Skip to main content
sharethis


 


เรื่องโดย : อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ


 


สำนักข่าวประชาธรรม/ถอดเทปเรียบเรียง


 


คำต่อคำของรศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และอาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างเวทีเสวนา ทางออกหลังสถานการณ์วิกฤติการเมือง จัดโดย เครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ วันที่ 10 ก.ย.51 ณ บ้านธารแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่


 


ถึงวันนี้พวกเราในฐานะที่ทำงานเอ็นจีโอต้องมาศึกษากันมากขึ้น ต้องคิดกันมากขึ้น ซึ่งมันไม่มีสูตรสำเร็จ ผมคิดว่าถ้าจะหากทางออกง่ายๆ แต่พูดไปแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างเช่นการปฏิรูปการเมือง ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ พูดไปทำไม เพราะว่ามันเท่ากับว่ามันไม่ได้พูดอะไรเลย 


 


ผมคิดว่าวันนี้สิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดคือ ต้องการทำความเข้าใจว่าปัญหาพวกนี้มันมาได้อย่างไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าเราจะไปทางไหน บทความของอ.นิธิ หรือของผมเองก็ตามพยายามที่จะบอกว่าเราต้องมาทบทวนกันแล้วว่าอะไรเกิดขึ้นแล้วมันเกิดขึ้นจากอะไร เพราะไม่อย่างนั้น น่าตลกมากที่ความละโมบของคนเพียงครอบครัวเดียวสามารถที่จะทำร้ายสังคมไทยมาได้นานหลายปี เราจะตอบว่าอย่างนั้นหรือ ถ้าหากว่าเราจะตอบอย่างนั้นก็ต้องกำจัดไป แต่ถ้าถามว่าถ้ากำจัดไปแล้วจบหรือเปล่าก็คือไม่มีทาง


 


สิ่งที่สำคัญที่เราต้องทำคือทำความเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาได้อย่างไร ถ้าหากเราไม่เข้าใจให้ดี สังคมพัง เราพัง ในสถานการณ์การแบ่งขั้วตอนนี้นั้น ทุกคนเหมือนมีคำตอบ มีคำตอบแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็จะเป็นอีกฝ่ายหนึ่งไป น่าตกใจที่กระบวนการแบบนี้มันกินบ้านเรามา 2-3 ปี 


 


วันนี้ มันมีความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องเข้าใจ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสังคมไทยที่เป็นผลผลิตมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราอาจจะชื่นชมกับการคิดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีวัฒนธรรมชุมชน ที่ทำให้เราเข้มแข็งมาได้หลังปี 2527-2528 จนมาวันนี้ก็ยังเป็นวัฒนธรรมชุมชนอยู่ สิ่งที่คิดกันคือเรามองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเลย แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้มันทำให้เกิดกองทัพคนจน คนจนในภาคเหนือเพิ่มจาก 1.1 ล้านคน เป็น 1.4 ล้านคนในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คนจนในทั่วประเทศตอนนี้เขาไม่ใช่ชาวนา ไม่มีใครเหลือที่จะเป็นชาวนาอีกแล้ว ไม่มีชุมชนในความหมายอุดมคติที่นักวัฒนธรรมชุมชนยังกอดอยู่ กอดศพที่ตายซากแล้วภาคภูมิใจกับศพอันนั้น ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็คือว่าสังคมชาวนาเป็นสังคมกึ่งชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ที่แรงงานส่วนใหญ่ออกไปทำงานนอกภาคการเกษตร และรายได้เลี้ยงครัวเรือนนั้นมาจากนอกภาคการเกษตร


 


ดังนั้นด้วยแนวความคิดแบบนี้ แนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนที่เราเคยใช้มันมีความหมายลดลง


สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ชนบทเปลี่ยนไปแล้วมันทำให้สิ่งที่เป็นกรอบคิดเชิงชนบทกับเมืองไม่มีอีกแล้ว มันเหลื่อมกัน ชาวนาจริงๆ ไม่มี ในอีสานมีแต่ผู้จัดการนา ดังนั้นในความเหลื่อมตรงนี้พี่น้องในชนบทที่ออกมาทำงานนอกภาคการเกษตรนั้นจะมีการจัดความสัมพันธ์กับคนใหม่


คนในชุมชนที่สามารถผันตัวเองมาเชื่อมกับเมืองได้ กลายมาเป็นผู้ที่สร้างระบบอุปถัมภ์แบบใหม่ในการที่จะดึงแรงงานภาคชนบทเข้ามาสู่เมือง เช่น อบต.ทั้งหลายเกินครึ่งเป็นผู้รับเหมา สร้างระบบที่ดึงเอาแรงงานในหมู่บ้านเป็นการรับประกันที่ตัวเองจะมีแรงงาน รวมทั้งคนในหมู่บ้านทั้งหมด เข้ามาทำงานใน Informal sector ที่เป็นพวกหาบเร่ แผงลอย หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ต้องทำสัญญากับรัฐ คน 68 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย เป็นแรงงานในภาค informal sector ความเปลี่ยนแปลงอันนี้นั้นมากมายมหาศาล ที่ท้ายที่สุดแล้วมันทำให้เกิดความเหลื่อมกันระหว่างชนบทกับเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเกิดการจัดความสัมพันธ์กันใหม่ อย่างมโหฬาร


 


การเลือก อบต.ที่ผ่านมา 3 รุ่นถ้าหากไปดูภูมิหลังแล้วมันจะต่างกัน คือรุ่นแรกจะมีกำนัน ครู ชาวบ้าน หรือว่าคนแก่ได้ รุ่นที่ 2 พอจะมีบ้าง ส่วนรุ่นที่ 3 นั้นไม่มีเลย เพราะว่ามันเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมดเลย ถามว่าในเมืองนั้นเป็นอย่างไร ในเมืองก็เปลี่ยนไป คือมีพี่น้องในชนบทเข้าไป สลัมในเชียงใหม่จากปี 2520 ที่มีอยู่ 12 สลัม วันนี้สลัมที่จดทะเบียนมี 68 สลัม ส่วนที่ไม่จดมีอีกมหาศาล นี่คือความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่พวกเราต้องเข้าใจ 


 


แล้วความเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าทักษิณจะดีหรือว่าเลวก็ตาม สิ่งที่ทักษิณทำคือการเปลี่ยนรูปรัฐ โดยรัฐทุกรัฐจะมีหน้าที่ 2 อย่างคือบริการและควบคุม


 


เมื่อก่อนนี้รัฐไทยควบคุมเป็นอย่างเดียว ไม่มีการบริการ โอกาสของคนจนในโรงพยาบาลนั้นไม่มี ทักษิณได้เปลี่ยนบทบาทของรัฐ คือการขยายการบริการมาอย่างมหาศาล สิ่งที่เราเรียกประชานิยมซึ่งในทัศนะคนชั้นกลางทั้งหลายจะบอกว่ามันมีประโยชน์แต่ว่าอย่าลืมว่าประชานิยมของทักษิณนั้น ถามว่าใครเลิกได้ไหม คำตอบคือไม่ได้เพราะว่ามันเปลี่ยนรูปรัฐไปแล้ว การที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าเมื่อขึ้นมา 30 บาทจะเปลี่ยนเป็นฟรี ดังนั้นการเปลี่ยนรูปของรัฐมันไม่ได้ทำในนามของรัฐ แต่ว่ามันกลับไปทำในนามของบุคคล


 


เราต้องคิดว่าเมื่อรัฐเปลี่ยนรูปไปแล้วมันลดไม่ได้ นี่คือสิ่งสำคัญ ประชานิยมนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่งี่เง่า ต้องมองว่ามันเป็นการขยายบทบาทของรัฐทางด้านเศรษฐกิจ การที่ชาวบ้านซื้อมือถือ 1 เครื่องชนชั้นกลางก็ไปว่าเขาว่ามันได้เกิดประโยชน์อะไร แต่อันที่จริงนั้นการที่ชาวบ้านซื้อมือถือ 1 เครื่องมันแปลว่าโอกาสที่เขาจะได้งานรายวันนั้นสูงขึ้นอีกหลายเท่า นึกถึงคนงานก่อสร้างที่ไม่มีสำนักงาน คิดถึงเมื่อลุงแก้ว ลุงคำที่เป็นผู้รับเหมาบอกว่าวันนี้จะไปเทปูน ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงอันนี้มันสอดคล้องกับสิ่งที่ทักษิณขโมยความคิดของพวกเราไปเยอะมาก อย่าง 30 บาทนั้นเป็นของนายแพทย์สงวนหรือว่าอื่นๆ แต่ว่าการขโมยอันนี้ด้านหนึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีคือการขยายการบริการของภาครัฐ


 


ขณะเดียวกันการขยายแบบนี้เองรวมทั้งสิ่งที่ทักษิณทำ คือว่าทักษิณเริ่มไปรังควานชนชั้นกลางในเมือง รังควานหลายด้าน คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในม็อบพันธมิตรนั้นเป็นผู้หญิง ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกระดมเข้าไปนั้นจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย อายุ 40 ขึ้นไป อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์คนหนึ่งจ่ายรายเดือนให้แก่พันธมิตรเดือนละ 10,000 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้คือว่าผู้ประกอบการรายกลาง รายย่อย ถูกขูดรีดโดยระบอบทักษิณที่อยากจะได้เงินโดยการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยการขอจากกรมสรรพากร ซึ่งสรรพากรรู้ดีว่าคนที่เป็นผู้ประกอบการนั้นจะทำ 2 บัญชี อันหนึ่งก็คือบัญชีจริง ส่วนอีกอันหนึ่งเขาจะทำเพื่อเสียภาษี ซึ่งในส่วนนี้จะน้อย สรรพากรก็รู้ดี ทักษิณประกาศว่าปีนี้จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ให้สรรพากรไปหา สรรพากรก็ไปสะกิดผู้ประกอบการให้จ่าย แล้วบอกว่าอย่าเถียง การขูดรีดชนชั้นกลางที่ครั้งหนึ่งเคยมีความสุขกับการโกงรัฐ หรือว่าบิดเบี้ยวรัฐแบบนี้มันถูกถ่ายขึ้นไป ความไม่พอใจรัฐลึกๆ มันมาปะทุเอาตรงความละโมบของครอบครัวนี้พอดี น่าเสียดายที่หากเขาละโมบน้อยกว่านี้สักนิดหนึ่งเขาอาจจะมีโอกาสที่เป็นรัฐบุรุษ


 


ความเปลี่ยนแปลงอันนี้รวมทั้งการเปลี่ยนรูปรัฐมันทำให้การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนไปหมดเลยความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนมากมาย แล้วมันเข้าไปยึดโยงกับสิ่งสำคัญอันหนึ่งของสังคมไทย หลังปี 2546 เราจะพบว่ามันมีอำนาจหลักของสังคมไทย 3 ส่วน การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่แยกกออกจากกัน


 


อำนาจแปลว่าอะไร มันแปลว่าความสามารถผลักดันให้คนทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ หลัง 2546 อำนาจทางวัฒนธรรมเริ่มสูงขึ้น และสิ่งที่น่าตกใจคืออำนาจ 3 อันนี้นั้นแยกกันไม่ยุ่งกัน แต่สิ่งที่ทักษิณทำก็คือใช้อำนาจเศรษฐกิจไปรุกรานอำนาจการเมืองและกำลังจะรุกรานเข้าไปในพื้นที่ของอำนาจวัฒนธรรม โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันทำให้เกิดการดึงเอาอำนาจวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือสูงมากขึ้น เราจะพบว่าด้านหนึ่งมันมีความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง คนกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์จากที่เคยได้ คนกลุ่มหนึ่งที่ถูกนโยบายของรัฐกดมา และต่อมานั้นได้ผลประโยชน์พร้อมกันนั้นเอง ความเปลี่ยนแปลงอันนี้ กลุ่มที่ทำแบบนี้มันเริ่มเข้าไปทำอะไรบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนโดยรวม คืออำนาจวัฒนธรรม


 


ผมคิดว่านี่เป็นพื้นฐาน ความแตกตัวทางชนชั้นชัดมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าหากใครอยู่บ้านนอกในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะพบเลยว่าคนจน ชนชั้นกลาง ชาวนากลางชัดขึ้น ชาวนาจนชัดขึ้น เกิดการแตกตัวในชนบท และเป็นการแตกตัวที่รองรับกันต่อเนื่องมาอย่างน้อย 2 ชั่วคน มันจะเกิดการสำนึกต่อชนชั้นได้ก็ต่อเมื่อมีการผลิตซ้ำ (Reproduce) ชนชั้น สมมติว่าผมเป็นคนจน แต่ผมเชื่อว่าในรุ่นลูกเราสามารถที่จะขยับไปเป็นชนชั้นกลางได้ เราจะไม่มีปัญหาเรื่องชนชั้น แต่ถ้าหากสมมติว่าผมเป็นคนจน และเราคิดว่าและพบว่ารุ่นลูกเราไม่สามารถขยับได้ พอดีมีคนมาให้ความหวังว่ารุ่นลูกเราสามารถขยับได้ มันเริ่มเกิดสำนึกทางชนชั้นขึ้นมาแล้ว


 


ชนชั้นโดยตัวมันเองเกิดขึ้นมาในสังคมไทยนานแล้ว แต่ว่าชนชั้นเพื่อชนชั้นนั้นเพิ่งเกิดขึ้นซึ่งถูกนำไปผูกติดกับทักษิณ ขณะเดียวกันชนชั้นกลางเองสำนึกทางชนชั้นที่ถูกทักษิณเอาเปรียบเรื่องภาษี รวมทั้งรู้สึกไปสะกิดต่อมทางจริยธรรมเรื่องการโกงชาติ โกงแผ่นดิน 


 


คนที่ไปชุมนุมที่เป็นผู้ประกอบการนั้นถามว่าคุณเสียภาษีตรงไปตรงมาไหม คำตอบคือไม่ แต่คุณก็รู้สึกว่าคุณรับไม่ได้ถ้าหากคุณโจ่งแจ้ง เพราะทักษิณนั้นโกงโจ่งแจ้ง แต่พี่น้องที่เป็นผู้ประกอบการในม็อบพันธมิตรนั้นแอบๆ โกง มันจึงผนวกกันไปจนกลายเป็นความขัดแย้ง แล้วความขัดแย้งนั้นท้ายที่สุดชนชั้นกลางมาบอกว่า "กูมาประท้วงเพราะว่ามึงเอาภาษีกูไป"


 


มันมีกระบวนการทางการเมืองที่เปลี่ยนพี่น้องชนชั้นกลางทั้งหลายเปลี่ยนอาซิ้ม อาซ้อ ขายเหล็ก ขายปูน เปลี่ยนมาเป็น ลูกจีนผู้รักชาติ ลูกจีนกู้ชาติ ผู้หญิงอายุ 40 กว่า ที่เริ่มสูญเสียอัตลักษณ์ของแม่ ของเมีย มาสู่อัตลักษณ์ที่เป็นผู้รักชาติ หรือว่ากู้ชาติ เพราะว่าอัตลักษณ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก รวมทั้งสู้เพื่อในหลวงคิดดูดีๆ ว่าการฟ้องคดีหมิ่นเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ก็เกิดคำถามว่าถ้าใครจงรักภักดีจริง จะต้องแอ่นอกรับก้อนหินที่จะขว้างมาโดนสถาบัน ไม่ใช่แอบอยู่หลังสถาบันแล้วเอาก้อนหินขว้างเขา ในวันนี้ทั้งพันธมิตรและรัฐบาลกระทำแบบเดียวกัน คือแอบอยู่หลังสถาบันแล้วเอาก้อนหินขว้างกันและกัน


 


ในความขัดแย้งทั้งหมดจะเห็นว่ามันซับซ้อน แต่ว่ารากเหง้าทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากการแตกตัวทางชนชั้นข้างล่าง รากเหง้าต่อมาคือการเปลี่ยนรูปรัฐ รากเหง้าตามมาคือการดึงเอาอำนาจวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยว ถามว่ากระบวนการนี้พวกเราในฐานะที่ทำงานชุมชนจะคิดกันอย่างไร


 


คำถามแรกที่จะต้องถามก็คือว่าโยนเอาศพวัฒนธรรมชุมชนออกไปก่อนได้ไหม ลองคิดว่าจะจัดการกับผู้หญิงที่ทำงาน Informal sector อย่างไร ผู้หญิงที่มาทำงานบาร์เบียร์ที่ส่งงานนอกภาคการเกษตรกลับบ้าน เราจะจัดการอย่างไร เพราะว่าตัวสิทธิชุมชน หรือว่าวัฒนธรรมชุมชนจะต้องมีฐานที่สำคัญอันหนึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า common property (สมบัติชุมชน) เพราะว่าถ้าหากไม่มี common property ก็จะไม่มีชุมชน


 


ในวันนี้การเปลี่ยนแปลที่เกิดขึ้นในชนบทนั้นมันเปลี่ยนการใช้ common property หรือว่าสมบัติชุมชนไปหมดแล้ว ยกกรณีตัวอย่างการยึดที่ดิน คนที่ยึดที่ดินไม่ได้ยึดที่ดินทั้งหมดมาเพื่อเป็น common property แต่เพื่อที่จะแบ่งเป็นสมบัติส่วนตัว และแบ่งส่วนหนึ่งเพื่อที่จะเป็นสมบัติส่วนตัว เช่นยึดมา 300 ไร่ ผู้นำได้ 4 ไร่ คนที่เป็นผู้ตามได้ 2 ไร่ และแบ่งส่วนหนึ่ง 15 ไร่เอาไว้เป็น common property ความเปลี่ยนแปลงนี้คือความเปลี่ยนแปลงของพี่น้องคนจน ชาวนาเล็กที่มีที่ดินประมาณ 2-3 ไร่ แต่ว่าไม่พอทำกิน ขาหนึ่งอาศัยอยู่ข้างนอกทำงานนอกภาคการเกษตร แต่ว่ารู้สึกอยู่เสมอว่าตนเองต้องอาศัยตรงนี้เป็นหลังพิง ซึ่งจำนวนหลังพิง 2-3 ไร่มันไม่พอกับการผลิตเชิงพาณิชย์ และเห็นความอยุติธรรมข้างหน้า เขาก็ไปยึดเอาที่ดินจากที่เขาไม่ใช้ เอาที่ดินตรงนั้นมาปลูกพืชเชิงพาณิชย์ที่เป็นหลังพิง ถามว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด จะสามารถจัดการอย่างไร ถ้าหากจะสร้างวัฒนธรรมจะต้องสร้างสิ่งที่เป็นสมบัติชุมชน หือว่า common property ชุดหนึ่ง ที่ไม่ใช่ชุดเดิม หรือว่าไม่ใช่ป่าชุมชน หรือว่าอื่นๆ


 


จำนวนคน 68 เปอร์เซ็นต์ที่เป็น informal sector ในประเทศไทย แต่ถ้าหากว่าเป็นเชียงใหม่นั้นมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เราจะสร้างมันได้อย่างไร ถ้าหากสิ่งที่เอ็นจีโอประสบความสำเร็จมากที่สุดคือทำให้ชาวบ้านมารวมกลุ่มกัน นั่งคุยปัญหากัน ถึงเกิดสิ่งที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมชุมชน วันนี้เราต้องคิดถึงการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ต้องคิดว่าจะจัดกลุ่มให้พี่น้องใน informal sector มานั่งคุยกันได้อย่างไร ถ้าหากจะยืดชีวิตวัฒนธรรมชุมชน ก็จะต้องเปลี่ยนสิ่งที่เราเรียกว่า common property ความเปลี่ยนแปลงอันนี้ยิ่งใหญ่ สังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว


 


วิทยุชุมชนเองก็ตาม ก็ต้องมานั่งคิดใหม่ว่าเราจะเอื้อต่อพี่น้องที่ออกไปข้างนอกได้อย่างไร จะเอื้อให้เกิดการประกันแรงงานขั้นต่ำของพี่น้อง informal sector ได้ไหม จะสามารถหาหลักประกันให้กับกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่น ผู้หญิง แม่บ้าน ที่ต้องทำงานหนักจะสามารถขยับมันได้ไหม วิทยุชุมชนก็ต้องมาคิดใหม่ เพราะว่ามันต้องไม่ใช่วิทยุชุมชนที่มานั่งพูดไปพูดมาอีกแล้ว


 


สถิติผู้ติดเชื้อมาอยู่ที่วัยรุ่นในชายขอบมากขึ้น จะแก้อย่างไร ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องมาคิดกันใหม่หมด ต้องเปลี่ยนตัวเอง กรอบเดิมที่เคยพึงพอใจไว้ต้องมาตั้งคำถามกับมัน ซึ่งกรอบที่บังตาพวกเรามากที่สุดคือกรอบวัฒนธรรมชุมชน ผมไม่ปฏิเสธว่าในช่วงเวลาหนึ่งนั้นกรอบนี้มีค่า ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าในช่วงเวลาหนึ่งผมก็สมาทานแนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนอย่างสุดขั้ว


 


แต่อย่าลืมว่าทุกกรอบมันต้องเปลี่ยน มันไม่มีอะไรเป็น อกาลิโก ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลง


ถามว่า แซ๊ป กับ สก๊อย ใครตอบอะไรได้บ้าง เพราะว่าทั้งสองเป็นผลผลิตของอันนี้ เป็นคนที่อยู่ชายขอบของเมือง กลุ่มคนนี้จะขึ้นบนไม่ได้ เรียนในระดับปริญญาตรีได้ยากเพราะว่าระบบการศึกษามันห่วย จะลงไปทำนาแบบพ่อก็ขายนาไปแล้ว ชีวิตของคนในกลุ่มตรงนี้นั้นสับสนเจ็บปวดมากๆ


 


ถ้าหากคุณอธิบายอย่างนี้คุณจะเริ่มมองเห็นว่าคุณจะแก้ปัญหาเด็กสองกลุ่มในกรุงเทพ อย่างไร แต่ถ้าหากพูดแบบรัฐมนตรีดัดจริต เขาก็จะด่า 3-4 อย่างว่า พ่อแม่ไม่สั่งสอน หรือว่าไม่มีเวลาให้ รับวัฒนธรรมตะวันตก คบเพื่อนเลว หรือว่าโรงเรียนไม่ดี เขาตอบปัญหา 3-4 อย่างตลอดเวลา 30 ปี นี่คือความโง่ของสังคมไทย


 


เด็กช่างกลมันตีกันตั้งแต่ปี 07 แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนถึงวันนี้ จนกระทั่งครั้งสุดท้ายคือเอาไปฝึกทหาร ซึ่งประสบความสำเร็จคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการตี ถ้าหากว่าคุณจะให้ความหวังกับเขา ให้ความหวัง แซป กับสก๊อย คุณต้องให้ความหวังเขาในรูปแบบใหม่ๆ แทนที่จะด่าอยู่ 4 อย่าง แล้วถ้าหากคุณจะเข้าใจเขาได้ คนพวกนี้คือพวกชายขอบของการผลิต อันนี้คือตัวอย่างว่าถ้าหากเราไม่เข้าใจปัญหา เราไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้


 


ผมพูดอยู่เสมอว่าถ้าหากเอ็นจีโอไม่เข้าใจสังคม เอ็นจีโอ จะเป็นไส้ติ่ง ถ้านักวิชาการไม่เข้าใจอะไรตรงนี้นักวิชาการก็เป็นไส้ติ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net