Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สมภพ ศิริสว่าง


เลขาธิการมูลนิธิกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย


 


 


นโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโรงแรมและที่พักในเขตพื้นที่บริการ 10 แห่ง เป็นเวลา 30 ปี ประกอบด้วย


 


1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง


3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์


4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน


5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์


6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง


7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย


8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน


9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ


10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก


 


โดยกรมฯ กำหนดราคาค่าเช่าพื้นที่เพื่อบริการไว้ตารางเมตรละ 30 บาท หรือไร่ละ 4.8 หมื่นบาทต่อเดือน


เริ่มติดตามข่าวนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มและรอฟังคำชี้แจงต่อสังคมของผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่รัฐมนตรียันข้าราชการประจำ รู้สึกแปลกใจในคำตอบ เพราะด้วยความเชื่อว่าผู้คนเหล่านั้นจะหาคำชี้แจงได้ดีกว่านี้และมีเหตุผลของความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่านี้ แต่ที่แปลกใจมากไปกว่านั้นคือทำไมผู้เขียนจึงมีความเห็นที่แตกต่างจากคำอธิบายเหล่านั้นมากเหลือเกิน จึงขอแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างมา ณ ที่นี้


 


เริ่มต้นที่นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เผยถึงเรื่องนี้ว่า การอนุญาตให้เอกชนดำเนินการบริการท่องเที่ยวเกิดจากแนวคิดจะช่วยหารายได้มาช่วยเศรษฐกิจของประเทศ เพราะขณะนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากที่น่าจะนำมาอวด และนำมาเผยแพร่ให้คนทั่วไปรับรู้รับทราบ ดีกว่าปล่อยเอาไว้ให้เสื่อมโทรมและบางพื้นที่ก็ถูกบุกรุกเสียหาย


 


ผมเสียดายมากที่เรามีรัฐมนตรีที่คิดเช่นนี้ เพราะการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นมิได้จัดการง่ายๆ เหมือนการจัดสรรผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเน้นไปถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนไม่ใช่ร้านขายของเก่าที่นึกขึ้นมาว่ามีอะไรขึ้นมาก็จะเอามาขายให้หมด ไม่ใช่ว่าป่าไม้เสื่อมโทรมและถูกบุกรุกเสียหายก็จัดการขายให้หมดโดยมิได้คิดว่าจะฟื้นฟูหรือป้องกันการทำลายป่าไม้อย่างไร หรือจะกล่าวง่ายๆ ว่ารถยนต์เกิดยางแตกขึ้นมา แต่ไปซ่อมที่เครื่องยนต์รถคงวิ่งได้ดี


 


ดูนโยบายที่ผ่านๆ มาของรัฐมนตรีท่านนี้ก็เช่น สนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น สร้างหมู่บ้านช้างที่ลงทุนเป็นพันๆ ล้านแล้วเลยไม่น่าแปลกใจที่จะมีนโยบายเช่นนี้ออกมาอีก เพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เน้นหาเงินเท่านั้น  แต่เงินที่ได้มาจะเข้ากระเป๋าใครที่ไหนยังไงต้องลองคิดต่อกันเองเถอะครับ


 


ด้านนายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ในฐานะประธานคณะทำงานการท่องเที่ยวและการลงทุนดำเนินกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมได้วางหลักการเบื้องต้นในเรื่องนี้ไว้ 3 ประเด็นหลักๆด้วยกัน คือ ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการจัดการอย่างมืออาชีพและยั่งยืน ประเด็นทางสังคม ต้องให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรม และประเด็นเศรษฐกิจ ต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่


 


แต่ก็ดูเป็นเรื่องตลกโปกฮาพอสมควรกับสิ่งที่เสนอมา เพราะหากเข้าใจสังคมไทยและเรียนรู้ปรากฎการณ์ต่างๆ ทางสังคมได้ดีพอ นายวิชิตจะไม่คิดเช่นนี้เนื่องจากจะเห็นได้ว่ากลุ่มทุนที่จะเข้ามาบริหารจัดการจะเป็นมืออาชีพทางด้านบริการแน่นอนเพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้เขามีรายได้มหาศาลและคุ้มกับสิ่งที่ลงทุนไป


 


แต่...ถ้าหากต้นทุนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสูงมากจะทำอย่างไร?


 


มีทางออกที่มีอยู่คือ หนึ่งผู้รับสัมปทานยอมขาดทุนเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ สองผู้รับสัมปทานต้องกำหนดค่าธรรมเนียมในการเที่ยวอุทยานฯ ให้คุ้มกับที่ลงทุน


 


เราคิดว่าผู้รับสัมปทานจะเลือกใช้แนวทางใด ถ้าเลือกแนวทางที่สอง คำถามที่ตามมาก็คือ เราต้องจ่ายเงินเท่าใดในการเข้าอุทยานฯ และจะมีปัญญาเช่าหรือไม่


 


แถมทางออกที่สามอีกข้อหนึ่งคือ ไม่ขึ้นราคาในการเข้าชมอุทยานฯ เพราะอยากช่วยเหลือประชาชนให้ได้สัมผัสธรรมชาติ แต่ก็ไม่ดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ดีดังที่ตกลงกันไว้ และกระทรวงฯ ก็เข้าใจว่า เขาไม่มีกำไรจะเอาเงินที่ไหนมาอนุรักษ์ งั้นก็ทำไปเถิด ทำไปตามมีตามเกิดนั่นแหละ


 


ทางออกนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงตามหลักการประณีประนอมของสังคมไทย และเวลานั้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคงจะวอดวายไปตามระเบียบ


 


ประเด็นทางสังคมที่ต้องให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมก็ให้ดูคำตอบทางสามข้อที่ผ่านมาว่าจะเกิดความเป็นธรรมหรือไม่ และถ้าหากความเป็นธรรมคือการมีเงินต้องจ่ายเงินสูงๆ เพื่อสัมผัสธรรมชาติ ก็คงจะเป็นความเป็นธรรมสำหรับนักท่องเที่ยวผู้มีอันจะกินที่ไม่ต้องมาใช้สถานที่เดียวกันกับคนจนๆ ที่ไม่มีเงินเข้าอุทยานฯ


 


มาถึงการกระจายรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น ประโยคนี้เป็นประโยคคลาสสิคอมตะนิรันกาลของภาครัฐเมื่อต้องการทำโครงการใดๆ ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ไนท์ซาฟารี อยากให้ลองไปดูว่ามีคนท้องถิ่นได้ประโยชน์เท่าใด คนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นแรงงานระดับล่าง เหมือนได้กินเศษเนื้อที่เหลือจากโครงการเท่านั้น แต่กับสิ่งที่ท้องถิ่นสูญเสียไปนั้นคุ้มกันหรือไม่


 


ลองเปรียบเทียบในสิ่งที่ใกล้ที่สุดคือจะมีผู้ได้รับสัมปทานที่ไหนให้ชาวบ้านเข้าไปขายของในพื้นที่สัมปทานโดยที่ตนเองไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย ยิ่งในช่วงที่ต้องการคืนทุนนั้นโอกาสนั้นแสนจะริบหรี่ที่จะใจบุญขนาดนั้น เพราะการทำธุรกิจต้องการกำไรสูงสุด ไม่ใช่เพื่อได้บุญสูงสุด


 


ขณะเดียวกันนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การให้สัมปทานเอกชนเข้าบริหารจัดการในพื้นที่อุทยานฯ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยต่างประเทศหลายประเทศมีการดำเนินการรูปแบบนี้มานานแล้ว และเป็นไปตามโครงงานการจัดการพื้นที่คุ้มครองตามอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพที่มี 191 ประเทศเป็นสมาชิก เพื่อหาเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนไปบริหารจัดการพื้นที่ป่า เพราะงบประมาณของรัฐไม่เพียงพอ


 


เป็นอีกประโยคที่แสนคลาสสิคอมตะนิรันกาลเช่นกันที่ว่า "แบบนี้ต่างประเทศเขาดำเนินการกันมาตั้งนานแล้ว" ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าโครงการใดๆ ที่ต้องการทำให้ได้ก็จะบอกประโยคนี้เพื่อสะท้อนว่า ถ้าไม่ทำล้าสมัยนะ ถ้าไม่ทำจะดูเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ซึ่งผมเห็นว่าควรจะหยุดวิธีการเยี่ยงนี้เสียที เพราะจะต้องตระหนักกว่านั้นก็คือ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ใช้ได้ดีในต่างประเทศอาจจะกลายเป็นยาพิษเมื่อเข้ามาอยู่ในสังคมไทย ด้วยความแตกต่างทางด้านโครงสร้างทางสังคมของบ้านเราที่มีลักษณะเฉพาะตัวมากกว่าที่อื่นๆ 


 


สำหรับที่กล่าวถึงการจัดการพื้นที่คุ้มครองตามอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพนั้นต้องขอบอกก่อนว่าการจัดการตามแนวทางนิเวศนั้นเป็นหลักการที่นำมาปรับใช้ได้ การแบ่งโซนหรือพื้นที่ให้เป็นพื้นที่คุ้มครอง พี้นที่อนุรักษ์ ฯลฯ ซึ่งมีการจัดการตามนั้นแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ผมขมวดคิ้วก็คือ จะแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อเจอกับอิทธิพลของนักการเมือง นักธุรกิจทั้งระดับชาติและท้องถิ่น พูดกันง่ายๆ คือในเชิงหลักการนั้นดูดี แต่พอปฏิบัติจริงๆ เละเทะไปหมด สุดท้ายความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดกับทรัพยากรธรรมชาติเสียหายไปแล้วจะหาอะไรมาทดแทนได้ ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องมีคนมารับผิดชอบ เพราะสิ่งที่สูญเสียไม่มีใครรับผิดชอบได้ ดูได้จากการโครงการพัฒนาอื่นๆ เช่น โรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นต้น


 


ในข้ออ้างที่ว่างบประมาณของรัฐไม่เพียงพอได้สะท้อนให้เห็นถึงมิติทางด้านความคิดที่คับแคบอย่างมาก สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือว่า ถ้างบประมาณที่มีในปัจจุบันไม่เพียงพอก็คือต้องใช้จำนวนเท่าใดจึงจะเพียงพอ?


 


ผมเชื่อว่าในเรื่องงบประมาณนั้นให้ถามหน่วยงานใดๆ ก็ต้องกล่าวว่าไม่พอ เหมือนกัน


เอาล่ะในเมื่อเขาตอบว่าไม่พอก็ต้องไม่พอ ครานี้มาหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อที่จะทำให้พอนั้น มีเพียงวิธีเดียวหรือไม่ จำเป็นต้องเอาป่าให้เอกชนเช่าเพื่อที่จะมีงบประมาณเพียงพออย่างนั้นหรือ? มีวิธีการมากมายไม่ว่าจะคาร์บอนเครดิต การขอทุนฟื้นฟูจากเอกชน การจัดระบบบริหารจัดการใหม่ ฯลฯ


 


สุดท้ายต้องตั้งคำถามไปถึงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นมานั้น เป็นการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อันใด เพื่อรักษาดูแลป่าไม้ ทะเล สัตว์ป่าใช่หรือไม่ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติใช่หรือไม่ หรือว่าเพื่อทำรายได้เข้าประเทศลองคิดกันดูดีๆ อย่ามองคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีคิดทางเศรษฐกิจ จนลืมคุณค่าทางนิเวศ เชื่อผมเถอะ เรายังไม่อับจนทางปัญญาถึงขั้นที่ต้องเปิดป่าให้เขารุมโทรมหรอก.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net