"สมัคร"ยันทำประชามติ 6พรรคร่วมหนุนส่งคนคุยพันธมิตร ด้านส.ว.-นิด้า-ฝ่ายค้านรุมต้าน

ที่สถานีวิทยุ อสมท เมื่อเวลา 15.10น.วันที่ 4 กันยายน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ภายหลังออกรายการ "คุยได้คุยดี"  ทางคลื่นวิทยุ 96.5  อสมท  ถึงแนวคิดการทำประชามติว่า แม้จะต้องใช้เวลา แต่คณะทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากการชุมนุมซึ่งถ้าสามารถควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในกรอบได้ ก็จะยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้การทำประชามติเกิดการสะดุด

 

นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า สำหรับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น  คงต้องปล่อยให้มีการชุมนุมกันต่อไปและขณะนี้ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูและร่างเกณฑ์การทำประชามติแล้ว ดังนั้น พันธมิตรฯก็สามารถใช้เวลาในช่วงก่อนลงประชามติรณรงค์เนื้อหาตามแนวคิดของตัวเองได้ ซึ่งถ้าหากคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มพันธมิตร ก็ต้องหันกลับมามองในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย แต่หากผลการทำประชามติออกมาว่ากลุ่มพันธมิตรณกระทำไม่เหมาะสมก็ต้องมีกติกาว่าต่อไปจะทำอย่างนี้ไม่ได้

 

เมื่อถามว่า  หากมีการกล่าวหาว่ารัฐบาลล็อกผลประชามติหรือซื้อเสียงจะแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร นายสมัคร กล่าวว่า "ยังไม่ทันทำเลยก็จะมากล่าวหากันแล้วหรือ เรื่องการทำประชามติก็มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดูแลอยู่ ก็ให้ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบไป"

 

เมื่อถามอีกว่า หากมีการนัดหยุดงานหรือปิดถนน อาจทำให้ประชาชนดือดร้อน รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรี ย้อนถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเพราะสื่อช่วยกันประโคมข่าวใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้มีคณะกรรมการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินคอยดูแลอยู่ ทั้งนี้ รัฐบาลคงไม่ไปเจรจากับพันธมิตรฯ และทางพันธมิตรก็คงไม่อยากเจรจากับรัฐบาล

 

เมื่อถามว่า หากพันธมิตรฯยอมถอย 1 ก้าว ด้วยการยอมรับการเลือกตั้งใหม่ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 นายกรัฐมนตรีจะทบทวนการตัดสินใจยุบสภาหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า การเลือกตั้งใหม่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการยุบสภา แต่ไม่มีใครสามารถบังคับให้ตนตัดสินใจยุบสภาได้  ทั้งนี้ การตัดสินใจยุบสภาไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเป็นไปตามความเหมาะสม

 

6พรรคร่วมหนุนทำประชามติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.30 น. ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทย นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาราช นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคมัชฌิมาธิปไตย นายอลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อแผ่นดินและนางวศุลี สุวรรณปาริสุทธิ์ ส.ส.มุกดาหาร พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ร่วมกันแถลงข่าวสนับสนุนหลักการและแนวทางที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้ทำประชามติ เพื่อขอเห็นความคิดเห็นของประชาชน ในการแก้ไขวิกฤตชาติ

 

นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า จากการหารือของส.ส. 6 พรรคร่วมรัฐบาล ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในการสนับสนุนมติครม. ที่ให้ทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชน ในการแก้วิกฤติของประเทศ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองจึงต้องแก้ด้วยการเมือง โดยการถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่า คิดอย่างไร และรัฐบาลควรแก้ไขปัญหาอย่างไร ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่า การทำประชามติ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165 รัฐบาลสามารถเลี่ยงได้ โดยอาจไม่ใช้คำว่าถามประชามติ แต่ใช้คำว่า ถามความเห็นประชาชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้เป็นการทำให้ประชาชนเลือกข้าง

 

"สดศรี"เชื่อเป็นวิธีการที่รัฐบาลทำได้

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะให้ กกต. ดำเนินการจัดทำประชามติ ว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ....เพิ่งจะผ่านว่าระของส.ส.ไปเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ซึ่งก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายละเอียดจำนวนมากจากที่เรากำหนดไป 42 มาตรา แต่ไม่มีการแก้ไขเพียง 17 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 8 ที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญในเรื่องของการออกเสียงเพื่อให้ได้ข้อยุติก็ได้มีการแก้ไขกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในขั้นตอนของวุฒิสภาจะมีการแก้ไขเนื้อหาส่วนใดอีกหรือไม่ ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าจะต้องให้เสร็จภายใน 90 วันส่วนจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับที่วุฒิสภาจะพิจารณา หลังจากที่รับวาระแล้ว นอกจากนี้แล้วยังต้องผ่านการเห็นชอบของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่ามีมาตราใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

นางสดศรี กล่าวอีกว่า กกต.พร้อมที่จะจัดทำการออกเสียงประชามติ แต่รัฐบาลจะต้องตั้งคำถามมาให้กกต.ให้ชัดเจนว่า ต้องการถามอะไรประชาชน ซึ่งการทำนั้นจะต้องมีลักษณะสั้นง่าย กระชับและประชาชนเข้าใจ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่ระบุ ว่า การจัดออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคล และคณะบุคคล จะกระทำมิได้  ดังนั้นการทำประชามติหากจะถามในเรื่องการแก้กฎหมายบางมาตรา เช่น ให้นายกรัฐตรีมาจากคนนอกได้หรือไม่ หรือเป็นแนวทางพันธมิตรว่า ให้ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง 30  ส.ส.มาจากการแต่งตั้ง 70 หรือไม่หรือไม่ก็ได้ แต่จะมาบอกว่า ให้นายกลาออก หรือยุบสภาทำไม่ได้  ส่วนงบประมาณในการดำเนินการจัดทำประชามตินั้น คาดว่าไม่น่าจะแตกต่างจากการทำประชามติครั้งที่ผ่านมา ซึ่งได้ใช้ไปประมาณ 1,800 ล้านบาท

 

นางสดศรี กล่าวอีกว่า การทำประชามติครั้งนี้หากเป็นที่ยอมรับกันทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะสามารถยุติปัญหาของบ้านเมืองได้ เพราะหลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินก็ไม่มีมาตรการชัดเจนที่จะยุติปัญหาได้  อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าการที่รัฐบาลจะให้มีการการจัดทำประชามตินั้น ก็ไม่น่าจะเป็นการยื้อเวลาของรัฐบาล และตนคิดว่ารัฐบาลก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาให้ยุติลง และมาตรการที่รัฐบาลทำขณะนี้ก็มีกฎหมายรองรับทั้งสิ้น และในเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมก็ต้องการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิทุกอย่างในความเป็นความตายของประเทศ ซึ่งการทำประชามติก็เป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถทำได้ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลต้องการยื้อ หากทำประชามติแล้วไม่มีใครยอมรับก็ต้องมีเหตุเกิดขึ้น คิดว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้เมื่อกฎหมายออกมาแล้ว น่าจะมีการลองผิด-ลองถูกกันอีกสักครั้ง ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชน

 

 "แพทย์ชนบท"ชวน730รพ.ชุมชนขึ้นป้ายแต่งดำไล่นายกฯ

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รพ.ชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศประมาณ 730 แห่งขึ้นป้ายแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตย ประณามผู้ใช้ความรุนแรง ขอไว้ทุกข์แก่ผู้เสียชีวิต และให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยการลาออก

 

ที่ปรึกษาศก.นายกฯยุติทำงานชี้ทำประชามติแก้วิกฤติไม่ทัน

ดร.ณรงค์ชัยอัครเศรณี ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒินายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการทำประชามติ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมือง ว่าการทำประชามติต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งคงไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะทั้งรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ และเชื่อว่าเหตุการณ์ยังยืดเยื้ออีกนาน

ส่วนการทำหน้าที่ของคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒินายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจนั้นยอมรับว่าขณะนี้ต้องหยุดทำงานไปโดยปริยาย เนื่องจากทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึด และนายกรัฐมนตรีไม่ได้ขอคำปรึกษาการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะต้องเร่งแก้สถานการณ์การเมือง

 

หอการค้าจี้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย แถลงจุดยืนของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ภายหลังประชุมร่วมคณะกรรมการตัวแทนจากภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งหอการค้าต่างประเทศว่าสถานการณ์การเมือง ทำให้ประเทศสูญเสียเครดิตอย่างมากตลอดระยะหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ธุรกิจยังประคับประคองตัวเองได้ จนถึงเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา การที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติเสียไป

 

"หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป มองว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นหมดความเชื่อถือโดยสิ้นเชิงได้ ดังนั้น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยขอเสนอให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที" นายพงษ์ศักดิ์กล่าวและว่า หากเปรียบการเมืองกับการบริหารธุรกิจแล้ว เมื่อบริษัทประสบปัญหา คณะผู้บริหารต้องทำหน้าที่และแสดงความรับผิดชอบ แต่หากไม่สามารถแก้ไขหรือมีความรุนแรงของปัญหาเพิ่มขึ้น ผู้บริหารต้องตรวจสอบและพิจารณาตัวเอง หรือเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเลือกผู้บริหารใหม่เข้ามาแก้ปัญหาแทน

 

สภาหอการค้าแถลงจุดยืน จี้ รบ.ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รักษาการประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงจุดยืนของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อปัญหาทางการเมือง และการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลยุติปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด และขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันที เพราะถือเป็นฟางเชือกสุดท้ายที่ทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติ ซึ่งอาจถึงขั้นล่มสลาย เพราะประเทศจะไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ และไม่สามารถกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อการลงทุน นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบการแก้ไขปัญหาทางการเมืองกับภาคธุรกิจ เมื่อธุรกิจเกิดปัญหาจนไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้บริหารจะต้องแสดงความรับผิดชอบ และให้ผู้ถือหุ้นเลือกผู้บริหารใหม่ ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองเห็นว่า ก็จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน

 

ประชามติครม.สมัครส่อวืดสภาสูงลากยาว90วัน

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมติทำประชามติเพื่อหาทางออกกับวิกฤติของประเทศในขณะนี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้เลยระยะเวลาที่จะทำประชามติไปแล้ว และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำประชามติอะไร เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่ความชอบธรรมที่จะมาขอประชาชนมติของประชาชน เนื่องจากประชาชนได้ให้โอกาสรัฐบาลได้บริหารประเทศแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะนำพาชาติรอดไปได้ มีแต่จะสร้างการเผชิญหน้า จนนำไปสู่ความรุนแรงและทำให้ประชาชนเสียชีวิต

 

ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว กรุงเทพฯกล่าวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะทำประชามติ เสียเวลาเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ เพราะปัญหาขณะนี้มาไกลกว่าที่จะทำประชามติ มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือ นายสมัคร ต้องลาออกหรือยุบสภาเท่านั้น ขณะนี้ประเทศชาติเสียหายมามากแล้วจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะมาขอประชามติจากประชาชนอีก ควรออกไปได้แล้วหากต้องการแก้ปัญหาของชาติอย่างแท้จริง

 

ปธ.วุฒิฯค้านทำประชามติชี้ไม่ทันสถานการณ์

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเสนอให้ทำประชามติ เพื่อรับฟังความเห็นประชาชน เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์การเมืองว่า  ขณะนี้กฎหมายประชามติ จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ในวันที่ 5 ก.ย. โดยตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา แต่คงไม่ถึงขั้น 3 วาระรวด

 

เมื่อถามว่า ห่วงเวลาที่มีจะสามารถเสร็จทันสถานการณ์ขณะนี้หรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า น่าจะไม่พอ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ต้องคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้ โดยไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย คงจะรอกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลา ซึ่งอย่างเร็วก็ใช้เวลา 1 เดือนถึงจะเรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.....ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ในวาระ 2 และ 3 เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเข้าสู่ที่ประชุมของวุฒิสภาในวาระแรก โดยตามระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 5 กันยายนนี้ มีวาระด่วนเรื่องแรกคือ การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว หลังจากสภาผู้แทนราษฏรมีมติเห็นชอบแล้ว โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาในแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรค 4 และ วรรค 6

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งโดย นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธาน กกต. เป็นผู้เสนอ โดยมีหลักการและเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 165 บัญญัติให้การออกเสียงประชามติกระทำได้ในกรณีที่ครม.เห็นว่ากิจการเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือประชาชน นายกฯอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนฯ และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ออกเสียงประชามติ หรือกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติอาจจัดให้ออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือกรณีให้คำปรึกษาของครม.ก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมี 42 มาตรา ส่วนใหญ่ปรับปรุงจากพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2541 ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2550 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายภายใน 1 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้

 

"ฝ่านค้าน"เหน็บรัฐบาลซื้อเวลา

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทำประชามติเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการบริหารประเทศของรัฐบาลว่า การแก้ปัญหาการชุมนุมโดยการใช้ประชามติ เท่าที่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการใช้กฎหมายประชามติเพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมจะติดปัญหา 2 ข้อคือ 1.รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการทำประชามติ และการทำกฎหมายประชามติได้ระบุไว้ชัด ว่าการจัดการเอาเสียงประชามติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ เพราะการชุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นเรื่องของตัวบุคคล อีกทั้ง หากมีการตั้งคำถามประชามติ โดยถามว่าต้องการให้พันธมิตรอยู่ต่อหรือไม่ อาจผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ การชุมนุมในทำเนียบซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ก็ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการทำประชามติกับการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก็ใช้งบประมาณเท่ากัน

 

นายสาทิตย์กล่าวว่า นอกจากนี้ กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ แม้รัฐบาลอาจใช้ทางเลือกอื่น เช่น การออกพ.ร.ก. ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการต้องออกเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่หลับหูหลับตาทำตามคำสั่งรัฐบาล และสิ่งที่น่าห่วงวันนี้ไม่ใช่การทำประชามติ แต่เป็นท่าทีของนายกฯ โดยเฉพาะเมื่อเช้าวันนี้ (4 ก.ย.) ที่แข็งกร้าวดึงดันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้างหนักขึ้นไปอีก

        

อธิการนิด้าชี้แก้ปัญหาไม่ได้จวกสมัคร.ซื้อเวลา

ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวถึงกรณี ครม.นัดพิเศษเห็นด้วยทำประชามติ หาทางออกวิกฤติประเทศ ว่า รัฐบาลพยายามที่จะหาความชอบธรรมให้กับตัวเองอยู่ได้ ในขณะเดียวกันก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขาดความชอบธรรม แต่โดยหลักการของประชามติแล้วนั้นไม่ได้ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

 

นอกจากนี้การทำประชามติครั้งนี้มีจุดอ่อนเนื่องจากพรรคพลังประชาชนที่เคยไม่ยอมรับการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 การทำครั้งนี้พันธมิตรก็อาจไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าอยู่ภายใต้กลไกของรัฐ ดังนั้นจึงเชื่อว่า 1.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เป็นเพียงยืดเวลา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล 2.สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงจะเลวร้ายและยืดยื้อยาวนาน 3.ประเทศชาติจะได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของรัฐบาล 4.ความขัดแย้งอาจทวีคูณเพิ่มขึ้นหากฝ่ายใดฝ่ายไม่ยอมรับผลประชามติ ดังนั้นทำไปก็เสียเปล่า ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น

         

 

 

 

------------------------------

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก เว็บไซต์แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท