Skip to main content
sharethis

สภาทนายความแจงเจ้าหน้าที่กระทำการรุนแรงประชาชนไม่ชอบด้วยกฎหมาย


วันนี้เมื่อเวลา 15.00 .ที่สภาทนายความ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความได้อ่านแถลงการณ์สภาทนายความ 2ฉบับ เรื่อง "ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจงดใช้การกระทำความรุนแรงต่อประชาชนในคดีแพ่ง" และ "การปฎิบัติต่อการชุมนุมของประชาชนในสถานที่ราชการ" เกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ รวมทั้งเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารื้อถอนบริเวณเวทีสพานมัฆวานฯ ในช่วงสายวันนี้


โดยแถลงการณ์ฉบับแรกระบุว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา และการดำเนินการบังคับตามหมายห้ามชั่วคราวของศาลแพ่ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นกระทำไปอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า การยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลมีคำสังไต่สวนฉุกเฉินเกี่ยวกับการให้คู่กรณี คือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม6 คน ออกจากทำเนียบ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลและการตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีผลบังคับใช้เฉพาะจำเลยทั้ง 6 คน เท่านั้น ไม่สามารถที่จะมีผลบังคับใช้ได้กับประชาชนจำนวนมากที่มาชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล


คดีแพ่งดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้กับประชาชนที่ไม่ใช่คู่กรณี ดังนั้นจึงไม่มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฎิบัติต่อประชาชนโดยใช่กำลัง อีกทั้งขณะนี้ยังมีการอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวด้วย จึงควรต้องรอการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ให้ยุติก่อน การที่เจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนหรือเลือกที่จะปฏิบัติต่อประชาชนโดยการยื้อยุดฉุกกระชาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและร่างกายของประชาชนนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ทางสภาทนายความเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาลที่มีหน้าที่ดำเนินการ หยุดการกระทำดังกล่าวโดยทันที และในขณะเดียวกันก็ต้องนำตัวผู้ที่ออกคำสั่งดังกล่าวมาดำเนินการสอบสวน


นอกจากนี้ "การปฎิบัติต่อการชุมนุมของประชาชนในสถานที่ราชการ" ยังระบุถึงการชุมนุมและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย การยึดอาคารสถานที่ราชการเพื่อประท้วงรัฐบาลย่อมไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย แต่การปฏิบัติใดๆ ต่อผู้ชุมนุมที่รวมตัวประท้วงรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ควรสั่งหรือดำเนินการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมให้มีการใช้กำลังดำเนินการกับผู้ชุมนุม เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ รัฐจำเป็นต้องดำเนินการไปในกระบวนการศาลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น


ในกรณีที่มีการดำเนินการกับผู้ละเมิดกฎหมายรัฐต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่มีการกลั่นแกล้ง ยัดเยียดหรือปกปิดข้อมูลที่ประชาชนควรได้รับ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แม้บางครั้งจะต้องมีความอดทนต่อการร่วมชุมนุ่มที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการปฎบัติราชการ แต่กรณีดังกล่าวควรถือเป็นเรื่องแก้ไขได้ แต่ต้องไม่ใช่การใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุม


"หากมีข้อขัดแย้งใดๆ ก็ต้องรีบนำเสนอต่อกระบวนการบุติธรรม ใช้สิทธิของตนตามกรอบของกฎหมายในการเสนอข้อเท็จจริงให้ศาล เพื่อให้มีคำพิพากศาหรือคำสั่งแล้วแต่กรณี" แถลงการณ์ระบุ


กรรการสิทธิฯ ร้องรัฐบาลยุติความรุนแรง-การจับกุมแกนนำ


ในวันเดียวกันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางอรินณพงศ์ สูตรสุคนธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว เรื่อง "รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรงและต้องตรวจสอบ ทบทวนความชอบธรรมและความรับผิดชอบในส่วนของรัฐบาล" เกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


โดยระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมทางการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยมีเหตุผลสำคัญที่สังคมได้เห็นและรับรู้มาโดยตลอดและรัฐบาลก็ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีเสียงข้างมาก แต่รัฐธรรมนูญก็รับรองอำนาจการตรวจสอบของประชาชนต่อการบริหารประเทศและการใช้อำนาจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลดำเนินการโดยขาดความชอบธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน


การที่รัฐบาลได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงตกอยู่ในสถานะขาดความชอบธรรมในการบริหารปกครองประเทศ เพราะไม่เคารพเจตนารมณ์และสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยได้ดำเนินการหลายประการอย่างไม่นำพาต่อการมีส่วนร่วม เสียงทักท้วง และการคัดค้านของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 ซึ่งมองได้ว่ามีจุดประสงค์ที่จะล้างมลทินและความผิดของพวกพ้องของตน ตลอดจนการดำเนินการขัดกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง และลิดรอนอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยในเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร โดยไม่ได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อยืนยันว่า การกระทำของรัฐบาลนั้นขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้แสดงในความรับผิดชอบใดๆ


นอกจากนั้นรัฐบาลยังประกาศดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยมิได้คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและมิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริงตามนัยมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังเช่น โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ และโครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงในหลายๆ จุด โดยเฉพาะที่บ้านกุ่ม จังหวัดอุบลราชธานี


ศาสตราจารย์เสน่ห์แถลงอีกว่า ความล้มเหลวของรัฐสภาในการถ่วงดุลควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงเป็นผลให้ประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ภาคประชาชนต้องออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้อง โดยที่รัฐบาลอาจจะไม่คำนึงถึงปัญหาความชอบธรรมและความรับผิดชอบของตนเอง และอาจจะใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน เพื่อมุ่งที่จะใช้อำนาจโดยพลการของรัฐบาลแต่สถานเดียว ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงเห็นว่า ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลจะยิ่งเลวร้ายขึ้นไป


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จึงเรียกร้องให้ รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งยุติการจับกุมแกนนำ เพราะไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา มีแต่ทำให้การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่การใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net