รายงาน: ขบวนการแรงงานกับวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน

วิทยากร บุญเรือง

 

สังคมจะต้องเข้าใจว่าสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มิใช่ตัวแทนทั้งหมดของขบวนการแรงงานในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ปัญหาของขบวนการแรงงานในประเทศไทยยังมีอีกหลายปัญหาที่ถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมและความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างสหภาพแรงงาน, ปัญหาแรงงานจ้างเหมาช่วง, ประเด็นชาตินิยมในขบวนการแรงงาน, อคติกับแรงงานข้ามชาติ, แนวทางการสู้กับทุนข้ามชาติโดยไม่ใช้วิธีการชาตินิยม, ประเด็นแรงงานนอกระบบ (เกษตรกร และชาวบ้านในชนบท) และสิทธิทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยรัฐสภา และประเด็นการสร้างขบวนการแรงงานที่ไม่อิงพันธมิตรฯ และไม่อิงฝ่ายทักษิณ เป็นต้น

 

ลองมาดูทัศนะแกนนำผู้ใช้แรงงานและภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงานอย่างจริงจัง ว่าพวกเขามีความคิดเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งในปัจจุบันอย่างไร และโอกาสอุปสรรคของการพัฒนาขบวนการแรงงานในอนาคตควรเป็นอย่างไร...

 

 

 

 

สถานการณ์แรงงานไทย

ศรีไพร นนทรีย์ คณะกรรมการกลุ่มสภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่าสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่ามีการแตกแยกกันเกิดขึ้นในขบวนการแรงงาน มีกลุ่มคนที่ไปอยู่กับพันธมิตรคือพวกรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคนที่ไปอยู่ก็เคยเป็นผู้นำบางส่วนที่พวกเรานับถือ มันก็เลยทำให้คนงาน ลูกจ้างบางส่วนสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะหลายส่วนไม่เข้าใจว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังการเมืองเป็นยังไง

 

สำหรับประเด็นที่ฝ่ายสหภาพรัฐวิสาหกิจมีการติดต่อดึงคนแรงงานไปช่วยในการเคลื่อนไหวนั้น ในส่วนของกลุ่มย่านรังสิตไม่ได้มีการรับการติดต่อมา อาจจะเป็นเพราะกลุ่มเราชัดเจนเรื่องทิศทางเหล่านี้ตั้งแต่พันธมิตรฯ ชุมนุมกันครั้งแรก ก่อนมีเหตุการณ์ 19 กันยา ซึ่งเขารู้แล้วว่าพวกเราคิดยังไง แต่ทั้งนี้มีผู้นำแรงงานบางคนที่อยู่กับพันธมิตรฯ พยายามเรียกร้องให้ลูกจ้างในภาคเอกชนออกมาต่อสู้ เคลื่อนไหวเหมือนกัน เช่น สมศักดิ์ โกศัยสุข แต่แทบจะไม่มีใครไปเข้าร่วม ซึ่งถ้ามีก็คงมีน้อย เพราะการต่อสู้เคลื่อนไหวในประเด็นการเรียกร้องของแรงงานภาคเอกชนก็มักที่จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ

 

สำหรับประเด็นคำขู่การตัดน้ำ ตัดไฟของสหภาพรัฐวิสาหกิจนั้น ในส่วนตัวของศรีไพรได้ให้ความเห็นว่าตนไม่เห็นด้วยแต่ไม่ใช่ว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้คนงานหากการต่อสู้นั้นเป็นการต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงาน แต่สหภาพรัฐวิสาหกิจที่อ้างตนว่าเป็นนักสหภาพแรงงาน กลับจะหยุดงานเพื่อชนชั้นปกครองเพื่อนายทุน ตามแนวทางของกลุ่มพันธมิตรฯ แบบนี้ตนเองก็ไม่เห็นด้วย

 

"พันธมิตรฯ ไม่ได้ต่อสู้เพื่อประชาชนจริงๆ แม้ว่าเขาจะอ้างอย่างนั้น สำหรับพี่พูดมานานแล้วว่า มีผู้นำบางส่วนที่อยากจะเข้าสู่ระบบการเมือง หลายคนมีอายุใกล้เกษียณแล้วจะไปทำอะไร ถ้าจะลงเล่นการเมือง โดยไม่ใช้วิธีประชาธิปไตยอย่างที่พันธมิตรฯ เสนอ (30/70) ก็ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าผู้นำที่ไปอยู่ตรงนั้น พวกเขาคงมีความหวังว่าเขาจะได้ไปเป็น ส.ส. สรรหา ซึ่งสหภาพแรงงานที่เป็นองค์กรประชาธิปไตยคงเห็นด้วยไม่ได้กับวิธีการแบบนี้" - ศรีไพรกล่าว

 

ทั้งนี้ศรีไพรได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า ขณะนี้การต่อสู้ของคนงานภาคเอกชนที่ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมกับนายจ้างในหลายที่ต้องหยุดการเคลื่อนไหวเพราะสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้

 

เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการกล่าวว่า ในประเด็นแรงงานนั้นสำหรับแรงงานนอกระบบ ก็คือประชาชนคนจนส่วนใหญ่ทั้งในชนบทและในเมืองที่อยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ (Informal sector) ซึ่งเราพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในภาคบริการ, ภาคการผลิต, ภาคเกษตรกรรม โดยการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยผ่านนโยบายประชานิยม ได้คะแนนเสียงจากแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนมาก เพราะให้ที่มีนโยบายสวัสดิการที่คนเหล่านี้ไม่เคยเข้าถึง เช่น สวัสดิการสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือการเข้าถึงทุนประกอบอาชีพ ซึ่งเราอาจจะมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมเชิงสังคมสงเคราะห์

 

แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีมุมมองดูถูกผู้ให้และผู้รับสวัสดิการเหล่านี้ แล้วมาชูประเด็นด้านจริยธรรมนั้น โดยการเฉพาะการ แต่งตั้ง คัดสรร สรรหา ผู้มีจริยธรรมในแต่ละวิชาชีพ เข้าสู่ระบบการเมืองที่เน้นวาทกรรม "อำนาจนิยมของคนดี" เป็นเหมือนความคิดของชนชั้นนำเก่า

 

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ไม่สามารถบอกได้ว่าเพื่อประชาธิปไตย เพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ การเสนอการเมืองใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจของชนชั้นนำ การแต่งตั้งโดยใครก็ยังไม่ชัดเจน แต่ไม่ใช่ประชาชนแน่ และการแต่งตั้งคนดีจะมีมาตรวัดคนดีกันอย่างไร

 

"กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม, ชาวประมงพื้นบ้าน, แรงงานเย็บผ้าอยู่ที่บ้าน, คนปกาเกอญอทำไร่อยู่บนดอย ฯลฯ คนเหล่านี้ทำงานด้วยหยาดเหงื่อ กลิ่นตัวแรง พูดจาหยาบคาย ชอบดื่มเหล้าผ่อนคลายมีโอกาสเป็นคนดีกับเขาไหม หรือคนดีต้องเป็นอดีตผู้พิพากษา อดีตอธิบดีกรมต่างๆ อดีตปลัดกระทรวง นายธนาคาร เจ้าของที่ดินหลายแสนไร่ นักพัฒนาองค์กรเอกชน และอื่นๆ ที่แต่งตัวภูมิฐาน สะอาดสะอ้าน พูดจาไพเราะ จิบไวน์บางๆ อย่างไหนละคือคนดีที่จะได้รับการแต่งตั้ง" - เจษฎากล่าว

 

ทั้งนี้เจษฎากล่าวย้ำว่า ขอให้สังคมไทยอย่าลืมประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระบบที่มี ส.. แบบแต่งตั้งหรืออาจใช้ชื่ออื่น ที่มักเกิดในยุคสมัยอำนาจนิยมทหารเป็นใหญ่ และก็ล้มเหลวในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ทำการตรวจสอบไม่ได้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง แม้แต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งก็ออกกฎหมายลิดรอนเอารัดเอาเปรียบคนยากจน เช่น กฎหมายแรงงาน, พ... ป่าชุมชน, กฎหมายด้านสื่อหลายฉบับ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ทำลายสิทธิของแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่

 

"คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสตรวจสอบ ปิดบังข้อมูลข่าวสารท้วงติงยาก สื่อมวลชนก็เข้าไม่ถึงข้อมูล เป็นการออกกฎหมายแบบงุบุงิบ รวบรัดซึ่งระบบอำนาจนิยมการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ก็คงทำนองนี้"

 

ขณะเดียวกันพันธมิตรฯ ได้วิจารณ์นโยบายประชานิยมเป็นการ มองแบบง่ายๆ ดูถูกดูหมิ่นว่าคนจนชนบทส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบถูกซื้อ ซึ่งพันธมิตรฯ จึงไม่เข้าใจปัญหาของคนจนชนบท ว่านโยบายประชานิยมสอดคล้องกับชีวิตที่ไร้หลักประกันจากรัฐที่ผ่านมา โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีนับ 20 ล้านคน เขาจึงชอบนโยบายประชานิยม ไม่ใช่เพราะเขาถูกซื้ออย่างที่พันธมิตรฯ เข้าใจ

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยมก็ยังเป็นเชิงสงเคราะห์เป็นเพียงเศษเสี้ยวที่คนจนได้รับ ทางที่ดีต้องนโยบายรัฐสวัสดิการ แต่นโยบายรัฐสวัสดิการจะเกิดได้ต้องสังคมมีประชาธิปไตย เกิดจากการต่อสู้ของชนชั้นล่างมิอาจเกิดจากชนชั้นนำแบบที่เป็นอยู่หรือมาจากการเมืองเมืองใหม่ของพันธมิตร

 

อีกอย่างหนึ่งเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าประชาชนจะมีเสรีภาพารวมกลุ่มได้อย่างเสรี  ซึ่งสำคัญมากสำหรับประชาชนคนจนส่วนใหญ่ที่แรงงานนอกระบบจะสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐและทุนก็ในเมื่อ การเมืองใหม่แม้แต่ ส.. จำนวนมากยังมาจากการแต่งตั้งเลย การเมืองใหม่จึงเป็นอุปสรรคในการเติบโตของบวนการคนยากไร้

 

เจษฎาได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ดังนั้นสำหรับขบวนการแรงงานแล้วนอกจากเป็นอิสระจากพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ จากระบบราชการแล้วยังด้วยเช่นกันต้องเป็นอิสระจากพันธมิตรฯ

 

ใจ อึ๊งภากรณ์ พรรคแนวร่วมภาคประชาชน กล่าวว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่ศรีไพรและเจษฏาเสนอ ทั้งนี้สหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจมีประวัติของการละเลยการสร้างผู้แทนสหภาพในระดับรากหญ้า ผู้นำสหภาพรัฐวิสาหกิจอย่างสมศักดิ์ โกศัยสุข และ ศิริชัย ไม้งาม จึงมองว่าการทำแนวร่วมกับผู้บริหารสำคัญกว่า มันมีความเคยชินที่จะล็อบบี้ข้างบน แทนที่จะปลุกระดมสมาชิกให้สู้ จุดจบคือการออกมาเคลื่อนไหวรับใช้พันธมิตรและชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยม ในช่วงที่ผ่านมาสหภาพไม่กล้านัดหยุดงานเพื่อปกป้องสมาชิกของตนเอง เช่นพนักงานชั่วคราวของภาครัฐ ไม่กล้านัดหยุดงานต้านการแปรรูป (ยกเว้นกรณีรถไฟหนึ่งครั้ง) แต่พอข้างบนเปิดไฟเขียวให้ก็ "กล้า" ออกมา

 

"เราต้องทำงานต่อไปในการจัดตั้งนักสหภาพแรงงาน สหภาพต้องเข้มแข็ง ต้องเน้นการนำตนเอง ไม่ใช่มีแต่พี่ใหญ่พี่เลี้ยง ต้องมีประชาธิปไตยภายใน เราต้องร่วมกันสร้างความสมานฉันท์ข้ามรั้วที่ทำงาน ถ้าใครเดือดร้อนต้องยกพวกไปร่วมม็อบเรี่ยรายเงิน เช่นกรณีไทรอัมพ์ โฮยา และที่อื่นๆ ต้องร่วมกันสู้ ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างหันหลังให้กัน มันเคยมีเสื้อ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ที่มีคำขวัญ "จะอยู่อย่างอดอยาก หรือจะร่วมกันต่อสู้ตรงนี้คำว่า "ร่วม" สำคัญมาก" ใจกล่าว

 

เราต้องนำประสบการณ์ชัยชนะมาเผยแพร่ เช่นกรณีการต่อสู้กับการรับเหมาในภาคตะวันออก ไม่ใช่เอาแต่กรณีพ่ายแพ้มาเล่าเพื่อบ่น

 

ทั้งนี้ใจได้กล่าวในตอนท้ายไว้ว่า การจัดตั้งต้องเลยขอบเขตสหภาพหรือกลุ่มย่าน คือต้องมีพรรคการเมือง เพื่อให้เราร่วมกันเสนอความเข้าใจและแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของคนจนที่อิสระจากเบื้องบน พรรคกับสหภาพมีบทบาทต่างกัน ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ สหภาพทำแทนพรรคไม่ได้ พรรคทำแทนสหภาพไม่ได้ ซึ่งถ้าพูดในภาษาทฤษฏีคือ การเมืองและเศรษฐศาสตร์ปากท้องต้องไม่แยกกัน

 

ชาตินิยมไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานได้

นุ่มนวล ยัพราช โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่คนงานส่วนหนึ่งได้เข้าไปรับใช้ พันธมิตรคลั่งชาติเพื่อคนชั้นสูง ขบวนการขวาจัดซึ่งกำลังพัฒนาไปเป็นขบวนการฟาสซิสต์ไปทุกที ซึ่งเรื่องชาตินิยมนั้นไม่เคยให้ผลประโยชน์กับคนงาน แนวชาตินิยมปฏิเสธชนชั้นเป็นวิธีของชนชั้นสูงที่จะเอาคนจนมาเป็นเหยื่อ

 

นุ่มนวลกล่าวต่อไปว่าปัจจุบันปัญหาของคนงานมีอยู่หลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องระบบการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคง  ค่าแรงถูกท่ามกลางวิกฤติทางเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ซึ่งหมายถึงรายได้จริงเราลดลงไป 10% เมื่อวิกฤติปี 40 รัฐบาลประชาธิปปัตย์ขณะนั้นผลักภาระให้คนจนรับมือเอง มีการเสนอให้คนงานที่โรงงานล้มละลายออกไปอยู่บ้านนอก ในขณะที่ภาคเกษตรเองก็มีวิกฤติ  แต่รัฐบาลเลือกอุ้มคนรวยไม่ให้ล้ม ทุ่มงบไปหลายหมื่นล้าน ซึ่งถ้าเกิดมีวิกฤติเกิดขึ้นอีกเราต้อง บอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่คำตอบ เราต้องเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาของคนจนอย่างเป็นระบบ ต้องเรียกร้องให้รัฐไม่ผลักภาระให้กับคนจน แน่นอนข้อเสนอนี้แนวชาตินิยมไม่สนใจรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนแน่นอน นอกจากสร้างนิยายหลอกลวงนามธรรม

 

"ชาตินิยมคือบ่อกำเนิดของการเหยียดหยามทางเชื้อชาติ การสร้างให้มนุษย์ดูถูกเกลียดชังซึ่งกัน เพื่อแบ่งแยกและปกครอง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาติแต่อย่างใด ประเด็นเรื่องอัตราการว่างงาน หรือ ชีวิตของคนธรรมดาขาดความมั่นคงไม่ได้มีสาเหตุมาจากแรงงานต่างชาติ แต่มาจากนโยบายการบริหารประเทศที่ไม่เห็นหัวคนจนต่างหากซึ่งเราต้องเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองทีเพิ่มอำนาจให้คนจน"

 

ทั้งนี้นุ่มนวลมีความเห็นว่าแรงงานต่างชาติเข้ามาสร้างมูลค่ามหาศาลให้ประเทศไทย เข้าทำงานในภาคส่วนที่ขาดแรงงาน และ คนไทยไม่อยากทำเพราะเป็นงานหนักและสกปรก เรื่องนี้มีความสำคัญมากขึ้นถ้ามองเชื่อมโยงกับประเทศไทย แรงงานส่วนหนึ่งกำลังเข้าสู่วัยชรา แต่นายทุนบอกว่าการให้สวัสดิการ "แพงเกินไปเพราะคนในวัยทำงานลดลง" ถ้าอย่างนั้น จุดยืนของเรานั้นก็ควรจะเชิญแรงงานข้ามชาติเข้ามาด้วยมิตรภาพและด้วยความเคารพ ต้องเรียกร้องให้มีการสร้างรัฐสวัสดิการให้ทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด แต่ตัวอย่างล่าสุดของพวกชาตินิยมพันธมิตรฯ กลับเลือกที่จะจุดประเด็นเรื่องสงครามกับเขมรเรื่องเขาพระวิหาร ถ้าแนวนี้ดีจริงก็ควรจะเลือกปกป้องผลประโยชน์ของคนชั้นล่างแทน แต่พวกนี้มุ่งแต่รับใช้เบื้องบนอย่างเดียว  

 

"มีคำขวัญหนึ่งที่หลายคนเคยท่องได้และหลายคนลืมมันไป คือ "กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน" ชาตินิยม เชื้อชาติ มันเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นปกครองสามารถรังแกคนงานกลุ่มหนึ่งได้ง่าย และ ใช้เงื่อนไขดังกล่าวทำลายมาตรฐานการจ้างงานที่มีคุณภาพในชาติลง เราต้องสนับสนุนให้คนชาติไหนก็ได้ที่ทำงานในประเทศไทยให้สามารถเข้าไปสมาชิกสหภาพแรงงานได้ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเราต้องเรียนรู้บทเรียนจากที่อื่นๆ ด้วย ปัจจุบันมีคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศเยอะแยะ มีชะตากรรมเหมือนกับคนงานพม่า ในประเทศที่มีขบวนการแรงงานเข้มแข็งเขาจะมีการรณรงค์ให้รับคนงานต่างชาติเป็นสมาชิกสหภาพ เช่น ที่อังกฤษ เกาหลีใต้"  

 

นุ่มนวลทิ้งทายไว้ว่าการสู้กับทุนข้ามชาติ สามารถสู้นอกกรอบชาตินิยมได้ โรงงานเดียวกันตั้งอยู่ในหลายประเทศ สหภาพแรงงานควรจะหยุดงานหนุนช่วยการต่อสู้ซึ่งกันและกัน   

 

การเรียนรู้พื้นฐานประชาธิปไตยจากสหภาพแรงงาน

ฉัตรชัย ไพยเสน กรรมการศูนย์กลางการศึกษาสหภาพแรงงาน, เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ในประเด็นการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ฉัตรชัยกล่าวว่าถ้าถามว่าสหภาพแรงงานคืออะไร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร ก็คงเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังคงอยากรู้ คงไม่มีใครที่จะปฎิเสธได้เลยว่าเราต้องเกี่ยวข้องกับกับการเมืองตั้งแต่เกิดจนตาย

 

สหภาพแรงงานคือองค์กรของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน อธิบายง่ายๆ ได้ว่าสหภาพแรงงานคือการรวมตัวของคนงาน รวมกันเป็นสังคมเพื่อดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย หมายความว่าสหภาพแรงงานก็คือพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างหนึ่งนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าการดำเนินการของสหภาพแรงงานจะมีการสมัครลงเลือกตั้ง มีการแถลงนโยบาย มีการเลือกตั้ง มีการลงมติหรือมีการประชุมเพื่อลงมติ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นคือพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย

 

ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะพบว่าการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานถูกแทรกแซงมาโดยตลอด โดยเฉพาะการแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกฎหมายด้านแรงงาน นั่นหมายความว่าองค์กรขึ้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยถูกแทรกแซงเพื่อไม่ให้สามารถดำเนินการทางประชาธิปไตยได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนการมุ่งทำลายล้างสหภาพแรงงานของนายจ้างนั้นบ่งบอกถึง การไม่ยอมรับในองค์กรขั้นพื้นฐานทางประชาธิปไตยของคนงาน หมายความว่านายจ้างไม่ยอมรับในระบอบประชาธิปไตย

การแทรกแซงและการมุ่งทำลายล้างสหภาพแรงงาน ล้วนเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานโดยตรง ผลที่เกิดขึ้นคือรากฐานหรือพื้นฐานทางประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้นไม่มีความเข้มแข็งเลย หมายความว่าความรู้ ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนพื้นฐานหรือขบวนการแรงงานนั้นถูกบิดเบือนไป เป็นผลทำให้การดำเนินการต่างๆที่เรียกว่าการดำเนินการทางประชาธิปไตยก็อาจจะไม่ใช่การดำเนินการทางประชาธิปไตยเลย

 

"เท่าที่จำได้นั้นประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เริ่มมีการเปิดพัฒนาประเทศในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่วันนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยล้าหลังประเทศญี่ปุ่นอยู่อย่างมาก เรายังคงวนเวียนอยู่กับประชาธิปไตยและการเมืองแบบไทยๆ ขณะที่ญี่ปุ่นไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมากที่เราสุญเสียโอกาสอย่างมากมายทั้งที่มีโอกาสอย่างมากมายที่จะพัฒนาประเทศให้ไปไกลกว่านี้"

 

โดยฉัตรชัยได้ให้ทัศนะว่าอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาขบวนการแรงงานหรือสหภาพแรงงานคือการศึกษา เราถูกปิดกั้นการให้การศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานมาโดยตลอด ทั้งที่ขบวนการแรงงานหรือองค์กรสหภาพแรงงานนั้นคือพื้นฐานการศึกษาที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และยังเป็นการศึกษาที่มีภาคปฏิบัติประกอบตลอดเวลา ที่จะสามารถทำให้สมาชิกของสหภาพแรงงานหรือประชาชนทั่วไปที่เป็นพ่อ-แม่-พี่น้องหรือญาติของสมาชิก ได้เข้าใจถึงพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย อันจะส่งผลทำให้พื้นฐานหรือรากฐานความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยมีความเข้มแข็ง

 

"ยกตัวอย่างเรื่องความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันคือตัวผู้นำของประเทศ ที่ต่างมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าใครสมควรเป็นนายยก ถ้ามองย้อนไปที่องค์กรสหภาพแรงงานปัจจุบันนี้ การเลือกประธานสหภาพแรงงานนั้น หลายๆองค์กรใช้วิธีลงสมัครรับเลือกตั้งโดยให้สมาชิกทั้งหมดเป็นผู้ลงคะแนนหรือพูดง่ายๆคือสมาชิกพื้นฐานทั้งหมดเป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกผู้นำสูงสุดขององค์กร"

 

ฉัตรชัยได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าถามว่า การสร้างการเมืองใหม่ ที่หลายๆคนพูดถึงมันคืออะไร ก็ยังคงคลุมเครือและไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ถ้าการสร้างการเมืองใหม่ที่พูดถึงนั้นหมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การเลือกผู้นำประเทศโดยให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ลงคะแนน ตรงนี้มันก็ยังคงมีความเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่ และสหภาพแรงงานหลายๆ แห่งก็ใช้วิธีนั้นแล้ว แต่ถ้าเป็นวิธีอื่นๆ ก็คงต้องมาดูว่ามันอยู่บนรากฐานความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ หรือไม่หรืออยู่บนพื้นฐานของอะไร? ที่สำคัญที่สุดคือสหภาพแรงงานและคนงาน ยังถูกละเมิดสิทธิอยู่ทุกวัน ใยจึงไม่มีการหยิบยกปัญหามาพูดคุยในเวทีของท่าน ใยจึงไม่มีการหยิบยื่นความช่วยเหลือมายังขบวนการแรงงานหรือสหภาพแรงงานหรือผู้นำแรงงานที่ถูกรังแกและละเมิดสิทธิบ้าง อุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นเคยคิดจะให้ความช่วยเหลือบ้างหรือเปล่า ปัญหาความไม่สงบของชายแดนภาคใต้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขอย่างไร

 

"ผู้ที่คิดตรงนี้และจะทำตรงนี้ ผู้นั้นจึงจะพอกล่าวได้ว่าท่านคือตัวแทนภาคแรงงานและผู้แทนภาคประชาชนอย่างแท้จริง" ฉัตรชัยกล่าว

 

วิบากกรรมแรงงานเหมาค่าแรง

บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ได้เขียนบทความ "ปัญหาการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง (Sub Contractor)" อธิบายว่า ปัจจุบันการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงกำลังแผ่ขยายไปทั่วเราจะเห็นได้ว่าในสถานประกอบการต่างๆ มีคนงานจากหลายบริษัททำงานร่วมกัน อยู่ในตำแหน่งหน้าที่แบบเดียวกัน แต่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่แตกต่างกัน โดยที่คนงานเหมาค่าแรงจะได้รับค่าแรง สวัสดิการ และสิทธิ์ประโยชน์ที่เลวกว่าลูกจ้างประจำของสถานประกอบการ และนายจ้างที่แท้จริงจะปฏิเสธความรับผิดชอบในการปฏิบัติการตามกกหมายคุ้มครองแรงงาน การจ้างงานแบบนี้ได้ทำลายเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถานประกอบการเดียวกันต้องมีสภาพการจ้างเดียว ทำลายหลักการของค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน รวมทั้งยังทำลายความมั่นคงในการทำงานและสิทธิแรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของพี่น้องกรรมกรทั่วโลก

 

บุญยืนอธิบายต่อไปว่าแม้ว่าระบบการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงจะขัดต่อหลักการต่างๆ มากมาย แต่การจ้างงานแบบนี้กลับขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนหลายสถานประกอบการมีลูกจ้างเหมาค่าแรงมากกว่าลูกจ้างประจำ นั่นเป็นเพราะว่าการจ้างงานเหมาค่าแรงทำให้นายจ้างลดต้นทุนการผลิตลงไปได้อย่างมาก และขณะเดียวกันยังทำให้คนงานรวมตัวกันยากอีกด้วย การจ้างงานแบบนี้จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่นายจ้างนำมาเพื่อลดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน สหภาพฯแรงงานหลายแห่งอ่อนแอลง เนื่องจากพนักงานเหมาค่าแรงไม่กล้าเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน เพราะถูกนายจ้างข่มขู่ กลัวถูก "เปลี่ยนตัว" ตกงาน จนกระทั่ง "ยอมจำนน" ยอมรับสภาพการถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ ขณะที่สหภาพฯแรงงานเองก็กลับเห็นว่าพนักงานเหมาค่าแรงกำลังมาแย่งงานพนักงานประจำและทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอ ความไม่เข้าใจกันและแบ่งแยกกันเองพวกเราผู้ใช้แรงงาน ทำให้อำนาจการต่อรองของคนงานลดน้อยลง พร้อมกับสภาพการจ้างที่เลวลงไปเรื่อยๆ

 

ทั้งนี้รัฐบาลทุกชุดมุ่งเน้นแต่เรื่องส่งเสริมการลงทุน ช่วยเหลือและให้สิทธิพิเศษด้านต่างๆ มากมายแก่นักธุรกิจ รวมทั้งพยามยามควบคุมค่าจ้างให้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้กรรมกรอย่างพวกเราต้องยากจนดักดาน กินแต่อาหารที่ราคาถูกเสียยิ่งกว่าอาหารสุนัขของนายจ้าง ต้องทนอาศัยอยู่ในห้องเช่าแคบๆ บ้างก็มีหนี้สินเรื้อรังกระทั่งทำงานจนตายก็ไม่มีปัญญาใช้หมด ชีวิตต้องคงวนเวียนซ้ำซากอยู่กับการขายแรงงาน จากโรงงานหนึ่งยังอีกโรงงานหนึ่งชั่วลูกชั่วหลาน

 

ในตอนท้ายของบทความบุญยืนกล่าวว่าในระบบทุนนิยมนั้น คนส่วนใหญ่อย่างพวกเรา ไม่ว่าจะเรียนสูงหรือเรียนต่ำ ต่างมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการขายแรงงานให้นายทุน ส่วนพวกนายทุนก็มีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยดอกผลที่งอกเงยมาจากแรงงานของพวกเรา นายทุนทั้งหลายคิดแต่ว่า จะทำอย่างไรให้การผลิตเพื่อสะสมความมั่งคั่งของตัวเองดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และทำอย่างไรจึงจะสูบเอาดอกผลจากแรงงานของกรรมกรให้ได้มากที่สุด ดังนั้นแทนที่นายทุนจะคิดค่าแรงให้เราโดยดูจากมูลค่าของผลผลิตหรือส่วนแบ่งกำไรที่เราสร้างขึ้น พวกเขากลับจ่ายค่าจ้างเพียงเพื่อให้พวกเรามีเรี่ยวแรงมาทำงานต่อในวันพรุ่งนี้ และมีแรงงผลิตลูกหลานออกมารับช่วงเป็นกรรมกรต่อจากเราในอนาคตเท่านั้น ซึ่งเป็นลักษณะการ "ขูดรีด" แรงงาน

เอกสารประกอบ

ปัญหาการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง (Sub Contractor)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท