อีกมุมหนึ่งของความจริงเรื่องภาพ "ปืนจ่อหัว"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1 กันยายน 2551 ค่ำแล้วในร้านกาแฟแห่งหนึ่งบนถนนข้าวสาร

            หลังจากเสร็จจากภารกิจการเรียนและการทำงานในวันนี้ เราทั้ง 4 คน ต่างมานั่งแลกเปลี่ยนถึงภาพ "ปืนจ่อหัว" ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปไล่ทำร้ายประชาชนในทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ขณะนำคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลแพ่งที่ให้กลุ่มพันธมิตรฯ ถอนการชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาลไปติด หลังจากนั้นได้มีภาพตำรวจพร้อมอาวุธครบมือได้ปีนกำแพงทำเนียบ เข้าไปใช้อาวุธปืนจี้หัวข่มขู่ประชาชนให้ออกไปจากบริเวณตึกแดง

 
ดูภาพเหตุการณ์ที่ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000103116

            ภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงขนาดที่ว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อหาทางออกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2551 รสนา โตสิตระกูลและสมชาย แสวงการ ได้นำภาพดังกล่าวมาประณามในสภาถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ

            อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2551 เวลา 23:58:32 ในเวบไซด์พันธุ์ทิพย์ (www.pantip.com) กลับพบกระทู้เรื่อง "ทายปัญหาอะไรเอ่ย รูปปืนจี้หัวที่เป็นข่าว" โดยคุณคิเกี๊ยมบึ้ม (นามแฝง) จากกระทู้ 2 กระทู้นี้

http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P6948973/P6948973.html

http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P6950085/P6950085.html

ผู้โพสต์กระทู้ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า "รูปปืนจ่อหัว" อาจจะมีการตัดต่อภาพเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้โพสต์ก็กล่าวไว้ด้วยเช่นกันว่าอาจใช่หรืออาจไม่ใช่ก็ได้ นี้เป็นเพียงข้อสังเกตที่น่าสนใจของผู้โพสต์เพียงเท่านั้น

เราทั้ง 4 คนได้ร่วมกันดูภาพหลายต่อหลายครั้ง และสงสัยเช่นเดียวกับอีกหลายๆคนที่มีโอกาสได้ดูภาพชุดนี้เป็นครั้งแรกว่า "จริงหรือเปล่า?" อย่างไรก็ตามเพื่อนเรา 2 คนในกลุ่ม คือ NGOs ด้าน ICT ดูเหมือนพวกเขาจะไม่แปลกใจเท่าไหร่นัก หรือเขาได้คำตอบอะไรบางอย่างแล้ว ใครสักคนในกลุ่มอดสงสัยขึ้นมาไม่ได้?

อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการใช้คอมพิวเตอร์ การเข้าใจเรื่องการตัดต่อภาพไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทำให้พวกเราจึงไม่ได้สนใจที่จะแสวงหาคำตอบแล้วว่า "ภาพดังกล่าวจริงหรือไม่?" เพราะถ้าเราเพียงหลงอยู่ในคำถามนี้คำตอบก็ปรากฏชัดว่าจะมีเพียง 2 คำ คือ "จริง" กับ "ไม่จริง" เท่านั้น แต่นั่นเองมันจะมีประโยชน์อะไรที่สุดท้ายแล้วเราจะเพียรสืบหา "ความจริง" เพราะวันนี้ก็ปรากฏชัดแล้วว่าความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป นอกจากนั้นคำถามสำคัญที่ตามมา ก็คือ "ใครเป็นคนพูดความจริงเรื่องนั้น?" ต่างหาก

พวกเราต่างนึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาฉับพลัน หลายคนคงจำกันได้ว่าชนวนสำคัญอันหนึ่งของการเกิดเหตุการณ์และนำไปสู่การเข่นฆ่าปราบปรามนิสิตนักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยมรุนแรงและร้ายกาจมาจากการที่มีผู้สงสัยว่า "นักศึกษาบางคนที่แสดงละครสะท้อนเรื่องการฆ่าช่างไฟฟ้าที่นครปฐม 2 คน มีใบหน้าเหมือนกับพระราชวงศ์องค์หนึ่ง" ความสงสัยเกิดขึ้นจากภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม แม้ว่าภาพนั้นจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ตามที นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่า การขยายความ/การผลิตซ้ำ/การปลุกปั่นให้เชื่อ/การพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องภาพที่ปรากฏดังกล่าว จนในที่สุดนำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาเหล่านั้น เพียงเพราะ "เขาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและไม่ใช่คนไทย"

