Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


            ระบอบประชาธิปไตยตัวแทน (Representative democracy) หรือการเมืองเก่าที่ประเทศไทยรับมาใช้เป็นเวลา 76 ปี ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เหมาะสมและใช้ไม่ได้กับประเทศไทย

            นี่คือข้อเท็จจริง ซึ่งพิสูจน์ได้จากสถิติที่มีการปฎิวัติรัฐประหารและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเฉลี่ย 3 ปีต่อครั้ง

            มีแต่นักวิชาการหัวสี่เหลี่ยมหรือ หัวม้าที่ยังตะแบงเชื่อ (ตำราเล่มเดียว) ว่า การเลือกตั้งผู้แทนโดยมีการใช้เงินซื้อเสียงบวกกับระบบอิทธิพลในท้องถิ่นผสมกับระบบอุปถัมภ์นั้นคือระบอบประชาธิปไตยแท้

            อีกพวกหนึ่งที่เชื่อในการเมืองเก่า คือ นักเลือกตั้ง หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่สามารถใช้เงินซื้อเสียงเพื่อก้าวสู่อำนาจมาตักตวงผลประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ

            เมื่อกระบวนการในการได้รับการเลือกตั้งมาไม่บริสุทธิ์และใช้เงินเป็นหลัก เมื่อมาบวกกับการที่รัฐธรรมนูญ(การเมืองเก่า) ที่กำหนดว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ดังนั้นการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงที่มีงบประมาณมาก เพื่อถอนทุนจึงกลายเป็นโศกนาฎกรรมน้ำเน่าของการเมืองเก่าที่ฉายซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

            การคอร์รัปชันได้วิวัฒนาการจากการรับเงินใต้โต๊ะ รับเงินค่าคอมมิชชั่นของโครงการมาเป็นการคอร์รัปชั่นทางนโยบายในโครงการขนาดใหญ่  การล็อกสเป็คให้กับกลุ่มธุรกิจในเครือข่ายหรือครอบครัว หรือการแก้ไขกฎหมายเพื่อยังประโยชน์ให้กับธุรกิจของตน หรือเพื่อเข้าไปเขมือบรัฐวิสาหกิจของประชาชน เช่น กรณี การแปรรูป ปตท.

            ประเทศชาติและประชาชนจึงถูกปล้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมีแต่หนี้สิน เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ห่างกันราวฟ้ากับดิน คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนกลุ่มน้อยใช้ชีวิตเหมือนอยู่บนสรวงสวรรค์ อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในนรก

            การเมืองใหม่จึงเป็นหลักการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อลดความขัดแย้งและกอบกู้ไม่ให้ประเทศล้มละลายหรือเกิดสงครามกลางเมือง

            การจะเกิดการเมืองใหม่ได้จะต้องมีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากกลุ่มอาชีพ สหภาพแรงงาน นักคิดที่ไม่มีผลประโยชน์ ภาคประชาสังคมที่มีสัดส่วนอย่างเป็นธรรม ข้าราชการ และฝ่ายตุลาการ

            ต้องมีการยุบสภา และตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาดำเนินการขั้นต้นจนมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นการเมืองใหม่จึงจัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในเวลาไม่เกิน 1 ปี

            หลายๆ ประเทศหันมาใช้ระบอบประชาธิปไตยทางตรง (Direct democracy) เช่น แคนาดา และสวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งอเมริกาและยุโรป

หลักการของประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) แรก คือ
1. ประชาชนเสนอกฎหมายเองได้ (Initiative) เมื่อมีจำนวนประชาชนมากพอ โดยมีผลบังคับ เมื่อมีเสียงเห็นด้วยมากเพียงพอตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยไม่ต้องผ่านสภาอีกครั้งหนึ่ง

2. ประชาชนเสนอให้มีการลงประชามติเห็นด้วยหรือคัดค้านนโยบายของรัฐ (Referendum) โดยรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามผลที่ออกมา

 

3. ประชาชนเสนอให้มีการลงคะแนนเสียงปลดนักการเมืองได้ทุกตำแหน่ง (Recall) ก่อนครบวาระหากว่านักการเมืองไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในตอนหาเสียง หรือเมื่อได้รับตำแหน่งแล้วมีพฤติกรรมฉ้อโกง หรือ ไร้จริยธรรม

หลักการที่สอง ในวิธีการเลือกผู้บริหารของระบอบประชาธิปไตยทางตรง คือ
1. การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีทางตรง ซึ่งเป็นระบอบที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด (Pure democracy)

2. การเลือกคณะรัฐมนตรีทางตรงซึ่งเป็นระบอบที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด (Pure democracy) เหมือนกับการเลือกนายกรัฐมนตรีทางตรง

วิธีการ คือ พรรคการเมืองจะต้องเสนอรายชื่อ ครม. ล่วงหน้า และให้ประชาชนมีสิทธิเลือกเป็นรายกระทรวง หรือเลือกครบเห็นชอบทั้งคณะก็ได้

3. บุคคลทั่วไปที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนดี มีคุณธรรมมีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง บุคคลที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็จะได้เป็นรัฐมนตรีของกระทรวงนั้นๆ (ปัจจุบัน ครม.ก็ไม่ได้มาจากพรรคเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะมาอ้างว่าจะไม่เป็นเอกภาพกันไม่ได้ ทุกวันนี้นายหมู นางหมาที่ไหนก็มาเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องมีความรู้ในกระทรวงนั้นๆ มาก่อนเลย เช่นเป็นพยาบาล ก็มาเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กระทรวงอื่นๆก็เช่นเดียวกัน ลองไล่กันดู รมต.ล้วนไร้ภูมิความรู้ในกระทรวงนั้นๆ ทั้งสิ้น เป็นระบบแบ่งเค้กกันกิน หรือแบ่งกันปล้นชาติ รมต.ส่วนใหญ่มีเบื้องหลัง มีธุรกิจสีเทา จนถึงธุรกิจมืด)

หลักการที่สาม คือ จำกัดจำนวน ส.ส. และวุฒิสมาชิก
            หน้าที่หรือพันธกิจของ ส.ส. คือการร่างและเสนอกฎหมายเท่านั้น จะมาเกี่ยวข้องหรือ มาดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารไม่ได้ ต้องแยกกันอย่างเด็ดขาด ฝ่ายบริหารก็มาจากการเลือกตั้งตามระบบข้างต้นเช่นเดียวกัน

            ดังนั้นจำนวน ส.ส.และ ส.ว.จึงไม่จำเป็นต้องมีมาก ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากรจำนวน 250 ล้านคน แต่มีวุฒิสมาชิกเพียงรัฐละ 2 คน หรือ 100 คน และ ส.ส. อีก 435 คน ประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านเศษ ดังนั้น ส.ส.จึงไม่น่าจะมีเกินจำนวน 150 คน (จังหวัดละ 2 คน) และ ส.ว. จังหวัดละ 1 คนก็เพียงพอแล้ว

            ทั้งสองสภาสามารถเสนอกฎหมายของตนได้แต่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกันและนำมารวมกันเป็นฉบับเดียวกัน

            วิธีการนี้จะป้องกันการซื้อเสียงได้อย่างเด็ดขาดในระยะยาว เพราะว่าคงจะมีคนบ้าไม่มากนักที่จะทุ่ม่เงินซื้อเสียงสัก 20-30 ล้านบาทอย่างการเมืองเก่าเพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศของวงศ์ตระกูล ในเมื่อเป็น ส.ส.แล้วไม่สามารถเข้ามาเป็นรัฐมนตรี แต่ต้องทำหน้าที่นิติบัญญัติแต่เพียงหน้าที่เดียว ดังนั้นโอกาสจะถอนทุนจึงไม่มี

            การทุ่มเงินบริจาคครั้งละเป็น 100 ล้านบาทให้กับพรรคเพื่อแลกกับตำแหน่งรัฐมนตรีก็จะไม่ได้ทุนคืน เพราะว่าตำแหน่งรัฐมนตรีทุกกระทรวงล้วนมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น

            การเมืองเก่าก็จะค่อยๆวิวัฒนาการเป็นการเมืองใหม่ที่โปร่งใส และประชาชนเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของชาติและของตนอย่างแท้จริง

หลัการที่สี่ คือ สร้างระบบถ่วงดุล

หลักการถ่วงดุลของอำนาจทั้งสามของอเมริกาน่าจะนำมามาปรับใช้ การถ่วงดุลของระบบการเมืองอเมริกัน คือ หัวหน้าฝ่ายบริหารได้รับการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชน แต่มีระบบให้แต่ละรัฐเลือกให้ตัวแทนตามจำนวนส.ว.และ ส.ส.ของแต่ละรัฐ (Electoral college) ไปลงคะแนนเสียงอีกที เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมี ส.ว. 2 คน และ  ส.ส. 45 คน จึงมีตัวแทนที่เรียกว่า Electoral votes 47 คนใน Electoral college เพื่อจะเป็นการถ่วงดุลและป้องกันประธานาธิบดีที่ได้คะแนนแบบประชานิยม แต่ไร้คุณภาพ เช่นกรณี ดาราหนังฟิลิปปินส์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วยนโยบายประชานิยม แต่ถูกขับออกด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น ถ้ามีการถ่วงดุลแบบ Double majority ก็จะป้องกันได้

 รัฐสภามีอำนาจไต่สวนและขับประธานาธิบดีออกได้ (Impeachment)

มีการแยกฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด ส.ส.มีหน้าที่ร่างและเสนอกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว

หัวหน้าฝ่ายตุลาการ คือคณะศาลฎีกา ได้รับการเสนอชื่อจากฝ่ายบริหาร แต่ต้องผ่านการลงมติเห็นด้วยจากสภาสูง และอยู่ในตำแหน่งจนกว่าเกษียณอายุเพื่อจะได้ไม่ถูกบีบจากฝ่ายบริหาร คณะศาลฎีกามีอำนาจในการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่า ฝ่ายบริหารละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในขณะเดียวกัน รัฐสภาก็ไม่มีอำนาจลดเงินเดือนของฝ่ายตุลาการและประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งกฎหมาย ในขณะเดียวกัน รัฐสภาก็มีอำนาจในการลงมติเห็นด้วยหรือคัดค้านการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

รัฐสภายังได้แบ่งออกเป็น 2 สภา เพื่อให้วุฒิสภาคอยตรวจสอบ ส.. และฝ่ายบริหาร โดยมีอำนาจเสนอกฎหมาย กลั่นกรองและยับยั้งกฎหมาย รวมทั้งการลงมติเห็นชอบกับการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ของฝ่ายบริหาร และการยับยั้งนโยบายต่อฝ่ายบริหาร รวมทั้งการดูแลนโยบายต่างประเทศด้วย

ระบบถ่วงดุลข้างต้นมาจากรัฐธรรมนูญของอเมริกาที่มีอายุยืนยาวมาได้ถึงกว่า 200 ปี (ได้รับการรับรองในปี ค.. 1787) และระบบการเมืองอเมริกันมีเสถียรภาพมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญอเมริกันซึ่งมี เจมส์ แมดดิสัน เป็นมันสมองในการร่างได้สร้างระบบการถ่วงดุล คานอำนาจ และร่วมใช้อำนาจอย่างสมดุล เพราะเขาไม่เชื่อในเรื่องอุดมคติ ว่ามนุษย์เป็นคนดี โดยเขียนไว้ในเอกสาร Federalist Paper ฉบับที่ 78 ก่อนที่จะนำมาเขียนในรัฐธรรมนูญ

 เขาได้กล่าวไว้ว่า ถ้ามนุษย์ทุกคนเป็นเทวดา (คนดี) เราก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล ถ้าเทวดาเป็นรัฐบาล เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างระบบขึ้นมาควบคุมรัฐบาล แต่รัฐบาลประกอบด้วยมนุษย์ที่เรียกตัวเองว่านักการเมือง เป็นผู้มีผลประโยชน์มาปกครองมนุษย์ เราจึงต้องสร้างกลไกและระบบขึ้นมาถ่วงดุลและคานอำนาจกัน และร่วมกันใช้อำนาจ  เพื่อให้แต่ละกลุ่มมีอำนาจสามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนได้

ประเทศสวิสเซอร์แลนด์มีระบบถ่วงดุลในการออกกฏหมายระดับชาติ หรือ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนุญ คือ ต้องได้รับเสียงข้างมาก 2 ระดับ (Double majority) คือเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากแล้ว จะต้องได้เสียงข้างมากจากแต่ละจังหวัดอีกด้วย คล้ายๆ กับ ระบบ Electoral votes ของอเมริกา

แนวทางที่เสนอมาทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงตุ๊กตาที่น่าจะนำมาอภิปราย ถกเถียง และปรับให้เข้ากับสภาพของสังคมไทยอย่างเหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง เศรษฐกิจล่มสลาย การคลังล้มละลายและสังคมวิบัติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าหากยังดันทุรังที่จะกีดขวางการเมืองใหม่ไม่ให้เกิดครับ

 

 

………………………

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 25 - 28 ก.ย. 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net