รวมแถลงการณ์หลากหลายเครือข่ายต่อเหตุการณ์ชุมนุม ส.ค. 51

 





แถลงการณ์ทางออกต่อวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง

  ความขัดแย้งทางการเมืองของชนชั้นนำในภาวะปัจจุบัน ได้มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทยได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์อาจจะตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในครั้งนี้ได้

  เราขอเรียกร้อง ดังนี้

  1.รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องหยุดสร้างเงื่อนไขใดๆทั้งปวงที่นำสู่ความรุนแรง  และเราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงจากทุกฝ่าย ตลอดทั้งกระบวนการที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยข้ออ้างอันใดก็ตาม

  2.กรณีระเบิดแก๊สนำตา ทางตำรวจได้ปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกล่าวหาว่าตำรวจเป็นผู้กระทำ เราขอเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางไม่สังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจากรัฐสภา องค์กรที่เป็นกลางได้รับความเชื่อถือ และผู้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านๆต่างที่เกี่ยวข้องเป็นยอมรับจากทุกฝ่ายตรวจสอบสืบสวนหาข้อเท็จจริงดังกล่าว

  3.เราขอเรียกร้องให้ประชาชนคนไทย ติดตามข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจากสื่อใดก็ตาม อย่างมีวิจารณญาณ มีสติปัญญา พิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบรอบด้าน ก่อนที่เชื่อว่าข้อมูลข่าวสารใดจริงใดเท็จ  ข่าวแบบแบบไหนเป็นข่าวลือ ข่าวลวง แบบใดเป็นเรื่องจริง เรื่องใดปั่นข่าวสร้างขึ้น อะไรเป็นการใส่ร้ายป้ายสี อะไรเป็นข้อเท็จจริง  เนื่องจากความขัดแย้งของชนชั้นนำในครั้งนี้ คู่ความขัดแย้งดังกล่าวได้พยายามทำทุกวิธีการเพื่อเอาชนะซึ่งกันและกัน รวมทั้งการทำสงครามข้อมูลข่าวสารด้วย

  4.เราขอยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาควบคู่กับการเปิดให้ภาคประชาชนส่วนอื่นๆเข้ามีส่วนร่วมด้วย เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี และปิดช่องทางการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงได้

  5.เราขอให้ประชาชนคนไทยร่วมคัดค้านและประณามการฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อเปิดทางให้มีการรัฐประหาร และหรือฉวยโอกาสรัฐประหารไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม เนื่องเพราะประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเมืองทั้งไทยและทั่วโลก ชี้ชัดว่าระบบรัฐประหารเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยรัฐสภาและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในหลายๆด้าน เช่น  สิทธิการรวมกลุ่มกันของประชาชน การเคารพสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชนและประชาชน  การแก้ไขปัญหาความยากจน  การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และการถูกละเมิดสิทธิของประชาชน เป็นต้น

  6. เราไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ หรือการเมืองใหม่ 70/30 ของพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ซึ่งอำนาจอธิปไตย อำนาจรัฐบาล อำนาจผู้ปกครองบริหารประเทศมาจากการแต่งตั้ง หรือ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" นั่นเอง และไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกับฐานสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด

ด้วยความเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตย

กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย  ภาคเหนือ

กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.)

สำนักเรียนรู้การกระจายอำนาจและประชาธิปไตยท้องถิ่น

 

 






แถลงการณ์เครือข่ายการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ฉบับที่ 1

 

เรื่อง ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธีและยุติการใช้ความรุนแรงใดๆ

ด้วยสถานการณ์การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้คืบเข้าสู่สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง ต่อการเผชิญหน้าโดยใช้ความรุนแรงเพื่อเอาชนะซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 27 สิงหาคม 2551 เวลา 3 นาฬิกา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลัง และอาวุธเข้าทุบตีประชาชนผู้ชุมนุมอย่างโหดร้ายและป่าเถื่อน ราวกับว่าประชาชนเหล่านั้น ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่คนไทย ที่เป็นพี่น้องร่วมชาติ ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อแห่งแผ่นดินองค์เดียวกัน

ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองที่เกิดขึ้น อยู่บนวิถีทางของประชาธิปไตย ที่แม้อาจเกินเลยไปในบางส่วน บางคน บางกลุ่ม แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้น คือ อุดมการณ์ และความแตกต่างทางความคิดในทางการเมือง การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่หมายถึง การแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยและการคัดค้าน ต่อต้าน ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าเหตุการณ์บุกยึด สถานีโทรทัศน์ NBT อาจเกินเลยไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรมากนัก เมื่อเทียบกับการกระทำของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเช่นนี้ เป็นการสมควรแล้วหรือไม่ กับการทุบตี ทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม ราวกับว่า เขาไม่ใช่ "มนุษย์" ไม่ใช่ "คนไทย" ไม่ใช่ "พี่น้องไทย" ต้องปราบปรามอย่างเอาเป็นเอาตายเช่นนี้

เครือข่ายการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ในฐานะ "คนไทย" ขอวิงวอนให้พี่น้องคนไทย ร่วมกันแสดงออกในการต่อต้านและคัดค้าน การใช้ความรุนแรงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้อาวุธเข้าทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุ ท้าทาย และการใช้ความรุนแรงใดๆ อันจะนำมาซึ่งการบาดเจ็บ ล้มตายของพี่น้องประชาชน และร่วมกันแสวงหาทางออกโดยการใช้สันติวิธี อย่าให้ "คนไทย" ฆ่ากันเอง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกต่อไป

ด้วยจิตคารวะ

เครือข่ายการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

www.thaipeace.org


แถลงการณ์เครือข่ายการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ฉบับที่ 2

เรื่อง ขอประณามการกระทำอันรุนแรงและป่าเถื่อนไร้มนุษย์ธรรมของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

จากเหตุการณ์ความพยายามในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้การสั่งการของรัฐบาล โดยใช้อาวุธปืน กระบอง และแก๊สน้ำตา ทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ทั้งที่บริเวณถนนมัฆวาน ทำเนียบรัฐบาล และหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ได้กระทำต่อประชาชนคนไทยด้วยกัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง ผู้สูงอายุ แพทย์ หรือพยาบาล  ตลอดจนการส่องสุมอาวุธสงครามร้ายแรงเป็นจำนวนมากไว้ภายในอาคารทำการทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมพร้อมในการสลายการชุมนุม อันเป็นการกระทำอันป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม เกินกว่าที่จะยอมรับได้

เครือข่ายการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ขอประณามการกระทำดังกล่าว และขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยุติการกระทำใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง ต่อพี่น้องประชาชนผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด และขอให้ใช้ความอดทน อดกลั้น ในการแก้ไขปัญหา ด้วยสันติวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องเปลี่ยนความคิดและมุมมองใหม่ ว่า ผู้ชุมนุมคือประชาชนคนไทย ที่เป็นญาติ เป็นพี่น้อง ของประชาชนชาวไทยทุกคน และยังเป็นพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทำร้ายต่อร่างกายและชีวิตของผู้ชุมนุมไม่ได้

ด้วยจิตคารวะ

เครือข่ายการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

www.thaipeace.orgชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ ตอนล่าง 

 

 





แถลงการณ์คัดค้านการใช้ความรุนแรงและการมีข้อเสนอต่อประชาชนทุกภาคส่วน

 โดยกลุ่ม 26 สิงหาและพรรคแนวร่วมภาคประชาชน

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2551

 1. เราไม่เห็นด้วยกับการคุกคามสื่อและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงใดๆ กับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยที่พันธมิตรฯยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

 2. การใช้ความรุนแรงของตำรวจและการดำเนินการบังคับคดีของฝ่ายตุลาการแสดงให้เห็นปัญหาใหญ่ของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านในรัฐสภา รวมไปจนถึงสมาชิกแห่งวุฒิสภา และกระบวนการยุติธรรมในประเทศ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ตุลาการภิวัฒน์ ที่ไม่สามารถสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นในหมู่สาธารณชนได้อย่างทั่วถึง

 3. การต่อสู้ขัดแย้งกันของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารปี 2549 กับฝ่ายรัฐบาลและกลไกรัฐที่มีลักษณะบีบบังคับ นอกจากไม่ได้ให้ประโยชน์สุขกับประชาชนคนส่วนใหญ่ ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ยังเปิดเผยเนื้อแท้ของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน ซึ่งเร่งให้วิกฤตการณ์ในสังคมไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น และสหภาพแรงงานทั้งหลายพึงระมัดระวังในเรื่องนี้

 4. บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เราจึงขอเรียกร้องให้ภาคประชาชนคนส่วนใหญ่เฝ้าติดตามและเร่งพัฒนาการเรียน รู้ไปสู่การเฝ้าระวังผลประโยชน์โดยรวมของตน ที่สำคัญเฉพาะหน้าคือ

 4.1 ประณาม การใช้ความรุนแรงของกลไกรัฐ การไร้ความสามารถและการเฝ้าแต่แสวงหาประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภา และปัญหาการบีบบังคับของกระบวนการยุติธรรม

 4.2 การ เมืองไทยในวันข้างหน้ายังต้องมีระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มิใช่มุ่งไปในทิศทางการเมืองใหม่ที่ระบุให้มีการแต่งตั้งตัวแทน 70% และเลือกตั้ง 30% ตามที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอ

 4.3 ประชาชน ทุกภาคส่วนต้องเร่งรณรงค์เรียกร้องอย่างหนึ่งอย่างใดให้คู่ขัดแย้งทั้งสอง ฝ่าย ที่ล้วนเป็นกลุ่มคนรวยและเป็นชนชั้นนำของประเทศ หันกลับมาแสดงตนเองว่ามีความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนส่วนใหญ่ อย่างแท้จริง และตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่กลุ่มคนรวยๆ และชนชั้นนำทุกระดับต้องยอมตกลงที่จะเสียภาษีทางตรง โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกในอัตราที่ก้าวหน้า (รวยมากๆ ก็เสียมากๆ รวย น้อยเสียน้อย คนจนไม่ต้องเสีย) ทั้งนี้เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการปฏิรูปสังคมไทยในทุกๆ ด้านเพื่อให้ประชาชนทุกๆ คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตั้งแต่เกิดจนตาย

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

 

 

 





แถลงการณ์ฉบับที่ ๑

โดย เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ๕๑

เรื่อง ให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

---------------------------------------------

  เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ๕๑ เป็นองค์กรพัฒนาด้านรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมตัวกันประมาณ ๑๐๘ องค์กรทั่วประเทศ โดยมีเจตนาเพื่อติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ในแต่ละปี ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ เป็นต้น รวมระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปี

  ต่อสถานการณ์ ที่ผ่านมาของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ที่มีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินและในทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ รวมระยะเวลานานกว่า ๓ เดือน และมีการเคลื่อนขบวนกันเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อ ๒ วันที่ผ่านมา แนวโน้มเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๑ ตอนกลางวันได้เข้ารื้อเวทีที่ถนนราชดำเนิน และมีเหตุให้ปะทะกันบ้าง ซึ่งรื้อเวทีดังกล่าวเป็นการใช้จังหวะที่มีคนอยู่บางตา จึงเข้าดำเนินการ ทำให้ข้าวของเสียหายบางส่วน และตอนกลางคืนได้ มีการใช้แก๊สน้ำตา หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล หลายนัด ทำให้ผู้ชุมนุมหลายคนได้รับบาดเจ็บ แต่ได้รับการปฏิเสธจากตำรวจที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการควบคุมภายใต้การดำเนินการของรัฐบาล จะยิ่งเป็นการนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล

  เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ๕๑ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

1.   ให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงทุกกรณี

2.   รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ถ้าความรุนแรงมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือใครก็ตาม

3.   ให้แต่ละฝ่ายเคารพกฎเกณฑ์ การชุมนุมอย่างสงบและสันติ

4.   ให้รัฐบาลยึดหลักการเจรจาเพื่อหาขอยุติแทนการใช้ความรุนแรงเป็นประการสำคัญ

 เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ๕๑

๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๑ 

 





แถลงการณ์ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)

เรื่อง ประณามการใช้ความรุนแรงและขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการแก้ไขความขัดแย้งอย่างจริงจัง

    สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้มีการขยายพื้นที่การชุมนุมจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์เข้าไปสู่ทำเนียบรัฐบาล จนนำมาสู่การใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนเกิดการปะทะกัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ในวันที่ 29 สิงหาคม 2551

    จากนั้นในช่วง 18.45 น.วันเดียวกัน ได้มีผู้ชุมนุมจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนประมาณมากกว่าหนึ่งพันคนที่รวมตัวกันเพื่อเดินทางมาบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม และให้มีการนำเงินบริจาคจำนวนนับแสนบาทและโทรศัพท์มือถือของผู้ชุมนมที่หายไประหว่างการสลายการชุมนุมมาคืน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาประมาณกว่า 10 นัด จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

    และจากการลงพื้นที่เข้าสังเกตการณ์ตลอดทั้งวันของเครือข่ายประชาสังคมไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่วางตัวเป็นกลางทางการเมืองและพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติมาโดยตลอด  ได้พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกระเบิดพลาสติกของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยสารพิษจากระเบิดชนิดนี้ได้แทรกซึมเข้าไปในผิวหนังทั่วร่างกายจนทำให้อาการสาหัส โดยก่อนหน้านี้จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อช่วงกลางวันในวันเดียวกัน เครือข่ายประชาสังคมไม่ใช้ความรุนแรงได้รับการประสานงานเรื่องเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมรายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตีด้วยกระบองจนบาดเจ็บสาหัส ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ แต่ผู้บาดเจ็บคนดังกล่าวไม่ยอมออกจากพื้นที่ไปรับการรักษาตัว เนื่องจากเป็นห่วงคนในครอบครัวซึ่งไม่สามารถออกมาจากทำเนียบรัฐบาลได้

    ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD)ซึ่งมีจุดยืนในการสนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองอย่างหลากหลายโดยเสรี ยึดแนวทางสันติวิธี ต่อต้านการยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง โดยได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อกันมาโดยตลอด จึงมีความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

    1. การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมอย่างร้ายแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคที่มีความเป็นประชาธิปไตย และหากแม้พฤติกรรมใดๆของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ก็สมควรดำเนินการทุกอย่างไปตามกฎหมาย  เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็มีสิทธิในการต่อสู้ป้องกันตนเองจากการถูกทำร้ายได้ แต่การใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ที่พยายามชุมนุมโดยสันติ แม้จะมีผู้ที่พยายามก่อความรุนแรงอยู่บ้าง แต่ผู้จัดการชุมนุมก็พยายามควบคุมไม่ให้การใช้ความรุนแรงจากฝ่ายมวลชนเกิดขึ้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ควรเป็นผู้กระทำการอันนำไปสู่การเกิดความรุนแรงขึ้นเสียเอง และเราขอให้มีการสืบสวนเพื่อลงโทษผู้ที่มีส่วนในการสั่งการให้เกิดการใช้ความรุนแรงดังกล่าว และทางรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการใช้กำลังรุนแรงของเจ้าหน้าที่

    ทั้งนี้เราเชื่อว่า ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายคนที่มีความจริงใจในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยหามีเจตนาที่จะคุกคามประชาชนไม่  และได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนม เราจึงขอให้กำลังใจแด่ท่านในการรักษาความดีนี้ไว้ต่อไป และขอแสดงความขอโทษถ้าหากแถลงการณ์ฉบับนี้จะทำให้ท่านรู้สึกว่าถูกมองแบบเหมารวมไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งเรามิได้มีเจตนาเช่นนั้น    นอกจากนี้ รัฐบาลควรพยายามหาทางคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง ด้วยการพยายามให้เกิดเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน แทนการใช้กำลังอาวุธ หรือการเร่งออกกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุมของประชาชน ซึ่งนอกจากไม่ใช่วิธีการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงที่ดีได้แล้ว ยังนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

2. แม้ว่าโดยธรรมชาติของความขัดแย้งทางการเมือง ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจอยู่ในมือมักมีแนวโน้มก่อความรุนแรงได้มากกว่าผู้มีอำนาจ  แต่ในครั้งนี้เราขอชื่นชมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นจากมวลชนของตน แต่ทั้งนี้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังต้องใช้ความพยายามมากกว่านี้ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ที่เข้าข่ายนำไปสู่การใช้ความรุนแรงอันเกิดจากมวลชนของตนหรือผู้ไม่หวังดีที่เข้ามาแทรกซึมในกลุ่มมวลชน ซึ่งจะนำไปสู่ความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามการชุมนุมได้ และสำหรับกรณีพฤติกรรมที่ถูกสังคมตั้งข้อกังขา เช่นการบุกยึดสถานีโทรทัศน์NBT ซึ่งอาจเข้าข่ายการลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรออกมาแสดงความขอโทษ พร้อมกับชี้แจงถึงเหตุผล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาพการใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของสถานีโทรทัศน์NBTที่ปรากฏออกมาด้วย

นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรพิจารณาหาทางปรับเปลี่ยนแนวทางการชุมนุมให้นำไปสู่การเจรจาหาข้อยุติร่วมกันกับฝ่ายรัฐบาล แทนการมุ่งเป้าหมายไปที่การกดดันขับไล่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้นำไปสู่ทางออกที่เกิดจากการพบกันครึ่งทางของทุกฝ่ายท่ามกลางวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

3. เราขอเรียกร้องให้การประชุมรัฐสภาร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในกรณีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว  เป็นการประชุมร่วมกันที่ได้รับความจริงใจในการแก้ปัญหาร่วมกันจากทุกฝ่าย โดยไม่เป็นการมุ่งฉกฉวยโอกาสกันทางการเมืองท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งในสังคมไทย ขอให้สมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐบาลทุกท่านยุติบทบาทการเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แล้วทำหน้าที่ในการเป็นผู้แทนปวงชนทั้งประเทศอย่างเป็นกลาง ปราศจากอคติทั้งปวง

4. เราขอยืนยันว่า การก่อปฏิวัติรัฐประหารโดยใช้กำลังกองทัพทหาร ไม่สามารถเป็นทางออกที่ดีแก่การพัฒนาประชาธิปไตยได้ ดังนั้นเราจะไม่ยอมรับเหตุผลข้ออ้างของฝ่ายใดๆที่ต้องการให้มีการใช้กำลังทหารเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง และหากฝ่ายใดมีความพยายามก่อรัฐประหารหรือกระทำการใดๆที่มุ่งหมายเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร ขอให้ยุติความตั้งใจนั้นเสีย เพราะเราจะไม่ยอมรับความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารของฝ่ายใดทั้งสิ้น การปฏิวัติการเมืองไทยจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชนในสังคม มิใช่การใช้กำลังอาวุธข่มขู่ เข่นฆ่า เปลี่ยนมือผู้มีอำนาจโดยขาดซึ่งการพัฒนาทางความคิดและสำนึกความเป็นพลเมือง

5. เราขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงรักษาจรรณยาบรรณวิชาชีพ ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา และเราจะประณามสื่อมวลชนหรือผู้ใดก็ตามที่พยายามบิดเบือนการนำเสนอความจริงต่อสังคม

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ได้มีผู้ที่พยายามอ้างข้อเท็จจริงกรณีการใช้แก๊สน้ำตาและระเบิดพลาสติกในการสลายการชุมนุมว่าเป็นการสร้างสถานการณ์เองจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่จากพยานหลักฐานแวดล้อม การบันทึกภาพเหตุการณ์ของสื่อมวลชน รวมถึงการสังเกตการณ์ในพื้นที่ของเครือข่ายประชาสังคมไม่ใช้ความรุนแรง พบว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้นหากผู้ใดจะตั้งข้อกล่าวหาเช่นนี้ ขอให้ยืนยันกันด้วยหลักฐานข้อเท็จจริง อย่าบิดเบือนข้อมูลสร้างความสับสนแก่สังคมอย่างเด็ดขาด

 

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD)มีความหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางการเมืองไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยอยู่บนหลักการสันติวิธีและความเป็นประชาธิปไตย เกิดขึ้นโดยเร็ววัน

 ขอความสันติสุขจงบังเกิดแด่สังคมไทยในเร็ววัน

31 สิงหาคม 2551

นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์

เลขาธิการศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)นายสุรพล ดวงแข ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อม ๕๑

 

 





คำแถลง

องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2551

 

เรื่อง ความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

และการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ติดตามสถานการณ์ทางสังคมการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา และรู้สึกห่วงใยต่อความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนอาจนำมาสู่การสูญเสีย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางดังที่เคยเกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยและประเทศอื่น ๆ

 

ท่าทีของรัฐบาล ที่ไม่ลดละในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ด้วยมาตรการต่าง ๆ ทั้งทางกฎหมาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนของรัฐ และด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่คุกคามข่มขู่ประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล และการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล   ภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุบที เหยียบย่ำ และทำร้ายร่างกายประชาชนไม่เว้นแม้แต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุที่มีเพียงสองมือเปล่า เป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่งต่อสายตาสาธารณชนและประชาคมโลก เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และละเมิดต่อพันธกรณีที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539

 

เพื่อมิให้สถานการณ์ลุกลามขยายตัวไปไกลกว่าที่เป็นอยู่  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอแสดงจุดยืน และมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

 

1.    ขอประณามความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะโดยทางวาจา หรือการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นจากภาครัฐในการจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างแข็งกร้าว ขอให้ยุติการใช้กำลังในการปราบปรามการชุมนุม สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นสิทธิมนุษยชนสากลที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก

 

2.    ในขณะที่นายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ได้แถลงเมื่อวานนี้ว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ถนนราชดำเนิน จะให้ผู้รักความเป็นธรรมทั่วประเทศและทั่วโลกเข้าใจได้อย่างไร มีหลักประกันเพียงใดที่จะไม่เกิดโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่อีก นายกรัฐมนตรี และผู้สั่งการจะต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น ประชาชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการฟ้องร้องเอาผิด และเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐ และผู้เกี่ยวข้อง ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเองจะต้องสรุปทบทวนพฤติกรรมของตนว่ามีส่วนในการก่อปัญหาและทวีความรุนแรงของปัญหาอย่างไร

 

3.   กระบวนการยุติธรรม: เป็นที่กังขาว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่ง และให้มีการบังคับคดี ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการทุบตีประชาชน โดยเฉพาะสตรีและผู้สูงอายุ มีการรื้อข้าวของ ยึดและทำลายทรัพย์สิน รวมถึงการเอาอาวุธปืนจ่อศีรษะประชาชนด้วยหรืออย่างไร  หรือว่าเป็นการแอบอ้างคำสั่งศาลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการคุกคามประชาชนหรือไม่  ในขณะเดียวกันผู้ต้องหาก็ย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ได้รับการประกันตัว และปฏิบัติด้วยดีเฉกเช่นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา

 

4.   บทบาทของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ถูกต้อง และเหมาะสม ควรจะเป็นอย่างไร บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดี จะต้องยึดมั่นในเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความเที่ยงธรรม และสุจริตธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สมกับการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสากล มีความเป็นมืออาชีพ มิใช่เป็นเพียง "กลไก" หรือ "มือเท้า" ของรัฐในการเถลิงและจรรโลงอำนาจที่ไม่ชอบธรรม อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียและตกต่ำของสถาบันตำรวจ

 

5.    บทบาทของสื่อมวลชน มีความสำคัญยิ่ง จะต้องแสดงบทบาทที่เป็นกลางอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสถานการณ์ ในขณะที่ทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพในสิทธิเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนเช่น เอ็นบีที  เครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ แต่การแสดงบทบาทที่มีลักษณะยั่วยุ ขาดความเป็นกลาง เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ ขาดความเป็นมืออาชีพ จนเป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มประชาชน นำมาสู่กรณีการบุกรุกสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้น ถือเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญของทุกฝ่าย เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมโดยรวม จึงขอให้ทุกฝ่ายให้โอกาสสื่อมวลชนในการดำเนินการโดยอิสระ ปราศจากอคติ และยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด

 

6.    บทบาทของกองทัพ สมควรที่จะอยู่ในที่ตั้งจนถึงที่สุด ไม่เข้าแทรกแซงทางการเมืองด้วยวิธีการใด ๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จนก่อวิกฤตอันส่งผลให้ประชาธิปไตยถดถอยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอดีต

 

7.    ปฏิบัติการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และสร้างเสริมสมรรถนะด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของประชาชน หากยึดมั่นในหลักการสันติวิธีอย่างเคร่งครัด

 

8.    ขอให้ทุกฝ่ายใช้สติในการดำเนินภารกิจของตน โดยยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี มีเหตุมีผล หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ หรือ โทษะ และโมหะจริต เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เพื่อให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยแห่งสังคมที่อภิวัฒน์ เป็นธรรม และการพัฒนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอย้ำว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการกำหนดเจตจำนงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ และหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนสากล กระบวนการยุติธรรมจึงต้องเอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิ ให้ความคุ้มครองสิทธิ และยืนยันสิทธิของประชาชน  รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเคารพ และตอบสนองต่อการเข้าถึงสิทธิของประชาชน และรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลเอง

 

ยุติความรุนแรง ยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน ยุติการแทรกแซงและครอบงำสื่อมวลชน เพื่อสันติสุขแห่งสังคม

 

ขอให้กำลังใจแก่ทุกคนที่มุ่งหวังในการสร้างความดีงาม และผาสุกให้แก่มวลมนุษยชาติ

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  

ผู้อำนวยการ องค์การ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

29 สิงหาคม 2551

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล) เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการภาคประชาสังคมผู้รักความเป็นธรรมในระดับสากล  มีภารกิจในการปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ดูรายละเอียดที่ www.amnesty.or.th และ www.amnesty.org

                                                    

 

 

 


 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท