Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.51  ที่ห้องประชุมสมาคมศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีการจัดเสวนาทางวิชาการ "ยังมีทางเดินไปข้างหน้าอีกไหม ตามระบอบประชาธิปไตย" โดยผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯที่ใช้ชื่อว่าสงครามครั้งสุดท้าย ตนมองว่าเป็นสงครามที่นำไปสู่ความเกลียดชัง ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรง และพิมพ์เขียวการเมืองใหม่ มองว่าระบบการเมืองที่เป็นอยู่เสียดุล การสร้างระบบการเมืองดุลอำนาจใหม่ มีอยู่ 3 ส่วนได้แก่ 1.พันธมิตรฯโยงบทบาทกองทัพเข้ามากำกับการเมือง เมื่อมีการทุจริตคอรัปชั่น หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และละเมิดอธิปไตย 2.ตุลาการภิวัฒน์ และ 3.ระบบการเมืองใหม่แบบ 70/30 การคัดสรรในระบบ 70/30 มีปัญหา 2-3 อย่าง โดยดูได้จากสภาที่ปรึกษาที่ผ่านมาไม่มีเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมในสภา

 

"เหมือนกับเรากำลังเผาบ้านตัวเอง ด้วยการรื้อบ้านเพื่อหาหนู แต่เรากำลังเผาบ้านเพื่อจับหนูเหมือนที่เรารื้อประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ไม่มีหลักประกันในอนาคตว่าการสรรหาในอนาคตเป็นอย่างไรและไม่รู้ว่าพิมพ์เขียวที่ออกมาแก้ปัญหาได้มากน้อย แต่ก็ทำให้เกิดดุลอำนาจที่เกิดขึ้นใหม่ การเมืองใหม่เกี่ยวข้องกับการนำเอาอำนาจนอกระบบทั้งสิ้น เนื่องจากพันธมิตรไม่เอาการยุบสภาพ การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เอานายกฯลาออก และไม่เอาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างกติกาขึ้นมาใหม่ คงหนีไม่พ้นการใช้อำนาจนอกระบบ จะทำให้กลับเข้าสู่วงจรเหมือนเดิม ต้องหาทางออกว่าทำอย่างำไรถึงจะออกจากวงจรนี้ได้ สำหรับข้อหากบฎที่แกนนำพันธมิตรฯถูกดำเนินคดีเหมาะสมแล้ว เพราะวันนี้พันธมิตรฯเปรียบเหมือนกองกำลังประชาชนปฏิวัติ ที่มีเป้าหมายเปลี่ยนระบบการปกครองซึ่งก็คงต้องรบกันให้แตกหัก" ผศ.ดร.ประภาส กล่าว

 

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเมืองใหม่สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่พอใจการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ มองว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรจะต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งดีไว้และขจัดสิ่งไม่ดีออกไป แต่การเมืองใหม่ที่ต้องทำใจเป็นกลาง ต้องมองว่ารูปแบบการปกครอง ไม่ว่าอำนาจจะอยู่ที่คนๆเดียว กลุ่มคน หรือมหาชน จะต้องไม่ดีหรือเลวเสมอไป ทัศนคติที่เคลือบแคลงสงสัยต่อการเมืองเก่าไม่ได้มีตอนมีกลุ่มพันธมิตรฯ เท่านั้น ปัญหาคือการที่นักการเมืองไปยื่นผลประโยชน์ให้ประชาชนผู้ยากจน ดังนั้นต้องร่วมกันหาทางว่าทำอย่างไรให้นักการเมืองไม่ทำให้ประชาชนผู้ยากจนเสียคนไปมากกว่านี้

 

นายไชยันต์ กล่าวว่า หากเปลี่ยนการเมืองใหม่และยังคิดอยู่ในกรอบประชาธิปไตย มีรัฐสภา  จำเป็นต้องมีประมุขแห่งรัฐ ซึ่งมีทั้งประเภทมาจากการเลือกตั้งทางตรง คือประชาชนเป็นคนเลือกประมุขแห่งรัฐ และทางอ้อม นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เลือก และต้องพิจารณาว่าจะมีสองสภาหรือไม่ และทำอย่างไรให้ความชัดเจนของการคานอำนาจอยู่ในสภา ส่วนข้อเสนอสูตร 70-30 คล้ายกับการตั้งสมัชชาแห่งชาติ 2 พันคน บางคนไปตั้งสมาคมกำมะลอ มีสมาชิกอยู่  2-3 คนก็ส่งตัวแทนเข้ามา ส่วนระบบการจัดสรรระบบ 70อยากให้คณะมานุษยวิทยา เข้ามาศึกษาว่ามีตัวแทนจากกลุ่มไหนบ้างให้ครอบคลุม ไล่มาตั้งแต่กลุ่มไม่มีอาชีพ ตัวแทนจากชาวไร่ชาวนา เอ็นจีโอ โดยใช้ระบบการคัดเลือกกันเองจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร และต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าสูตรการคัดสรรตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนจะดีกว่าระบบการคัดสรรแบบเดิมอย่างไร 

 

