Skip to main content
sharethis



การอภิปราย "การเมืองสยามประเทศ (ไทย)-หลังสมัคร III : การเมืองไร้ระเบียบใหม่ และ ประชาธิปไตย 70 = 30 ได้ด้วยหรือ"



จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และเครือข่ายสันติประชาธรรม

ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


วันที่ 19 กันยายน 2551


 


 


ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


จะพูดว่าด้วยเรื่องขบวนการประชาชนหลังขบวนการพันธมิตรฯ มองหลังสมัครไม่พอ ต้องมองหลังพันธมิตรฯด้วย เพราะมันเป็นเช่นนี้โดยตลอดไม่ได้ คาดว่าจะจบในเร็วๆ นี้ ประเด็นคือจะจบอย่างไรที่ขบวนการประชาชนไม่พังพาบไปพร้อมพันธมิตรฯ จบอย่างไรเมื่อพันธมิตรฯลงแล้ว อำนาจครอบงำไม่ว่ารัฐ หรืออื่นๆ จะไม่นำข้ออ้างความผิดพลาดของพันธมิตรฯ มาเป็นการปราบปรามการชุมนุม และจะจบอย่างไรจึงไม่ทำลายขบวนการประชาชนหลังจากนั้น


 


น่าสังเกตว่า พันธมิตรฯ ถูกโจมตีมานานแล้ว แต่ 2-3 วันที่ผ่านมา สื่อหลักที่เคยปกป้องและเชียร์ ก็เริ่มหันมาโจมตีพันธมิตรฯ แต่ที่น่าทุเรศคือการโจมตีแบบเสียๆ หายๆ  เรื่องบัดสี ความรุนแรง ฯลฯ โดยไม่โจมตีในหลักการ ทั้งที่นักวิชาการโจมตีในหลักการมานานกว่า 2 ปีแล้ว


 


อยากเรียกร้องให้ผู้ร่วมขบวนการพันธมิตรฯ เลิกสนับสนุนผู้นำพันธมิตรฯ แต่อยากให้เคลื่อนไหวต่อไป เป็นกบฏที่มีพลังสร้างสรรค์ประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ทำลายประชาธิปไตย


 


ขบวนการพันธมิตรฯ นั้นล้าหลัง ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายซับซ้อนของสังคมปัจจุบัน จึงไม่สามารถเป็นพลังต่อต้านอำนาจต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง น่าเสียดายนักวิชาการก็มักคิดอยู่ในกรอบต่อต้านอำนาจแบบเก่าเดียวกับพันธมิตรฯ ดังนั้น ถ้าพันธมิตรฯ จะอยู่ต่อไปต้องปรับตัว


 


ขบวนการพันธมิตรฯ เป็น social movement อย่างหนึ่ง บางคนว่าใหม่ ซึ่งก็ใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับระบบตัวแทน รัฐสภา ถือเป็นประชาธิปไตยทางตรง แต่ขบวนการการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ไม่จำเป็นต้องยึดอำนาจรัฐ ขบวนการที่ยึดอำนาจรัฐนั้นเป็นแบบเก่า เช่น ขบวนการคอมมิวนิสต์ ทำแล้วตัวเองกลายเป็นรัฐ หมดพลังก้าวหน้า และนำไปสู่การกดทับสิทธิของคนอื่น หรือทำลายแม้แต่พวกเดียวกัน


 


ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ต้องไม่ไปสู่ทิศทางทำลายประชาธิปไตยและสร้างอำนาจครอบงำที่เลวร้ายยิ่งกว่าระบบเลือกตั้ง การต้อนรับรัฐประหาร และนำไปสู่อภิชนาธิปไตย ไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่แน่นอน แม้แต่คิดเรื่องการเป็นตัวแทนที่เสนอตัวแทนสายอาชีพก็ยังตามไม่ทันโลก พันธมิตรฯจึงเป็นการเมืองแบบเก่า เคลื่อนไหวทางสังคมแบบเก่า


 


ประเด็นที่สอง นักวิชาการที่สนับสนุนพันธมิตรฯ เป็นนักวิชาการที่สนใจแต่การเมืองแบบเก่า มองการเมือง อยู่ในคู่ขัดแย้งรัฐกับประชาชน ทั้งที่ความเป็นการเมืองในปัจจุบันมีปริมณฑลที่กว้างกว่านั้นแล้ว เขามักมองว่าการเลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เป็นการเมืองภาคประชาชน เป็นการแสดงพลังของประชาชน ร้ายกว่านั้น หลายคนเอาพันธมิตรฯเอาไปเปรียบเทียบกับปี 2516 หรือ 2535 ซึ่งเป็นคนละเรื่อง บางคนอธิบายว่าเป็นการเมืองของชนชั้น ซึ่งน่าจะใช้กรอบนั้นไม่ได้แล้ว ที่ตลกคือ เมื่อลากนักศึกษาออกมาได้ก็บอกว่า นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ นักศึกษาไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง และในภาพาการเมืองแบบเก่า ขบวนการนักศึกษาก็ตายตั้งแต่ก่อนพฤษภาคม 2535 แล้ว อีกทั้งนักศึกษาได้หันหลังให้การเมืองแบบเก่าไปนานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทิ้งการเมือง เพราะพวกเขาเห็นว่าการเมืองมีมากกว่ารัฐกับประชาชน ที่นักวิชาการเก่าๆ มอง


 


การเมืองของการต่อต้านอำนาจมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐกับประชาชนเท่านั้น เพราะรัฐไม่ได้เป็นอำนาจครอบงำเดียวที่มีพลัง และตอนนี้รัฐอ่อนกำลังลงด้วยซ้ำ นอกจากนี้การต่อต้านโลกาภิวัตน์ก็ไม่จำเป็นต้องมองจากชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น คู่ตรงข้ามแบบนี้ไม่เพียงพอ ถ้ามองไม่พ้นพวกนี้จะทำให้มองไม่เห็นอำนาจครอบงำอีกหลายด้าน และไม่ได้ดูลักษณะเชิงคุณภาพในการต่อต้านอำนาจครอบงำ ซึ่งมีสีสันแตกต่างหลากหลาย


 


ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นการต่อต้านอำนาจอย่างหนึ่งในหลายๆ แบบ เป็นรูปแบบการต่อต้านที่นักวิชาการสนใจที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่ามีพลังมากที่สุด สำคัญที่สุด มันยังมีอีกหลายแบบที่มีพลัง ในแง่ลักษณะเชิงคุณภาพของการต่อต้านอำนาจครอบงำ ไม่ใช่เราจะทึกทักว่าการออกมาต่อต้านรัฐจะดีทั้งหมด ต้องดูคุณภาพการต่อต้านด้วยว่า ท้ายทายระบบเก่าหรือ รื้อฟื้นระบบเก่า ที่ผ่านมายังมองไม่ออกว่าการเปิดประเด็นเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร การปิดประเทศ เป็นการเมืองใหม่ตรงไหน


 


การต่อต้านอำนาจครอบงำถูกมองว่าเป็นการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง แต่บางทีไม่ใช่ บางครั้งเป็นพลังต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เป็นพลังอนุรักษ์นิยม ไม่ใช่พลังก้าวหน้า นักวิชาการใหญ่หลายคนหลงมองว่า พันธมิตรฯ เป็นขบวนการคล้ายกับสมัย 14 ตุลา จึงสนับสนุนไปด้วย แต่รูปแบบการต่อต้านของพันธมิตรฯ เป็นการต่อต้านที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์


 


ยังมีการต่อต้านแบบอื่นที่ทรงพลัง เช่น การใช้สัญลักษณ์ การเขียน การเล่นดนตรี บางคนบอกว่าบางทีความเงียบก็เป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลังได้ หรือการเล่นเน็ตก็ใช่ การเล่นเน็ตของเด็กอาจนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่โลก แต่เป็นสิ่งที่ซึมลึกและยาวนานมากกว่าการเดินขบวน บางทีการเดินห้างสรรพสินค้ายังต่อต้านอำนาจครอบงำการเมืองได้ด้วย บางคนว่ามันไม่มีพลังเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ขอยืนยันว่า มันเป็นการต่อต้านอันยาวนาน เป็นสิ่งที่ กบฏยุคโพสต์โมเดิร์นทำ แต่ไม่เป็นที่สนใจของนักวิชาการที่เคยชินแต่การเมืองแบบเก่า นักวิชาการเหล่านี้ใจร้อนอยากเห็นสังคมในอุดมคติก่อนตาย เพราะส่วนใหญ่แก่กันหมดแล้ว พวกเขาเองก็ตกเป็นทาสเงินด้วยเพราะเป็นประธานบอร์ดหลายแห่ง ถ้าออกมาปฏิเสธไม่รับเงิน ก็จะนับถือนักวิชาการและราษฎรอาวุโสทั้งหลาย


 


ประเด็นต่อมา พันธมิตรฯ ต้องแปลงพลังต่อต้านจากการต่อต้านที่ทำลายล้างสู่การต่อต้านที่สร้างสรรค์ ในเมื่องกลุ่มที่ร่วมกับพันธมิตรฯมีหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ ทำไมจึงไปขึ้นอยู่กับแกนนำไม่กี่คน และทั้งที่ต่อต้านระบบตัวแทนทำไมจึงยังย่ำอยู่กับตัวแทน


 


ขบวนการสังคม ขบวนการต่อสู้ต่างๆ ต้องการเวลาเปลี่ยนแปลงที่ยาวนาน และตนเองก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาความคิด ขบวนการเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ล้วนพัฒนามาจาก civil rights movement และตอนหลังพัฒนากลายเป็นทฤษฎีทางสังคมที่เรานั่งเรียนกันอยู่ ซึ่งใช้เวลา 30-40 ปี หรือเป็นร้อยปี ต้องค่อยๆ ผลักดันให้มวลชนเรียนรู้ จนเป็นการปฏิบัติ คำถามคือขบวนการของพันธมิตรฯ ทำแต่การทหาร แต่อ่อนการเมือง และวิชาการหรือเปล่า


 


การต่อสู้ของพันธมิตรฯ เป็นการร่วมมือกันอย่างหลวมๆ เมื่อผู้ร่วมขบวนการค้นพบว่าผู้นำขบวนการพาไปสู่จุดที่หลายคนไม่เห็นด้วย ทำไมไม่แยกตัวออกมา หรือไม่ก็เลิกหนุนเสียที โดยเฉพาะในส่วนนักวิชาการ เพราะตอนนี้ขบวนการนี้กำลังทำลายทั้งตัวเอง รัฐ และระบอบประชาธิปไตย


 


ขอเรียกร้องต่อกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ขอท้าเลยว่า ถ้า ถ้าคุณปฏิเสธระบบการเมืองตัวแทน รัฐสภา จบเรื่องนี้แล้วคุณอย่าไปเป็นนักการเมือง อย่าไปลงเลือกตั้ง คุณศรัณยู วงศ์กระจ่าง ก็เช่นกันอย่าไปเล่นการเมือง เพราะปฏิเสธการเมืองแบบตัวแทน แต่ให้ไปทำงานการเมืองใหม่ เคลื่อนไหวนอกระบบรัฐสภาไปเรื่อยๆ หรือไม่เช่นนั้นก็เรียนหนังสือต่อ เปลี่ยนการเมืองไทยให้ใหม่อย่างแท้จริง นักศึกษาควรต่อสู้ต่อไป เป็นกบฏต่อไป เป็นกบฏต่อกระบวนการอยุติธรรม


 


นอกจากนี้ยังเสนอให้ตั้งกลุ่มการเมือง ไม่ต้องเป็นกลุ่มพรรคการเมือง แต่เป็นกลุ่มการเมืองเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น กลุ่มแม่บ้านที่ต้อต้านการดื่มสุรา โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่มีมีความแอคทีฟมาก ส่วน


กลุ่มกวี กลุ่มเอ็นจีโอ และกลุ่มนักวิชาการ ขอเรียกร้องให้เรียนต่อ ถกเถียงกับเพื่อนเพื่อหาแง่มุมใหม่ๆ ที่จะต่อสู้กับอำนาจการครอบงำใหม่ๆ ไม่ใช่ใช้วิธีสิ้นเปลืองและสุ่มสี่ยงต่อการล่มสลายของประชาธิปไตย


 


 


อภิชาต สถิตนิรมัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ผมคิดว่าข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ เป็นข้อเรียกร้องของขบวนการชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่ต้องการสร้างสภาขุนนางเพื่อกีดกันรากหญ้าจากส่วนแบ่งอำนาจทางการเมือง แต่พยายามจะบอกว่าสภาขุนนางเท่ากับประชาธิปไตย หรือพูดให้เพราะหน่อยว่าคือ เรื่อง Philosopher King/การปกครองโดยนักปราชญ์


 


ถ้าข้อเรียกร้องเป็นอย่างนี้ให้ดาวกระจายไปที่หลุมศพของวีรชน 14 ตุลา แล้วชี้หน้าหลุมศพว่าการเรียกร้องของวีรชน 14 ตุลานั้นเป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ที่เปิดทางให้เกิดขึ้นของระบอบรัฐสภาที่เรียกว่าระบอบนักเลือกตั้ง และต้องดาวกระจายไปที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา รื้อมันทิ้งแล้วสร้างอนุสรณ์สถานให้ 3 ทรราช ถนอม ประภาส ณรงค์


 


สมการของ 70/30 มีฐานว่าคนจนมีพฤติกรรมการขายเสียง เพราะรากหญ้าคนจนขาดการศึกษา ไร้ข้อมูล ตามข้อมูลไม่ทัน ไม่เช่นนั้นก็ขาดจริยธรรม หรือไม่โง่ก็งก ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา สภาขุนางจึงต้องตัดเสียงรากหญ้าออก


 


การมองแบบนี้ คือคนจนไม่ควรเป็นใหญ่ ทั้งที่คำว่า democracy มีรากศัพท์มากจากภาษาละตินคือ demos แปลว่า คนจน Democracy จึงการปกครองที่คนจนเป็นใหญ่ การวิเคราะห์ของพันธมิตรฯและกระบวนการพันธมิตรจึงตั้งอยู่บนฐานคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ปัญญาชนสายพันธมิตรฯ ที่สนใจเรื่องกรีกโบราณที่เรียนรู้จากนครรัฐเอเธนส์ล้มได้ด้วยสภา 500 คน เพราะถูกชักจูงได้ง่ายๆ โดยคนที่มีวาทศิลป์


 


สิ่งที่นำเสนอจึงขัดกับหลักความเชื่อพื้นฐาน 2 ประการของประชาธิปไตย คือ หนึ่ง คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะมีการศึกษาระดับไหน มีสินทรัพย์ระดับไหน ต่อให้ง่อยเปลี้ยเสียขา ต่อให้ไม่สมประกอบคุณก็ยังมีสิทธิเลือกตั้ง ระบอบการปกครองนั้นไม่ว่าจะมีสร้อยอะไรก็ตามแต่ ไม่สามารถจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้ ถ้าไม่ได้อยู่บนฐานความคิดที่ว่าคนเท่าเทียมกัน หลักการที่สอง คือ คนจนเป็นคนที่มีเหตุและผล คิดเป็น


 


การที่คนจนขายเสียงเป็นจริงในสังคมไทย และอธิบายได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น ก่อนรัฐบาลทักษิณการซื้อเสียงมีอยู่แล้ว ทำไมการขายเสียงยุคนั้นจึงมีเหตุมีผล เมื่อมองจากสายตาของ Demos ก่อนหน้านั้นรัฐบาลกลางทำอะไรไหมที่เป็นประโยชน์ของเขา การที่คุณต้องเดินทางไปลงคะแนนเสียง มีค่าเดินทาง ถ้ามีการขายเสียง ผมก็จะขาย เพราะถ้าไม่ขาย นอกจากเสียค่ารถเมล์ฟรีแล้วก็ไม่ได้อะไรเลย


 


หลังยุคทักษิณ การเลือกตั้ง 2548 ได้เกินครึ่งสภา การขายเสียงก็ยังมีเหตุผล ต่อให้ไม่ขายเสียงก็ยังมีประโยชน์ที่ได้จากนโยบาย แล้วจะแปลกอะไรในเมื่อจะเลือกอยู่แล้ว แล้วมีคนให้อีก 500 บาท ทำไมจะไม่รับ


 


โดยสรุปคือเราจะตัดสินระบอบการปกครอง เราต้องเริ่มจากพื้นฐานความเชื่อสองประการ คือ คนเท่าเทียม และคนมีเหตุมีผล จากหลัก 2 ประการมันนำไปสู่หลัก Majority Rule คือเราจะตัดสินเรื่องใดๆ ทางการเมือง ถ้าเราเชื่อเรื่อง 1 คนหนึ่งเสียง แล้วก็เชื่อในเสียงข้างมาก ชะตากรรมของประเทศหนึ่งๆ ต้องตัดสินด้วยเสียงข้างมากผ่านบัตรเลือกตั้ง ถ้าชนชั้นกลางบอกว่าประชานิยมจะนำไปสู่การขาดดุลทางการคลัง ทำให้ประเทศล่มจมเหมือนอาเจนติน่าก็บอกได้ แต่ว่าน้ำหนักของชนชั้นกลางต้องไม่มากไปกว่าคนชั้นล่าง และความผิดทางนโยบายต้องตัดสินด้วยการเลือกตั้ง


 


กฎอีกข้อหนึ่งของประชาธิปไตยคือ Rule of Law นิติรัฐ คือ Limited Government เป็นหลักการจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ทำตามอำเภอใจ เป็นหลักที่ป้องกันทรราช รัฐต้องไม่ abuse of power เป็นหลักที่บอกว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางทรัพย์สิน และการแสดงออกทางการเมือง ถ้ารัฐผิดหลักอันนี้จะต้องตัดสินโดยกระบวนการยุติธรรม เพื่อบอกว่ารัฐกำลัง abuse of power


 


ดังนั้น ถ้าจะดูระบอบการเมืองหนึ่งเป็นประชาธิปไตยหรือๆไม่ ก็ต้องดูจากเงื่อนไขดังกล่าว ข้อเสนอเรื่อง 70/30 จึงเป็นสภาขุนนาง ไม่ใช่ประชาธิปไตย


 


ถ้าไม่เชื่อใน 4 ข้อนี้ก็ไม่ว่า แต่อย่ามาเรียกตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตย นักวิชาการในมหาวิทยาลัยนี้หรือจุฬาฯ จะไม่เชื่อตามนี้ก็ได้แต่อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ต้องชัดเจนเสียก่อนจึงจะน่านับถือ โดยเฉพาะนักกฎหมายในมหาวิทยาลัยนี้ที่ออกแถลงการณ์ 7 ข้อเรื่องใครไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง


 


 


 


อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน และอารัมภบทเพื่อรำลึกถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


 


การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยา ทุกคนต่างคาดหวังให้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ไม่มีใครรู้และเชื่อมั่นได้ว่าใช่หรือไม่ วันนี้เป็นโอกาสทบทวนว่าจะออกจากวัฏจักรรัฐประหารอย่างไร ออกจากวาทกรรมที่ว่าประชาธิปไตยไม่ดีอย่างไร ที่ผ่านมาการนิยามหรือมอง "ประชาธิปไตย" นั้นอยู่ที่ว่ามองจากมุมใด ขณะนี้ประชาธิปไตยจึงดูเหมือนมิได้มีความหมายเดียวกัน


 


"การเมืองใหม่" ถือเป็นวาทกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยอีกอันหนึ่ง ฟังแล้วนึกถึง "ระเบียบการเมืองใหม่" ของอินโดนีเซียซึ่งถึงตอนนี้มีอายุ 40 ปีแล้ว รัฐบาลนายพลซูฮาโตได้อำนาจและประกาศจัดระเบียบการเมืองใหม่ ความหมายโดยย่อคือ ทหารต้องเข้ามามีบทบาทในการเมือง อย่างน้อย 2 ด้าน คือ ความมั่นคง และงานพัฒนา ดังนั้น กองทัพจึงเข้ามาอยู่ในการเมืองอย่างเต็มตัว งานการพัฒนาคือ งานพัฒนาระดับหมู่บ้าน จัดตั้งมวลชนในชนบทเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองของซูฮาโต ดังนั้นเสียงเลือกตั้งในชนบทจะเทให้กับพรรครัฐบาลโดยตลอด กว่าจะยุติบทบาทของรัฐบาลซูฮาโตลงได้ก็เกิดการปะทะกัน ซึ่งมีประเด็นในเชิงชาติพันธุ์ด้วยพอสมควร ซึ่งเรื่องความรุนแรงก็เป็นข้อวิตกเช่นกันในสังคมไทย


 


ประเด็นถัดมากรณี 70/30 เท่ากับประชาธิปไตยหรือไม่ มีหลายเสียงบอกว่าตุ๊กตานี้มีลักษณะต่อต้านการเมือง (anti politics) อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข เขียนถึงเรื่องนี้หลายครั้งและระบุว่า ภายในกองทัพมีแนวคิดนี้อยู่ค่อนข้างสูโดยเห็นว่าการเมืองแบบเลือกตั้งไม่ใช่การเมืองที่เหมาะกับประเทศไทย ขณะเดียวกันวาทกรรมต่อต้านการเมืองนี้ก็ไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นการเมืองของสามัญชน มีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาคกัน แต่ถูกตีความว่า การเมืองของอภิสิทธิ์ชนนั้นดีงาม ถูกต้องมากกว่า และไม่อาจเรียกว่าประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีสูตรต่างๆ มากมาย 50/50  80/20 ฯลฯ คำถามสำคัญคือใครสัดส่วนเท่าไร


 


นอกจากนี้ข้อเสนอนี้ยังละม้ายกับพัฒนาการประชาธิปไตย 12 ปี ซึ่งเมื่อปี 2519 ก็มีข้อเสนอพัฒนาการประชาธิปไตย 12 ปี (บันได 12 ขั้น) แต่ในที่สุดก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก่อน จึงเหมือนมีภาพประวัติศาสตร์ย้อนกลับมา


 


ประเด็นต่อมา เรากำลังถูกตั้งคำถามว่าเราจะต้องเลือก 2 ขั้วนี้ไหม คือ ประชาธิปไตยแบบชี้นำและประชาธิปไตยแบบมวลชน มีเฉดสีมากกว่านี้ไหม หรือจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ให้อภิชนชี้นำไปเรื่อยๆ ตอนนี้มีการถกเถียงพอสมควรว่าหมดยุคประชาธิปไตยแบบชี้นำหรือยัง คำถามนี้เป็นคำถามตั้งแต่ปี 2475 แล้ว ทุกครั้งที่มีการสะดุด มีความขัดแย้งระหว่างมวลชนกับชนชั้นนำก็จะมีคำถามแบบนี้ดังขึ้นมา อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา เกิดการคลี่คลายของประชาธิปไตยของสามัญชนเคลื่อนตัวไปอย่างกว้างขวาง เกิดจิตสำนึกใหม่ ทำให้ข้อถกเถียงในระยะนี้ต้องรับฟังแบบกว้างขวางมากๆ


 


ประเด็นต่อมา รูปแบบการเมืองที่เราพูดกัน เราสนใจประชาธิปไตยแค่ไหน สนใจการเมืองรูปแบบอำนาจนิยมขนาดไหน สนใจการเมืองอมาตยาธิปไตยเพียงไหน หรือเราอยู่กับมันจนไม่รู้สึก คำถามยังมีต่อไปอีกถึง รูปแบบเศรษฐกิจ เราจะมีรูปแบบแบบเสรีนิยมไหม ระบบทักษิณเป็นเสรีนิยมหรือเปล่า หรือเป็นเสรีนิยมใหม่ที่โลกาภิวัตน์นำมาเพื่อไปสู่การผูกขาดของบรรษัทข้ามชาติ ขณะเดียวกันก็มีเสียงของพรรคเล็กๆ ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาแล้วที่ส่งเสียงว่าเป็นแบบสังคมนิยม อย่างนี้ได้ไหม 


 


อย่างไรก็ตาม อาจต้องขอบคุณคุณูปการของพันธมิตรฯ ที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลังจากก่อนหน้านี้สังคมเรามักมีการวิจารณ์กันเป็นหย่อมๆ เราจะได้เถียงกันจริงจังเสียทีว่าอะไรเป็นแนวทางที่เราต้องการ


 


ในส่วนของบทบาทสื่อนั้นถูกทวงถามมาก เพราะเริ่มเกรงว่าจะไปสร้างความรุนแรง นี่ก็เป็นเหตุผลที่สังคมไทยหันมาสู่สันติวิธี ส่วนของสื่อมวลชนในกระบวนการประชาธิปไตยนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเมืองทีเป็นสถาบันการเมืองหลักหรือขบวนการการเมืองที่ต่อต้านรัฐอย่างพันธมิตรฯ หรือกระบวนการทางการเมืองอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยสื่อมวลชน ถ้าไม่ผ่านสื่อมวลชนก็ไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงให้กลุ่มอื่นได้ยิน ดังนั้น สื่อมวลชนจึงมีทั้งหน้าที่และอำนาจ โดยที่สังคมสนับสนุนในแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการติดตามดู ติดตามซื้อหรือเขาไปมีส่วนร่วมโดยตรงกับสื่อ นี่เป็นระบบตัวแทนเหมือนกันแต่เป็นโลกสัญลักษณ์ และครั้งนี้เห็นอิทธิพลของสื่อที่เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ในระดับสูง


 


สถานการณ์ตอนนี้ทำให้เราเห็น Media Event ชัดเจนมาก โดยล่าสุดคือการโหวตในสภาที่ถ่ายทอดสด หรือขบวนการพันธมิตรฯ เราก็เห็น Media Event Live สื่อต้องเลือกคัดสรรมาถ่ายทอด ไม่สามารถถ่ายทอดได้ทั้งหมด และถ้าทำให้เกิดลักษณะที่น่าประทับใจ หลายท่านบอกว่า การติดตามดู ASTV ทุกวันได้เกิดความประทับใจให้อยากติดตาม เป็นละครการเมือง มีหลายตอนจบ มีตัวละครฝ่ายพระเอก ฝ่ายผู้ร้าย หรือมีนักแสดงหลากหลายที่จะขึ้นเวที ขณะเดียวกันนักแสดงก็ต้องทำให้มีลักษณะที่เป็นตัวแทนที่เข้าใจง่าย ซ้ำๆ ง่ายๆ การรายงานข่าวที่เป็นละครการเมืองแบบนี้ ผู้รายงานตกที่นั่งลำบาก คือต้องคัดเลือก เอามาตีความแล้วก็เอามาจัดวาระ เราจะเห็นว่าขณะนี้กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถถูกจัดมาเป็นข่าวลำดับที่ 1 มาเป็นเวลานานเพราะได้รับความสนใจของสื่อกระแสหลักเป็นอย่างยิ่ง นำมาสู่การตั้งคำถามจากสังคมว่า ตกลงว่าสื่อจะเป็นผู้สังเกตการณ์ เป็นกรรมการหรือจะเป็นผู้เล่นเกมกันแน่


 


อย่างไรก็ดี อยากเสนอเพิ่มว่า สื่อขณะนี้มีลักษณะเป็นสื่อการเมืองสูง เป็น Political Media คือสนับสนุนวาทกรรมหรืออุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งอย่างชัดเจน ก็ดีไปอย่างสำหรับผู้รับ บางทีก็ใช้คำว่าสื่อ เลือกข้าง ซ้าย ขวา ขาว ดำ หรือการประกาศว่าเป็นสื่อในสถานการณ์สู้รบ เช่น สื่อเครือผู้จัดการ หรือกรณีที่เป็นสื่อทางเลือกสมัยใหม่ เช่น สื่ออินเตอร์เน็ต ที่เปิดพื้นที่เว็บบอร์ดที่มีการมีส่วนร่วม ส่วนสื่อที่เลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ไทยก็มีมาแล้ว ในช่วงประมาณ 2475 เป็นต้นมา คือเลือกประชาธิปไตย อำนาจเก่า หรืออำนาจใหม่ กลุ่มที่ประชาธิปไตยและอำนาจใหม่ ถือว่าเป็นกลางที่สุด


 


นี่ก็เป็นคำถามว่าสื่อปัจจุบัน สื่อจะเลือกแบบใด


 


สุดท้าย โลกของสื่อเป็นโลกสัญลักษณ์กับโลกของกระบวนการทางการเมืองที่ขับเคลื่อนกันอยู่ก็ต้องมาผสมผสานกันอยู่แล้ว ขณะนี้รัฐสภาก็ยังดำเนินอยู่ อยากขอเสนอให้ใช้กระบวนการในสภา เชิญหลายๆ ฝ่ายเข้าไปแสดงบทบาททางการเมืองร่วมกัน ซึ่งกระบวนการของพันธมิตรฯอาจจะไม่ครอบคลุม การใช้เวทีรัฐสภาน่าจะพอให้การเมืองขับเคลื่อนไปได้และแก้ปัญหาร่วมกันได้


 


เอกสารประกอบ

ยุกติ มุกดาวิจิตร : ขบวนการประชาชนหลังขบวนการพันธมิตรฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net