเรียนเด็กกำพร้าบนดอยไตแลง...อีกความหวังหนึ่งของการกู้ชาติไทยใหญ่ (1)


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net