Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ประเมินผลงาน 4 ปี ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ และแนวโน้มการเลือกผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่" โดยสอบถามถึงความรู้สึกของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจาก 50 เขตของกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,795 คน เป็นเพศชายร้อยละ 48.5 และเพศหญิงร้อยละ 51.5 เมื่อวันที่ 16 - 18 สิงหาคม 2551


 


ผลโผลล์ชี้ความพึงพอใจการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้คะแนน เฉลี่ย 6.24 จากคะแนนเต็ม 10 เพิ่มขึ้นจากตอนประเมินผลงานรอบ 3 ปีที่ได้ 5.74 ส่วนความพึงพอใจผลงานด้านต่างๆ ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.ของนายอภิรักษ์ ได้คะแนนเฉลี่ย 5.51 จากคะแนนเต็ม 10 เพิ่มขึ้นจากตอนประเมินผลงานรอบ 3 ปี ที่ได้ 5.19 คะแนน โดยความพึงพอใจผลงานด้านความสะอาดและสิ่งแวดล้อมได้คะแนนสูงสุด 5.94 คะแนน ขณะที่ผลงานด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้คะแนนต่ำสุด 5.03 คะแนน


 



สำหรับความเห็นต่อสภาพโดยรวมของ กทม.ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 45 เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ร้อยละ 34.4 เห็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีเพียงร้อยละ 9.8 เห็นว่าแย่ลง และร้อยละ 10.8 ไม่มีความคิดเห็น ส่วนโครงการด้านต่างๆ ที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่าพอใจมากที่สุด คือ ด้านสิ่งแวดล้อมและความสะอาดของเมือง ร้อยละ 37.2 ขณะที่ร้อยละ 44 ระบุไม่มีผลงานที่ไม่พึงพอใจ และการแก้ไขปัญหาจราจรใน กทม.ไม่เป็นที่พอใจร้อยละ 29


 



ส่วนการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป กลุ่มตัวอย่างจะเลือกผู้สมัครที่ไม่สังกัดพรรคใดๆ ถึง ร้อยละ 56.7 เลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 26.9 เลือกผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน ร้อยละ 7.7 และเลือกผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ ร้อยละ 8.7 ด้านคุณสมบัติส่วนตัว เน้นความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีคุณธรรมร้อยละ 36.2 มีความขยัน อดทนในการทำงาน ตั้งใจทำงานพัฒนาบ้านเมือง ร้อยละ 15.3



ด้านการพิจารณาจากประสบการณ์ทางการเมือง พบว่า กลุ่มตัวอย่างเลือกผู้ที่ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน ร้อยละ 50.6 ขณะที่เลือกผู้ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว ร้อยละ 49.4


 


ทั้งนี้ บุคคลที่อยากให้เป็น ผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป กลุ่มตัวอย่างระบุชื่อผู้ที่อยู่ในใจแล้วร้อยละ 22.7 ได้แก่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ร้อยละ 11 รองลงมาคือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ร้อยละ 3.3 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ร้อยละ 2 ไม่ระบุ ร้อยละ 1.6 นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ร้อยละ 0.9 ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ร้อยละ 0.8 นายปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 0.6 ดร.พิจิตต รัตตกุล ร้อยละ 0.5 นางปวีณา หงส์สกุล เท่ากับ นายสมัคร สุนทรเวช คือ ร้อยละ 0.4 อย่างไรก็ตาม พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.3 ยังไม่มีผู้สมัครอยู่ในใจ


 


ด้านเอแบคโพลล์ วานนี้ (21 ส.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "วัดใจคน กทม.จะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ" ว่า จากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,186 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-20 ส.ค.51 ผลสำรวจพบถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง คนที่อยู่ในใจของประชาชนคนกรุงเทพมหานคร ที่จะเลือกเป็นผู้ว่าฯ ตัวอย่างประชาชนร้อยละ 40.2 ระบุจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในขณะที่ร้อยละ 15.7 ระบุจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ร้อยละ 11.3 ระบุจะเลือกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นอกจากนี้ พบว่าร้อยละ 10.2 ตั้งใจจะเลือกคนอื่นๆ เช่น ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่าร้อยละ 22.6 ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่นอนว่าจะเลือกใคร เมื่อจำแนกออกตามเพศของตัวอย่าง พบว่า หญิงร้อยละ 43.0 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นชายที่มีอยู่ร้อยละ 37.1 ส่วนตัวอย่างที่เป็นชายร้อยละ 15.1 ตั้งใจจะเลือกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มตัวอย่างหญิงประมาณ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว


 


ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ การจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า คนที่สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีสัดส่วนของคนที่ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ร้อยละ 28.2 เท่านั้นซึ่งนายอภิรักษ์จะได้เสียงสนับสนุนมาก ณ วันนี้จากกลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี คือมีอยู่ร้อยละ 41.5 ในขณะที่คนอื่น เช่น ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ไม่พบความแตกต่างของความตั้งใจจะเลือกในกลุ่มคนที่มีการศึกษาแตกต่างกัน


 


แต่พบความแตกต่างของคนที่ยังไม่ตัดสินใจแน่นอนว่าจะเลือกใคร โดยในกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีที่พบว่ามีอยู่สูงถึงร้อยละ 38.4 เมื่อพิจารณาเรื่องรายได้ของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า คนที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 37.8 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือนที่มีอยู่ร้อยละ 45.3 ที่ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในขณะที่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล พบเสียงสนับสนุนมากในกลุ่มคนที่มีรายได้ 15,001-20,000 บาทที่มีอยู่ร้อยละ 21.7 ส่วนเสียงความตั้งใจจะเลือกนายชูวิทย์ จะกระจายไปอยู่ในกลุ่มคนมีรายได้ต่างๆ พอๆ กัน


 


ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กลับมีเสียงความตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เพียงร้อยละ 19.5 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่ต้องหาสาเหตุกันอย่างจริงจังว่าทำไมกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนของผู้ที่ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์น้อยเช่นนี้ ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 46.3 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คนรับจ้างทั่วไปร้อยละ 42.1 คนที่ค้าขายหรือธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 41.2 พนักงานเอกชนร้อยละ 39.0 และแม่บ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 37.4 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน


 


ในขณะที่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มแม่บ้าน เกษียณอายุสูงร้อยละ 21.6 กลุ่มนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 18.3 พนักงานเอกชนร้อยละ 17.4 รับจ้างทั่วไปร้อยละ 16.4 ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 14.8 ตามลำดับ หมายความว่าเมื่อจำแนกในกลุ่มอาชีพแล้ว จะพบว่าโอกาสการแข่งขันของผู้สมัครคนอื่นๆ จะเริ่มมีขึ้นในบางกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มแม่บ้าน เกษียณอายุ เป็นต้น


 


"นอกจากนี้ ที่น่าวิเคราะห์คือ กลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนที่เป็นกลุ่มก้อนชัดเจน แต่กลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนแตกกระจายออกเป็นกลุ่มย่อยๆ คือร้อยละ 26.2 ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล และยังมีคนที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนร้อยละ 18.7 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์อีกด้วย ในขณะที่ร้อยละ 14.9 ของคนที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนตั้งใจจะเลือกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตามลำดับ


ขณะที่คนเคยเลือกพรรคอื่นๆ ร้อยละ 37.0 คน เคยเลือกพรรคพลังประชาชนร้อยละ 24.0 และคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 15.0 ยังไม่ตัดสินใจแน่นอน" ดร.นพดลกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net