บันทึกนักข่าวภาคสนาม : อำมหิต 2 ขั้ว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังไปมาวนเวียนสังเกตระหว่างการชุมนุม 2 กลุ่ม สถานการณ์ได้ดำเนินไปถึงจุดที่น่าเสียใจต่อทุกฝ่าย เพราะการปะทะกันของมวลชนมีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บนับร้อยคน แม้ภาพความรุนแรงที่ปรากฏนั้นจะไม่ถึงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในความรับรู้ของคนรุ่นหลังซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นซ้ำอีก ในขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างถึง "สันติวิธี" แต่การปลุกเร้าและเรียกร้องสำนึกทางอุดมการณ์ต่อผู้มาร่วมชุมนุมทำให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียแม้เพียงชีวิตเดียวก็นับว่าใหญ่หลวงพอแล้ว และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงต้องกลับทบทวนกันเสียทีถึง "ความอำมหิต" ของแกนนำทั้ง 2 ฝ่าย

การตัดสินใจของแกนนำ นปช. ในเช้าตีหนึ่งวันที่ 2 กันยายน 2551 ที่เลือกเคลื่อนมวลชนบนความอ่อนไหวของสถานการณ์ที่เป็นดังเส้นใยอันบางเฉียบของแมงมุมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นความคาดไม่ถึงหรือประเมินถึงอารมณ์ของมวลชนควบคุมไม่ได้ไม่ออก แต่การเคลื่อนไหวนั้นคงต้องผ่านการประเมินมาแล้วกับการได้มาซึ่งภาพมุมกลับที่พิสูจน์ต่อสาธารณะได้ว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่อ้าง "สันติ อหิงสา" ตลอดการเคลื่อนไหวแท้จริงแล้วแฝงซ่อนความรุนแรงเอาไว้และพร้อมตอบโต้ถึงเลือด ถึงเนื้อและถึงชีวิต

บรรยากาศของความชุลมุนในวันที่ 2 กันยายน มีเสียงปืนที่ดังขึ้นหลายนัด มวลชนที่ถืออาวุธโดยเฉพาะมีดและไม้ของทั้ง 2 ฝ่ายเผชิญหน้าและพร้อมแลกชีวิตกันจนดูคลับคล้ายคนที่คับแค้นกันมาอย่างแสนสาหัส มองไม่ออกเลยจริงๆ ว่าคนเหล่านี้ไม่รู้จักกันมาก่อน และในยามบรรยากาศปกติใครบางคนในที่นั้นอาจเป็นคนอารมณ์ดีและเป็นกันเองก็ได้

เหมือนกับที่ผมได้คุยกับการ์ดพันธมิตรฯคนหนึ่งหลังเหตุการณ์ผ่านไป 1 วัน ในช่วงเย็นๆ เขานั่งอยู่ตรงประตูด้านลานพระบรมรูปทรงม้า ความมืดยามเย็นบวกกับไม้กอล์ฟเหล็กหัวโตๆ และผิวสีคล้ำแบบคนภาคใต้ขับภาพให้บรรยากาศตึงเขม็ง อาจเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ "คนนอก" อย่างผมกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเดินเข้าไปถามในตอนแรก ผมเกรงว่าจะเจอคำตอบที่เต็มไปด้วยอารมณ์เคียดแค้นด่าทอ

แต่คำตอบที่ได้ทำให้มองเห็นแววตาที่อ่อนโยนลงมาและรอยยิ้มและความเป็นคนปักษ์ใต้เหมือนกันคงทำให้เป็นกันเองมากขึ้น เมื่อทบทวนกลับไปในความรับรู้ของเขาในวันที่เกิดเหตุการณ์ เขาบอกว่ารู้สึกเหมือนเป็นการนำหน้ามาของตำรวจและตามมาด้วยแนวร่วม นปช. ที่ร่วมกันมาสลายการชุมนุมพื่อนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่เมื่อถามถึงความสูญเสีย เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น และถ้าต่างฝ่ายต่างชุมนุมก็คงไม่มีความรุนแรง

ผมนึกย้อนทวนกับไปในวันนั้นเหมือนกันในฐานะที่อยู่ในสถานการณ์ ขณะนั้นผมไม่ได้อยู่ในการชุมนุมฝั่งพันธมิตรฯจึงไม่ได้รับรู้ว่าเสียงที่ประกาศบนเวทีที่สร้างการรับรู้ต่อมวลชนทางนั้นเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและประจักษ์ตรงหน้ามีความแตกต่างกันของเรื่องราว เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เดินนำหน้ามวลชนฝั่ง นปช. เพื่อนนักข่าวที่มาถึงสถานที่ก่อนหน้าบอกว่าตำรวจได้วางแนวกั้นขวางไว้ก่อน 2 แนวก่อนจะถูกมวลชนของ นปช.ดันออกไป ผมมาถึงในช่วงที่มีพื้นที่ประจันหน้าระหว่างมวลชนด้วยกันจนถึงขณะที่ตำรวจกำลังตั้งแถวใหม่อีกครั้งเพื่อเข้าไปเป็นแนวกั้นอีกครั้ง แนวหนึ่งหันหน้าไปทางพันธมิตรฯอีกแนวหนึ่งหันหน้าไปทางมวลชนกลุ่มต่อต้าน อารมณ์ฝูงชนค่อนข้างรุนแรงและกระจัดกระจาย เมื่อตำรวจขยับก็มีลักษณะการฮือโร่ตามไป ในการรับรู้จากอีกด้านที่เห็นตำรวจอยู่แนวหน้าและมองเข้ามาจึงอาจเป็นภาพตำรวจนำมวลชนมาสลายการชุมนุมก็เป็นได้

การชุมนุมของฝ่าย นปช. มีมีดและไม้ในมือพร้อมอารมณ์กระเจิดกระจาย แต่เขาคงคิดว่าเป็นความสันติกว่าและความตายของคนๆ หนึ่งในกลุ่มที่ถูกปืนตอนนั้นรับรู้กันว่าเสียชีวิต (ภายหลังตรวจสอบแล้ว ผู้เสียชีวิตมี 1 คน สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการโดนของแข็งทุบตี สำหรับผู้ที่ถูกยิงกระสุนเข้าที่ชายโครง แต่อาการปลอดภัย) มันคล้ายกับการประทับตราความโหดร้ายของการกระทำจากฝ่ายตรงข้าม ความร้อนแรงจากการสูญเสียรวดเร็วลามไปดุจเส้นฟางไหม้ไฟ เมื่อมีมวลชนฝ่ายพันธมิตรฯที่มาปรากฏตัววับแวมในตรอกเล็กๆ ในซอยข้างเวทีมวยราชดำเนินที่เชื่อมต่อไปยังทำเนียบรัฐบาลได้ก็พากันร้องบอกกันอย่างตระหนกระงมว่าพวกพันธมิตรฯกำลังหลอกคนของเขาเพื่อเข้าไป "ยิง" ผมได้ยินเสียงดัง "ปัง ปัง" แต่ไม่ทราบว่าเป็นเสียงประทัดหรือเสียงปืนในซอย แต่ในความรู้สึกของ นปช. เมื่อพันธมิตรฯมี "ปืน" และ "ใช้" การมีแค่มีดและไม้จะไปสู้ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นภาพความจริงชุดหนึ่งที่แกนนำฝ่าย นปช.ต้องการเพื่อความชอบธรรมต่อการเรียกร้องให้มวลชนเคลื่อนไหวต่อไปได้เกิดขึ้นแล้ว พวกเขาสามารถนำมวลชนไปสู่พื้นที่ชะโลมเลือดได้สำเร็จ ปรากฏภาพความไม่สันติ อหิงสาของฝ่ายพันธมิตรฯที่รับรู้ได้ง่ายๆ ด้วยความตายและเสียงปืน...!!!

000

ย้อนกลับไปวันที่ 29 สิงหาคม 2551 บนสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอกและหน้าตึกแดงในทำเนียบรัฐบาล สื่อมวลชนนำเสนอภาพของเจ้าหน้าที่ที่รุกเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมของพันธมิตรฯ ภาพการที่เจ้าหน้าที่กระทำความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยเฉพาะเด็กและผู้หญิงที่มาเป็นการ์ดอาสาถูกเผยแพร่ออกไปอย่างน่าสะเทือนใจ สื่อผลิตการรับรู้ซ้ำต่อสาธารณะอีกหลายรอบ ผลคือมีมวลชนออกมาร่วมกับพันธมิตรฯได้อีกมากมายในเวลาต่อมา

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลประโคมข่าวที่ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาล ส่วนในทางอาญาศาลได้อนุมัติหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ในข้อหากบฎ การตอบโต้เกิดขึ้นทันควันด้วยแนวทางที่พันธมิตรฯเรียกว่า "อารยะขัดขืน" เป็นการขัดขืนที่รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายและสร้างปราการป้องกันตนเองด้วยการพร่ำพูดผ่านรถเครื่องเสียงหลายครั้งที่มีความตึงเครียดว่า..เข้ามาเถิดครับ มารวมตัวกันมากๆ ที่ทำเนียบรัฐบาล มีมาตรการปิดล็อกประตูทำเนียบให้เข้าออกได้ลำบาก บีบความรู้สึกให้มวลชนส่วนหนึ่งต้องเลือกอยู่ภายในที่ชุมนุม

ผมนึกถึงหลายเหตุการณ์เมื่อตอนทำข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เด็กและผู้หญิงเป็น "โล่มนุษย์" ในการชุมนุมหลายๆ ครั้ง ซึ่งในสถานการณ์แบบสงครามเด็กและผู้หญิงอาจถูกมองเป็นอาวุธแบบหนึ่งที่ถูกวางไปบนพื้นที่เสี่ยงเพื่อหวังผลทางความรู้สึกร่วมของสาธารณะ กระบวนการเดียวกันนี้ดูเหมือนว่าแกนนำพันธมิตรฯ เองจะตั้งใจเป็นพิเศษกับการการเรียกร้องการอุทิศชีวิตจากมวลชนของตัวเองตลอดเวลาเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมาย การกระตุ้นอุดมการณ์ได้ทำงานให้กับแกนนำ เพื่อให้ภาพที่เด็กและผู้หญิงถูกทุบตีเมื่อเกิดการปราบปรามออกสู่สาธารณะ บนสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนี้ แกนนำต้องประเมินเช่นเดียวกันว่าเด็กและผู้หญิงเหล่านี้สามารถถูกกระทำความรุนแรงได้ แต่ความเหี้ยมเกรียมที่ยอมให้มวลชนของตนเองถูกกระทำรุนแรงเพื่อให้ภาพแสดงออกสู่สาธารณะเพื่อนำไปสู่ความชอบธรรมในการชุมนุมและสร้างความไม่ชอบธรรมต่อเจ้าหน้าที่แบบนี้สังคมไทยจะไม่นับเป็นความรุนแรงที่ต้องตั้งคำถาม และแกนนำที่เลือกใช้วิธีแบบนี้กับมวลชนของตัวเองจะไม่อาจเรียกได้ว่า "เลือดเย็นอำมหิต" ได้หรือ

 

000

ในโต๊ะกาแฟวันหนึ่งที่ถอยตัวออกมาจากความตึงเครียดของผู้คน การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนอดีตนักข่าวคนหนึ่งมองบางสิ่งคล้ายกัน สิ่งที่ไม่ได้แตกต่างกันนักในทางยุทธศาสตร์การดึงมวลชนของทั้ง 2 ฝ่ายคือการทำผ่านการเรียกร้องคุณค่าเชิงอุดมการณ์ร่วมที่ลดคุณค่าของฝ่ายตรงข้ามลง

"ถ้าเป็นแบบนี้มึงอย่าไปหวังแก้ปัญหาเด็กช่างกลตีกันเลย" เพื่อนกล่าวอย่างน่าสนใจว่า

ระหว่างสีสองสีและคำพูดของเพื่อน กระบวนการ "ประชาธิปไตย" กับกระบวนการ "ช่างกล" ในประเทศไทยมันอาจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มวลชนถูกครอบค่ายและป้ายสีเอาไว้ เพราะสีที่แตกต่างกันก็เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมเพียงพอแล้วที่สามารถฆ่ากันได้

วันนี้ "ประชาธิปไตย" ไทยที่ยังมองมวลชนดุจเบี้ยหมาก ใช้คนดุจจิ้งหรีดถูกปั่นเพื่อ "ชัยชนะอันไม่เลือกวิธี" ของแกนนำ การพูดถึงอุดมการณ์อันสวยหรูแต่เรียกร้องความตายจากตัวตนของมนุษย์เพื่อสนองกำหนัดทางชัยชนะของใครบางคนมันช่างเป็นเรื่องที่อำมหิตนัก

000

5 กันยายน 2551 และหลังจากนี้ความขัดแย้งบนความแตกต่างยังคงดำรงอยู่ บรรยากาศดีขึ้นบ้างคงเป็นเพราะจุดยืนของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกและผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยืนยันว่าทหารจะไม่รัฐประหารเพราะมีบทเรียนมากมายมาแล้วจากประวัติศาสตร์

ในสังคมไทย กองทัพคือสถาบันที่มีศักยภาพทางอำนาจที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงได้มากและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดทิศทางสถานการณ์บ้านเมืองเสมอ เมื่อผู้กุมอำนาจทางทหารเลือกยืนอยู่ตรงกลางของความขัดแย้งโดยไม่ยอมตกเป็นจิ้งหรีดในขั้วความรุนแรงใด ศักยภาพที่มียืนยันออกมาหลายครั้งว่าจะใช้เพื่อระงับเหตุไม่ให้เบี้ยหมากของ 2 ฝ่ายมาปะทะกันเท่านั้น

เพียงคำพูดนี้หากปฏิบัติอย่างไม่ตระบัดสัตย์เหมือนนายทหารรุ่นก่อนๆ ที่คืนคำก็เท่ากับชนวนความรุนแรงที่สำคัญได้ถูกปลดลงมาแล้ว

ดังนั้น ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้กุมอำนาจกองทัพวางบทบาทแบบนี้ การชุมนุมของทั้งสองฝ่ายจึงยังคงมีขึ้นได้ เพราะหากกองทัพรับประกันที่ไม่เอาตนเองไปสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้างผ่านการรัฐประหารเหมือนในอดีตที่ผ่านมาและการันตีในการป้องปรามความรุนแรงจากการปะทะกันของมวลชน การชุมนุมก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทุกฝ่ายเสมอ

สังคมไทยที่ชินกับการจัดการความขัดแย้งในทางลัดคงต้องอดทนอึดอัดกันและทำตัวให้ชินกับอารยะที่ไม่คุ้นเคยโดยเร็วเพื่อเปลี่ยนผ่านยุคสมัยโดยไม่เสียเลือดเนื้อ แม้พันธมิตรฯจะยังมั่นคงปักหลักแสดงจุดยืนในทำเนียบรัฐบาลอย่างไม่มีกำหนด จะเสนอการเมืองใหม่ หรือการที่รัฐบาลจะทนแรงเสียดทานไม่ลาออกหรือยุบสภาจนครบวาระเลือกตั้งใหม่ในอีก 3 ปีกว่าๆ ก็ตาม มันเป็นเรื่องที่ต้องทนกันไป เพราะการอดทนเท่านั้นจึงจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเดินกลับมาเข้าสู่ระบบและคงสามารถทบทวนบทเรียนครั้งใหญ่กันได้เสียที

มองข้ามช็อตไปข้างหน้าเมื่อเริ่มมีข่าวเล็กๆ ที่พูดถึงการปฏิรูปการเมืองออกมาบ้าง รากเหง้าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เขียนขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ เพราะมันเป็นเชื้อประทุสำคัญที่การยอมรับไม่ได้ขยายวงกว้างเนื่องจากเป็นการจัดกติกาและการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในบรรยากาศที่หลายกลุ่มพลังไม่มีโอกาสและอิสระในการกำหนดอย่างทัดเทียม

ข้อเสนอ "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" โดยมีตัวแทนจากทั่วประเทศและทุกกลุ่มฝ่ายหรือยึดการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นต้นแบบตามที่ กป.อพช.เสนอก่อนหน้านี้จึงเป็นประเด็นน่าสนใจหากมองก้าวออกมาจากปัญหา เพราะเป็นการคืนอำนาจการกำหนดกติกาสูงสุดของประเทศให้กับประชาชน ใครมีโมเดลการเมืองใหม่อย่างไร หรือใครอยากจะให้รัฐธรรมนูญใหม่พาคนบางคนกลับประเทศจะได้กลับไปสู้กันในระบบเพื่องัดข้อและวัดพลังกันเองบนฐานการยอมรับของประชาชนทั้งหมด

ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น สังคมไทยคงต้องตระหนักอย่างจริงจังว่า มันได้เปิดภาพความจริงเรื่องภูมิภาคนิยมและชนชั้นออกอย่างชัดเจน การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่จะต้องนำประเด็นเหล่านี้เข้าไปขบคิดอย่างสำคัญเพื่อเป็นทางออกที่ทำให้ทุกฝ่ายหันมายอมรับในกติกาที่ร่วมกันร่างออกมา เพราะปรากฏการณ์รัฐมัฆวานซ้อนรัฐบาลในเวลานี้คือภาพสะท้อนความล้มเหลวร่วมกันของรัฐและคนในรัฐที่กติกาสูงสุดไม่มีใครยอมรับได้นั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท