Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


โครงการวิจัยไทย มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี


 



 


 ล็อค "ด.." ขนยาบ้า 5,800 เม็ด พร้อมต่างด้าว - เดลินิวส์ 19 .. 2551


 


 รวบแรงงานต่างด้าวทำงานก่อสร้างห่างจาก ตม.ไม่ถึง 1 กม. - ผู้จัดการออนไลน์ 11 .. 2551


 


 ตม.แม่สอดตรึงเข้มเตรียมรับลอร่า บุช - ไอ.เอ็น.เอ็น 5 .. 2551


 


 ตร.ออกหมายจับ 3 แรงงานต่างด้าวฆ่าโหดเศรษฐีนี - ไทยรัฐ 4 .. 2551


 


ตำรวจเตือนอย่ารับแรงงานต่างด้าวเถื่อนทำงาน เสี่ยงต่อการถูกชิงทรัพย์ - สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 4 .. 2551


 


ข้อความข้างต้นคือการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนไทยบางส่วนในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2551 เกี่ยวกับประเด็น "แรงงานต่างด้าว" ในสังคมไทย จากการรวบรวมข่าวเรื่อง "แรงงานต่างด้าว" เน้นเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับแรงงานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ในหนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษประมาณ 25 ฉบับของโครงการวิจัยไทย มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี ในรอบปี 2550 ที่ผ่านมาพบว่านับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม มีข่าวเรื่องแรงงานต่างด้าวปรากฏในหน้าหนังสือรายวันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษประมาณ 1,882 เรื่อง เฉลี่ยเดือนละ 120-180 เรื่อง โดยข่าวส่วนใหญ่อย่างน้อย 80 % จะเกี่ยวกับ/ให้ความสำคัญ/วนเวียน อยู่กับเรื่องดังต่อไปนี้ (เรียงตามลำดับ)


 


1.การจับกุมแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย/ เดินทางข้ามเขต


2.แรงงานต่างด้าวในฐานะภัยความมั่นคงและตัวแพร่เชื้อโรคร้าย


3.การต่อใบอนุญาตทำงาน


4.การขาดแคลนแรงงานในภาคเอกชน


5.การค้ามนุษย์


6.บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขต่อการจัดการปัญหาโรคที่มากับแรงงานต่างด้าว


 


อย่างไรก็ตามกลับพบว่าการพาดหัวข่าวจะเป็นไปในลักษณะที่หวือหวา ดูน่าตื่นเต้น ชวนสนใจ ซึ่งบางครั้งเมื่ออ่านในเนื้อหาโดยตรงจะพบความแตกต่างจากการพาดหัวอย่างยิ่ง การเลือกพาดหัวข่าวในท่วงทำนองดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้รับข่าวสารได้รับรู้แต่เพียงบางข้อมูลที่ข่าวนำเสนอเพียงเท่านั้น และการรับรู้ดังกล่าวนำไปสู่การสร้างภาพความจริงเรื่อง "แรงงานต่างด้าว" ว่าเป็นอย่างนั้นทั้งหมด สิ่งที่ติดตามคือ เวลาที่มีเหตุการณ์ที่แรงงานต่างด้าวกระทำไม่เหมาะสม/ไม่ถูกต้อง/ไม่สมควร เช่น การฆ่า/ทำร้ายนายจ้าง ท่าทีที่ปรากฏผ่านผู้คนในสังคมไทยบางส่วน คือ การประณาม สาปแช่ง ตะเพิด ไล่กลับประเทศ ไม่สำนึกบุญคุณ รวมถึงนำไปสู่อคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่รู้ตัว กระบวนการเหล่านั้นเรียกว่า เป็นการสร้างความเป็นอื่นและความหวาดกลัวหวาดระแวงแก่แรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง


 


 


กระบวนการทำงานของสื่อสารมวลชนที่สร้างภาพให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็น "อื่น"


 


ความเป็นอื่นของแรงงานข้ามชาติเกิดขึ้นผ่านการที่สื่อมวลชนไทยมักจะนำเสนอภาพแทนความจริงของแรงงานข้ามชาติ ภาพดังกล่าวที่สื่อออกมามีส่วนสำคัญต่อการนิยามความหมายของแรงงานข้ามชาติให้กลายเป็นคนอื่นไป กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้กระทำอย่างตรงไปตรงมา แต่พยายามสร้างบริบทแวดล้อมที่พยายามชักพาให้ผู้ดู/ผู้อ่านมีแนวโน้มที่จะมีอคติทางเชื้อชาติ


 



 


ความเป็นอื่นถูกนำเสนอผ่านภาพและชี้นำด้วยคำอธิบายภาพ ภาพที่ปรากฏถูกนำไปเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับบริบทอื่นๆเพื่อตอกย้ำ "ความเป็นอื่น" และความแตกต่างของแรงงานข้ามชาติ กระบวนการทำให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็น "คนอื่น" ได้อาศัยกระบวนการทำให้เป็นธรรมชาติ (naturalization) เพื่อสร้างความหมายอันหยุดนิ่งตายตัวให้แรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว และกัมพูชา ว่าเป็นพวกที่มีธรรมชาติเป็นคนผิดกฎหมาย หลบหนีเข้าเมือง อาชญากรรม ขณะเดียวกันก็สร้างขั้วตรงข้ามขึ้นมาว่า แรงงานไทยเป็นคนที่ดี มีอารยะธรรม ติดตามได้ ตรวจสอบได้ เป็นกระบวนการสร้างลักษณะต้นแบบให้กับแรงงานข้ามชาติจากพม่าให้มีลักษณะแก่นแท้บางอย่าง ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ยากและฝังแน่นอยู่ในการรับรู้ของคนทั่วไปในสังคม


 



 


ผู้คนในสังคมให้ความสนใจต่อสถาบันสื่อมวลชน ในฐานะที่เป็นแหล่งป้อนข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นจริงในสังคม หรือการสร้างความเป็นจริงในสังคม เพราะสื่อมวลชนสามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้ในวงกว้าง ดังนั้นสื่อมวลชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ก็จะเป็นผู้สร้าง "ความเป็นจริงในสังคม" รวมทั้ง "แบบฉบับทางสังคม" ให้ผู้รับสื่อได้รับรู้ไปด้วย ข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏอยู่ในจอโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์จึงเป็นข้อมูลผ่านการปรุงแต่งและคัดเลือกมาแล้วให้เข้าใจง่าย และมักนำเสนอข่าวคราวหรือข้อเท็จจริงในรูปของการสรุป ทำให้ผู้อ่านได้ข้อสรุปเบื้องต้นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งและบังเกิดภาพของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


 



 


เมื่อภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่เกิดจากการที่คนเรารับรู้สิ่งต่างๆ ทั้งจากประสบการณ์ตรงและอ้อม สื่อมวลชนเป็นประสบการณ์ทางอ้อมของประชาชน หนังสือพิมพ์จึงสร้างภาพลักษณ์ของสิ่งต่างๆให้กับประชาชน หนังสือพิมพ์จึงยังมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่าน ให้มีอคติและลำเอียงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และมีอิทธิพลกำหนดให้ผู้อ่านเห็นว่าประเด็นข่าวใดข่าวหนึ่ง มีความสำคัญมากกว่าประเด็นข่าวอื่นๆได้ สื่อมวลชนยังมีอิทธิพลต่อการสร้างภาพพจน์ร่วม (Public Image) ให้เกิดขึ้นกับผู้รับสื่อด้วย ดังนั้นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยจึงเป็นแหล่งประสบการณ์ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของผู้อ่าน ในการรับรู้ภาพลักษณ์และตอกย้ำภาพแบบฉบับของแรงงานข้ามชาติ ในกรณีที่ประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสได้พบปะและรู้จักกับแรงงานข้ามชาติผ่านประสบการณ์ตรงของตนเอง


 


ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นและตอกย้ำบ่อยครั้งเข้าจนบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในสื่อมวลชนมีคุณสมบัติหรือลักษณะแบบใดแบบหนึ่งในสายตาผู้อ่าน เช่น แรงงานข้ามชาติเป็นพวกอาชญากรรม ค้ายาเสพติด แรงงานเถื่อน ต้องปราบปรามจับกุม ก็จะทำให้ผู้อ่านเชื่อและเห็นว่า/คล้อยตามว่าคนกลุ่มนั้นมีลักษณะเช่นนั้นเสมอไป เป็นกระบวนการสร้างแบบฉบับ (Stereotype) ให้กับผู้อ่านจนเกิดภาพในใจ เมื่อภาพลักษณ์เดิมๆถูกตอกย้ำบ่อยเข้า ผู้บริโภคสื่อก็ย่อมมีแบบฉบับหรือคุณลักษณะบางประการของแรงงานข้ามชาติอยู่ในใจไปโดยปริยาย โดยมักไม่ใคร่ได้ตรวจสอบให้รู้แน่ชัดว่าลักษณะนิสัยของกลุ่มที่เราสรุปไว้นั้น ถูกต้องตรงกับสมาชิกของกลุ่มที่เราได้พบหรือเปล่า ซึ่งในความเป็นจริงหลายครั้งที่พบว่า "แบบฉบับ" ที่มีอยู่ในใจของเรานั้นคลาดเคลื่อน แบบฉบับไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ยิ่งเรามีข้อมูลตอนที่สร้างแบบฉบับของสิ่งหนึ่งอยู่น้อยเท่าไรมันก็ยิ่งมีอิทธิพลสูงกว่าข้อมูลที่ได้มาภายหลังมากเท่านั้น เรามีแนวโน้มที่จะเลือกรับข้อมูลที่ตอกย้ำหรือสอดคล้องกับแบบฉบับเดิมในใจของเราและมักจะขจัดข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความรู้เดิม


 


 


ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแรงงานข้ามชาติ


 


เมื่อสื่อมวลชนได้สร้างภาพประทับที่มีต่อแรงงานข้ามชาติไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เช่น การตอกย้ำภาพลักษณ์ของแรงงานข้ามชาติไปในลักษณะเรื่องของผลประโยชน์ การเป็นตัวแพร่เชื้อโรค การเข้ามาแย่งงานคนไทย การเป็นผู้บ่อนทำลายภาวะความมั่นคงของชาติ ฯลฯ อยู่ตลอดเวลา สถานการณ์เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อตัวแรงงานข้ามชาติอย่างชัดเจน คือ


 



 


(1) เกิดการเหมารวมว่าคนข้ามชาติจากประเทศพม่าที่เดินทางเข้ามา/จำเป็นต้องเข้ามา/ถูกทำให้ต้องเข้ามา คือ แรงงานข้ามชาติทั้งหมด ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วคนข้ามชาติจากประเทศพม่าประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่มมาก เช่น นักศึกษาพม่า ผู้ลี้ภัยในค่าย ผู้ลี้ภัยนอกค่าย เหยื่อจากการค้ามนุษย์ การไม่เหลือพื้นที่ของตัวตนแบบอื่นนอกจากการเป็นแรงงาน เป็นการเปลี่ยนภาพตัวตนอันหลากหลายให้เหลือความหมายเดียวอย่างตายตัว ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นการตัดภาพตัวตนคนให้ตายตัว และส่งผลถึงการสูญเสียความเป็นมนุษย์ในที่สุด เพราะต้องตกเป็นทาสของความหมายที่สร้างขึ้นใหม่ กลับยิ่งตอกย้ำ ผลักดัน ผลักไส พวกเขาให้ไปอยู่ในมุมมืดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจำแนกแยกแยะและจัดการเป็นกลุ่มๆ ไป


 



 


(2) ในมุมกลับกันถ้าไม่มองแบบเหมารวมว่าพวกเขาเป็นแรงงานทั้งหมด ก็มองเฉพาะการเป็นผู้ลี้ภัย เป็นนักศึกษาพม่า เป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ มองไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน สิ่งที่ติดตามมาก็คือ การแก้ปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติมักจะเสนอให้มีนโยบาย/กฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาเฉพาะด้าน เช่น ให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้โดยไม่ละเมิดผู้อื่น ให้องค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี


 


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือนโยบายเหล่านั้นจะมีผลต่อผู้ดำรงสถานภาพเฉพาะโดยตรง แต่กลับผู้ที่มีสถานภาพที่มากกว่า 1 อย่าง และไม่สามารถนิยามได้ชัดเจน เช่น กลุ่ม POC/กลุ่มผู้ลี้ภัยนอกค่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีครอบครัวคนไทย นโยบาย/กฎหมายที่เสนอขึ้นมาจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้ได้จริง ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประกาศของ UNHCR และกระทรวงมหาดไทย วันที่ 31 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา ที่ทำให้ POC หลายคน หมดสถานภาพที่จะไปประเทศที่สาม เพราะพวกเขาไม่ต้องการที่จะไปใช้ชีวิตในค่าย ทั้งเหตุผลจากความหวาดกลัวและเหตุผลจากครอบครัวคนไทย


 


หรือการประกาศให้แรงงานข้ามชาติ (ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย) มาขึ้นทะเบียนแรงงานตามมติ ครม.ในแต่ละปี สิ่งที่ติดตามในทุกๆครั้งก็คือ ตัวเลขของผู้ที่มาขึ้นทะเบียนน้อยกว่าตัวเลขความเป็นจริง ด้วยเหตุผลที่ว่าแรงงานหลายคนมาจากกลุ่ม POC บ้าง กลุ่มผู้ลี้ภัยสงครามบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงพวกเขาต่างหลบหนีภัยจากการประหัตประหารจากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามา กระบวนการขึ้นทะเบียนที่จะต้องมีการพิสูจน์สถานะจากประเทศพม่า ทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะออกไปขึ้นทะเบียน ด้วยเหตุผลจากความหวาดกลัวภัยที่จะตามมาในภายหลัง ยิ่งทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆมากขึ้นกว่าเดิม


 


(3) การนำไปสู่การนิยามสถานการณ์และการแยกขั้วของผู้คนในสังคม หมายความว่า "หากบุคคลนิยามสถานการณ์ใดว่าเป็นจริงก็ย่อมมีผลทำให้เป็นจริงตามนั้น" ความจริงหรือความไม่จริงของความเชื่อต่างๆ หาได้เป็นประเด็นที่สำคัญในตัวเองแต่อย่างใดไม่ สิ่งที่สำคัญคือผลลัพธ์อันเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั้นๆ ต่างหาก เช่น มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นภัยสังคม ก็สามารถนำพาให้กลุ่มคนที่ถูกพูดถึงนี้ถูกกระทำที่เป็นไปตามความคิดนึกนั้นๆ ในขั้นต่อไป เกิดการจัดการด้วยแนวคิดความมั่นคงแห่งชาติ


 


การถูกนิยามอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาตินั้นได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาหาได้มีพฤติกรรมต่อสังคมดังที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด และเมื่อผู้คนในสังคมได้รับรู้ความเข้าใจที่ถูกสร้างให้เสมือนจริงนี้ มันนำไปสู่การขาดความเข้าใจในมิติของตัวตนคนข้ามชาติว่ามีความหลากหลายและซับซ้อนกว่าการมองผ่านด้วยแว่นของสื่อมวลชนบางกลุ่ม เมื่อในสังคมขาดความเข้าใจแล้วทำให้การมองปัญหาเป็นการกีดกันการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ พวกเขาตกเป็นฝ่ายรับเคราะห์โดยไม่มีปากมีเสียงต่อสาธารณะ เป็นการเสริมสร้างความเข้าใจผิด เกิดกระบวนการสร้างความเกลียดชังต่อกันและขยายความขัดแย้งทางสังคมให้มากยิ่งขึ้นไปอีก


 


บางครั้งสถานการณ์ทางสังคมในบางช่วงจะมีความพยายามหันเหความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นต้นเหตุของปัญหาทางสังคมต่างๆ เช่น ทำให้สังคมไทยต้องแบกรับต้นทุนทางสาธารณสุขที่สูงมาก หรือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยไม่มีงานทำ เป็นต้น ความเข้าใจลักษณะนี้เองเป็นการหล่อเลี้ยงให้คนในสังคมเกิดการแยกขั้ว และบั่นทอนความรู้สึกที่รู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกัน ส่งผลให้ผู้คนใจคอคับแคบลง กล่าวโทษแรงงานข้ามชาติกันได้ง่ายๆ เกิดการกระตุ้นความหวาดผวา และกระพือโหมความกลัวภัยอันเนื่องมาจากพวกคนต่างด้าวได้ง่าย ถ้าสังคมมุ่งมองปัญหาเพียงแค่คนต่างด้าวอย่างที่เข้าใจก็อาจจะมีการหันไปหาวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการกระตุ้นกระแสชาตินิยมดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่


 


การที่สื่อสารมวลชนรายงานข่าวแบบผิวเผินและตระหนักถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวย มองได้ว่าปรากฏการณ์มีความยุ่งยากซับซ้อนเกินไปที่จะเข้าใจ ทำให้ต้องแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสถานการณ์เฉพาะหน้าและแสวงหาแพะรับบาป ด้วยการประณามพวกเขาว่าเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมต่างๆ ทำให้เกิดการหันเหเป้าหมายความสนใจของผู้คนพุ่งจากคนทำผิดจริงๆ ไปสู่กลุ่มอื่นที่ถูกตำหนิติเตียนแทน ใครก็ตามที่ถูกตีตรากล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาจะทำให้คนกลุ่มนั้นตกในฐานะเป็นที่รองรับอารมณ์ของสังคมได้ง่ายๆ สังคมขาดบรรยากาศแห่งการใช้สติในการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น


 


(4) คนในสังคมเกิดภาวะความเดียดฉันท์ที่เป็นทั้งความชังตัวบุคคล กลุ่มคน เชื้อชาติ หรือลักษณะการเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง และ/หรือความชังที่มีต่อความคิดแบบอย่างและสถาบันทางสังคม ความเดียดฉันท์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการเสกสรรปั้นแต่งทางสังคม (Social Construction) ความเดียดฉันท์ที่น่าสนใจและส่งผลต่อแรงงานข้ามชาติคือ ความเดียดฉันท์ทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นท่าทีชิงชังที่มีต่อชนกลุ่มอื่น เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้มีลักษณะบางอย่างที่ไม่ดีติดตัวมาแต่กำเนิด เพราะความจริงแล้วความเชื่อนี้มักจะเป็นการเชื่อกันอย่างผิดๆ เพราะความจริงแล้วลักษณะไม่ดีหลายอย่าง ไม่ใช่เป็นเรื่องของเชื้อชาติ แต่เป็นเรื่องของการกล่อมเกลาและลักษณะของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ เมื่อใดที่สังคมเกิดความเดียดฉันท์ทางเชื้อชาติหรือความเกลียดกลัวภัยจากคนต่างชาติ (Xenophobia) เมื่อนั้นสังคมก็ยิ่งดำเนินไปในทิศทางชาตินิยมที่คับแคบและแปลกแยกและเอาตัวตนของ "คนไทยด้วยกัน" เป็นที่ตั้ง เมื่อสังคมมุ่งแต่เพียงหาตัวการ/ต้นเหตุที่เป็นคนต่างด้าวเท่านั้นชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังหลบเลี่ยง/หลีกนี้กับความจริง และไม่กล้าเผชิญกับความรับผิดชอบนี้


 


ฉะนั้นการจะไปให้พ้นจากภาพประทับในการมองปรากฏการณ์เรื่องแรงงานข้ามชาติ ไม่ให้สื่อมวลชนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและจัดการคน แวดวงสื่อมวลชนจะต้องปรับแก้มายาคติต่างๆที่ดำรงอยู่ ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการกำหนดวิธีวิทยาใหม่ คือ ต้องพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของพหุสังคม ที่ผู้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ดังสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่ยอมรับกันอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน โดยที่รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นเคารพความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net