บทความ: การเมืองคุณธรรม vs ความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แปลจาก The politics of morality vs electoral legitimacy, ประวิตร โรจนพฤกษ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Nation ฉบับวันที่ 27 ส.ค. 51

 

การบุกจู่โจมเอ็นบีที สถานีโทรทัศน์ของรัฐ ทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงต่างๆ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.  ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ "ประชาธิปไตย" กำลังผลักให้ประชาชนต้องเลือกข้าง

 

สิ่งที่เกิดขึ้นวานนี้ (26 ส.ค.) และในช่วงเดือนที่ผ่านมาเป็นสงครามย่อมๆ ซึ่งหวังจะได้รับเสียงสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสาธารณะ


แต่สิ่งชั่วร้ายแบบไหนหรือที่พวกเขาต้องเลือก กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เชื่อมั่นในศีลธรรม เชื่อมั่นในความถูกต้องของตัวเอง คลั่งสถาบันกษัตริย์สุดโต่ง (ultra royalist) โปรทหาร และระบอบอมาตยาธิปไตย? หรือว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่หนุนโดยเครือธุรกิจการเมืองที่ใช้อำนาจในทางฉ้อฉล ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้เงาของทักษิณ ชินวัตร?  

 

การบุกไปยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีวานนี้ (26 ส.ค.) แสดงให้เห็นว่าพันธมิตรฯ ไม่สามารถและจะไม่อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และมีเพียงโฆษณาชวนเชื่อที่เผยแพร่ผ่านเอเอสทีวี หนังสือพิมพ์ผู้จัดการและสื่ออื่นในเครือพันธมิตร เท่านั้นที่พวกเขารับได้  

 

นอกจากความพยายามที่จะทำให้รัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช ซึ่งพันธมิตรฯ มองว่า เป็นเพียงหุ่นเชิดของทักษิณ ทำงานไม่ได้แล้ว พันธมิตรฯ ยังพยายามที่จะบรรลุชัยชนะทางการเมือง แต่แม้ว่าพันธมิตรฯ จะชนะ ก็ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เครื่องหมายการค้าว่าเป็น "การต่อสู้ของประชาชน" นั้นไม่สามารถนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ เพราะพวกเขาวิสัยทัศน์แคบ เป็นอภิสิทธิ์ชน และไม่เชื่อในเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

ความไม่เชื่อในผู้ออกเสียงซึ่งถูกมองว่าซื่อและเห็นแก่ได้ สะท้อนผ่านการสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า "การเมืองใหม่" ซึ่งเสนอให้ ส.ส. 70% มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง 

  

พวกเขาไม่อดทนรอให้ประชาธิปไตยได้หยั่งราก ไม่ยอมรับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ ที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ทั้งยังไม่เข้าใจว่า ประชาชนนั้นจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาความคิดทางการเมืองได้ด้วยตัวเอง

 

พวกเขามีมุมมองแบบอภิสิทธิ์ชนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจากข้างบน ผ่านการรัฐประหารโดยกองทัพ หรือพึ่งใบบุญสถาบันกษัตริย์ โดยเห็นได้ชัดจากวิธีที่แกนนำพันธมิตรฯ ปฎิบัติต่อผู้ชุมนุมของพวกเขา แกนนำได้บอกให้ผู้ชุมนุมรอจนกว่าจะเป่านกหวีดวานนี้ (26 ส.ค.) และคอยบอกว่าจะทำอะไรต่อไป

 

ท้ายที่สุด อาจต้องถามว่า พวกเขายังสนับสนุนประชาธิปไตยอยู่หรือไม่ แม้ว่าพวกเขาจะมีความตั้งใจดีต่อสังคมและสนับสนุนประชาธิปไตยในช่วงเริ่มต้นก็ตาม

 

ประชาชนต้องไม่หลงไปสนับสนุนความพยายามที่จะเร่งรัดเปลี่ยนแปลงระบบ เพราะมันจะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง โดยปราศจากกระบวนการประชาธิปไตย

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และฝ่ายบริหารของเขาจะไม่ต้องทำอะไร สมัครพึ่งทักษิณเพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ และทักษิณก็เป็นสัญลักษณ์ของการผูกขาดในระบบเลือกตั้งอย่างแท้จริง พวกเขาอ้างว่า การเลือกตั้งเป็นทั้งหมด และจุดสิ้นสุดของประชาธิปไตย แต่แม้ว่าการเลือกตั้งมีความจำเป็น แต่ก็ไม่ใช่ส่วนประกอบเดียวที่ทำให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ

 

นอกจากนี้ยังมีคอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางที่ผิด และกลุ่มหัวคะแนนทางการเมือง กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมือง ในชนบท ที่ปากบอกสนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ยังคงทำตัวเป็นเจ้าพ่อการเมืองและธุรกิจ

สถานการณ์อย่างแย่ที่อาจเกิดขึ้น สมัครต้องไม่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการกับผู้ชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ไม่มีอาวุธ

 

เช่นเดียวกับรัฐบาล สังคมไทยเองต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับเรื่องนี้ด้วยสันติวิธีและมีอารยะด้วย

สมัครและทักษิณอาจมีแผลลึก หรือแม้แต่ได้ใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่การรัฐประหารอีกครั้ง หรือการเปลี่ยนผ่านระบอบอย่างรวดเร็วผ่านการประท้วงใหญ่จะไม่นำมาซึ่งประชาธิปไตย ความอดทนและความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จำเป็น

 

กลุ่มอภิสิทธิ์ชนและชนชั้นกลางที่อยู่ข้างพันธมิตรฯ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบกับคนจนในชนบทและคนจนเมือง ที่มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างออกไป

 

พวกเขาต้องทำความเข้าใจกับความต่างอย่างสันติและเคารพกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากและใช้เวลานานนับปี หรือกว่าทศวรรษ กว่าจะสำเร็จ

 

สิ่งที่เรากำลังร่วมเป็นประจักษ์พยานอยู่นี้ แท้จริงแล้ว คือการต่อสู้ทางการเมือง ระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนสองกลุ่ม และการปะทะกันระหว่างการเมืองที่อ้างศีลธรรมกับการเมืองที่อ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท