Skip to main content
sharethis


อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ


กรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(ทส.) ออกมาประกาศเปิดอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง เพื่อให้เอกชนสัมปทานพื้นที่ในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจรทั้งร้านค้า ที่พัก ร้านขายของที่ระลึก โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยอ้างว่าที่ผ่านมานั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ต้องมุ่งเน้นงานด้านการอนุรักษ์ ซึ่งส่งผลให้งานด้านบริการไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้นทางกรมอุทยานฯ จึงต้องการให้มืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายดังกล่าวยังเป็นแค่แนวคิด และปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ทว่ากรณีที่เกิดขึ้นกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมกันอย่างกว้างขวาง เพราะโดยเจตนารมณ์แล้วต้องถือว่าเขตอนุรักษ์ต่างๆ ที่ประเทศไทยกำหนดขึ้นมานั้น จุดประสงค์หลักก็เพื่อที่จะสงวนรักษาพื้นที่ป่าเอาไว้ใช้อย่างยั่งยืน หลังจากที่ผืนป่าในประเทศบอบช้ำอย่างหนักจากการที่รัฐเปิดให้สัมปทานป่าไม้ แต่ว่ามาในวันนี้กลับมีแนวนโยบายเช่นนี้ออกมา พื้นที่เป้าหมายที่สำคัญที่ถูกเพ่งเล็งจากกลุ่มทุนใหญ่เอาไว้ คงไม่พ้นพื้นที่ที่ถูกมองว่าจะทำเงินมหาศาล กระบวนการ วิธีการต่างๆ ถูกนำมาใช้ หน่วยงานบางหน่วยงานถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการแปลงทรัพยากรของประเทศให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนที่มีสตางค์


สำหรับอุทยานแห่งชาติ 10 แห่งที่ ทส.เตรียมเปิดให้เอกชนสัมปทานพื้นที่เพื่อบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ และ 10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก


กล่าวสำหรับ เกาะเสม็ด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ซึ่งไม่ได้เป็น 1 ใน 10 อุทยานฯ ข้างต้น แต่จากประสบการณ์ของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวกลับต้องเผชิญกับนโยบายการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษขึ้นมา โดยตั้งหน่วยงานที่เรียกว่าองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ขึ้นมา จนนำไปสู่การรวมตัวของชุมชนในการลุกขึ้นสู้ ซึ่งนับเป็นบทเรียนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวของรัฐที่พยายามเบียดขับชุมชนออกจากพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และกรณีการไฟเขียวให้เอกชนสัมปทาน 10 อุทยานฯ ข้างต้น คนเหล่านี้มีทัศนะเช่นไรต่อนโยบายดังกล่าว ฟัง สุวิทย์ นามแสง ตัวแทนชาวบ้านจากเกาะเสม็ด จ.ระยอง และดุจหทัย นาวาพาณิช ตัวแทนองค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ด คุย !


หลักการ-เหตุผลของการรักษาผืนป่า

สุวิทย์ นามแสง ตัวแทนชาวบ้านจากเกาะเสม็ด จ.ระยอง กล่าวว่า กรณีที่จะมีการหาเงินจากอุทยานหรือว่าทรัพยากรของประเทศมีพัฒนาการมานาน และมีเหตุผลเบื้องหลังซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่างๆ ที่พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ภายใต้กระแสของทุนโลกที่เข้ามาสู่สงคมไทยนั้น ในยุคแรกอาจจะไม่ปรากฏอะไรในการเข้าไปทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือว่าที่ดินในราชพัสดุมากนัก ในแต่ละพื้นที่ชาวบ้านยังมีส่วนร่วมในอุทยาน สามารถขายสินค้า หรือของที่ระลึกได้ นักท่องเที่ยวก็เข้าไปชื่นชมเป็นปกติ แต่ในเวลานี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ มันเป็นเรื่องใหญ่โตและน่าเป็นห่วงมาก หลายสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่ามีกระบวนการของหลายๆ ฝ่ายที่จะพยายามยอมรับในหลักการ และเหตุผลที่ว่าเอาธรรมชาติมาขายเพื่อให้เกิดรายได้ พร้อมๆ กับการใช้เหตุผลการอนุรักษ์ ใช้เหตุผลทางวิชาการเข้ามาเสริมว่าภายใต้ผืนป่าของเมืองไทยนั้นเราจะต้องหาเงิน และก็ต้องอนุรักษ์ไปพร้อมๆ ในเวลาเดียวกัน


ในส่วนนี้ไม่รู้ว่าสังคมไทยยอมรับหรือยัง แต่มันถูกชูขึ้นมาจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติและรัฐบาลที่พยายามจะหาเงินจากทรัพยากรของประเทศ โดยย้ำว่าต้องให้เกิดประโยชน์ที่สุดทางด้านเศรษฐกิจ แต่ว่าก็ยังรักษาธรรมชาติอยู่ ในสมัยก่อนประโยชน์สูงสุดของทรัพยากรธรรมชาติในด้านป่าไม้ เรามักจะคำนึงถึงเรื่องการศึกษาการวิจัย แต่ในปัจจุบันเรากลับพูดถึงเรื่องประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก สุวิทย์ กล่าว


ตัวแทนชาวบ้านจากเกาะเสม็ด กล่าวต่อว่า ประเด็นที่เป็นข่าวมาเรื่องการที่จะให้เอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์ ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งคิด แนวคิดแบบนี้มันถูกคิดมาก่อนปี 2544 ด้วยซ้ำ คิดมาตั้งแต่สมัยที่อุทยานยังสังกัดอยู่ในกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ในช่วงรัฐบาลทักษิณก็เริ่มมีแนวคิดที่จะจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมา มันเป็นร่องรอยของความพยายามที่จะบริหารอุทยานแห่งชาติในลักษณะเบ็ดเสร็จ


นโยบายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรงคือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนที่มีนโยบายรองรับการแปลงทรัพย์สินสาธารณะแผ่นดินเป็นทุน โดยในนโยบายใหญ่นั้นมีหลายส่วน และการแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติก็เป็นเพียงส่วนเดียวที่จะหาประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดิน เมื่อมีนโยบายตรงนี้แล้วเราก็จะเห็นร่องรอยของความพยายามให้กรมอุทยานเข้ามาบริหาร แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คนที่เป็นผู้ผลักดันกฎหมายอุทยานก็ล้วนมีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีกับเจ้าหน้าที่ในเชิงนโยบาย ตัวแทนชาวบ้านจากเกาะเสม็ด กล่าว


มาตรการจำกัดนักท่องเที่ยว


สุวิทย์ เปิดเผยว่า ตอนนี้ทางกรมอุทยานมีการออกมาตรการการจำกัดนักท่องเที่ยวหรือที่เรียกกันว่า carrying capacity ดูเหมือนว่ามาตรการนี้จะมีความชอบธรรมในทางวิชาการ แต่คิดว่าในท้ายที่สุดมาตรการนี้ก็จะออกมาว่านักท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ที่เข้าไปเกินขีดความสามารถที่อุทยานจะรองรับได้ และสุดท้ายก็จะมีการคัดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ นำไปสู่นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง จะต้องมีความจำเป็นในการจำกัดนักท่องเที่ยว เพราะหากเราพูดถึงเรื่องการพัฒนาหรือการอนุรักษ์เราจะพูดถึงเรื่องจิตสำนึก แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวเราจะเริ่มพูดถึงการแบ่งคนในสังคมว่า คนๆ นั้นเป็นคนที่มีเงินก็สามารถจะเที่ยวได้ ส่วนคนที่ไม่มีเงินก็ไม่สามารถเที่ยวได้


เมื่อเกาะเสม็ด ไม่มีพื้นที่สำหรับชาวบ้าน


ดุจหทัย นาวาพาณิช ตัวแทนองค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ด กล่าวว่า ชาวบ้านเกาะเสม็ดถูกอุทยานแห่งชาติประกาศทับพื้นที่เมื่อปี 2524 ตอนปี 2533 เมื่อมีนโยบายปิดป่าออกมา ผลปรากฏว่าชาวบ้านถูกจับทั้งเกาะ และระหว่างที่เป็นคดีความกันอยู่ก็มีความพยายามที่จะให้เช่า มีระเบียบการเช่าตอนปี 2536 ออกมา แต่ชาวบ้านไม่รับเนื้อหาของสัญญาเช่า จนกระทั่งปลายปี 2543 อุทยานยกเลิกระเบียบการเช่าที่เคยประกาศไป แล้วอ้างเหตุผลว่าอุทยานไม่มีสิทธิที่จะให้เช่าตามระเบียบการเช่านั้นได้ จึงไปดึงระเบียบการเช่าของกรมธนารักษ์เข้ามา เพราะอ้างว่าพื้นที่อุทยานเป็นทั้งพื้นที่อุทยานและในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ราชพัสดุด้วย จึงไปดึงระเบียบของกรมธนารักษ์ลงมา ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าในพื้นที่เดียวกันนั้นมี
กฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติบังคับใช้ 2 ฉบับ ชาวบ้านจึงงงมากว่าจะเอาอย่างไร จะบังคับใช้แบบไหน

กรณีที่เกิดขึ้นจึงนำไปสู่ถึงระเบียบ ตท.4 ซึ่งบังคับใช้เมื่อตอนเดือนกุมภาพันธ์ 2547 เป็นการเช่าสำหรับการเปิดร้านที่ระลึก การเปิดเพิงขายอาหาร การนำเอายานพาหนะเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้บริการ แต่กรณีของเกาะเสม็ดก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะว่าในกรณีของเกาะเสม็ดนั้นเป็นรีสอร์ทเกือบทั้งหมด เป็นชาวบ้านที่เปลี่ยนตัวเองจากชาวประมงมาสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่น


ขณะที่สุวิทย์ กล่าวเสริมว่า กรณีเกาะเสม็ดนั้นสามารถใช้เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี เกาะเสม็ดเป็นพื้นที่ที่อุทยานประกาศทับซ้อนพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งใน พ...อุทยานมาตรา 6 อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ประกาศพื้นที่ป่าทับพื้นที่ของชาวบ้านได้ในกรณีที่ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ อันนี้ก็เป็นปัญหาทางข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านมาตลอด 26 ปีมาแล้ว สุดท้ายช่วงปี 2543 เริ่มมีการพูดถึงนโยบายเพื่อให้เช่า แต่ระเบียบการให้เช่าที่ออกมานั้นไม่ได้สอดคล้องกับชุมชนแม้แต่น้อย เพราะว่าที่เกาะเสม็ดมีบ้านเรือน โรงเรือนใหญ่ๆ หรือว่าโรงเรียนเต็มไปหมด ก็นำไปสู่การแก้ไขระเบียบให้เช่าพื้นที่อุทยาน ตนเข้าใจว่าเป็นความพยายามหนึ่งในการแก้ไขกฎหมายอุทยาน แต่ว่าไม่สามารถแก้ไขได้ จึงทำได้เพียงแค่นั้น ซึ่งชาวบ้านไม่ยอม เพราะเขาคิดว่าต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินไปอย่างแน่นอน


คลอด อพท.ทำแผนกวาดทรัพยากรป้อนเอกชน


สุวิทย์ กล่าวอีกว่า นโยบายที่ออกมาก็เป็นนโยบายที่มีแผนแม่บทรองรับ ในกรณีของพื้นที่เกาะเสม็ดเป็นพื้นที่ที่มีความพยายามจะประกาศเป็นพื้นที่พิเศษขึ้นมา โดยใช้กฎหมายพื้นที่พิเศษเป็นพระราชกฤษฎีกา และตั้งอีกหน่วยงานหนึ่งเรียกว่า อพท.( องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) โดยหน่วยงานนี้มีหน้าที่ทำแผน เพื่อป้อนให้กับแหล่งการลงทุนระดับโลก และเป็นนายหน้าในการดึงกลุ่มการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในแผนการลงทุนที่เขาเป็นคนทำ โดยจะมีกรอบใหญ่ มีโครงการที่เอาทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ออป. แปลงเป็นทุนแล้วให้เอกชนรายใหญ่เช่า ซึ่งเป็นเป้าหมายที่วางเอาไว้ เพราฉะนั้นจะต้องมีการแก้กฎหมายหลายเรื่อง


ในส่วนแรก ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายอุทยานก่อน เพื่อจะเอาพื้นที่นั้นไปให้กับเอกชนเช่า ในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา มีการยกร่างโดย อ.ศรีราชา เจริญพาณิชย์ กับคนอื่นๆ อีกหลายๆ คนที่เป็นข้าราชการในกรมอุทยาน ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับคนหลายๆ ส่วน ในส่วนที่เป็นนักลงทุน ก็จะเป็นส่วนที่เป็นมืออาชีพที่มีบทเรียน จากบาหลี ลังกาวี มัลดีฟต์ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มทุนที่มีเงินทั้งนั้น เมื่อแก้กฎหมายเสร็จก็มีการตั้ง อพท.ขึ้นมา ซึ่งองค์กรนี้มีหน้าที่ดึง กลุ่มทุน ทำแผนการลงทุนที่ประกาศทับพื้นที่อุทยานทั้งหมด มีกรมโยธา และผังเมืองระบุว่าจะต้องทำอะไรตามแผนแม่บทที่ระบุเอาไว้ชัดเจน คือเอ็กซ์คลูซีฟโซน ท่าเรือ มารีน่า มีแผนมาเบ็ดเสร็จเพื่อที่จะยกระดับมาเป็นระดับโลก สุวิทย์ กล่าว


ด้านดุจหทัย กล่าวเสริมว่า ในขณะเดียวกัน เมื่อรัฐมีนโยบายปรับระดับการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อหารายได้แทนที่ภาคเกษตรกรรม หรือว่าอุตสาหกรรม รัฐมองเห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นสิ่วที่น่าจะดึงรายได้มากที่สุด จากความคิดนี้ก็เกิดองค์กรหนึ่งที่เรียกว่า อพท. ขึ้นมา สิ่งที่เขาทำคือแผนแม่บท พยายามที่จะทำให้เกาะเสม็ด หรือว่าพื้นที่อื่นๆ เป็นพื้นที่ระดับการท่องเที่ยวมาตรฐานสากล โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกันในชุมชนว่าการท่องเที่ยวเพื่อหาเงิน กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นจะไปด้วยกันได้อย่างไร


ดุจหทัย กล่าวต่ออีกว่า แผนแม่บท อพท. ก็จะเข้าไปรองรับกันพอดีกับการแก้กฎหมายอุทยาน เพราะว่าระเบียบ อท.4 นั้นไม่สอดคล้องจริงๆ กับการให้เข้าไปทำกิจการรีสอร์ท การแก้ไขกฎหมายอุทยานจึงเกิดขึ้น การที่เขียนว่าต้องการให้เอกชนมืออาชีพเข้ามาบริหารอุทยาน เพราะว่าเขาเห็นว่าชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถจัดการการท่องเที่ยวได้ แม้กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ไม่มีศักยภาพ เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องดึงนักบริหารกลุ่มทุนมืออาชีพเข้ามาจัดการบริหารอุทยาน ซึ่งคิดว่าเป็นเบื้องหลังความคิดในการแก้ไข พ...อุทยานฉบับนี้


ขณะที่เรื่องเดียวกันนี้ สุวิทย์ กล่าวเสริมว่า ต้องมีการแก้กฎหมายอุทยานรองรับ เพราะฉะนั้นมันก็ทำไม่ได้ กลุ่มทุนที่เข้าไปเป็นบอร์ด อพท. หรือว่าเป็นที่ปรึกษา อพท. นั้น ณ วันนี้ เป็นกลุ่มทุนใหญ่ทั้งหมด เกษตรยักษ์ใหญ่กลุ่มหนึ่ง กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มบ้านปู


ชาวบ้านกับกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่


ดุจหทัย กล่าวว่า ในกรณีพื้นที่เกาะเสม็ดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้แผนการพัฒนาของ อพท. ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยาน ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยสิ้นเชิง และไม่เหมาะกับลักษณะของชุมชน ไม่ว่าในแนวทางไหน ยกตัวอย่างกรณีเกาะช้างซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ อพท.ประกาศขึ้นมาอุทยานมีปัญหากับชาวบ้านอย่างรุนแรง ชาวบ้านที่ทำสวนยางพาราก่อนอุทยานมากว่า 10 ปี พอแผนของ อพท.เข้ามาเพื่อพัฒนาพื้นที่เกาะ เริ่มมีปัญหา ชาวบ้านไม่สามารถกรีดยางได้ แต่ว่าในแผนแม่บทของ อพท.กลับมีโครงการที่น่าสนใจอย่างยิ่งยกตัวอย่างว่าแผนการทำสนามกอล์ฟ เพื่อที่จะรักษาระบบนิเวศน์ ประมาณ 6 สนาม เรามองว่าขณะที่อุทยานไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันกลับจะให้เอกชนเข้าไปสร้างสนามกอล์ฟขึ้นมา


เลือกพื้นที่ป่าเหตุชาวบ้านเปราะบางในเรื่องสิทธิ


เจ้าหน้าที่องค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ด กล่าวต่ออีกว่า ถามว่าทำไมต้องเป็นพื้นที่อุทยาน คิดว่าส่วนใหญ่แล้ว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินั้นชาวบ้านมีความเปราะบางในกรรมสิทธิ์ของที่ดิน กฎหมายอุทยานจึงเป็นยาแรงในการจัดการกับชาวบ้าน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมพื้นที่ อพท. ที่ออกมาก่อนการแก้กฎหมายอุทยาน ส่วนใหญ่จึงเป็นพื้นที่อุทยานทั้งสิ้น เพราะว่า อพท. ต้องการเอากลุ่มทุนลงในพื้นที่อุทยาน แต่ว่าระเบียบ ตท.4 ที่มีอยู่แล้วนั้นไม่เอื้อ จึงต้องมีการแก้ไข


เปลี่ยนชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก


เราไม่เห็นด้วยในการที่จะเอาพื้นที่เกาะหรือว่าอุทยานมาเป็นพื้นที่สัมปทาน เพราะว่ามันควรจะเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศ การที่จะเอาให้กับเอกชนนั้นเรารู้อยู่ว่าคงไม่ใช่ตาสี ตาสา แน่นอนที่จะเข้าไปจัดการการท่องเที่ยว จะมีคนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่จะไปทำ พื้นที่รีสอร์ทห้าดาว ชายหาดที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินกลายเป็นส่วนตัว ชาวบ้านเข้าไปไม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้นทะเลข้างหน้าหาดที่ชาวบ้านเคยไปหาปลา ได้หาหอย แต่ว่าก็ไม่สามารถจะเข้าไปในพื้นที่ได้ ก็จะส่งผลกระทบกับชุมชน หรือว่าวิถีชีวิตของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่องค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ด กล่าว


ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น


สุวิทย์ กล่าวว่า คำถามที่ว่าแล้วใครเป็นผู้เสียหายในกรณีเหล่านั้น ข้าราชการสูงเป็นบอร์ดใน อพท. ซึ่ง อพท.มีหน้าที่ทำแผนการลงทุน แล้วดึงกลุ่มทุนขึ้นมา แล้วเอาเงินภาษีไปทำสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ หรือสนามกอล์ฟให้เอกชนร่วมทุน เอาที่ดินของหลวงกับที่ดินเอกชนร่วมกัน เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทมหาชนหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ในนามของ อพท.ก่อน ก่อนที่จะยุบตัว หรือว่าจัดระบบเพื่อที่จะเอื้อให้กับเอกชนเข้ามาร่วมทุนได้ ซึ่งอันนี้เป็นลักษณะเป้าหมายที่เขาต้องการให้เป็น


เพราะฉะนั้นการแก้ไขกฎหมายอุทยานเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเปิดช่องให้เอกชนเข้ามา สิ่งที่น่าสังเกตคือ ที่เขาบอกว่าต่อไปนี้ อุทยานจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่ใช่มีส่วนร่วมในความหมายของป่าชุมชนที่เรารู้ จะเป็นการเอื้อให้ภาคเอกชนเข้ามาในส่วนนี้ ตัวแทนชาวบ้านจากเกาะเสม็ด กล่าวทิ้งท้าย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net