Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่อำเภอสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส คืนวันที่ 21 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย นับเป็นเหตุรุนแรงและสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งในวงการสื่อมวลชน ตอกย้ำว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ยังรุนแรงอยู่


 


แต่ขณะเดียวกัน สำหรับคนที่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัว เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่นั้นจะว่าไปแล้วก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดก็ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ว่ามีความผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดจริงจะถูกลงโทษอย่างไร บางคนอาจได้ผ่านแค่กระบวนการยุติธรรมชั้นต้น หรือจะต้องต่อสู้คดีกันยาวในศาล มีหลายรายที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว


 


ในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น บางคนเคยอาจถูกควบคุมตัวมาแล้ว อาจโดยการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่า กฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือแม้แต่การใช้หมายทั้งหมายค้น หมายจับ ฯลฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


 


เช่น กรณีของนายมูฮัมมัดฮานาฟี ปูเต๊ะ อายุ 33 ปี จากบ้านสนามบิน ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งเขาเคยถูกควบคุมตัวมาแล้ว ตามหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อครั้งเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการปิดล้อมตรวจค้น เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2550 โดยถูกควบคุมตัวไปพร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 4 คน


 


จากนั้นเขาได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือน หรือโครงการอบรมศาสนาและพัฒนาศักยภาพที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ในที่สุดศาลได้สั่งให้ปล่อยตัวผู้ที่ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวตามที่มีเป็นข่าวดังมาแล้วในช่วงนั้นเอง แต่เขาไม่ใช่ผู้ลงชื่อที่ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้สั่งปล่อยตัวด้วยแต่อย่างใด


 


จนกระทั่งต่อมาล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2551 เขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวอีกครั้ง ในความผิดเดียวกับเมื่อครั้งถูกควบคุมตัวครั้งแรก คือ มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง


 


นางมูเนาะ อาแวกือจิ อายิ 64 ปี แม่ของมูฮัมหมัดฮานาฟี เล่าว่า วันนั้น ตำรวจมาหาเขาที่บ้าน ซึ่งมีแต่เมียเขากับลูกเท่านั้น โดยมูฮำหมัดฮานาฟี ไปกรีดยาง ตำรวจยกกำลังเข้ามาค้นในบ้านโดยบอกว่า นายมูฮำมัดฮานาฟี ค้ายาเสพติด แต่ไม่เจอสิ่งผิดกฎหมายใดๆ เมื่อไม่เจอนายมูฮำมัดฮานาฟี ตำรวจจึงฝากบอกภรรยาว่า ถ้านายมูฮำมัดฮานาฟีกลับมาก็ให้ไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาด้วย


 


"พอมูฮำมัดฮานาฟีกลับมาบ้าน เมียก็เล่าให้ฟัง แล้วก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร จึงเลยตัดสินใจว่าจะไปที่โรงพักกัน ในตอนบ่ายวันนั้นเลย พอเมื่อไปถึงตำรวจบอกว่า มูฮำมัดฮานาฟียังมีคดีติดตัวอยู่ เขาก็ถามว่าคดีอะไร ตำรวจบอกว่าคดียิงคนอื่นโดยไม่ได้พูดถึงยาเสพติดเลย"


 


"จากนั้นตำรวจได้แสดงหมายจับตัวเขา ข้อหามีอาวุธสงครามในครอบครอง มูฮำมัดฮานาฟี จึงบอกไปว่า เรื่องนี้ได้เคลียร์กับทหารจบแล้ว เพราะได้ผ่านการฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือนมาแล้ว เพราะทหารบอกว่า คนที่ผ่านการฝึกอบรมจะไม่ถูกจับอีกแล้ว และทหารก็มอบประกาศนียบัตรว่าผ่านโครงการฝึกอบรมอาชีพมาแล้วด้วย"


 


แต่คำตอบที่ได้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ การฝึกอบรมอาชีพไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดี จากนั้นตำรวจจึงควบคุมคุมตัวมูฮำมัดฮานาฟีทันที วันต่อมาได้นำตัวไปที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) จังหวัดยะลา ขณะนี้มูฮำมัดฮานาฟี ถูกนำตัวเข้าเรือนจำจังหวัดยะลาแล้ว โดยอยู่ระหว่างการฝากขัง โดยศาลจังหวัดยะลาได้นัดสืบพยานครั้งต่อไปในเดือนกันยายน 2551 นี้


 


มูเนาะ เล่าด้วยว่า เมื่อครั้งมูฮัมหมัดฮานาฟีถูกควบคุมตัวครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2550 โดยครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นภายในบ้านพบอาวุธปืนสงครามและอุปกรณ์หลายรายการ โดยทหารได้เข้าปิดล้อมพื้นที่หมู่บ้านตั้งแต่เวลาประมาณตีสาม


 


"ช่วงเวลานั้น ได้มีเด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่ง นำอาวุธปืนดังกล่าวเข้ามาตั้งไว้ในบ้าน โดยที่มูฮัมหมัดฮานาฟี รวมทั้งแม่เอง และเมียของเขา ไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อรู้สึกตัวก็พบว่าวัยรุ่นคนดังกล่าวเข้ามอยู่ในบ้านแล้ว มูฮัมหมัดฮานาฟี จึงถามว่าเข้าได้อย่างไร มูฮัมหมัดฮานาฟีก็บอกไปด้วยว่า ทำให้เขากลัวไปด้วย"


 


ตอนนั้นทหารเข้ามาหน้าบ้านแล้ว เรียกให้ออกมา ทุกคนก็ออกมาอยู่ที่ระเบียงบ้าน ทหารได้ขอดูบัตรประชาชน แต่วัยรุ่นคนดังกล่าวบอกว่า ตั้งอยู่ที่บ้านไม่ได้เอามา ขอกลับไปเอาที่บ้าน แล้วเขาก็ออกทางหลังบ้านไป โดยที่ไม่รู้ว่าจากนั้นเขาหนีไปแล้ว


 


จากนั้น ทหารก็ขอตรวจค้นในบ้าน เจออาวุธปืนตั้งอยู่ที่ตู้เสื้อผ้า มูฮำมัดฮานาฟี ก็ตกใจเขาอ่อน จนล้มลง ส่วนแม่เอง ก็ตกใจกลัว เลยหนีเข้าไปอยู่ในครัว เพราะตอนนั้นพอทหารเห็นมีอาวุธอยู่ก็เอาปืนมาจี้ที่ตัว


 


จากนั้นจึงถูกนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อยู่ที่นั่นเดือนกว่าก็ถูกนำตัวไปที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพดังกล่าวนั่นเอง"


 


ขณะที่เพื่อนบ้านคนหนึ่ง บอกว่า ลูกชายคนหนึ่งของเขาถูกควบคุมตัวไปด้วย เพราะเจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นชายวันรุนคนเดียวกัน เนื่องจากสวมเสื้อสีเดียวกัน ซึ่งต่อมาถูกนำตัวเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพดังกล่าวด้วย โดยในหมู่บ้านมีผู้ถูกควบคุมตัวในครั้งนั้นทั้งหมด 4 คน และได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือนด้วยเช่นกัน จนกระทั่งทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวและได้กลับมาอยู่ที่บ้านตามปกติ ส่วนชายวันรุ่นคนดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหน


 


ทั้งนี้ ระหว่างการฝึกอบรมอาชีพอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น ปรากฏว่าได้มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพส่วนหนึ่ง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี สั่งให้ปล่อยตัว เนื่องจากไม่ประสงค์จะฝึกอาชีพอีกต่อไป ซึ่งจากการยื่นคำร้องครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า ระหว่างการไต่สวนฝ่ายทหารได้แจ้งว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีประกาศห้ามบุคคลเข้าไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ทำให้กลุ่มผู้ที่ยื่นคำร้องและศาลได้สั่งให้ปล่อยตัวนั้น ก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ จนกระทั่งมีคำสั่งยกเลิกประกาศดังกล่าว


 


แต่อย่างไรก็ตาม มูฮัมหมัดฮานาฟี ไม่ได้เป็นผู้ลงชื่อยื่นคำร้องขอให้สั่งปล่อยตัวด้วยแต่อย่างใด โดยเขาได้ฝึกอบรมอาชีพในโครงการดังกล่าวต่อจนสิ้นสุดระยะเวลา 4 เดือน และได้เดินทางกลับบ้านเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2550


 


"เมื่อกลับมาแล้วก็อยู่ที่บ้านตามปกติ ทำงานเลี้ยงครอบครับและแม่ ด้วยการกรีดยาง โดยเขามีลูกแล้วหนึ่งคน ขณะที่ภรรยากำลังตั้งท้องลูกคนที่สองได้ 9 เดือนแล้ว โดยขณะนี้กลับไปอยู่กับครอบครัวเดิม เนื่องจาก แม่ของมูฮำมัดฮานาฟี ชรามากแล้ว เกรงว่าจะลำบาก ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มาก"


 


มูเนาะบอกอีกว่า เรื่องนี้ที่แย่ก็คือ เราไม่รู้เรื่องเลย พอเกิดเรื่องก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้บ้าง ไม่รู้ว่าใครช่วยอะไรเราได้บ้าง ตอนนี้ก็ทำได้แค่ไปเยี่ยมลูกได้เป็นบางครั้งเท่านั้น ตอนนี้อยู่บ้านยังรู้สึกผวา ต้องเอาผ้ามาปิดหน้าบ้านไว้ เพราะมองออกไปนอกบ้านที่ไรรู้สึกไม่ดีเลย


 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนและหลังจากที่มูฮัมหมัดฮานาฟีถูกจับกุมตัวนั้น เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อำเภอบันนังสตาก็ยังคงมีขึ้น โดยในช่วง 1 เดือนก่อนวันที่ 4 สิงหาคม 2551 เกิดเหตุไม่สงบ 3 เหตุการณ์


 


แต่ก่อนหน้านั้น มีมีเหตุการณ์สำคัญ คือ กรณีที่  ร.ต.ต.กฤตติกุล หรือ "หมวดตี้" รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 1 กองร้อยเฉพาะกิจรบพิเศษ 1 (รอง หน.ชป.1 ร้อย ฉก.รพศ.1) ถูกคนร้ายซุ่มยิงเสียชีวิตขณะลาดตระเวนในท้องที่บ้านสันติ 1 หมู่ 2 ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตาด้วย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551


 


โดยในช่วงเย็นวันเดียวกัน เฮลิคอปเตอร์ทหารสนับสนุนงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ตกในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา เป็นเหตุให้นักบินและนักนิติวิทยาศาสตร์เสียชีวิต 10 คน ขณะเดินทางไปตรวจสอบหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ของผู้ต้องสงสัย 3 คน ที่ก่อเหตุลอบยิงฐานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองกำลังในสังกัดหน่วยเฉพาะกิจที่ 15 จังหวัดยะลา ใกล้กับหมู่บ้านสันติ1 อำเภอบันนังสตา


 


จากนั้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 23 มิถุนายน 2551 กำลังตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง สนธิกำลัง เข้าปิดล้อมหมู่บ้านตันหยงนากอ หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จนเกิดการปะทะกันขึ้นอย่างดุเดือด ผลการปะทะทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วงแรก 2 ศพ หนึ่งในนั้น คือนายกอเซ็ง อภิบาลแบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ส่งกำลังเข้าติดตามไล่ล่าคนร้ายอย่างใกล้ชิด ห่างจากจุดปะทะครั้งแรกประมาณ 600 เมตร  ได้เกิดปะทะกันอีกครั้ง เป็นเหตุให้คนร้ายเสียชีวิตอีก 4 ศพ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย


 


ส่วนเหตุการณ์หลังจากวันที่ 4 สิงหาคม 2551 จนล่าสุดวันที่ 24 สิงหาคม 2551 มี 1 เหตุการณ์ คือกรณีคนร้ายเผารถกระบะแล้วยิงนายตูแวมะ วิแต เจ้าของบ้านเสียชีวิต นายซาลปี มะสะ อายุ 22 ปี และนางมารีเมาะ แวมะ อายุ 51 ปี บาดเจ็บ ที่บ้านเลขที่ 289/1 หมู่ 4 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา เมื่อเช้ามืดวันที่ 13 สิงหาคม 2551


 


นั่นคือตัวอย่างหนึ่งของคนที่เคยถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวแล้ว จากนั้นก็ถูกจับกุมอีกครั้งหนึ่งในคดีความมั่นคงในชายแดนใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net