Skip to main content
sharethis

พรุ่งนี้ (วันที่ 29 สิงหาคม 2551) นางหนุ่ม ไหมแสง วัย 37 ปี แรงงานไทใหญ่ซึ่งกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต จากอุบัติเหตุในการทำงาจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 5 ซึ่งยกฟ้องกรณีที่นางหนุ่ม ยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นจำเลยเนื่องจากปฏิเสธไม่จ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้นางหนุ่มโดยอ้างแนวปฏิบัติ ที่เลือกปฏิบัติต่อแรงงาน ข้ามชาติของสำนักงานประกันสังคม

 

การที่นางหนุ่มยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาในครั้งนี้มีที่มาจากในเดือนธันวาคม 2550 นางหนุ่มคนงานก่อสร้างลูกจ้างผู้รับเหมาสร้างโรงแรมแชงกรีลา เชียงใหม่ได้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ส่งผลให้นางหนุ่มต้องเป็นอัมพาตตลอดลำตัวด้านซ้ายจากเอวลงมา กลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต โดยในเดือนกรกฎาคม 2550 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ปฏิเสธคำร้องของนางหนุ่มเพื่อขอรับเงินจากกองทุนเงินทดแทน โดยอ้าง แนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมที่ รส0711/751 ดังนั้นนางหนุ่มจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุน เงินทดแทน ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2551 คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยยกคำอุทธรณ์ของนางหนุ่ม นางหนุ่มจึงได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่อศาลแรงงานภาค 5 ว่าแนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญที่ห้ามการเลือกปฏิบัติ และขัดต่อสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ศาลแรงงานภาค 5 ได้ยกคำฟ้องของนางหนุ่มโดยศาลได้วินิจฉัยว่า หนังสือเวียนของสำนักงาน ประกันสังคมเหมาะสมและให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรมแล้ว จึงไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติแต่อย่างใด

 

หนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคมเลขที่ รส 0711/751 กำหนดเงื่อนไขในการได้รับเงินเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนคือ แรงงาน ต่างด้าวจะต้อง 1) แสดงเอกสารการจดทะเบียนแรงงานและใบอนุญาติทำงาน พร้อมกับหนังสือเดินทางและหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และ 2) นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน จากเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาคือจากจำนวนแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติคือ พม่า ลาว เขมร  ทั้งหมดในประเทศไทยที่มีจำนวนประมาณกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยปราศจากเอกสารใด ๆ สาเหตุ หนึ่งเนื่องมาจากความล้มเหลวของระบบการนำเข้าแรงงานจากพม่าเพื่อมาทำงานในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม นางหนุ่ม ไหมแสงได้รับ การขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานและได้รับอนุญาตให้ "ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย" ในประเทศเช่นเดียวกับ แรงงานข้ามชาติจากพม่าอีกว่า 500,000 คน นอกจากนี้การที่นายจ้างแรงงานข้ามชาติไม่เข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากสำนักงาน ประกันสังคมไม่บังคับใช้กฎหมาย กระทั่งกีดกันนายจ้างไม่ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ทั้งๆที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน   พ.ศ. 2537 กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้าง 1 คน หรือมากกว่านั้น ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนและกำหนดให้สำนักงานประกันสังคม มีหน้าที่ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายนี้

 

แม้หนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคมเลขที่ รส 0711/751 กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างเองหากไม่สามารถ แสดงหลักฐานและไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามจากการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยมูลนิธิเพื่อ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติโดยส่วนใหญ่ เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงานแล้วก็แทบไม่ได้รับ เงินทดแทนจากนายจ้างเลย และความพยายามในการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากสำนักงานประกันสังคมก็ต้องประสบกับปัญหาอุปสรรค ความยากลำบากจากระบบที่ยุ่งยากซับซ้อนและยากลำบากต่อการเข้าถึง  มสพ. ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในการเรียกร้องเงินทดแทนเนื่องจาก การประสบอุบัติเหตุในการทำงานของนางหนุ่ม จนส่งผลให้นางหนุ่มได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายแล้วจำนวน 584,896 บาทจากนายจ้าง ของเธอ ซึ่งกรณีของนางหนุ่มนี้เป็นกรณีตัวอย่างจากอีกหลาย ๆ กรณีที่ มสพ. ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อผลักดันให้เกิด บรรทัดฐานและการพัฒนามาตรฐานระบบเงินทดแทนให้แก่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน การอุทธรณ์ คำพิพากษาต่อศาลฎีกาในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่า ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือเวียนเป็นการเลือกปฏิบัติตาม หนังสือสำนักงาน ประกันสังคมเลขที่ รส 0711/ 751 ที่กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ได้ อนึ่งพร้อมกันนั้น นางหนุ่มก็ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวด้วย โดยขณะนี้คดี ยังอยู่ระหว่าง การพิจาณาของศาล

 

เลขาธิการ มสพ. นายสมชาย หอมลออ ให้ความเห็นว่า "การที่นางหนุ่มยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาในครั้งนี้ ถือเป็นการ ต่อสู้ในนามของแรงข้ามชาติอีกกว่า 2 ล้านคน ซึ่งส่วนมากมาจากประเทศพม่า ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ สกปรกและอันตรายที่แรงงานไทยไม่อยากจะทำ แรงงานเหล่านี้ได้ทำประโยชน์เพิ่มพูนแก่เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก แต่เมื่อพวกเขาต้อง ได้รับ ความทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคมกลับปฏิเสธที่จะยกเลิกหนังสือสำนักงานประกันสังคม เลขที่ รส 0711/751 แนวปฎิบัติตามหนังสือเวียนนี้ กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติรับเงินจากกองทุนเงินทดแทน และผลัก ให้แรงงานต้องต่อรอง ขอรับเงินทดแทนจากนายจ้างเอง แรงงานเหล่านี้ไร้อำนาจต่อรองจึงมักได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การปฏิบัติต่อแรงงาน ข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานในปัจจุบันนี้ถือเป็นความล้มเหลวอย่างยิ่ง และแสดงให้เห็นความบกพร่องของ สำนักงานประกันสังคม ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายให้คุ้มครองประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติ"

 

นายสมชายให้ความเห็นปิดท้ายว่า "ในอนาคตแรงงานข้ามชาติซึ่งประสบอุบัติในการทำงานควรจะได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง เช่นเดียวกับกรณีของแรงงานไทย อันจะเป็นระบบการจ่ายเงินทดแทนที่โปร่งใสและยุติธรรม รัฐบาลไทยจะต้องปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่าง เท่าเทียมกับลูกจ้างอื่น ๆ เพราะหยาดเหงื่อแรงงานของแรงงานข้ามชาติก็สร้างผลประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจของไทย และแรงงานข้ามชาติก็ สมควรได้รับความมั่นคงในชีวิตด้วย รัฐบาลไทยต้องประกันว่านโยบายของทุกกระทรวงจะต้องไม่ละเมิดหลักการไม่เลือกปฏิบัติซึ่งได้รับ การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เช่นเดียวกับในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีและมี พันธกรณีที่ต้อง ปฏิบัติตาม อันจะเป็นการส่งเสริมหลักการไม่เลือกปฏิบัติซึ่งจะสะท้อนถึงสังคมที่มีอารยะและระบบการปกครองที่เป็นธรรม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net