Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง วิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบัน: ขัดขืนอย่างอารยะหรืออนารยะขัดขืน? โดยมีวิทยากรได้แก่ อ.ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา ม.เชียงใหม่ ผศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และมี อ.ดร.วรรณภา ลีระศิริ และ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


อ.ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา ม.เชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องอารยะขัดขืนจากบทเรียนที่ผมเคยศึกษาโดยตีกรอบเฉพาะความหมายที่ถูกนำมาใช้โดยมหาตมะ คานธี และกลุ่มของท่านนั้น เกิดขึ้นจากการเรียกร้องอิสรภาพจากการปกครองของประเทศอังกฤษที่เข้ามาปกครองอินเดีย ในฐานะเป็นอาณานิคม ดังนั้น คำว่าอารยะขัดขืนจึงเริ่มเป็นที่พูดถึงเสมอเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง


 


ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับอารยะขัดขืน มีประเด็นสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ที่ต้องทำความเข้าใจคือ ท่านย้ำว่า ประการที่ 1 กระทำเช่นนี้ต้องเป็นไปในแนวทางอหิงสา คือ ไม่เบียดเบียน ซึ่งการไม่เบียดเบียนนี้ ต้องตีความให้ลุ่มลึกมากกว่ากิริยาทางกาย ซึ่งต้องตีความอย่างลุ่มลึกเพียงพอ คนอินเดียหลักการดังกล่าวซึมลึกอยู่ในสายเลือด แต่พอนำมาใช้ในสังคมอื่นๆ ที่ไม่มีประเพณีเช่นนั้น ก็ต้องนิยามให้ลึก อหิงสา ไม่เพียงแต่ ไม่ถือไม่กอล์ฟหรือด้ามธง ไม่ล่วงล้ำ ไม่ล่วงละเมิดทางกายเท่านั้น แต่เป็นอหิงสาที่ลุ่มลึกที่สุดอย่างแท้จริงคือไม่เบียดเบียนทางความรู้สึก นึกคิด จิตใจ เพราะหลักการอหิงสานี้ ท่านมหาตมะ คานธี ประยุกต์มาจากหลักของศาสนาเชน ศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู และหลักคำสอนนี้ซึมลึกในจิตใจประชาชนอินเดีย


 


การที่เราไม่คิด ไม่รู้สึกเบียดเบียนผู้อื่น ค่อนข้างเป็นปัญหามากในคนที่ไม่ใช่ชาวอินเดีย เพราะเริ่มต้นเราก็เบียดเบียนกันทางความคิดแล้ว


 


ประการที่ 2 การไม่เบียดเบียนคือไม่ใช้วาจาหรือการสื่อสารเพื่อมุ่งประหัตประหารทำลาย หรือใช้อำนาจการสื่อสารที่มีอยู่ไปทำร้ายคูกรณี คู่ตรงกันข้าม ให้ต้องประสบกับสิ่งที่พึงปรารถนาหรือสิ่งที่เลวร้ายขึ้น ซึ่งผมเข้าใจว่าค่อนข้างปรากฏชัดเจนในเวทีการเมือง เราเบียดเบียนกันอย่างยิ่งในเชิงภาษา


 


ประการที่ 3 การไม่เบียดเบียนกันทางร่างกาย ไม่ทุบตีกัน


 


การบอกว่าจะใช้หลักอหิงสา โดยเราคอยแต่จ้องมองการแสดงออกทางกาย ว่าใครจะตีหัวใครก่อน เป็นการมองที่ปลายเหตุ เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องทบทวนให้มากเกี่ยวกับหลักอหิงสา คือ กลุ่มคนแต่ละกลุ่มที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นตัวแทนของผู้อื่น ได้ชักนำให้ผู้ร่วมชุมนุมให้เกิดความคิดในจิตใจที่จะเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ มีการโน้มน้าวที่จะทำให้เกิดการใช้วาจาประหัตประหารผู้อื่นหรือเปล่า


 


ท่านมหาตมะคานธีเน้นย้ำหลักการอหิงสาอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ สัตยาเคราะห์ คือ เราต้องเคารพความจริง เราจะทำอะไรต้องไม่ไปละเมิด ไม่ปกปิดการเท็จ หรือบิดเบือนความเป็นจริง นี่เป็นเรื่องสำคัญของการยึดหลักการอหิงสา เมื่อใดที่มีการให้ข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ทำให้คนลุ่มหลงกับความไม่จริงบางอย่าง ความรุนแรง ความเบียดเบียนก็จะเกิดขึ้นได้


 


เพราะฉะนั้น หลักการอหิงสาต้องสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า สัตยาเคราะห์ หรือการเคารพในความจริง ซึ่งสิ่งที่ต้องมาคุยกันในปัจจุบันก็คือ ความเป็นจริงอะไรบ้างที่เราควรจะรู้ และผู้รู้ ผู้นำ ได้เปิดเผยข้อมูลความจริงอย่างเที่ยงแท้แน่นอนหรือไม่ เพราะปัจจุบันเรามักจะพบว่าข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะนั้น มักจะไม่ตรงกับสิ่งที่เรารับรู้ มีการแพร่งพรายอยู่ในหมู่คนที่ใกล้ชิดเท่านั้น


 


ถ้าเมื่อใดที่การกระทำต่อต้านที่ไม่เป็นไปตามปกติ หากเป็นไปในลักษณะที่เบียดเบียน ทำร้าย ความคิด จิตใจ คำพูด รวมทั้ง เป็นการปกปิดบิดเบือนความจริง ผมเข้าใจว่าการกระทำนั้นไม่ใช่อารยะขัดขืน แต่เป็นอนารยะขัดขืนมากกว่า


 


ในช่วงท้ายของการเสวนา อ.ดร.ประมวล กล่าวว่า ผมหวังว่า พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมา ผมหวังจะเห็น คุณจำลอง คุณพิภพ คุณสนธิ ออกช่อง NBT เห็นคุณสมัคร ไปออกช่อง ASTV ผมคงมีความสุขมาก ที่คุณจำลอง คุณสนธิ มาชื่นชมคุณสมัครผ่านช่อง NBT และคุณสมัครได้มายกย่อง คุณจำลอง คุณสนธิ ในช่อง ASTV นี่เป็นความฝันของผม นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญสำหรับผมก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net