พิษภัยจากสาร "เมลามีน"

ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

 

จากกรณีข่าวการปนเปื้อนของสารเมลามีนในนมที่ประเทศจีน ที่เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต 4 ราย มีเด็กล้มป่วยกว่า 60,000 คน อีก 150 รายเกิดอาการไตวาย และเริ่มลุกลามไปยังหลายประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนจนต้องเร่งตรวจสอบสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมผงและสินค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ขณะที่ด้านนักวิชาการก็ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับสารเมลามีน เพื่อช่วยให้ประชาชนรับทราบถึงอันตราย และป้องเองกันตัวเองได้มากขึ้น

 

นายปิยวิทย์ คุ้มพงษ์ นักวิจัยกลุ่มเทคโนโลยีฟิล์มพลาสติกศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า เมลามีน เป็นสารที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก เมื่อทำปฏิกิริยากับสารฟอร์มาลดีไฮด์ นิยมใช้ทำผลิตภัณฑ์พลาสติกทนความร้อนพวก จาน ชามเมลามีน เป็นต้น โดยสาเหตุที่มีการลักลอบใส่ลงในนมผงเนื่องจากคุณสมบัติของเมลามีนที่เป็นผงสีขาว มีสูตรโครงสร้างทางเคมี C3H6 N6 (1,3,5 -Triazine -2,4,6 -Triamine) เมื่อนำมาละลายน้ำจะละลายน้ำได้น้อย มีลักษณะเป็นคอลลอยด์เช่นเดียวกับน้ำนมสดมาก นอกจากลักษณะทางกายภาพที่เหมือนกับนมผงมากจนแทบแยกไม่ออกแล้วแล้ว เมลามีนบริสุทธิ์ยังมีองค์ประกอบของไนโตรเจนสูงมาก 66.67 % คิดเป็นปริมาณโปรตีนได้ 416.66 %

 

ดังนั้นเมื่อนำเมลามีนมาผสมในน้ำนมหรือนมผงก็ทำให้ผลการตรวจพบเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนสูงขึ้นด้วย จึงทำให้เข้าใจผิดได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจนั้นมีโปรตีนสูง คุณภาพดีได้มาตรฐานด้วย ทั้งนี้เพราะการตรวจหาปริมาณโปรตีนในนมผงปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่จะทำทางอ้อมด้วยการตรวจหาปริมาณไนโตรเจนแทน เนื่องจากโปรตีนมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกัน ขณะที่วิธีวิเคราะห์ไนโตรเจนทางเคมีโดยทั่วไปก็ยังบอกได้แค่ว่ามีไนโตรเจนเท่าไร แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นไนโตรเจนจากสารอะไร จึงต้องใช้วิธีตรวจวิเคราะห์โดยเฉพาะต่อไป

 

"พิษภัยของสารเมลามีน หากสูดดมหรือสัมผัสที่ผิวหนังอาจมีผลให้เกิดการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ แต่เมื่อกินเข้าไปก็จะทำให้เกิดการสะสม เพราะร่างกายคนเราไม่สามารถย่อยเมลามีนได้ กลายเป็นนิ่วในท่อปัสสาวะและไต ทำให้ไตวาย หรือเกิดมะเร็งที่ท่อปัสสาวะ ซึ่งหากรักษาไม่ทันการณ์ก็จะเสียชีวิตในที่สุด"

 

สำหรับการตรวจสอบหาการปนเปื้อนของสารเมลามีนนั้น นายก้องเกียรติ คงสุวรรณ นักวิจัยกลุ่มวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า โดยทั่วไปนมวัวไม่ได้มีเมลามีนเป็นองค์ประกอบ หรือเป็นส่วนที่อยู่ในกระบวนการผลิตนมผง จึงไม่ได้มีการตรวจหาเมลามีนในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพตามปกติ ซึ่งการตรวจหาสารปนเปื้อนเมลามีนในน้ำนมนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีการแยกองค์ประกอบของสารที่เรียกว่า ไฮเพอร์ฟอร์แมนซ์ลิควิดโครมาโตกราฟี (high performance liquid chromatography : HPLC) ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรืออาจใช้วิธี สเปกโตรสโคปี (spectroscopy) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที

 

อย่างไรก็ดีแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้นำเข้านมผงจากประเทศจีนโดยตรง แต่ก็ไม่ทราบว่ามีการลักลอบนำเข้ามาบ้างหรือเปล่า อีกทั้งปัจจุบันมีหลายผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้นมผงเป็นส่วนผสม จึงคิดว่าควรมีการสุ่มตรวจหาสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องหลายๆ ชนิด เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ และมีความปลอดภัยจากสารพิษเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท