Skip to main content
sharethis

16 ก.ย. 2551 มีการจัดเวทีวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์บ้านเมืองและผลกระทบที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ  ถนนห้วยแก้ว  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วงบ่ายได้มีเวทีอภิปรายร่วมเรื่อง "ข้อเสนอแนะที่เป็นทางออกอย่างเหมาะสมของวิกฤติบ้านเมืองและจุดยืนของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" มี อาจารย์ฉลาดชาย  รมิตานนท์ จากศูนย์สตรีศึกษา  มช. เป็นผู้ร่วมอภิปราย


 


อ.ฉลาดชาย บอกว่าการมีสภาชนเผ่านั้นต้องตั้งอยู่ในประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือแบบมีส่วนร่วม โดยกล่าวต่อว่าการรวมกลุ่มองค์กรเพื่อการกดดันเป็น "องค์ประกอบที่จำเป็นมากมหาศาล" สำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของประชาสังคมหรือ Civil Society ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่เป็นเพียงปัจเจกที่ถูกลดคุณค่าอยู่แค่ 1 คน 1 เสียง ซึ่งจะมีความสำคัญแต่เฉพาะตอนเลือกตั้งเท่านั้น


 


อ.ฉลาดชาย พูดต่ออีกว่า ประเทศเราในปัจจุบันเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มทุนเก่า กับกลุ่มทุนใหม่ โดยเมื่อ 20-30 ปีก่อนรัฐจะเป็นกลุ่มที่ผูกขาดการใช้ทรัพยากรไว้ กลุ่มผลประโยชน์ก็มักจะดึงเอาทรัพยากรมาจากตรงนั้น งบประมาณแผ่นดินที่มีจำนวนมหาศาล ก็มีกลุ่มทุนทั้งนอกและในประเทศเข้ามาแย่งกันใช้ พวกที่จะเข้าถึงทุนคือผู้รับเหมา ยกฐานะจากนายทุนท้องถิ่นมาเป็นนายทุนยุคใหม่


 


ในประเด็นนี้ อ.ฉลาดชาย อธิบายเพิ่มว่า ทุนเก่าจะผูกติดอยู่กับที่ดินในระบอบสังคมแบบจารีต ขณะที่ทุนใหม่จะหากินกับรัฐแบบใหม่ เช่น คุณ บรรหาร (ศิลปอาชา) อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีบทบาทเป็นผู้รับเหมา เข้าถึงงบประมาณได้ โดยตั้งแต่หลัง 14 ตุลาฯ 16 เป็นต้นมา ทุนพวกนี้เริ่มเข้ามาเล่นการเมืองโดยตรง กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางตรง เข้าไปคุมงบประมาณของประเทศโดยตรง อยู่เหนือข้าราชการประจำ กล่าวคือ กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จะผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองเพื่อเข้าถึงตัวงบประมาณ


 


อ. ฉลาดชาย กล่าวต่อว่า นักการเมืองเหล่านี้ก็ต้องผ่านการเลือกตั้ง โดยยิ่งเราหมายว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งเข้าถึงงบประมาณได้มากขึ้นเท่านั้น "เราถูกบอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย ซึ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องเก่าเลย มันถูกใช้มาในเมืองไทยถึง 20 ปี แล้ว ไทยรักไทยก็ชูป้ายว่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน"


 


จากนั้น อ. ฉลาดชาย จึงบอกว่า เส้นทางสู่อำนาจเลยมาจากการแข่งขันกัน ต้องใช้เงิน ชัยชนะเลยขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนมีกระสุน มีทุนหนากว่ากัน พอถูกเลือกเข้าไปแล้วจึงต้องทำมากกว่าถอนทุนคืน ต้องเอากำไรคืนมาด้วย


 


ขณะเดียวกัน อ.ฉลาดชาย ก็ชี้ว่า ทุนใหม่ภายในประเทศไม่ได้ใหญ่จริง แข่งกับทุนจากนอกประเทศไม่ได้ "สมมุติว่าเราจะสร้างถนนวงแหวนรอบนอกอีกสักวง หากให้บริษัทต่างชาติเข้ามาแช่งประมูล เราก็ต้องแพ้ เพราะเทคโนโลยีสู้เข้าไม่ได้ ทุนก็ด้อยกว่า"


 


โดย อ.ฉลาดชาย บอกว่า ช่วงนี้การเมืองไทย นายทุนที่เป็นคนไทยดึงไม่ให้เศรษฐกิจมีความโปร่งใส เสรี พอที่จะให้เกิดการแข่งขัน ในทางเศรษฐศาสตร์เป็นช่วงสุดท้ายแล้วที่ทุนภายในประเทศจ้องจะผูกขาดเศรษฐกิจและการเมืองไว้เพื่อสร้าง Project ต่าง ๆ โดยที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่งอกเงย เว้นแต่เขาจะปรับให้เป็นแบบทุนนิยมยุคปลาย คือเศรษฐกิจที่ขายตัวเลข เช่น ตลาดหุ้น


 


มักจะมีการพูดถึงเรื่องราวการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากถามนักธุรกิจจริง ๆ แล้ว มันกระทบแค่ตลาดหุ้นไม่กี่วินาที พวกที่เป็น Real Sector หรือเศรษฐกิจที่มีผลผลิตอย่างการผลิตสินค้าบริการ ที่มีการสร้างงาน พวกนี้ไม่ค่อยกระทบเท่าไหร่ อ.ฉลาดชาย กล่าว


 


จากนั้น อ.ฉลาดชายได้พูดในประเด็นการต่อสู้ของพี่น้องชนเผ่าว่า ยุทธศาสตร์ของเรามักจะพยายามดึงเอาชุมชนขึ้นมาสู้จนลืมอะไรใหญ่ ๆ ไป สภาชุมชนจึงควรจะต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องทั้งในระดับมหัพภาค และระดับจุลภาค ด้วย เรามักจะพูดกันแต่โลกาภิวัตน์ แต่เราต้องช่วยกันศึกษาโลกาภิวัฒน์ในประเด็นใหญ่ว่าจะส่งผลกระทบกับพวกเราหรือไม่


 


"เช่น เวลาพูดถึง Bio Diesel จริง ๆ เขาลงทุนกันมาเป็นเวลา 5 ปี แล้ว ผมแอบไปได้ยินเขาคุยกันในสนามบิน ในไทยเราก็มีเบียร์ช้าง ไปเช่าที่ดินจำนวนมากปลูกอ้อยเพื่อเอามาทำ เอธานอล พวก E-5 E-10 E-20 มันก็เป็นแอลกอฮอล ได้จากข้าวโพด อ้อย หรือไม่ก็มันสัมปะหลัง" อ.ฉลาดชาย กล่าว


 


อ.ฉลาดชาย บอกอีกว่า เรื่องแบบนี้กระทบกับเราในระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน แล้วจะคาดหวังให้ชาวบ้านรู้ทันเป็นไปไม่ได้ เราต้องมีองค์กรของเราเองเพื่อระดมสมอง เราสู้อะไรเขาไม่ได้เพราะไม่มีทรัพยากรทางการเมืองอื่น ๆ จะรวมเครือข่ายหรือให้ Network มีเอกภาพก็เป็นไปไม่ได้ เหลือแต่การให้ความรู้


 


การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐศาสตร์เรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ในความจริง คนที่มีอำนาจน้อยก็จะร่วมได้น้อย คนที่มีอำนาจมากจะร่วมได้มาก "จะไปร่วมกับพันธมิตร บางครั้งก็เกินไป พอมาถึง 70:30 นี้ไม่ไหวมั้ง จะสรรหา 70 แล้ว 70 มาจากไหนใครเป็นคนตั้ง"


 


อ.ฉลาดชาย วิจารณ์ประเด็น 70:30 ต่อว่า หนึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรม และสอง 70 ที่ว่าจะเป็นใครเพศไหน สายอาชีพจะแยกแยะอย่างไร  "กระเทยเป็นได้ไหม คนที่มี Gender อื่น ๆ มีสิทธิไหม...คิดว่ายาก เกษตรกร ก็พูดยากว่าเกษตรกรแบบไหน แบบ 200 ไร่ หรือไม่มีสักไร่"


 


ขณะเดียวกัน อ.ฉลาดชาย ก็วิจารณ์การเคลื่อนไหวและแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนว่า แม้จะมีความตั้งใจแต่ในการปฏิบัติแล้วมักจะไม่คำนึงถึงภาพใหญ่ แล้วจะเคลื่อนไหวเพียงแค่ในระดับชุมชนเท่านั้น นอกจากนี้ยังคิดเพียงว่าจะสร้างคนรุ่นต่อไปให้รักชุมชน แต่เราทำได้จริงหรือเปล่า


 


"เราเพียงแต่ปลอบใจตนเองว่าชุมชนเข้มแข็ง ๆ แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ชุมชนแย่ เราต้องประเมินชุมชนให้ดี" อ.ฉลาดชายกล่าว "ชุมชนมักจะมีแต่คนแก่และผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เราบอกว่าจะสร้างเครือข่าย เพิ่มเครือข่าย แล้วเราเพิ่มได้จริงหรือ"


 


อ.ฉลาดชาย ย้ำว่าเราต้องมีความรู้ชุมชนของสิ่งที่กำลังมีอยู่และสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป


 


ระหว่างการบรรยายก็มีการยกมือแสดงความเห็นจากหลาย ๆ คนในห้องประชุม หนึ่งในนั้นคือ จอนิ โอ่โดเชา ซึ่งบอกว่า แม้ว่าลูกหลานในอนาคตจะออกจากชุมชนไปที่อื่น แต่เราก็อยากสร้างความภาคภูมิใจให้หมู่บ้านของเราต่อ "คนเราต้องกินข้าวแน่ ๆ ต้องกินน้ำแน่ ๆ ยังไงเราก็ต้องอยู่ในหมู่บ้าน"


 


ทั้งนี้ อ.ฉลาดชาย ได้กล่าวถึงสภาชุมชนว่าเป็นการดำเนินงานของภาคประชาชน ไม่ใช่ของภาครัฐ จึงควรจะเป็นองค์กรที่สร้างมาจากข้างล่างเพื่อผันไปสู่ข้างบน และควรมีการเรียนรู้ ทำความรู้จักชุมชนตัวเองให้มากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net