Skip to main content
sharethis


   


เมื่อวันที่ 14 ส.ค.51 น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน


 



น.พ.สุรพงษ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าที่ประชุมได้พิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในระบบบริหารสุขภาพ ระยะ 4 ปี ตั้งแต่ปี 252-2555 วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน เนื่องจากช่วง 7 ปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ด้วยการจัดทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน เป็นการพัฒนาในเชิงปริมาณ


 



เพิ่มค่าตอบแทนบริการถึงเที่ยงคืน


ขณะนี้รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนลงทุนด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุม การให้บริการสุขภาพทั้งระบบของประเทศอย่างมีบูรณาการ ตั้งแต่เพิ่มศูนย์แพทย์ชุมชน ในระดับกิ่งอำเภอ และอำเภอที่ขาดแคลน ไปจนถึงการพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากรด้านสาธารณสุข และการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล


 



ทั้งนี้ ตามแผนที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ จะตั้งศูนย์แพทย์ชุมชน ในกิ่งอำเภอ และอำเภอ ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลทั่วประเทศเพิ่มเติมประมาณ 1,000 แห่ง เพื่อให้มีแพทย์และเวชพยาบาลปฏิบัติคอยให้บริการประชาชน ส่วนโรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลจังหวัด มีการพัฒนาการให้บริการ ให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย


 



ส่วนโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จะมีการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจ เพิ่มเติม 60 แห่ง ศูนย์โรคมะเร็ง 30 แห่ง และศูนย์อุบัติเหตุอีก 60 แห่ง


 



ผลิตหมอ-พยาบาลกว่าหมื่นคน


นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาบุคลากร ด้วยการเพิ่มการผลิตแพทย์เพิ่มเติม  2,000 คน และเวชพยาบาลอีก 10,000 คน อีกทั้งยังมีแนวคิดการขยาย เวลาการให้บริการจากเดิม 16.30 น. เป็น 24.00 น. เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น โดยจะเพิ่มค่าตอบแทนให้กับแพทย์และพยาบาล



ส่วนการลงทุนระบบสารสนเทศด้านสาธารณสุข เพื่อให้ข้อมูลของโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีอยู่เชื่อมโยงกัน ให้สามารถดูแลข้อมูลผู้ใช้บริการได้อย่างเป็นระบบ สามารถนัดหมายแพทย์ล่วงหน้าได้


 



"รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ ตัวเลขการลงทุน 8 หมื่นล้านบาท จะเน้นความคุ้มค่าการลงทุน เป็นผลประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน  ผมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนรายละเอียด เสนอกลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์" น.พ.สุรพงษ์ กล่าว


 



ยันใช้เงินกู้ใน-ต่างประเทศ 8 หมื่นล้าน


น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับวงเงินลงทุนโครงการนี้จำนวน 8 หมื่นล้านบาทจะใช้เงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน เป็นการลงทุนที่เท่ากับการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพียงสายเดียว


 



โครงการลงทุนด้านสาธารณสุขจำนวน 8 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลจำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ที่จะมีการจัดงาน "มั่นใจไทยแลนด์ การลงทุนเพื่ออนาคตคนไทย" เพื่อนำเสนอโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการรถไฟรางคู่ ให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ในกลางเดือน ก.ย.นี้


 



ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ เพราะที่ผ่านมานักลงทุนรอความชัดเจนในเรื่องนี้อยู่ และเชื่อมั่นว่าการลงทุนดังกล่าวจะไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะถ้าดูจากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่กลัวว่าจะขึ้นไปถึงตัวเลขสองหลักน้อยลง โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าในปี 2552 จะสามารถลงทุนโครงการขนาดใหญ่ได้ประมาณสองแสนล้านบาท


 



ชี้รัฐยังสามารถก่อหนี้เพื่อการลงทุนได้



อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลจะรักษาวินัยการเงินการคลัง โดยจะรักษาสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และหากพิจารณาจากสัดส่วนหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่จำนวน 3.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 36% ของมูลค่าจีดีพีที่ 10 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลยังสามารถก่อหนี้เพื่อการลงทุนได้อีก 1.4 ล้านล้านบาท แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้ามูลค่าจีดีพีจะเพิ่มเป็น 12 ล้านล้านบาท การลงทุนโครงการขนาดใหญ่จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท จึงไม่ทำให้เกิดการเสียวินัยการเงินการคลัง



น.พ.สุรพงษ์ ยังเปิดเผยถึงการประชุม 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจว่า ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก และแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปีนี้ พบว่าราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น และมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง หากภาครัฐมีความชัดเจนในการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ 6%


 



สศช.ชี้8หมื่นล้านบาทน้อยเทียบงบประมาณ


ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุน 80,000 ล้านบาท ในระบบสาธารณสุข เป็นการลงทุนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณที่รัฐบาลใช้ เกี่ยวข้องกับสุขภาพปีละ 2 แสนล้านบาท เพราะงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่ด้านสาธารณสุขครั้งนี้เป็นการลงทุนทั้งระบบ


 



ก่อหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแผนการลงทุนพัฒนาสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่ปี 2552-2555 จำนวน 4 แผนงานหลัก กรอบวงเงินลงทุน 39,717.86 ล้านบาท


 



สำหรับแผนการลงทุนพัฒนาสุขภาพจำนวน 4 แผนงาน ประกอบด้วย 1) แผนงานพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข จำนวน 24,998.14 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการเครือข่ายและเสริมศักยภาพหน่วยบริการสุขภาพใกล้บ้านให้ทันสมัยได้มาตรฐาน ปี 2552-2555 ด้วยการพัฒนาและยกระดับหน่วยบริการสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นศูนย์แพทย์ชุมชน 560 แห่ง งบประมาณ 3,227.28 ล้านบาท


 



โครงการพัฒนาบริการตติยภูมิ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง และเครือข่ายการบาดเจ็บแห่งชาติ ปี 2551-2554 ด้วยการพัฒนาระบบตติยภูมิให้เป็น Excellence Service center  โดยพัฒนาต่อยอดศูนย์เดิมและจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจ 60 แห่ง ศูนย์โรคมะเร็ง 30 แห่ง ศูนย์เครือข่ายควบคุมการบาดเจ็บ 60 แห่ง งบประมาณรวม 12,488.47 ล้านบาท


 



โครงการพัฒนาระบบบริการทุติยภูมิ ปี 2552-2555 ด้วยการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา จำนวน 72 แห่ง ให้เป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิ งบประมาณ 8,729 ล้านบาท


 



ปั้นโครงการผลิตแพทย์-บุคลากร



2) แผนพัฒนาแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข 11,525.54 ล้านบาท ในโครงการผลิตแพทย์และพัฒนาศักยภาพแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ปี 2552-2555 โดยมีเป้าหมายผลิตแพทย์  2,962 คน พยาบาลวิชาชีพ ปีละ 1,000 คน รวม 4 ปีจำนวน 4,000 คน นักวิชาการสาธารณสุขปีละ 800 คน รวม 4 ปี 3,200 คน ทันตสาธารณสุขปีละ 400 คน รวม 4 ปี 1,600 คน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรโดยให้ทุนการศึกษาต่อและฝึกอบรม อีกจำนวน 15,856 คน


 



3) แผนลดปัจจัยเสี่ยงและคุ้มครองผู้บริโภค   2,378.41 ล้านบาท ใน 3 โครงการ คือ โครงการเสริมสร้างมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงและปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อสร้างวิถีชีวิตไทย งบ  600 ล้านบาท โครงการพัฒนาศักยภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ งบประมาณ 525.61 ล้านบาท และโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสุขภาพจิตใช้งบ 790.07 ล้านบาท


 



4) แผนงานพัฒนาระบบข้อมูลและองค์ความรู้จำนวน 1,831.90 ล้านบาท  2 โครงการ คือ โครงการปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพภาครัฐกระทรวงสาธารณสุข 1,531.9 ล้านบาท โครงการก่อสร้างหอประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์การแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  300 ล้านบาท


 



สธ.รับเน้นลงทุนก่อสร้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง การขยายเพิ่มโครงการเมกะโปรเจคของกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่กำหนดโครงการดำเนินการไว้เพียง 39,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะต้องหารือปรับงบประมาณให้เหมาะสมกับโครงการ สาเหตุที่ต้องเพิ่มเติมงบอีกเท่าตัว เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีการดำเนินโครงการเมกะโปรเจคมากว่า 10 ปีแล้ว ทำให้การพัฒนางานด้านการรักษาชะงักไป ประกอบกับอาคาร เครื่องมือแพทย์ต่างๆ ก็ทรุดโทรมไปมาก จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เพื่อให้สามารถรองรับบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากตัวเลขงบที่เพิ่มขึ้น เมื่อดูจำนวนปีที่ชะงักไปแล้ว เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มเติมงบประมาณให้เพียงแค่ปีละกว่า 10,000 ล้านบาท


 



"ส่วนใหญ่ไม่ได้ติงว่าเป็นเม็ดเงินที่มากไป แต่ต่างก็เห็นว่าน้อยไป เพราะเรื่องทางการแพทย์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทุ่มงบประมาณ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง เชื่อว่างบส่วนนี้น่าจะมีแต่เพิ่ม และคงไม่สามารถลดลง" นายชวรัตน์กล่าว


 



ชี้อยู่ระหว่างผลิตแพทย์เพิ่ม


ในส่วนการกระจายศูนย์สุขภาพชุมชน การก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับศูนย์กลางทางการแพทย์เฉพาะโรคมีการทุ่มงบประมาณจำนวนมาก ขณะที่ปัจจุบันยังประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์อยู่ จะนำบุคลากรทางการแพทย์มาจากส่วนใดเพื่อรองรับ เราก็เห็นปัญหานี้ และอยู่ระหว่างการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติม



ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงมีการทุ่มงบก่อสร้างมากกว่างบการสร้างบุคลากรที่ทางกระทรวงกำลังประสบปัญหาอยู่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า เรื่องก่อสร้างต้องใช้งบประมาณมากอยู่แล้ว และการก่อสร้างนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล


 


 


 


 


------------------------


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net