ศ.ดร.อานันท์  กาญจนพันธุ์  อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า  เรามองการเมืองแบบแคบ พูดแต่การเมืองที่อยู่ในระบบ โดยเฉพาะการมองแบบต้องได้คนที่เปรียบเหมือนพระหรือเทวดามาแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจ จะให้สะอาดและบริสุทธิ์ไม่ได้ แต่ปัญหาสำคัญวันนี้คือไม่มีพื้นที่การเมืองให้กับชนชั้นกลางได้แสดงความคิดเห็น และวันนี้เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคทุนนิยมที่เน้นเรื่องวัตถุ แต่ขาดการพัฒนาด้านจิตใจ ดังนั้นจึงต้องปรับโครงสร้าง ถ้าไม่สามารถปลดชนวนทางความคิดก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ การที่เราเน้นเรื่องชาตินิยมทำให้การเมืองมีปัญหา

 

นายอัภยุทธ์ จันทราพฐ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาคมีข้อสรุปดังนี้ 1.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตรฯไม่มีใครยึดความชอบธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทั้งพันธมิตรฯและนายกฯควรจะถอยคนละก้าว ถ้าหากพันธมิตรฯต้องการที่จะให้มีการเมืองใหม่ก็จะต้องให้ประชาชน 64 ล้านคนได้พิจารณาเห็นชอบ 2.เสนอให้มีการยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อเลือกรัฐบาลใหม่ 3.ให้พันธมิตรเคารพต่อระบบ เมื่อมีการยุบสภา ควรที่จะมาต่อสู้ในกระบวนการ

 

ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การที่มองว่ากลุ่มประชาชนคนยากจนโง่และงก ถูกหลอกโดยนโยบายประชานิยมนั้นจะโทษประชาชนไม่ได้ เพราะประเทศและทุกอย่างจะดีขึ้นโดยนักการเมืองไม่ซื้อเสียงไมทำให้ประชาชนโง่และงก การที่จะหานักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์และมีความเที่ยงธรรมเหมือนเทวดาไม่สามารถหาได้และตนเชื่อว่าไม่มี วันนี้ต้องช่วยกันทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มองว่าทุกคนมีเหตุผลมีความเท่าเทียมกัน ไม่ต้องไปพูดว่าพิมพ์เขียวการเมืองใหม่จะเป็นอย่างไร วิธีการประท้วงปัจจุบันของกลุ่มพันธมิตรนั้นไม่เคารพ 2 หลักเกณฑ์นี้ การไปรวมตัวอยู่ในทำเนียบแล้วไปบอกว่ามีคนกลุ่มหนึ่งรู้ดี ฉลาดกว่า มีการศึกษากว่าอีกคนกลุ่มหนึ่ง หรือมีอะไรมาเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมหรือไม่และไม่ชอบธรรมในสายตาคนอื่นอย่างไร ทำไมความเห็นของคนที่ไปรวมตัวอยู่ในทำเนียบมีค่ามากกว่าคนอื่น ถ้าตอบตรงนี้ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์  และตนเชื่อว่าแม้ไม่มีการซื้อเสียงพรรคไทยรักไทยก็จะชนะการเลือกตั้ง เรื่องการซื้อเสียงไม่ใช่ประเด็นแต่เจตนจำนงของคนชนบทเขาเอาพรรคไทยรักไทย

 

"ก่อนที่จะมาพูดสูตรการเมืองใหม่ 70 / 30 ทำไมแกนนำพันธมิตรฯ ไม่ออกมามอบตัวแล้วสู้คดีตามกฎหมาย แล้วสลายการชุมนุมไปอยู่ที่สะพานมัฆวานหรือที่ไหนก็ได้ ต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ส่วนข้อหากบฏก็ไปสู้กันในศาล ทำไมไม่กล้าหาญ แต่วันนี้ทำไมไม่กล้าหาญทางจริยธรรมมากกว่าสมัชชาคนจนที่แม้เคยบุกทำเนียบก็ยังยอมให้จับ วันนี้ผบ.ทบ.และผบ.ตร.ต้องเข้าไปเชิญแกนนำให้ออกมามอบตัวแล้วดูว่าพันธมิตรจะกล้าตีผบ.ทบ.และผบ.ตร.หรือไม่" ดร.อภิชาติ กล่าว

 

ด้านนายจอน  อึ๊งภากรณ์ อดีตสว.กทม. ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการเสวนาครั้งนี้ กล่าวว่า  ที่ผ่านมามีการใช้ 2 มาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างมาก ไม่อยากให้เกิดกรณีเช่นนี้ หากรู้ว่าหลักการและคุณค่าของตนเองตั้งอยู่ตรงไหนก็จะไม่มีการยกเว้น การดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ท้อแท้กับการเมืองระหว่างประเทศ ระบบเลือกตั้ง และรับรัฐสภา หากประชาชนตัดสินใจเลือกคนผิดเข้ามาก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเรียนรู้และเติบโต ไม่ควรใช้การปฏิวัติเข้ามาแก้ปัญหา  นอกจากนี้ในระบบการเมืองที่มีสถาบันที่อยู่เหนือการตรวจสอบทหาร ตำรวจ ศาล ควรจะปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบได้  

 

 

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า วันที่ 6 ก.ย.51

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net