วันนี้ในท่วงทำนองเดียวกัน ภาพดังกล่าวกำลังถูกขยายความให้กลายเป็นความรุนแรงที่ประชาชนกับประชาชนกำลังห่ำหั่นกันเอง เราไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ความรุนแรงมีจริงและก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียวหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น รวมถึงเราก็ทนไม่ได้/รับไม่ได้กับความรุนแรงที่ปรากฏเช่นเดียวกัน เพื่อนเราหลายคนก็อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น แต่สิ่งที่เรากังวลใจมากกว่า คือ เรากำลังผลิตซ้ำความรุนแรงผ่านภาพถ่ายภาพนี้ ซึ่งมีอานุภาพมากกว่าคำพูดหลายพันคำ คนจำนวนมากไม่ได้มีประสบการณ์ตรงหน้าทำเนียบ และทำเนียบก็ใหญ่โตเกินกว่าที่เราจะบอกได้ว่า "นี้คือความจริงทั้งหมดของเหตุการณ์"

คุณคิเกี๊ยมบึ้ม (นามแฝง) ให้ความเห็นต่อภาพดังกล่าวว่า  "แค่ข้อสงสัยนะครับ ใครเก่ง photoshop หรือ ถ่ายรูปเก่งลองเทียบดูครับ มันอาจจะเป็นมือขวาก็ได้ครับ  แค่อยากให้ลองพิจารณาดูครับ ที่สงสัยมากกว่าคือสายที่ต่ออยู่ด้านบนพานท้ายปืนครับ อีกจุดก็คือ ถุงมือ ด้านที่พานท้ายครับ ความผิดปกติอีกหลายอย่างคืออุปกรณ์และชุดของพี่คนนี้เท่กว่าชาวบ้าน แว่นตาพอมีขายบ้านเรา  แต่ก็เท่เกินไปในขณะที่คนอื่นใส่หมวกกันน๊อคมีกำบังหน้า พร้อมโล่  พี่เขาใส่แว่นนี้พร้อมลุย ปกติใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษของต่างประเทศ เช่น S.W.A.T ของอเมริกาอ่ะครับ ในรูปพี่แกพอขยายขึ้นมาเยอะ ๆ ก็ไม่ค่อยเหมือนคนไทยซะด้วย รูปนี้อาจจะตัดต่อหรือไม่ก็ได้ครับ   ถึงเป็นรูปจริง ๆ วิถีที่เล็งก็ไม่ใช่จ่อที่หัวแล้วครับ เป็นมุมกล้อง  ลองถามเพื่อน ๆ ช่างภาพ (ช่างถ่ายภาพตัวจริง) ก็ได้ครับ"

นอกจากนั้นยังมีผู้ร่วมให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า  เช่น

คุณ Sky บอกว่า "ลักษณะการถือปืนรูปที่ 40 และ 41 ถือปืนผิดลักษณะตามธรรมชาติครับ  ปืนในรูปที่ 40 ควรจะอยู่ด้านขวามือครับ  เพราะรูปที่ 41  ตำรวจทุกคนถือปืนด้านขวามือครับ  (ตามธรรมชาติ)ขอเพิ่มอีกนิด  คาดว่ามีการแต่งริชแบนด์สีเหลืองให้ตำรวจด้วย  และเร่งแสงให้สว่างมากขึ้น  ถามว่าทำไมต้องใส่ริชแบนด์  เพราะจะได้สังเกตได้ว่าเป็นคนไทยชัวร์ ๆ และจะได้ลืมประเดินอื่น ๆ เช่นหน้าตาของตำรวจ  เพราะเมื่อคนเราดูจุดใหญ่แล้ว ก็จะละเลยจุดเล็ก ๆ ไป"

คุณซาเวีย บอกว่า "1. ผมว่าแว่นของคนนี้หล่อไป ดูจมูกเป็นสันเชียว 2. ทำไมใส่หมวกไม่เหมือนคนอื่น 3. ทำไมใส่ชุดไม่เหมือนคนอื่น 4. ใส่ถุงมือไม่เหมือนคนอื่น"

คุณตาลสด บอกว่า "สังเกต ตรง ป้ายหน้าอกเสื้อ กันไหมคะ..ป้ายชื่อมันต่างกัน กับตำรวจที่อยู่ไกลออกไปขนาดใหญ่กว่ามากและตรงไกปืนมันขวางเป็น 90 องศา กับลำปืน โดยหันออกทางด้านซ้ายถ้าเป็นปืนจริงๆ มองจากมุมนี้  มันต้องเห็นด้านสันนิ้วข้อกลางและด้านข้างของนิ้วโป้ง ใครมันจะซื้อไปใช้  จะลั่นไกทีต้องอ้อมมือไปเหนี่ยวไก โคตรลำบาก แค่ปืนก็หนักแล้ว มือเคล็ดเอาได้อีก ปืนพิการแบบนี้คงไม่มีจริงหรอกค่ะ  พอซูมดูใกล้ๆ แสงที่กระทบเสื้อ คนละเฉดเลย แล้วเงาตรงใต้หมวกดำมากจนโดดเด่น ผิดแผกจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ แบบดำจัด เทียบกับตำรวจด้านหลัง หมวกก็แตกต่างกันมากจากคนอื่น ทีแรกเราคิดว่าตัดต่อแค่ปลายปืน...แต่ตอนนี้เราว่ามันไปตัดตำรวจปลอมมาใส่ทั้งตัว"

คุณ city stray cat บอกว่า "ตรงนี้เลยมั่นใจมาก... ทำได้แค่นี้ยังจับได้เลย..คือลบปลายกระบอกปืนที่ผ่านหัวไป พอลบแล้วใช้ tool ใน photoshop ที่เรียกว่า clone stamp เพื่อที่จะมาเติมในส่วนทีตัดปลายปืนออกไป ที่อยู่ตรงสวนหัวผู้ชาย และเติมให้เต็มที่ปริเวณหัวผู้ชาย แต่ด้วยความลวก และคงไม่เก่ง เลยทำแล้วเห็นเป็น pattern ปกติคนที่ทำ photoshop ที่ไม่ต้องชำนาญมากแต่พอทำเป็น ถ้าจะต้องใช้ tool นี้ บริเวณที่เลือก clone เค้าจะพยามคอย เลือกตำแหน่งที่ clone ใหม่ตลอด เพื่อเลี่ยง ไม่ให้เห็นเป็น pattern แต่คนที่ทำรูปนี้..ถ้าไม่ขี้เกียจมาก..ก็คงมือไหม่มากๆ เพราะเลือกตำแหน่ง clone แค่ที่เดียว ก็เลยเห็นเป็น pattern จริงๆ แล้วเครื่องมือนี้ค่อนข้าง basic มาก เราค่อนข้างใช้บ่อยเลยค่อนข้างรู้ดี..ลองไปถามคนที่ใช้ photoshop ดูใครรู้ ถ้ามีเวลาจะทำตัวอย่างให้ดูแล้ว จะเอาขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบ.."

            อย่างไรก็ตามหลายคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วเรานำเรื่องนี้มาบอกกล่าวทำไมในเมื่อเราก็ไม่ได้สนใจหาความจริงอยู่แล้ว คงต้องบอกอีกครั้งว่า "พวกเราเชื่อว่ามีความจริง แต่ความจริงมีหลายชุด ไม่เป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นเอกภาพ และความจริงของแต่ละชุดก็ไม่ได้บอกว่าใครจริงกว่าใคร สิ่งที่เราเรียกร้องคือ การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายต่างหาก หลายคนอาจพูดต่อว่า อ๋อ! เราจะอยู่ร่วมกับคนที่กำลังเอาปืนจ่อหัวเราหรือไง? คำถามนี้ตอบไม่ง่ายนัก แต่ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาทันที......"

            วันนั้นเดือนสิงหาคม 51 ในโรงอาหารริมน้ำ ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เพื่อนเราคนหนึ่งในกลุ่มกำลังนั่งกินข้าวกันอยู่ ถัดไปไม่กี่โต๊ะข้างหน้า มีอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านสันติวิธีท่านหนึ่งนั่งรับประทานอาหารอยู่ด้วย ระหว่างนั้นมีนักศึกษาผู้หญิงกลุ่มหนึ่งอายุประมาณ 20 ปี ราว 4-5 คนได้เดินเข้ามาในโรงอาหารและด้วยความไม่ตั้งใจ (เอานี้เราคิดเอาเอง) ใครสักคนในกลุ่มของเธอได้เดินชนผู้ชายคนหนึ่งอายุประมาณ 35 ปี ซึ่งกำลังนั่งกินข้าวอยู่เช่นกัน ผู้ชายคนนั้นคว้าแขนนักศึกษาคนที่ชนเขาไว้ และพยายามจะบอกว่าเป็นการเจตนาชน เขาด้วยคำพูดค่อนข้างเสียงดัง ความขัดแย้งถกเถียงดำเนินไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยผู้ชายคนนั้นจะให้นักศึกษานั่งตรงที่เข้านั่งเพื่อจะได้ชนให้ดูว่าชนแรงแค่ไหน อย่างไร ในขณะนั้นอาจารย์ท่านนั้นก็ลุกขึ้นมาจากโต๊ะแล้วไปนั่งแทนผู้ชายคนนั้น แล้วบอกให้ผู้ชายแสดงดูว่าถูกชนอย่างไรโดยการเดินชนอาจารย์ท่านนั้นแทน ผู้ชายคนนั้นก็เดินชนอย่างที่เขาคิดว่านักศึกษาคนนั้นชนเขา แล้วอาจารย์ก็เงยหน้าไปถามว่า เขาชนแบบนี้ใช่ไหม ผู้ชายพยักหน้าตอบ แล้วอาจารย์ท่านนั้นก็ลุกขึ้น ยิ้มให้ แล้วก็เดินจากไป ผู้ชายคนนั้นก็กลับมานั่งที่นั่งตนเองอย่างสงบ และนักศึกษากลุ่มนั้นก็เดินจากไป

            เราเลือกที่จะนำเรื่องนี้มาพูดไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ชุมนุมจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม หรือสามารถยอมรับได้ การใช้ความรุนแรงอย่างไม่เหมาะสมต่อผู้ชุมนุมย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้ แต่อย่างไรก็ดีการนำรูปภาพที่ตัดต่อมาใช้เพื่ออ้างว่าเป็นการใช้ความรุนแรง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน เราเพียงต้องการเสนอข้อถกเถียงครั้งนี้เพื่อยกระดับไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำ ๆ อีก ซึ่งสังคมไทยทำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

            ปล. ระหว่างที่เรากำลังเขียนจดหมายฉบับนี้ ประมาณตีหนึ่งครึ่งเกือบตีสองแล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯกับกลุ่มนปช. ที่บริเวณถนนราชดำเนิน จากภาพข่าวในโทรทัศน์พบการรุมกระทืบ การตีด้วยไม้ผู้ชายคนหนึ่งบนรถมอเตอร์ไซด์ (เราขอเลือกใช้คำนี้เลย) จนผู้ชายคนนั้นเลือดตกยางออกนอนรอความช่วยเหลืออยู่บริเวณริมถนน ใกล้กับหน้า UN รวมทั้งยังไม่มีรถพยาบาลมาช่วยเหลือ และนักข่าวแต่ละช่องก็ถ่ายภาพและรายงาน อีกรายงานหนึ่งจากวิทยุบอกว่า มีคนตาย 1 คนแล้วด้วย

            ทำไม อะไร ถึงเป็นสินค้ากันได้ขนาดนี้ เราหวังว่าใครสักคนจะช่วยเหลือผู้ชายคนนั้นมากกว่าการถ่ายภาพมาให้เราดูว่า "คนถูกกระทืบถูกตีจนบาดเจ็บ"

            เราหวัง เราภาวนา เราขอร้อง  "อย่าทำแบบนี้กันอีกเลย" พูดอย่างไม่ดัดจริต น้ำตาเรารินออกมาและเราก็ตัดสินใจเปลี่ยนช่องทีวีไปดูมิวสิควีดีโอแทน เผื่อว่าหัวใจเราจะดีขึ้น จะดีขึ้นในวันพรุ่ง.........

 

ด้วยจิตคารวะและเชื่อมั่นพลังสามัญชน

ไกลก้อง ไวทยการ มูลนิธิกองทุนไทย

อดิศร เกิดมงคล นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท