Skip to main content
sharethis

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. องค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย มูล   นิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าวประณามกระทรวงพาณิชย์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรณีการนำข้อร้องเรียนของบริษัทยาแห่งหนึ่ง ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ


 


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้ความพยายามล้มการทำสิทธิเหนือสิทธิบัตร(ซีแอล) ของบริษัทยา นอกจากล็อบบี้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์แล้ว ขณะนี้ทราบมาว่า บริษัทซาโนฟี่ อเวนตีส จำกัด ได้ทำหนังสือ ถึงกระทรวงพาณิชย์(พณ.) เพื่อสั่งให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ห้ามนำเข้ายาที่ทำซีแอล และให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่าการทำซีแอลของไทยถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 51 จะต้องมีการเจรจากัน โดยให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เจรจา ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง


 


ทั้งนี้ บริษัท ซาโนฟี่ฯ ได้ส่งหนังสือเพื่อให้ พณ.ส่งเรื่องให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ในช่วงที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ซึ่ง พณ.ได้ส่งหนังสือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ส.ค. คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งหนังสือให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าชี้แจงกรณีดังกล่าว แต่มีการยกเลิก ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว


 


"พณ.ไม่ควรสมคบกับบริษัทยา และควรยืนยันกลับไปว่าการทำซีแอลเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เสียเวลา แต่หากจะยื่นจริงๆ ก็ต้องเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาชน นักกฎหมาย เข้าร่วมให้ความคิดเห็น ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร"นายนิมิตร์ กล่าว


 


ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอท้าให้บริษัท ซาโนฟี่ฯ ไปฟ้องศาลปกครองหากเห็นว่า การทำซีแอลของไทย เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่จ้องแต่ล็อบบี้เพื่อให้มีการล้มการทำซีแอล เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การทำซีแอลของไทย ถูกกติกาทั้งใน และนอกประเทศ ไม่ใช่ขัดขวางทางใต้ดินในการทำซีแอลแบบนี้ และขอประณามผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ที่รับใช้บริษัทยา โดยการยื่นหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตามที่ บริษัทยา ร้องขอ


 


ทั้งนี้ ในส่วนของกรณี บริษัท แอบบ็อต ลาบอแรตอรีส จำกัด ถอนการขึ้นทะเบียนยารวม 7 รายการ และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีมติว่าไม่ใช่ความผิด ซึ่งเครือข่ายฯ จะไปฟ้องศาลปกครอง ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ โดยจะฟ้องนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะดูแลสำนักงานแข่งขันทางการค้า และ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า


 


ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวแต่เคยเห็นฉบับสำเนาจากเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งส่งมาให้ทราบความคืบหน้าของบริษัทยา ซึ่ง อภ.ได้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาข้อกฎหมายอย่างละเอียดประกอบกับมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ได้ตีความกรณีนี้แล้วว่า การทำซีแอลของไทย ไม่ผิดกฎหมาย เป็นอำนาจของ สธ.ในการตัดสินใจทำซีแอลโดยตรง และนักวิชาการคนเดียวกันยังให้ความเห็นว่า บริษัท ซาโนฟี่ฯ ตีความกฎหมายไม่ครบถ้วน เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญามีสิทธิ์ชี้ขาด เพราะการจ่ายค่าชดเชยสำหรับผู้ทรงสิทธิกับยาที่ทำซีแอล แต่ไม่มีสิทธิชี้ขาดว่าจะทำซีแอลหรือไม่


 


"เรื่องนี้บริษัทยาตีรวนอย่างชัดเจนต้องการให้กระบวนการทำซีแอลของไทยช้าลง และอภ.ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงเรื่องการทำซีแอลให้บริษัทยาเข้าใจ และไม่มีผลต่อการจัดหายาที่ทำซีแอลไปแล้ว จะเดินหน้าต่ออย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องตีความ เพราะไม่ใช่หน้าที่" นพ.วิชัยกล่าว


 


ที่มา: ผู้จัดการรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net