Skip to main content
sharethis



1


"เรารู้ว่าประชาธิปไตยกำลังถูกเปลี่ยนเป็นสัดส่วนอะไรก็ไม่รู้ รับไม่ได้ มันไม่ถูก


ขับไล่รัฐบาลที่เพิ่งทำงาน เอาอำนาจอะไรมาไล่


ทำไมคุณไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาธิปไตย


เขาประท้วง เราก็ต้องประท้วง จะว่ากันยังไงก็ต้องฟังคนส่วนใหญ่ด้วย


เราก็มาเป็นคนหนึ่งที่มาร่วม เพราะไม่ยอมรับการเมืองแบบ 30/70 รับไม่ได้เลย


ประชาธิปไตยบ้าบอคอแตกอะไร


คุณจะเอากลุ่มคุณขึ้นด้วยการแต่งตั้งก็พูดตรงๆ...."


 


2


""ข่าวออกมาว่า นปก. เป็นคนรุนแรง ผมเสียใจมาก


สื่อมวลชนประเทศไทย มีไหมที่จะลงธรรมดาว่า


คนท้องสนามหลวงถูกรุมตี...ไม่มี


มีแต่ไปตีเขา ไปทำรุนแรงกับเขา"


 


3


"ผมคิดอย่างเดียวว่า อยู่กับพวกนี้ ตายซะดีกว่า


เราจะอยู่กับกบฏยังไง


ถ้าเค้ามีอำนาจมันก็มาเฟียดีๆ นี่เอง


แล้วสื่อ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ตุลาการ ก็ยังไปร่วมสนับสนุนเขา"


 


4


"....ที่เจ็บช้ำเจ็บใจก็เพราะอย่างนี้


เขาพูดเพราะจะไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกตั้ง


ระบบอย่างนี้มันเป็นมานานแล้ว


แต่คนส่วนใหญ่รู้จักประชาธิปไตยจริงๆ ก็เพราะรัฐบาลทักษิณ


เพราะมันจับต้องได้


จะไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คนมันต้องอยู่ดีกินดีก่อน


ในหลวงท่านก็เคยตรัสอย่างนี้"


 


5


"มันง่ายๆ เลยว่า ถ้าเราไม่รักษาคนที่ทำประโยชน์ให้ประชาชนไว้


แล้วคนดีๆ เก่งๆ ที่ไหนจะกล้าออกมาเล่นการเมืองอีก


ประชาชนจึงต้องแสดงให้เห็นว่า เราว่าคนนี้ดี


มีทางเดียวคือต้องออกมาสู้กับปืน กับอมาตยาธิปไตย


ไม่สู้เลยเราก็ต้องเป็นทาส คนรวยก็จะกดขี่คนจนได้ต่อไป


อย่างน้อยยุคนั้นเรายังพอมีโอกาสตั้งหลักได้


คนรวยก็รวยต่อไป แต่คนจนมันก็ดีขึ้น"


 


6


"ผมว่านี่เป็นสงครามคนจนกับคนรวยเลยนะ


อยู่ที่ว่าคนจนจะออกมามากเท่าไหร่เท่านั้นเอง"


 


 


 


 


กรกช  เพียงใจ : รายงาน


 


 


เหตุการณ์ปะทะกันของประชาชนจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กลางดึกคืนวันที่ 1 ต่อเช้ามืดวันที่ 2 กันยา 


2551 กลายเป็นข่าวเกรียวกราวสั่นสะเทือนสังคมไทยที่กำลังวิตกกับเรื่อง "ความรุนแรง"  "การนองเลือด" ที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์พอดิบพอดี  หากแต่คราวนี้ คู่ขัดแย้งกลับไม่ใช่รัฐกับประชาชนเหมือนอย่างเคย


 


ค่ำคืนนั้นสร้างความสูญเสียแก่ "ประชาชน" ทั้งสองฝ่าย มีผู้บาดเจ็บหลายราย รวมทั้งผู้เสียชีวิต 1 คน คือ นายณรงศักดิ์ กรอบไธสง ผู้ชุมนุมฝั่ง นปช. โดยที่สังคมไทยก็ดูจะอ้ำๆ อึ้งๆ ไม่รู้จะประณามฝ่ายไหน บ้างว่า เป็นเพราะแกนนำ นปช. เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปยั่วยุ จุดชนวนความรุนแรงกับฝ่าย พธม. บ้างว่าเป็นเพราะ พธม. สร้างเงื่อนไขการชุมนุมที่เกินเลยขอบเขตจนสร้างความไม่พอใจกับหลายส่วน แต่แน่นอนว่า ทุกฝ่ายพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลซึ่งไม่มีน้ำยาจัดการระงับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม ภาพข่าวที่ปรากฏทางทีวี หน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งสื่อไทยและต่างประเทศ บ่งบอกชัดเจนถึงระดับความรุนแรงอันน่าสลดหดหู่นี้ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นปลายเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของสองขั้วหลักในสังคมไทยที่บ่มตัวอยู่นานแล้ว


 


สำหรับ พธม.นั้น ข้อเสนอ ที่มาที่ไป เหตุผลการชุมนุม ความชอบธรรมต่างๆ รวมถึงรายละเอียดการชุมนุม ลักษณะผู้เข้าร่วมชุมนุม ความเห็นของแกนนำ ถูกนำเสนอแล้วอย่างไม่ขาดสาย


 


อีกด้านหนึ่ง จึงน่าสนใจว่า "ม็อบคนเมา" "ม็อบอันธพาล" "ม็อบเติมเงิน" "ม็อบไข่แม้ว" ฯลฯ นั้น นอกเหนือไปจากความเห็นของพวกแกนนำ และการเหมารวมมวลชนให้ขาดวุฒิภาวะ ถูกชักจูงง่าย คลั่งทักษิณ ฯ แล้ว หากลองสำรวจตรวจตราดีๆ พวกเขามีพื้นฐานวิธีคิด วิธีมองสังคมการเมืองไทยอย่างไร รายงานนี้จึงลองสุ่มสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บ และผู้ร่วมชุมนุมที่สนามหลวงเพื่อบันทึกไว้เป็นสุ้มเสียงหนึ่งของ "กลุ่มคนจน" ซึ่งกำลังเป็นตัวละครใหม่ที่มีบทบาทสูงในการเมืองไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน และจะยิ่งสูงมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต


 


(หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ เข้าไม่ถึงผู้บาดเจ็บที่นิยม พธม. เนื่องจากไม่ปรากฏตัวอยู่ในสถานพยาบาลขณะทำการสำรวจหลังเหตุการณ์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ)


 


0 0 0


 


 



ลุงลออ เปียทอง วัย 56 ปี ชาวโคราช


 


 


ลออ เปียทอง คุณลุงชาวโคราชวัย 56 ปี อาจเป็นที่คุ้นเคยสำหรับสาธารณะบ้าง เพราะมีสื่อโทรทัศน์หลายช่องไปสัมภาษณ์ญาติของลุงหลังเหตุการณ์ ลุงได้รับบาดเจ็บแขนข้างหนึ่งหักสามท่อน อีกข้างหนึ่งหักหนึ่งท่อน หัวแตกเย็บ 26 เข็ม บาดเจ็บที่หัวไหล่ ท้อง และขา พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระราว 10 วันก่อนจะขอย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในโคราชบ้านเกิด


  


ลุงลออ เป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทานมาเกือบ 30 ปี หลังรัฐประหาร ลุงและแกนนำอีกส่วนได้รวมตัวกันตั้งกลุ่ม "คนโคราชรักประชาธิปไตย" เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยกับผู้คนในพื้นที่ต่างๆ แต่ทำๆ เลิกๆ ตามกำลังเงิน เวลา และกำลังคน นอกเหนือจากนี้ ลุงและกลุ่มเพื่อนยังเดินทางโคราช - กรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงด้วยในช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ โดยเฉพาะหลังจากที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวอย่างหนักยึดทำเนียบรัฐบาล


 


"เรารู้ว่าประชาธิปไตยกำลังถูกเปลี่ยนเป็นสัดส่วนอะไรก็ไม่รู้ รับไม่ได้  มันไม่ถูก ขับไล่รัฐบาลที่เพิ่งทำงาน เอาอำนาจอะไรมาไล่ ทำไมคุณไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาธิปไตย เขาประท้วง เราก็ต้องประท้วง จะว่ากันยังไงก็ต้องฟังคนส่วนใหญ่ด้วย เราก็มาเป็นคนหนึ่งที่มาร่วมเพราะไม่ยอมรับการเมืองแบบ 30/70 รับไม่ได้เลย ประชาธิปไตยบ้าบอคอแตกอะไร คุณจะเอากลุ่มคุณขึ้นด้วยการแต่งตั้งก็พูดตรงๆ เสรีประชาธิปไตยทั่วโลกเขาไม่ได้เป็นแบบนี้ เราจึงต้องต่อต้าน แต่การต่อต้านเราก็ไม่คิดว่าจะมีเหตุร้ายใหญ่โต"


 


ลุงลออให้สัมภาษณ์ขณะที่ยังอยู่บนเตียงคนไข้  ซึ่งการสัมภาษณ์ลุงเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องหยุดหลายช่วง เนื่องจากมีเพื่อนฝูง ผู้ร่วมชุมนุม และใครต่อใคร ผลัดกันมาเยี่ยมเยียน พูดคุยอย่างไม่ขาดสาย และดูเหมือนมันจะสร้างความปลาบปลื้มให้ทั้งคนไข้และญาติอยู่ไม่น้อย


 


ลุงเล่าว่า วันนั้นมากับพรรคพวกเกือบ 30 คนแบบต่างคนต่างมาเพื่อร่วมฟังปราศรัยตั้งแต่สามสี่ทุ่ม พอตกดึกทางเวทีและผู้ชุมนุมจึงลงมติร่วมกันว่าจะเคลื่อนไปนั่งกดดันกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อให้เห็นว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขาก็มีจำนวนมาก โดยไม่ได้เตรียมเนื้อเตรียมตัวอะไรกันมากนัก เพราะไม่คิดว่าจะเกิดเหตุรุนแรง


 


อย่างไรก็ตาม ด้วยอาการบาดเจ็บสาหัสเช่นนี้ เดาได้ไม่ยากว่าลุงอยู่ด่านหน้า  "เปล่า ผมไม่ได้ตั้งใจจะอยู่ด่านหน้าอะไร แต่เดินมาห้ามคน อย่างคนแก่ ผู้หญิงที่เค้าไม่ได้มีอะไรติดมือมาป้องกันตัว เราก็จะคอยบอกเขาว่าไปอยู่หลังรถกระจายเสียงดีกว่า ให้เดินพร้อมๆ คนอื่นเขา "


 


"ผมนี่ตัวเปล่าเลย ไม่ได้เตรียมอะไรเลย แต่วิ่งไปห้ามคนตอนดันกับตำรวจ บอกอย่าดันๆ ถ้าล้มเจ้าหน้าที่จะเจ็บ ตำรวจไม่มีอาวุธ สุดท้ายแถวตำรวจและราวเหล็กก็เอาไม่อยู่ เพราะคนเยอะมาก เหมือนกันกับด่านที่สอง ดันกันไปมา ตำรวจก็ล่าถอย ที่เจ็บก็หลายคนเพราะล้ม"


 


เมื่อสถานการณ์เริ่มคุมไม่อยู่ หลังจากแนวตำรวจล่าถอยแล้ว ผู้ชุมนุมสองฝ่ายเริ่มขว้างปาสิ่งของ และปะทะกัน


 


ความซวยของลุงลออเริ่มมาเยือน เพราะเพียงครู่เดียวก็มองเห็นผู้ชายคนหนึ่งซึ่งน่าจะอายุมากกว่าแก วิ่งถลำไปแล้วโดนฝ่ายตรงข้ามซึ่งตั้งแถวรออยู่แล้วตีจนล้ม ลุงจึงวิ่งเข้าไปหวังจะหิ้วปีกคนเจ็บลากกลับมา


 


"พอก้มลงเท่านั้น ก็โดนพวกนั้นรุมตี ใช้ไม้ 10 กว่าคน ตอนนั้นมันก็มั่วแล้ว ก็โดดป่ายซ้าย ป่ายขวา เป็นมวยเป็นแมวอะไรก็ใส่ไป เอาชีวิตรอดไว้ก่อน ด้วยความโมโหด้วย เขาก็ตีจนทรุด ก็ยังไม่ทันได้หมดสติ เขาก็ลากเข้าไป มีรูปด้วย ดูสิ (ชี้ไปที่รูปบนโต๊ะ) แล้วตีต่อ ไอ้คนที่ลากไปน่ะ หยุด แต่คนที่ยืนอยู่ข้างในเขาตี แขนหักหมด ข้างนึงสามท่อน ข้างนึงท่อนนึง หัวไหล่แตก ท้องระบมหมด ขา หลัง หัว หน้า แตกหมด"



 


 


 



รูปภาพที่ภรรยาและญาติของลุงตัดมาจากหนังสือพิมพ์


โดยลุงยืนยันว่านั่นคือภาพของลุงที่ใส่เสื้อแดงของกลุ่มคนโคราชรักประชาธิปไตยในคืนวันนั้น


 


 


"พอตีชุดสุดท้ายนี่คว่ำหน้าแล้ว มองเห็นก็ว่า เออ เลือดเราเยอะเนอะ เลือดมันออกนองกับพื้น เขาก็ยังตี เตะด้วย แล้วก็ได้ยินเสียงปืน ปัง ปัง ปัง ก็รู้แล้วว่างานนี้ไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่คนเจ็บ แต่ต้องมีคนตาย หลังจากนั้นก็หมดความรู้สึก สลบ ก็ยังอัศจรรย์ใจว่ารอดมาได้ยังไง ไม่รู้ใครช่วย ก็ขอบพระคุณคนที่ช่วยไว้ด้วย.......ตำรวจ ตอนนั้นยังไม่เห็น แต่เหตุการณ์มันแป๊บเดียวเอง ไม่ถึง 20 นาที" ลุงเล่าไปเรื่อยๆ ด้วยน้ำเสียงเนิบช้า เยือกเย็น


 


"ข่าวออกมาว่า นปก. เป็นคนรุนแรง ผมเสียใจมาก สื่อมวลชนประเทศไทย มีไหมที่จะลงธรรมดาว่า คนท้องสนามหลวงถูกรุมตี ไม่มี มีแต่ไปตีเขา ไปทำรุนแรงกับเขา"


 


ไม่เท่านั้นลุงยังบ่นผิดหวังเลยไปถึงสื่ออย่างเอเอสทีวีด้วยว่า มีอิทธิพลล้างสมองผู้คนอย่างดีเยี่ยม อย่างคนข้างบ้านลุงซึ่งรักกันมาก รู้จักกันมานาน ตอนหลังดูเอเอสทีวีทุกคืน ตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง หลังๆ เริ่มไม่พูดกับลุงและไม่พอใจที่ลุงเห็นด้วยกับ นปช. ทั้งที่เมื่อก่อนยังคุยกันได้ แม้เห็นไม่ตรงกันก็ตาม


 


"อ้วน" (ไม่สะดวกเปิดเผยชื่อจริง) วัย 40 กว่า เป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมชุมนุมและอยู่ในเหตุการณ์คืนนั้น เล่าเรื่องให้ฟังด้วยน้ำเสียงจริงจังและแผดก้อง ทั้งเหตุการณ์นั้น ตลอดจนถึงการวิเคราะห์สังคมการเมืองไทย  แม้จะอยู่แถบหน้าๆ แต่พี่อ้วนไม่ได้รับบาดเจ็บ


 


ทำไมจะต้องเคลื่อนไปสร้างเงื่อนไขความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้นในคืนนั้น?


 


"จริงๆ วันนั้นกะว่าไปปิดล้อมตรงนั้น เพื่อให้พวกต่างจังหวัดเข้ามาร่วมด้วย คนที่นั่นน่ะอยากไปนานแล้ว แต่รอๆๆๆ คนเราไปทุกวันนานๆ มันเกิดความเครียดความกดดันขึ้นมา ตอนแรกว่าจะไปกดดันกันตอนเช้า พอมีคนถามตอนเที่ยงคืนกว่าๆ ก็เฮไปกัน แกนนำคุยตลอดว่าไปแล้วอย่าใช้อารมณ์นะ ปกติเราเดินเราต้องมีของป้องกันตัวอยู่แล้ว แต่ภาพที่ออกมาว่ามีมีดมีอะไร มันไม่เป็นอย่างนั้น"


 


"ผมอยู่ตรงตึกยูเอ็น แต่บังเอิญตอนนั้นมันมืด ถือก้อนหินก้อนใหญ่ไว้ เขาอาจคิดว่าถือปืน ไม่กล้าเข้ามา พวกที่อยู่ด่านหน้าของเขาถอยให้พวกที่อยู่ข้างหลังเข้ามา แล้วมีเสียงปืนดังขึ้น พอเสียงปืนดังเท่านั้น เราก็ตกใจ ถอยกรูดกันเลยแล้วเสียจังหวะ  เหยียบเหล็กกั้นกันล้มบ้าง ทีนี้พอจะเข้าไปช่วยมันก็ช่วยไม่ได้แล้ว เพราะเราเสียเปรียบมาก หมวกก็ไม่มีป้องกัน"


 


"ผมก็ไม่สบายใจ ที่เราออกไปด้วยกันแล้วพรรคพวกตาย โดยเราช่วยอะไรไม่ได้"


 


เมื่อถามว่ามีการเตรียมอาวุธกันหรือไม่ อย่างไร พี่อ้วนเล่าว่า คนด่านหน้าวันนั้นก็มีราว 20-30 คน โดยหาไม้จากไม้ที่ประกอบเวที มีเหล็กท่อนกลมๆ สั้นๆ เตรียมไว้บ้าง


 


"ผมคิดอย่างเดียวว่า อยู่กับพวกนี้ ตายซะดีกว่า เราจะอยู่กับกบฏยังไง ถ้าเค้ามีอำนาจมันก็มาเฟียดีๆ นี่เอง แล้วสื่อ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ตุลาการ ก็ยังไปร่วมสนับสนุนเขา"


 


อ้วน พื้นเพเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ เรียนไม่จบปริญญาตรี และมีอาชีพรับจ้างทั่วไปอยู่ในกรุงเทพฯ มากว่า 20 ปี ทั้งยังเรียกได้ว่าเป็นหนอนหนังสือ (พิมพ์) อ่านแทบทุกฉบับเท่าที่หาได้ แต่ไม่เคยออกมาชุมนุมเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุด


 


"เราว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นคนดี ถ้าผมเป็นนายกฯ ผมก็จะทำอย่างนั้น ต้องทำเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ต่อไปเงินก็ซื้อเสียงไม่ได้ แต่อยู่ๆ ก็มีคนมาปฏิวัติ แรกๆ ผมก็แค่ออกมาดูว่าเขาชุมนุมอะไรที่สนามหลวง ตอนนั้นจำได้ว่ามีตั้งหลายเวที คิดเห็นก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์"


 


"มันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เขาก็ยังมาว่าว่าจ่ายเงินจ่ายทอง ซักบาทผมก็ไม่เคยได้ เรามีแต่ให้ คนที่มาเราก็ไม่รู้จักกัน แต่รู้ว่าเราคิดบางอย่างเหมือนกัน สู้กันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งไปบ้านพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) ผมก็ไป ที่นั่นถึงไม่มีอาวุธก็ยังโดนตีหนักกว่า ที่มันน้อยใจก็คือ เราไปบ้านพลเอกเปรม ไปพูดปราศรัยกันข้างถนนไม่ถึงสองชั่วโมง โดนปราบ แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย หัวแตกกันก็หลายคน" 


 


คนที่ชอบทักษิณส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด ไม่มีการศึกษามากนัก และเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ที่รัฐบาลให้ โดยเฉพาะข้อหาเรื่องการขายเสียง จริงไหม คิดอย่างไร ?


 


"ถูกต้อง ที่เจ็บช้ำเจ็บใจก็เพราะอย่างนี้ เขาพูดเพราะจะไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกตั้ง ระบบอย่างนี้มันเป็นมานานแล้ว แต่คนส่วนใหญ่รู้จักประชาธิปไตยจริงๆ ก็เพราะรัฐบาลทักษิณ เพราะมันจับต้องได้ จะไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คนมันต้องอยู่ดีกินดีก่อน ในหลวงท่านก็เคยตรัสอย่างนี้"


 


"คนจนได้เข้าถึงโอกาส มีหนี้แต่มีเงินเก็บในธนาคาร มีโอกาสไปเรียนเมืองนอก มีความรู้ ถามว่าคุณให้เงินเขา 500 เขาจะเอาไหม ระบบทุกวันนี้มันมีซื้อเสียง แต่บอกเลยว่าไม่ว่ายังไงชาวบ้านก็จะเลือกพรรคนี้ เพราะมันเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดมาก"


 


ในฐานะที่เป็นคนศรีสะเกษ อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่เห็น ?


 


"ยกตัวอย่างว่า ยุคชาติชาย  (ชุณหะวัณ) โดนปฏิวัติผมยังเห็นด้วย เพราะคนกลุ่มเล็กๆ ได้ประโยชน์ ทำให้คนรวยซื้อที่ดินเก็บไว้จนล้นเกิน คนหาเช้ากินค่ำไม่มีโอกาสแม้แต่จะซื้อห้องอยู่ มันต่างจากยุคทักษิณที่เอาของไปปล่อยให้ชาวบ้านโดยตรง ให้เงินชาวบ้านยืม บ้านนอกเขาไม่มีเงินก็เอาโฉนดที่ไปกู้ดอกเบี้ยขั้นต่ำร้อยละ5 ถ้ากู้กันเองร้อยละ 10 แต่รัฐบาลสมัยนั้นให้ร้อยละ 1 มีกองทุนหมู่บ้าน หลังจากนั้น สื่อบอกว่าชาวบ้านติดงอมแงม เอาเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์ มือถือ สุรุ่ยสุร่าย ผมเห็นแล้วว่ามันผิด เอาปัญหาส่วนน้อยมาอธิบายคนส่วนมากไม่ได้ คนส่วนมากเขาได้เอาไปทำประโยชน์กันเยอะ คนมันจึงเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร เราจะเลือกอะไร เพื่ออะไร"


 


"ปีอื่นๆ เขาก็จ่าย จ่ายกันทั้งนั้น แต่เลือกตั้งที่ผ่านมานี่ พลังประชาชนไม่มีเลย ไม่มีใครกล้าให้ แต่คนอีสานนี่ เวลามีงานอะไร ส.ส.เขาไปเยี่ยมตลอด มันกลายเป็นผูกพันกัน วัฒนธรรมมันเป็นแบบนี้มานาน ไม่ต้องไปจ่ายเขาหรอก คนมาทำทีหลังมันก็ทำไม่ได้แล้ว คนอีสานเดี๋ยวนี้เขาจะบอกว่า ทักษิณมันช่วยกูมาเยอะ ต้องเอาพวกมัน คนเฒ่าคนแก่ที่รักทักษิณเพราะจากที่เขาไม่เคยมี ก็มีเงินกองทุนหมู่บ้านมาจัดสรรแบ่งกัน เมื่อก่อนจะหาเงินซื้อพริก ซื้อน้ำปลา บางทีก็ลำบาก แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันง่ายหมด ผมก็ไม่เข้าใจว่าเกลียดอะไรกันหนักหนา ที่มันผิดพลาด มีบ้างก็ต้องว่ากันไป แต่ไม่ใช่มาปฏิวัติบ้าง หรือยึดทำเนียบไล่"


 


"มันง่ายๆ เลยว่า ถ้าเราไม่รักษาคนที่ทำประโยชน์ให้ประชาชนไว้ แล้วคนดีๆ เก่งๆ ที่ไหนจะกล้าออกมาเล่นการเมืองอีก ประชาชนจึงต้องแสดงให้เห็นว่า เราว่าคนนี้ดี มีทางเดียวคือต้องออกมาสู้กับปืน กับอมาตยาธิปไตย ไม่สู้เลยเราก็ต้องเป็นทาส คนรวยก็จะกดขี่คนจนได้ต่อไป อย่างน้อยยุคนั้นเรายังพอมีโอกาส ตั้งหลักได้ คนรวยก็รวยต่อไป แต่คนจนมันก็ดีขึ้น"


 


"ผมว่านี่เป็นสงครามคนจน กับคนรวยเลยนะ อยู่ที่ว่าคนจนจะออกมามากเท่าไหร่เท่านั้นเอง" อ้วนกล่าวทิ้งท้าย


 


สนธยา แก้วโสม  วัย 50 กว่าๆ เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในกระทรวงแห่งหนึ่ง และเป็นผู้หนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงคืนนั้น ขณะนี้กำลังเฝ้าไข้ลูกชายวัย 26 ปี ซึ่งไปร่วมชุมนุมกับพ่อ และได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ขาจนกระดูกแตก อยู่ที่โรงพยาบาลนวนคร


 


เขาเล่าว่า หลังเลิกงานเขาและลูกชายซึ่งทำงานเป็นพนักงานเซเว่น อีเลฟเว่น จะไปชุมนุมที่ท้องสนามหลวง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทำให้บ้านเมืองถอยหลังไม่เป็นประชาธิปไตย แรงจูงใจสำคัญที่ต้องเดินทางไกลจากบ้านพักย่านนวนครไปถึงสนามหลวงเป็นประจำ ก็เพราะรู้สึกว่าไม่มีที่ทางที่อื่นที่จะแสดงออก


 


สนธยาไม่ได้เป็นคอการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร เป็นเพียงคนทำมาหากินทั่วๆ ไป แต่เริ่มสนใจการเมืองมากขึ้นในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เช่นกัน


 


"ผมเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ชีวิตไม่เคยมีโอกาสอะไร เมื่อก่อนมีมอเตอร์ไซค์คันนึงวิ่งไปทำงาน รับส่งลูก พอมาสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชีวิตมันดีขึ้น มีบ้านของตัวเอง ตอนนี้มีรถเก๋งเก่าๆ คันนึง ชีวิตมันมีโอกาสมากขึ้น"


 


"เมื่อก่อนทำงานไม่เคยมีโบนัส ก็มาเริ่มได้โบนัส เงินเดือนขึ้น กู้เงินซื้อบ้านก็กู้ได้เต็มร้อย ผมเป็นข้าราชการจนๆ ไม่เคยคิดเลยนะว่าจะมีบ้าน"


 


ในคืนวันเกิดเหตุ เขาเล่าว่าเวทีปราศรัยจัดกันตามปกติ จนกระทั่งตกดึกมีการปราศรัยกันจนผู้ชุมนุมรู้สึกฮึกเหิม และสรุปกันว่าจะเดินไปกดดันกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นชั้นที่สาม เนื่องจากมีตำรวจกั้นอยู่แล้วสองชั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเคลื่อนขบวนไป มีการดันฝ่าด่านตำรวจเข้าไป และเริ่มคุมสถานการณ์กันไม่ได้ ผู้คนวิ่งเข้าไปใกล้กันมากขึ้น มีการปาก้อนหินและไม้ใส่กัน ขณะที่รถขยายเสียงของแกนนำก็พยายามจะเข้าไปขวางและประกาศให้ระวัง จากนั้นจึงได้ยินเหมือนเสียงปะทัด ดังทีละ 2-3 นัด ดังอยู่ราว 20 นาที


 


"ตอนนั้นผมกับลูกหลบอยู่ตรงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ แถวๆ ลิขิตไก่ย่าง มองไปเห็นแท็กซี่คนหนึ่งถูกตี เลยวิ่งเข้าไปช่วยเอาคนเจ็บออกมาที่รถพยาบาลที่เข้ามาจอด  แล้วบอกให้ลูกชายรออยู่ตรงนั้น พอไปช่วยคนเจ็บได้ กลับมาอีกทีผมก็เห็นลูกล้มทั้งยืน เพราะถูกยิงที่ขา ก็รีบวิ่งกลับไปที่ลูกและอุ้มมาที่รถพยาบาล"


 


"ผมมั่นใจว่ากระสุนมาจากฝั่งตรงข้ามแน่นอน" ลูกชายของสนธยากล่าวยืนยัน และว่าหากเขาหายดีจะกลับไปร่วมชุมนุมอีกแน่นอนเพราะรู้สึกว่าอีกกลุ่มหนึ่งไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง


 


ถึงวันนี้ อาการลูกชายของสนธยา เริ่มดีขึ้น และกำลังรอผ่าตัดเพื่อนำเหล็กเข้าไปดามกระดูกหลังจากที่ย้ายจากโรงพยาบาลวชิระ เพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่มีประกันสังคม โดยค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ค่าเหล็กดามขา 5,000 บาท เขาระบุว่าได้รับเงินช่วยเหลือจากหลากหลายกลุ่มที่ร่วมชุมนุมที่สนามหลวงและรวมกันเงินไว้เป็นกองกลางช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต


 


ทุกวันนี้นอกจากเฝ้าไข้ลูกทุกเย็น บางวันเขาจะปลีกตัวไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพของณรงศักดิ์ ผู้เสียชีวิต หรือไม่ก็ไปร่วมชุมนุมต่อ หากทาง นปช.มีการจัดเวทีที่ใดที่หนึ่ง และยังยืนยันด้วยว่า หากพันธมิตรฯ ยังคงชุมนุมยึดทำเนียบ เขาก็จะร่วมชุมนุมคัดค้านพันธมิตรฯ ต่อไปเช่นกัน


 


"ถ้าเรากลัว บ้านเมืองก็จะวุ่นวายไม่จบสิ้น" สนธยากล่าว                      


 


0 0 0


 


..... ทั้งหมดนี้คือสุ้มเสียง "ส่วนหนึ่ง" ในกลุ่มคนจนที่เคยรวมตัวกัน ณ ท้องสนามหลวง


 


ผ่านมา 76 ปี ประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างที่เห็น ความขัดแย้งกำลังทวีความหนักหน่วง ท่ามกลางกระแสข้อเสนอ "การเมืองใหม่" หรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีนักวิชาการ ราษฎรอาวุโส ผู้มีสถานะทางสังคมหลายคนให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นทางออกจากวิกฤตความขัดแย้ง ระบบทุนนิยมสามานย์ การเลือกตั้งสกปรก ฯลฯ ทั้งยังพยายามระดมสมองประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ หานิยาม "ประชาธิปไตย" ใหม่ และขบคิดในเนื้อหารายละเอียด


 


ขณะที่เหล่าคนจนยังคงยึดมั่นและออกมาปกป้องหลักการประชาธิปไตยธรรมดาๆ ที่ตรงไปตรงมา แบบที่เคยเข้าใจกัน ....


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net