Skip to main content
sharethis

 







หมายเหตุ - ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา แสดงทัศนะต่อสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน และข้อเสนอสำหรับคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่าย โดยหวังว่า "ถ้าพระสยามเทวาธิราชไม่จำวัดจนเพลินไป เราคงได้กลับไปเม้าท์เรื่องดารานักร้องกันเหมือนเดิม แทนที่จะต้องคอยมาตามข่าว ถกเถียงกันเอาเป็นเอาตาย อย่างช่วงนี้ สาธุ"!



คนไทยเรารู้จักโขนดี ทำไม พระราม พระลักษณ์ นางสีดา ถึงไม่ใส่หัวโขนล่ะครับ ผมพูดอย่างนี้คงจะมีคนเห็นว่าทำไมถึง บ้องตื้นขนาดนี้ ไม่เข้าใจเกม ไม่เข้าใจกลการเมืองหรอกหรือ ในทางการเมืองเขาไม่อาราธนาศีลข้อไหนทั้งสิ้น และธรรมะก็ออกมาจากปากคนไร้ธรรมะได้ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ดูพวกพันธมิตรที่ด่ารัฐบาลซิว่า จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่ตัวเองเสนอการเมืองใหม่ 30/70 หน้าตาเฉย


 



การที่ฝ่ายพันธมิตร ใช้คำหยาบคาย ยั่วยุ ปลุกปั่น ถือว่าเป็นความรุนแรงหรือไม่? ปกติมนุษย์จะไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ถ้าหากเราเชื่อในศีลธรรมเบื้องต้นของมนุษย์ทั่วๆ ไป แต่ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 ก.ย. มีคนถูกฆ่าตาย เราควรจะมาลองตีความรู้สึกของผู้กระทำ กลุ่มคนทั้ง 2 ฝ่ายนั้นไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ทำไมเขาจึงมาห้ำหั่นกัน


 



กรณีประเทศอังกฤษไม่มีการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาทางโทรทัศน์ มิฉะนั้น คนไทยคงจะได้เห็นความวุ่นวาย ด่าทอกันแรงๆ ภาพ "ผู้ทรงเกียรติ" จะผิดไปจากภาพ "ผู้ดีอังกฤษ" ที่คนไทยส่วนหนึ่งมีอยู่โดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าถึงอย่างนี้ก็ดีกว่าไปสร้างความวุ่นวายกันในถนน แน่นอน ที่การตบตี ด่าทอกันในรัฐสภา (หรือไม่ว่าที่ไหน) ก็เป็นความรุนแรง แต่ก็ยังไงก็ไม่ถึงกับเลือดตกยางออก หรือถึงขั้นเสียชีวิต เป็นการตีกันในระบบ ยังเป็นความรุนแรงที่น้อยกว่า และยังดีกว่าการนำปัญหามาแก้ข้างนอกรัฐสภา อย่างน้อยก็มีระบบกติกาให้เราปฏิบัติ แต่เมืองไทยมีวัฒนธรรมการเมืองที่จะแก้ปัญหาภายนอกระบบ


 



เราจะออกจากความขัดแย้งนี้อย่างไร ในเมื่อต่างฝ่ายต่างเสนอประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ถ้าเช่นนั้น เราน่าจะลองมาพิจารณาวิธีอื่นดู คือ อย่าเพิ่งพูดถึงว่า เราจะแก้อะไร แต่ขอให้มาพูดกันถึงว่า จะแก้อย่างไรกันก่อน หรือ มาตกลงถึงวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเป็นที่ตกลงกันได้ง่ายกว่า


 



ตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยๆ คือ การแบ่งขนมปังในค่ายกักกัน เราจะตกลงกันไม่ได้ จึงเสนอหลักเกณฑ์การแบ่งขึ้นมาก่อนว่า เช่น (ก) เป็นวิธีการแบ่งระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง (ข) แบ่งแล้วน่าจะได้เท่าๆ กัน (ค) มีพันธะยอมรับกฎเกณฑ์ที่ตกลงกันแล้วนั้น ฯลฯ กติกาที่ได้แบบหนึ่งก็คือ (๑) ให้คนหนึ่งตัด อีกคนเป็นคนเลือก และ (๒) ใครจะเป็นคนตัดก็ได้ จะเป็นคนเลือกก็ได้ นี่คือการมาวางเกณฑ์สำหรับการสร้างกฎเกณฑ์


 



ในด้านหนึ่งเหตุการณ์การเมืองช่วงนี้ทำให้เรามามองสังคมไทยด้วยสายตาใหม่ สังคมของเราเป็นอย่างไร และน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องความรู้สึก ก็คงคล้ายๆ กับคนทั่วๆ ไป ที่บางวันก็มีอารมณ์ บางวันก็เห็นว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่สังคมเป็นเช่นนี้ วิกฤติครั้งนี้ช่วยให้เราได้มาคิด มีหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ ผมอ่านมาหลายครั้งแล้ว มีบางตอน ผมก็อ่านผ่านๆ ไป หรืออ่านแล้วไม่เข้าหัว เพิ่งมาเข้าใจในช่วงเกิดวิกฤตินี้เอง ในอนาคต เมื่อเรามองย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ตอนนี้ เราคงเข้าใจมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ได้เปรียบเทียบกับความคิด ความรู้สึกของเราตอนนี้


ถ้าพระสยามเทวาธิราชไม่จำวัดจนเพลินไป เราคงได้กลับไปเม้าท์เรื่องดารานักร้องกันเหมือนเดิม แทนที่จะต้องคอยมาตามข่าว ถกเถียงกันเอาเป็นเอาตาย อย่างช่วงนี้ สาธุ


 


000


 


มองเรื่องขอให้อย่าใช้ความรุนแรงในสังคมไทยอย่างไร
ขอภาวนาให้เป็นเช่นนั้นทั้งในเรื่องเฉพาะหน้า และในระยะยาว เรื่องเฉพาะหน้าก็อย่างเช่นการไม่ยอมรับให้คุณสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี บรรดา ส.ส. สามารถจับกระแสของความรู้สึกของคนจำนวนมากได้ว่า ถ้าสมัครเป็นนายกฯ อีกจะทำให้ความร้อนทางการเมืองสูงขึ้น จึงเป็นการท้าทายเกินไป การตัดสินใจของกลุ่ม ส.ส. ดังกล่าวน่านับถือ ประเด็นนี้ก็พูดกันมามากแล้ว ที่น่าจะคิดกันยิ่งกว่า คือ ความรุนแรงในระยะยาว


ในระยะยาว มีข้อคิดต่อความรุนแรงว่า ใครๆ ก็ไม่ต้องการความรุนแรง แต่มีคำถามตามมา คือ ความรุนแรงคืออะไร? ขอพิจารณาใน 2 แง่มุม คือ (1) การใช้คำนี้เป็นหน้ากาก แต่จริงๆ หมายความอย่างอื่น (2) การใช้คำนี้อย่างอย่างแบบสุ่มสี่สุมห้า และแบบกำปั้นทุบดิน


ในแง่มุมแรก เช่นกรณีผู้บัญชาการทหารบกบอกว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ฟังดูก็ดี เมื่อก่อนผมคิดว่ามีเพียงพระกับนักวิชาการสันติวิธีเท่านั้นเสียอีกที่พูดถึงการไม่ใช้ความรุนแรง แต่เมื่อเป็นวาจาจากผู้มีความรุนแรงเป็นอาชีพ ก็ชวนให้สงสัยว่า จริงๆ แล้วหมายความว่าอะไร การกล่าวเช่นนั้นจะหมายความเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่น ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่รักษาวินัยทหาร จนกระทั่งถึง เป็นใจกับฝ่ายพันธมิตร


การสลายการยึดทำเนียบกับการใช้ความรุนแรง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ สามารถสลายการชุมนุมได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรง (ในความหมายของผบ.ทบ. เอง)


ในตอนแรก คือช่วงหลังวันที่ 2 ก.ย. มีการบอกว่าห้ามคนข้างนอกเข้าไป คนข้างในออกมาได้แต่ห้ามกลับเข้าไปอีก ถ้าทำเช่นนี้ได้จริง การชุมนุมยึดทำเนียบก็คงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ไม่นานวัน เหมือนเมืองที่ถูกล้อม เพราะฉะนั้นการยึดทำเนียบก็จะจบไปได้โดยที่ไม่ต้องบาดเจ็บเสียเลือดเนื้อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การชุมนุมที่ทำเนียบเหมือนฉายหนังกลางแปลง ใครเข้าก็ได้ ใครออกก็ได้ แม้กระทั่งพวกแกนนำที่โดนหมายศาล


ยิ่งวันที่ฝนตกยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ได้มีการจัดการอะไรเลย เมื่อสนามเปียกน้ำขัง พวกเบี้ยพันธมิตรก็ออกไปหลบฝน แกนนำบางคนก็กลับไปนอนบ้านตัวเอง หรือไปประชุมข้างนอก ขอพูดซ้ำว่า ทางทหารสามารถจัดการสลายม็อบได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรงในความหมายกว้างอย่างที่เขาใช้ได้สบายๆ เขาสามารถจะจับกุมผู้ที่โดนหมายศาลโดยไม่เลือดตกยางออกได้ นี่คือ การใช้ศัพท์ "ไม่ใช้ความรุนแรง" เป็นกำบังอยู่ข้างหน้า ข้างหลังที่แท้จริงหมายความอีกอย่างหนึ่ง ลองเปรียบเทียบกับกรณีเขาพระวิหาร ทหารไทยมีปฏิกิริยาอย่างไร ผมเห็นภาพทางโทรทัศน์ที่เอารถขนอาวุธราวกับว่าจะยกทัพจับศึกกันใหญ่โต ไปขู่เขมร ไปทำกร่างหรืออะไรหรือครับ หรือว่าเราจะปฏิบัติต่อคนไทยด้วยกันอย่างละมุนละม่อม ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นจริง แต่เราลืมเรื่อง "6 ตุลา" ไปแล้วหรือครับ


คนไทยเรารู้จักโขนดี ทำไม พระราม พระลักษณ์ นางสีดา ถึงไม่ใส่หัวโขนล่ะครับ ผมพูดอย่างนี้คงจะมีคนเห็นว่าทำไมถึง บ้องตื้นขนาดนี้ ไม่เข้าใจเกม ไม่เข้าใจกลการเมืองหรอกหรือ ในทางการเมืองเขาไม่อาราธนาศีลข้อไหนทั้งสิ้น และธรรมะก็ออกมาจากปากคนไร้ธรรมะได้ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ดูพวกพันธมิตรที่ด่ารัฐบาลซิว่า จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่ตัวเองเสนอการเมืองใหม่ 30/70 หน้าตาเฉย จำลองก็เคยคุยว่า ตัวเองถือศีล 8 แต่ผมก็เข้าใจเหมือนกับคนอื่นๆ เหมือนกันว่า ถ้าเราไปเชื่อว่าว่าใครเขาพูดอะไร ก็หมายความตามนั้น เราจะกินข้าวทำไม ทำไมถึงไม่ไปกินหญ้าแทน แต่ที่ท้วงขึ้นมา ก็เพราะอยากจะสื่อไปถึงคนพูดที่มองเราราวกับว่า เรากินหญ้าเป็นอาหาร


แล้วมองการไม่ใช้ความรุนแรงจากอีกแง่มุมหนึ่งอย่างไร
เป็นการใช้ศัพท์
"ไม่ใช้ความรุนแรง" แบบสุ่มสี่สุ่มห้า และแบบกำปั้นทุบดิน จอมพลถนอมเคยให้โอวาทว่า "จงทำดี จงทำดี จงทำดี" เน้นตั้ง 3 ครั้ง จะมีใครเถียงได้ไหมครับ เอาของตายมาพูด พูดอีกก็ถูกอีก โอวาทส่วนใหญ่ก็เข้าลักษณะนี้ ในช่วงความขัดแย้งนี้ "การไม่ใช้ความรุนแรง" ยกสถานะเป็นโอวาทไปแล้ว มีแถลงการณ์กันยกใหญ่


การที่ฝ่ายพันธมิตร ใช้คำหยาบคาย ยั่วยุ ปลุกปั่น ถือว่าเป็นความรุนแรงหรือไม่? ปกติมนุษย์จะไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ถ้าหากเราเชื่อในศีลธรรมเบื้องต้นของมนุษย์ทั่วๆ ไป แต่ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 ก.ย. มีคนถูกฆ่าตาย เราควรจะมาลองตีความรู้สึกของผู้กระทำ กลุ่มคนทั้ง 2 ฝ่ายนั้นไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ทำไมเขาจึงมาห้ำหั่นกัน


การที่บางกลุ่มเพิ่งจะมาตกใจกับความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นเท่านั้น แสดงถึงว่าเขาให้ความหมายของความรุนแรงอย่างแคบ ก่อนที่เกิดความรุนแรงทางกายภาพ มันมีบรรยากาศที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพมาก่อน เช่น การใช้วาจา อารมณ์ ฯลฯ ซึ่งแม้จะไม่ค่อยได้คำนึงถึงกันเท่าไหร่ แต่ก็เป็นการปูทางให้นำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นฆ่ากันได้ในภายหลัง การติดอาวุธไม่ใช่จำกัดอยู่เพียง มีด ไม้ ปืน แต่อารมณ์และความคิดก็เป็นอาวุธ ซึ่งทำให้มีด ไม้ ปืนซึ่งเป็นวัตถุไม่มีชีวิตเคลื่อนไหวได้ อาวุธที่อยู่ในใจและอยู่ในหัวจึงสำคัญกว่าอาวุธทางวัตถุ ซึ่งถ้าจะว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว วัตถุไม่ใช่อาวุธในตัวของมันเอง


ต้องการพูดอย่างนี้กับผู้นำใช่หรือไม่
ความจริงอยากจะสื่อไปถึงคนทั่วๆ ไปมากกว่า พวกแกนนำต่างมุ่งให้ชนะ เขาต้องใช้อาวุธ เพราะอาวุธเป็นการทวีกำลังของเขา ลองเปรียบเทียบคนใจเย็นๆ 5,000 คน กับคนอารมณ์พลุ่งพล่านแบบตายเป็นตาย 1,000 คน กลุ่มไหนจะน่ากลัวกว่ากัน ยิ่งในกลุ่มที่เต็มไปด้วยอารมณ์เดือดพล่าน ซ้ำมีอาวุธทางกายภาพอยู่ในมือด้วย ก็ยิ่งร้ายเข้าไปใหญ่


จึงอยากจะสื่อไปในวงกว้างๆ ว่า พวก "พ่อแม่พี่น้อง" จะยอมให้พวกแกนนำมาปลุกอารมณ์เราให้กระหายเลือดอย่างนั้นหรือ ผมก็มีเพื่อนที่ไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรเป็นนิจศีล บางคนเคยเป็นนักเรียนตัวอย่าง และปัจจุบันก็เป็นคนมีศีลธรรมจรรยาน่ายกย่องแก่ผู้สมาคมด้วย ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่นี้มีลักษณะที่ศัตรูมิได้เป็นบุคคล แต่เป็นนามธรรม คือ ติดป้ายว่าเป็น "พวกล้มล้างสถาบัน" "พวกทุนสามานย์" หรือในฝ่ายตรงกันข้ามที่เรียกพวกพันธมิตรว่า "พวกแก๊งค์สีเหลือง" "พวกทำลายประชาธิปไตย" ทำให้คุณสมบัติความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนลบหายไป คนจะฆ่ากันได้ เพราะเขาเป็น "ไอ้สมุนคนขายชาติ" หรือตรงกันข้าม เป็น "ไอ้พวกเดนศักดินา" สถานการณ์และความคิดอย่างนี้น่าวิตก


ขอให้ช่วยขยายความ
ถ้าลองมองย้อนกลับไป ในสมัยพฤษภาทมิฬ เมื่อตอนที่ฝ่าย พล.อ.สุจินดา คราประยูรเริ่มยิงปืน ความรู้สึกผมในตอนนั้นคิดว่า สุจินดาอยากเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ ยิ่งกว่านายกฯ ก็ยอมให้เป็น ขออย่ายิง อย่าฆ่าคน แม้ว่าการยิงดังกล่าวในผลสุดท้ายก็นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของสุจินดาเอง แต่คนที่ตายแล้วมาประกาศชัยชนะไม่ได้ คนที่ตายไม่ใช่แกนนำ ใครจะเป็นคนมาบอกได้ว่า ประชาธิปไตยต้องแลกมาด้วยชีวิต คำถามคือชีวิตของใคร ไม่ควรลงทุนสูงขนาดนั้นเพื่อสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย มันคุ้มกันหรือ ไม่มีทางอื่นๆ แล้วหรือ เมื่อมันไม่คุ้มค่ากัน ขอใครไม่ได้ ก็ขอกับตัวเองและพรรคพวกเพื่อนฝูงว่า อย่าให้ถึงกับมีการปะทะกัน ขอชีวิตคุณณรงค์ศักดิ์ กรอบไทสง เตือนสติเรา


ฝ่ายที่กระทำกับนักศึกษาตอน 6 ตุลา ตอนหลังก็อยากที่จะลืม เขาได้อะไรจากการสูญเสีย ถึงแม้เขาไม่ตายเองก็ยังต้องเสียใจ ไม่มีใครอยากแสดงตัวหรอกว่าเป็นคนทำ ความตายเป็นราคาที่สูงเกินไปที่จะจ่าย


ถ้าเช่นนั้น มีปัญหาอะไรกับการเสนอ "ไม่ใช้ความรุนแรง"
ที่พูดเช่นนี้ย่อมหมายความอยู่ในตัวแล้วว่า ไม่ได้เห็นไปในทางตรงกันข้ามกับแนวคิด "ไม่ใช้ความรุนแรง" แต่ปัญหาอยู่ที่ เราใช้ศัพท์นี้อย่าง "ขอไปที" หรือเปล่า


ถ้าจะพูดถึง "ไม่ใช้ความรุนแรง" ก็ต้องใช้ในความหมายกว้าง และควรต้องนำมาเปรียบเทียบกับคุณค่าอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นปรมัตถ์แล้ว เช่นการจับคนไปติดคุก หรือแม้กระทั่งโดนหมายศาล ก็เป็นความรุนแรง - ถ้าผมโดนหมายศาล ผมก็คงกินไม่ได้ นอนไม่หลับ - ลองเปรียบเทียบกรณีที่มีคนขัดขวางไม่ให้คุณไปทำงาน หรือไม่ให้สถานที่คุณทำมาหากินตามปกติวิสัย จะเรียกได้ไหมว่าเป็นการก่อความรุนแรงชนิดหนึ่ง แต่คำถามที่ตามมาก็คือ เราไม่ควรจะพยายามจับพวก 9 แกนนำไปติดคุกตามหมายศาลหรือครับ หมอฉีดยาเด็กก็เป็นความรุนแรง ส่วนจะมีเจตนาดีหรือไม่ดี ก็ไม่ลบล้างความรุนแรงนั้น เช่นครูตีเด็กนักเรียน ก็ด้วยเหตุผลว่าเพราะด้วยความปรารถนาดี ทั้งต่อตัวเด็กเองและต่อสังคม สามีซึ่งไปตามภรรยาที่วงไพ่ แล้วตบตีเอาก็ใช้เหตุผลนี้ได้ พวกทำรัฐประหารก็ใช้เหตุผลนี้เหมือนกัน


ครั้งที่ขับไล่ทักษิณก่อน 19 ก.ย. เราได้ยินคำว่า "อารยะขัดขืน" เราก็ตั้งคำถามทำนองเดียวกันว่า การขัดขืน (ไม่ว่าจะอารยะ หรืออนารยะ) ถือเป็นความรุนแรงด้วยหรือไม่


การจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ จึงต้องพิจารณาประกอบกับคุณค่าอื่นๆ และในบางกรณีก็มีคุณค่าบางอย่างที่อยู่เหนือการไม่ใช้ความรุนแรง เช่น การอดน้ำ อดอาหาร ระหว่างช่วงถือศีลอด หรือของพระภิกษุหลังเพล การเตรียมกำลังของขบวนการเสรีไทยต่อสู้การยึดครองของญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่ง การขับรถแท็กซี่เข้าชนรถถังเมื่อมีการก่อรัฐประหาร ฯลฯ


ยิ่งไปกว่านั้น ความรุนแรงก็มิได้มีความหมายเดียว ผมขอยืมตัวอย่างอาจารย์มาร์ค ... ตามไท นะครับ ไม่ใช่มาร์ค ม. 7 ที่ถามว่า กรณีที่มีคนเปลือยกายประท้วง จะถือว่าเป็นความรุนแรงหรือไม่ ต่างคนก็คงจะต่างความเห็น อย่างกรณี การเมืองใหม่ 30/70 นี่ สำหรับผมฟังแล้ว ก็เกิดอาการคลื่นเหียน เวียนศีรษะ


ผมจึงเห็นว่า การไม่ใช้ความรุนแรง มิได้มีความหมายตายตัวและเลอเลิศจนไม่มีอะไรมาถ่วงได้ พูดอย่างนี้ กรุณาอย่าตีความไปว่าผมนิยมความรุนแรงนะครับ ผมเพียงอยากเข้าใจความหมายของคำว่า "ความรุนแรง" ทำนองเดียวกับที่เราตั้งคำถามว่า ความดีคืออะไร ความงามคืออะไร หรือประชาธิปไตยคืออะไร


เห็นอย่างไรต่อการประท้วง ยึดทำเนียบ
ข่าวเหตุการณ์ในรัฐสภาของเกาหลีหรือไต้หวันที่ถ่ายทอดมาทางโทรทัศน์ เราเห็นการใช้น้ำสาดหน้าฝ่ายตรงข้าม มีการชกต่อยกัน ถึงขั้นตะลุมบอนกันก็มี คนไทยดูก็บอกว่าช่างป่าเถื่อนแท้ๆ ส่วนผมมองอีกมุมหนึ่ง แต่ต้องขอออกตัวก่อนว่า แน่นอน ผมก็ไม่ได้เห็นว่าเราควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง กระนั้นก็เห็นว่าในกรณีไต้หวันหรือเกาหลีนั้น แสดงว่าไม่มีหนทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันได้ ประตูรัฐประหารปิดตาย เป็นไปไม่ได้ เรื่องจะให้ผู้มีบารมีมาให้โอวาทก็ไม่มี ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีอื่นๆ ได้ ต้องแก้ไขกันในรัฐสภา ตามกติกาที่มีอยู่ ในประเทศญี่ปุ่นประชุมกันมาราธอนก็มี พูดกันทั้งคืนก็ยังตกลงกันไม่ได้ แต่เขาก็ไม่ใช้วิธีอื่นหรือสถานที่อื่น ต้องกระทำกันเฉพาะที่นี่ ในสภา


กรณีประเทศอังกฤษไม่มีการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาทางโทรทัศน์ มิฉะนั้น คนไทยคงจะได้เห็นความวุ่นวาย ด่าทอกันแรงๆ ภาพ "ผู้ทรงเกียรติ" จะผิดไปจากภาพ "ผู้ดีอังกฤษ" ที่คนไทยส่วนหนึ่งมีอยู่โดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าถึงอย่างนี้ก็ดีกว่าไปสร้างความวุ่นวายกันในถนน แน่นอน ที่การตบตี ด่าทอกันในรัฐสภา หรือไม่ว่าที่ไหน ก็เป็นความรุนแรง แต่ยังไงก็ไม่ถึงกับเลือดตกยางออก หรือถึงขั้นเสียชีวิต เป็นการตีกันในระบบ ยังเป็นความรุนแรงที่น้อยกว่า และยังดีกว่าการนำปัญหามาแก้ข้างนอกรัฐสภา อย่างน้อยก็มีระบบกติกาให้เราปฏิบัติ แต่เมืองไทยมีวัฒนธรรมการเมืองที่จะแก้ปัญหาภายนอกระบบ


ทั้งนี้ มิได้หมายความเลยว่า การเมืองหรือการต่อสู้นอกรัฐสภาจะห้ามขาด มิฉะนั้น การเมืองจะจำกัดอยู่เฉพาะนักการเมืองและพรรคการเมือง ซึ่งพวกนี้สมคบคิดกันเหยียบย่ำ เอาเปรียบประชาชนได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขซึ่งเราต้องมาตกลงร่วมกัน ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เช่น กำหนดวิธีการต่อสู้ เป็นต้นว่าห้ามใช้อาวุธเด็ดขาด ห้ามทำลายทรัพย์สินของผู้ใดเสียหาย ห้ามทำร้ายร่างกาย ประเภท "ต่อสู้ทุกรูปแบบ" นั้นไม่เอาเด็ดขาด "เลือดต้องล้างด้วยเลือด" อย่างที่เคยมีการพูดกันในสมัยหนึ่ง ไม่เอาครับ เลือดต้องล้างด้วยแอลกอฮอล์


ส่วนทางด้านหลักการก็เช่น ถ้ารัฐสภาละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือรัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินนโยบายที่กระทบชีวิตทรัพย์สินผู้คนในวงกว้าง หรือทั้งสังคม เช่นจะประกาศสงคราม เช่นจะส่งทหารไปรบในประเทศอื่น หรือการกระทำที่ขัดกับมโนธรรมสำนึกของสังคม รายละเอียดคงมีมาก สรุปเพียงสั้นๆ ว่า ทำนองเดียวกับการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานย่อมมีได้ แต่ต้องมีขั้นตอน อย่างใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ประเด็นก็คือ เราจำเป็นต้องมาตกลงเห็นพ้องกันถึงเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ มิฉะนั้น จะเข้ารอยฟุตบอลแพ้ คนไม่แพ้ บางพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้ง แล้วยุให้ล้มรัฐบาล ก็เข้ากรณีเป็น "อันธพาลการเมือง" แต่คำนี้ยังไม่มีอยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นที่สันนิษฐานได้ว่า อาจจะไม่มีอยู่ในสังคมไทย


มีข้อเสนออะไรหรือไม่
กล่าวกันว่า คนในสังคมแบ่งข้างกันชัดเจน ถ้าหมายถึงว่า มิใช่เพียงแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างพันธมิตรกับข้างปฏิเสธพันธมิตรเท่านั้น ผมก็เห็นคล้องด้วย บางคนถึงกับว่า จะเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งถ้าจะหมายถึงว่า ความขัดแย้งนั้นรุนแรง บาดลึกในหน่วยงาน ในบรรดาเพื่อนฝูง ในครอบครัว ฯลฯ ผมก็เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เกิดสภาพการณ์ที่เรียกว่า ไม่มีใครฟังใคร การสนทนาไกล่เกลี่ยจึงเป็นไปไม่ได้ คนกลางก็ไม่มี สภาพเช่นนี้ดูเสมือนเป็นทางตัน ไม่ว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด เช่นจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือแม้กระทั่งล้มรัฐบาลด้วยวิธีรัฐประหาร ก็จะไม่สามารถยุติความขัดแย้งนี้ได้ ผมก็รู้สึกร่วมด้วยว่าคงเป็นเช่นนี้


ข้อเสนอ: วิธีการเพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างกฎ


ฝ่ายหลักที่ขัดแย้งกันทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ว่ากติกาซึ่งเน้นที่รัฐธรรมนูญนั้นไม่ยุติธรรม และก็อยากจะแก้ หรือถึงขั้นล้มรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ การที่ฝ่ายพันธมิตรห้ามรัฐบาลไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ แท้จริงแล้วไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรมีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ให้แก้ตามที่รัฐบาลต้องการ ถ้าจะแก้ตามที่พันธมิตรต้องการ เช่นเป็น "การเมืองใหม่" พันธมิตรก็คงปิติปราโมทย์เป็นที่ยิ่ง


เราจะออกจากความขัดแย้งนี้อย่างไร ในเมื่อต่างฝ่ายต่างเสนอประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ถ้าเช่นนั้น เราน่าจะลองมาพิจารณาวิธีอื่นดู คือ อย่าเพิ่งพูดถึงว่า เราจะแก้อะไร แต่ขอให้มาพูดกันถึงว่า จะแก้อย่างไรกันก่อน หรือ มาตกลงถึงวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเป็นที่ตกลงกันได้ง่ายกว่า


กล่าวคือ เราจะยังไม่พูดถึงว่า จะเป็นการเมืองใหม่ 30:70 หรืออื่นๆ หรือไม่ เราจะยังไม่พูดว่าให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 คืนมา หรือแม้กระทั่งว่า เราจะแก้อะไรในรัฐธรรมนูญปี 2550


แต่ขอให้มากำหนดข้อตกลงกันถึงกฎเกณฑ์ที่จะใช้ในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขปรับปรุง วิธีการนี้มีหลายวิธี เช่น แบบ ส.ส.ร. เดิม แบบสภาสนามม้า หรืออื่นๆ บางวิธีก็ยอมรับกันไม่ได้อยู่แล้ว เช่น รัฐประหาร หรือ พระราชทานคณะหนึ่งขึ้นมา แต่ก็น่าจะมีวิธีการสักวิธีการหนึ่งซึ่งต่างยอมรับกันได้ อันเป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องหา ต้องคิดกันต่อไป ไม่ใช่ไม่มีวิธีใดๆ เลย เราคงไม่สิ้นปัญญากันขนาดนั้น เพราะถ้าเราสิ้นปัญญากันแล้ว ก็คงเหลือทางเดียวกันแล้ว คือ ทำลายอีกฝ่ายหนึ่งให้หมดเสียงลงไป


จึงขอสรุปเป็นข้อเสนอว่า เนื้อหารายละเอียดในรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรนั้น เอาเก็บไว้ในลิ้นชักก่อน ขั้นตอนที่เราจะเริ่มต้นกันได้ คือ การกำหนดกติกาที่เราจะไปสร้างกติกา หรือ กฎเกณฑ์ของการทำข้อตกลง ("The Rule to make the Rule")


ตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยๆ คือ การแบ่งขนมปังในค่ายกักกัน เราจะตกลงกันไม่ได้ จึงเสนอหลักเกณฑ์การแบ่งขึ้นมาก่อนว่า เช่น (ก) เป็นวิธีการแบ่งระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง (ข) แบ่งแล้วน่าจะได้เท่าๆ กัน (ค) มีพันธะยอมรับกฎเกณฑ์ที่ตกลงกันแล้วนั้น ฯลฯ กติกาที่ได้แบบหนึ่งก็คือ (1) ให้คนหนึ่งตัด อีกคนเป็นคนเลือก และ (1) ใครจะเป็นคนตัดก็ได้ จะเป็นคนเลือกก็ได้ นี่คือการมาวางเกณฑ์สำหรับการสร้างกฎเกณฑ์


สถานการณ์การเมืองตอนนี้เป็นเรื่องชวนให้กลุ้มใจหรือไม่
ในด้านหนึ่งเหตุการณ์การเมืองช่วงนี้ทำให้เรามามองสังคมไทยด้วยสายตาใหม่ สังคมของเราเป็นอย่างไร และน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องความรู้สึก ก็คงคล้ายๆ กับคนทั่วๆ ไป ที่บางวันก็มีอารมณ์ บางวันก็เห็นว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่สังคมเป็นเช่นนี้ วิกฤติครั้งนี้ช่วยให้เราได้มาคิด มีหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ ผมอ่านมาหลายครั้งแล้ว มีบางตอน ผมก็อ่านผ่านๆ ไป หรืออ่านแล้วไม่เข้าหัว เพิ่งมาเข้าใจในช่วงเกิดวิกฤตินี้เอง ในอนาคต เมื่อเรามองย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ตอนนี้ เราคงเข้าใจมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ได้เปรียบเทียบกับความคิด ความรู้สึกของเราตอนนี้


ถ้าพระสยามเทวาธิราชไม่จำวัดจนเพลินไป เราคงได้กลับไปเม้าท์เรื่องดารานักร้องกันเหมือนเดิม แทนที่จะต้องคอยมาตามข่าว ถกเถียงกันเอาเป็นเอาตาย อย่างช่วงนี้ สาธุ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net