Skip to main content
sharethis


ชื่อบทความเดิม: อุโมงค์ผันน้ำโขง จะเดินหน้าไม่ได้


                          หากไม่หันกลับไปประเมินความคุ้มค่าจากโครงการโขงชีมูลเสียก่อน


 

 


เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์


กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา


 


1. แนวผันน้ำที่บกพร่อง


เขื่อนกักเก็บน้ำหนองหานกุมภวาปี แต่ข้าราชการและนักการเมืองที่ผลักดันโครงการนี้เรียกว่าฝาย เป็นเขื่อนหรือโครงการย่อยตัวหนึ่งของโครงการโขงชีมูลฉบับเต็ม [1] ที่ถูกเลือกสำหรับการสูบน้ำโขงเข้ามาเติมตามแนวผันน้ำห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี เพื่อเชื่อมต่อไปยังอ่างเก็บน้ำลำปาว และลุ่มน้ำชี-มูนต่อไป


            โครงการหนองหานกุมภวาปีได้เริ่มดำเนินการศึกษา สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการตั้งแต่ปลายปีงบประมาณ 2532 และเริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2534 แล้วเสร็จในปี 2537 ลักษณะโครงการเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เกินกว่าจะเรียกว่าฝาย สามารถกักเก็บน้ำและยกระดับน้ำในลำน้ำปาวเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร และมีคันดินกั้นน้ำ (dike) ล้อมรอบหนองหานยาว 112 กิโลเมตร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ มีพื้นที่ผิวน้ำกักเก็บประมาณ 36 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,500 ไร่ ปริมาตรน้ำกักเก็บ 102 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นประตูเหล็กระบายน้ำ 5 บาน แต่ละบานมีความสูง 4.3 เมตร และกว้าง 12 เมตร โดยความสูงของคันดินกั้นน้ำประมาณ 4 เมตร และกว้างประมาณ 3-6 เมตร มีสถานีสูบน้ำรวม 14 สถานี เพื่อปล่อยน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูก 55,000 ไร่ ราคาค่าก่อสร้างโครงการประมาณ 920 ล้านบาท  


ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงจะมีระดับท้องน้ำอยู่ที่ 151 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตร รทก.) และมีระดับกักเก็บน้ำที่ 160 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตร รทก.) โดยจะสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นปากห้วยหลวงห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 1 กิโลเมตร และจะสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำโขงเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ต่อจากนั้นก็จะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงเข้าคลองสาย A เพื่อนำน้ำสู่อ่างเก็บน้ำหนองหานกุมภวาปีอีกทอดหนึ่ง แต่น้ำทั้งหมดไม่สามารถไหลเข้ามาด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกได้ เพราะระดับเก็บกักน้ำของอ่างห้วยหลวงอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าระดับท้องน้ำของอ่างเก็บน้ำหนองหานกุมภวาปีประมาณ 6 เมตร ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยทำการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าส่งเข้ามาตามคลองสาย A แทน


            นั่นก็เท่ากับว่าเราต้องใช้ไฟฟ้าสูบน้ำหลายทอด เพื่อลำเลียงน้ำจากที่ต่ำไปสู่ที่สูงกว่า ตามแนวคลองผันน้ำสาย A ซึ่งมีความยาวกว่า 60 กิโลเมตร และยังจะต้องสร้างสถานีสูบน้ำตามแนวคลองสาย A ไว้เป็นช่วง ๆ เพื่อเพิ่มแรงดันของน้ำให้ไหลมาสู่อ่างเก็บน้ำหนองหานกุมภวาปีให้เร็วขึ้นอีกด้วย นั่นก็หมายความว่าเราจะสูญเสียค่าไฟฟ้าสูบน้ำหลายทอดกว่าน้ำจะถึงหนองหานกุมภวาปี ตรงจุดนี้เองที่ทำให้แนวผันน้ำนี้มีความบกพร่อง            


เหตุที่ต้องเลือกแนวผันน้ำห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี ตามคลองผันน้ำสาย A ก็เพราะมีแรงผลักดันจากนักการเมืองจังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมอยู่ในขณะนั้น เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้อนโครงการโขงชีมูลเข้าสู่นโยบายการเมือง "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ในยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ.2531-2534) ก็เพราะว่าแนวผันน้ำนี้พาดผ่านจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของนักการเมืองคนดังกล่าว แม้ข้าราชการส่วนใหญ่ในกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน [2] ได้ทักท้วงว่าแนวผันน้ำนี้ไม่เหมาะสม มีความบกพร่องสูงจากการใช้กระแสไฟฟ้าสูบน้ำสูงมาก ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อความคุ้มทุนของโครงการโขงชีมูลโดยรวม แต่นักการเมืองคนดังกล่าวก็ยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและหนองหานกุมภวาปีเพื่อเตรียมการรองรับการผันน้ำโขงเข้ามา หากโครงการโขงชีมูลในส่วนที่ใช้น้ำโขงมีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในอนาคต


 


 



แผนภาพ แนวผันน้ำห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี ตามคลองสาย A


 


ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและหนองหานกุมภวาปีได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยมาหลายปีแล้ว แต่การผันน้ำโขงเข้ามาตามแนวผันน้ำนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2537 [3] ให้ระงับโครงการโขงชีมูลในส่วนที่ใช้น้ำโขงเอาไว้ก่อน แต่หลังจากการแถลงผลักดันโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทย ในขณะนั้น ไปก่อนหน้านี้ จึงทำให้การผันน้ำโขงเข้ามาใช้สำหรับการเกษตรภายในประเทศมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกแนวผันน้ำโขงไว้หลายแนวทาง หนึ่งในนั้นก็คือแนวผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึมสู่ห้วยหลวง  


โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงของนายสมัคร สุนทรเวช และพรรคพลังประชาชน คาดว่าคงใช้แนวผันน้ำหลายแนวทาง เพื่อทำให้น้ำกระจายครอบคลุมทั่วภาคอีสานให้มากที่สุด ซึ่งแนวผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึมสู่ห้วยหลวงจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะมาต่อยอดกับระบบอ่างเก็บน้ำจากโครงการโขงชีมูลที่ได้ก่อสร้างรองรับเอาไว้แล้วได้ แต่มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง 2 ประการ คือ


1) แนวผันน้ำนี้ไม่สามารถส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกได้ ต้องใช้การสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง กล่าวคือเมื่อผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึมใส่ท่อลอดใต้แม่น้ำโขงมาที่ห้วยหลวงแล้วจะต้องนำปริมาณน้ำที่ได้จากเขื่อนน้ำงึมทั้งหมดมาไว้ที่หนองหานกุมภวาปี ซึ่งเป็นจุดที่สูงกว่าห้วยหลวง จึงทำให้แนวผันน้ำนี้มีราคาค่าก่อสร้างโครงการสูงกว่าแนวผันน้ำอื่นที่สามารถส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกได้


2) น้ำที่จะผันมาจากเขื่อนน้ำงึมมีปริมาณเท่าไหร่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด หากเป็นตัวเลขที่กรมทรัพยากรน้ำเคยศึกษาไว้ในแผนปฏิบัติการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเมื่อปี 2536 ก็คือจะทำการผันน้ำในอัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อป้อนพื้นที่เกษตรกรรม 1.2 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำสูงถึง 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นย่อมหมายความว่าเราจะต้องมีอ่างเก็บน้ำหนองหานกุมภวาปีถึง 23 ตัว เพื่อรองรับน้ำที่ผันมาจากเขื่อนน้ำงึมได้หมด    


 


จากสิ่งที่ต้องคำนึงถึง 2 ประการ จึงเห็นได้ว่าแนวผันน้ำนี้ไม่ได้สรุปบทเรียนข้อผิดพลาด


ในอดีตตั้งแต่โครงการโขงชีมูลเลย แม้จะรู้ว่าแนวผันน้ำนี้มีราคาค่าก่อสร้างสูงและให้ผลตอบแทนต่อเกษตรกรต่ำก็ยังคงผลักดันต่อไป มิหนำซ้ำปริมาณน้ำจากน้ำงึมที่จะผันเข้ามาเป็นจำนวนมากจะทำให้อ่างเก็บน้ำหนองหานกุมภวาปีไม่สามารถแบกรับได้ จึงทำให้เห็นแผนการในอนาคตของโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงแล้วว่าจะต้องทำการเสริมคันเขื่อนและคันดินกั้นน้ำรอบอ่างหนองหานกุมภวาปี และเขื่อนลำปาวให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อรองรับน้ำจากเขื่อนน้ำงึมได้หมด   


ปัจจุบันโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำหนองหานกุมภวาปีมีปริมาตรน้ำกักเก็บที่ 102 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้ถูกชาวบ้านเรียกร้องค่าชดเชยคิดเป็นจำนวนเงินสูงเกือบ 500 ล้านบาท จากหลายสาเหตุ ได้แก่ ที่นาอยู่ในอ่างเก็บน้ำถูกล้อมรอบไว้โดยคันดินกั้นน้ำ  คันดินกั้นน้ำทับที่นา  และน้ำท่วมขังในที่นาและที่อยู่อาศัยเพราะถูกคันดินสกัดกั้นไว้ไม่ให้ไหลลงหนองหาน นี่คือความเสียหายจากโครงการดังกล่าวที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามที่ร้องขอ เพราะรัฐบาลไม่ยอมให้และถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกม็อบเดินขบวนที่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้นเพื่อหลอกลวงเอาเงินค่าชดเชยจากรัฐ หากหนองหานกุมภวาปีและเขื่อนลำปาวจะต้องเสริมคันเขื่อนและคันดินกั้นน้ำสูงขึ้นไปอีก ก็ย่อมจะมีผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมนาและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกมากอย่างแน่นอน


 


2. โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ด้อยประสิทธิภาพ   


โครงการโขงชีมูลคือโครงการต่อขยายมาจากโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า [4] เพื่อต้องการยกระดับน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ ให้สูงขึ้นด้วยการสร้างเขื่อนหรือฝายเพื่อที่จะให้สูบน้ำด้วยไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะฤดูแล้ง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำนาฤดูแล้งแก่เกษตรกรว่าน้ำจะพอใช้ไม่ขาดแคลน                      


จากตัวเลขเมื่อปี 2542 [5] กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้จัดตั้งโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากระจายไปทั่วประเทศ โดยจำนวนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ได้ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2516 - 2542 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,984 สถานี มีพื้นที่ส่งน้ำรวม 3,073,766 ไร่ หากกล่าวเฉพาะในภาคอีสานมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 975 สถานี มีพื้นที่ส่งน้ำรวม 1,522,884 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22 ของพื้นที่ชลประทานทั้งหมดในภาคอีสาน (พื้นที่ชลประทานในภาคอีสานเมื่อปี 2541 ประมาณ 6.8 ล้านไร่)  


นับตั้งแต่มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแห่งแรกในภาคอีสานเมื่อปี 2510 จนมาถึงปี 2542 มีพื้นที่ทำการเกษตรฤดูแล้งจากโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในภาคอีสานอยู่ในอัตราเฉลี่ยเพียงร้อยละ 14 ของพื้นที่ส่งน้ำเท่านั้น หรือหากคิดพื้นที่ส่งน้ำโดยเฉลี่ย 1,500 ไร่ ต่อ 1 สถานีสูบน้ำ จะมีพื้นที่ที่ทำการเกษตรเพียง 210 ไร่ เท่านั้น


ตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา พื้นที่ส่งน้ำจากโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจาก 1,000 ไร่ เป็น 1,522,884 ไร่ ในปี 2542 แต่ปรากฎว่าการใช้น้ำของเกษตรกรในภาคอีสานในพื้นที่ส่งน้ำเติบโตช้ามาก อัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 14 เท่านั้น


นี่คือตัวเลขที่ได้ทำการวิเคราะห์เอาไว้ตั้งแต่ปี 2543 แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าได้มีการใช้พื้นที่ทำการเกษตรฤดูแล้งจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในภาคอีสานสูงขึ้นแต่อย่างใด


โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานและรัฐบาลประกาศถึงความสำเร็จตลอดมา แท้จริงแล้วประสิทธิภาพและความสำเร็จถูกประเมินจากการขยายสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและพื้นที่ส่งน้ำเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวคิดของ "การจัดหาน้ำ" ไม่ใช่ "ความต้องการน้ำ" ที่แท้จริงของเกษตรกรเลย  


จุดมุ่งหมายที่สำคัญ 2 ประการ ของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้านั่นก็คือ หนึ่ง-หาน้ำมาให้เกษตรกร และสอง-ต้องบริหารและส่งเสริมการใช้น้ำให้ได้ตามเป้าหมายด้วยการ "ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต" เนื่องจากว่าเกษตรกรจำเป็นต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูบน้ำ ดังนั้น จะต้องปลูกพืชเศรษฐกิจที่ขายได้ราคาดี ไม่ใช่ปลูกข้าวเพียงชนิดเดียว โดยจะต้องทำการปรับรูปแบบการเพาะปลูกของชาวบ้านให้เหมาะสมสำหรับเกษตรอุตสาหกรรม และเหมาะสมกับการวางแผนการใช้น้ำของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชอย่างมะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง หน่อไม้ไผ่ตง เมล็ดพันธุ์ผักและผลไม้ในท้องถิ่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพด พริก ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และงา เป็นต้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่โครงการอีสานเขียวเมื่อประมาณปี 2529 จนถึงปัจจุบัน กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากภาวะหนี้สินของเกษตรกรที่หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้แต่กลับขายไม่คุ้มทุน   


            ดังนั้นเอง โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงจะใช้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเหมือนโครงการโขงชีมูล หรือว่าจะใช้ท่อส่งน้ำก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องไม่ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาวะหนี้สินจากการจ่ายค่าไฟฟ้าสูบน้ำหรือค่าท่อส่งน้ำ และจากการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจของรัฐและขายไม่ได้ราคา ถ้าไม่เช่นนั้นโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงก็คงจะล้มเหลวเหมือนโครงการโขงชีมูลอย่างแน่นอน


 


3. มติคณะรัฐมนตรีให้ประเมินผลความคุ้มค่าของการใช้น้ำภายในประเทศก่อนริเริ่มสูบน้ำโขง


ในปี 2530 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจัดทำรายงานเบื้องต้น (Desk study) ในการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาสู่ลุ่มน้ำมูนและชี โดยให้ชื่อว่า "โครงการโขงชีมูล" หลังจากนั้นได้มีการศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนก่อสร้างโครงการโขงชีมูล


สิงหาคม 2531 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้นำเสนอโครงการโขงชีมูลเข้าบรรจุในแผนงานของโครงการน้ำพระทัยจากในหลวงตามแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับงบประมาณสำหรับการสำรวจและเก็บข้อมูลเท่านั้น


ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้นำเสนอโครงการโขงชีมูลต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดขอนแก่น สมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการโครงการโขงชีมูล ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (2533 - 2535) วงเงินงบประมาณ 18,000 ล้านบาท และให้เริ่มงานสำรวจและศึกษาความเหมาะสมโครงการทันที ทั้งนี้ให้ทำการสำรวจและออกแบบในส่วนที่สามารถจะดำเนินการได้ก่อน เช่น การปรับปรุงหนองหานกุมภวาปี และก่อสร้างฝายยางที่ลำน้ำปาว


งานศึกษาความเหมาะสมและรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2535 ได้ผลสรุปว่ามีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ มีศักยภาพทางเทคนิค สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรได้ ประมาณ 4.98 ล้านไร่  ในพื้นที่ 15 จังหวัด กำหนดแผนพัฒนาโครงการเป็น 3 ระยะ รวม 42 ปี(2535-2576) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 228,000 ล้านบาท โดยส่วนประกอบของโครงการทั้ง 3 ระยะ จะใช้น้ำภายในประเทศเพียง 734,540 ไร่ (รวมการปรับปรุงระบบชลประทานเดิมของเขื่อนลำปาว 305,000 ไร่ ด้วย) ที่เหลือนอกจากนั้นจะใช้น้ำโขงถึง 4,272,050 ไร่  


ปี 2536 ในคราวการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 26 กรกฎาคม 2536 ได้เห็นชอบกับรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโขงชีมูล โดยมีเงื่อนไขให้ชะลอโครงการในส่วนที่ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเอาไว้ก่อน เพราะเกรงผลกระทบจากการผันน้ำโขงเข้ามาจะสร้างปัญหาต่อการแพร่กระจายดินเค็มและน้ำเค็มที่จะขยายไปยังพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงให้มีการศึกษาข้อมูลด้านผลกระทบที่เกิดจากการแพร่กระจายดินเค็มและน้ำขังเพิ่มเติม พร้อมทั้งศึกษาหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่มีผลในทางปฏิบัติด้วย  


           


 


ต่อมากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้นำเสนอผลการศึกษาใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติทบทวนแผนการดำเนินงาน และวงเงินที่จะใช้ในโครงการโขงชีมูลใหม่ โดยจะดำเนินการเฉพาะในแผนพัฒนาระยะที่ 1 ทั้ง 3 ขั้นตอนก่อน ได้พื้นที่ชลประทาน 2.323 ล้านไร่ ในวงเงิน 39,508 ล้านบาท และใช้น้ำจากแม่น้ำโขง 1,614,520 ไร่ ใช้น้ำในประเทศ 734,540 ไร่ (รวมการปรับปรุงระบบชลประทานเดิมของเขื่อนลำปาว 305,000 ไร่ ด้วย)


โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานดำเนินการตามแผนพัฒนาระยะที่ 1 เฉพาะขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยใช้น้ำภายในประเทศ ประกอบด้วยก่อสร้างเขื่อนหรืออาคารบังคับน้ำและระบบชลประทานในลุ่มน้ำมูนและชี รวม 13 โครงการย่อย วงเงิน 9,996 ล้านบาท และโครงการระบบชลประทานรอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง 350 ล้านบาท รวมเป็น 14 โครงการย่อย รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 10,346 ล้านบาท สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้ 525,592 ไร่ ในระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ ปี 2535 - 2543


สำหรับการพัฒนาตามแผนพัฒนาระยะที่ 1 ที่เหลือ คือ ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นการนำน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเพื่อพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มเติมจากส่วนที่เหลืออีก 1.813 ล้านไร่ นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานศึกษารายละเอียดและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง


ดังนั้นเอง ก่อนที่โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงจะเดินหน้าต่อไปจะต้องทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการโขงชีมูลในส่วนที่ใช้น้ำภายในประเทศซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเสียก่อน ไม่ใช่เดินหน้าต่อไปโดยไม่รับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ที่มักถูกบอกปัดความรับผิดชอบจากนักการเมืองและข้าราชการประจำเสมอมา


 


 


4. การศึกษาผลกระทบเรื่องการแพร่กระจายดินเค็มที่หายสาบสูญ


เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้โครงการโขงชีมูลในส่วนที่จะต้องใช้น้ำโขงถูกยับยั้งเอาไว้ก็เนื่องมาจากความกังวลต่อเรื่องการแพร่กระจายของดินเค็มและน้ำเค็มที่จะขยายไปยังพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเกษตรกรรม


โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีการประชุมครั้งที่ 4/2536 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2536 ต่อการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโขงชีมูล เห็นว่าการศึกษาผลกระทบของการแพร่กระจายดินเค็มและน้ำเค็มจากการชลประทานในพื้นที่โครงการยังไม่ชัดเจน จึงได้มีมติให้โครงการโขงชีมูลสนับสนุนงบประมาณให้กรมพัฒนาที่ดินศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการแพร่กระจายของดินเค็มและน้ำขังอันเนื่องจากการดำเนินโครงการ และให้โครงการโขงชีมูลทำการว่าจ้างสถาบันการศึกษา จัดทำแบบจำลองทางอุทกธรณีวิทยาของการแพร่กระจายดินเค็มจากการละลายเกลือ การเพิ่มระดับน้ำใต้ดินอันเนื่องจากการสร้างฝาย คลองส่งน้ำ และการชลประทาน โดยให้ใช้ข้อมูลของดินและน้ำใต้ดินในทุกพื้นที่ในคาบเวลาต่าง ๆ เช่น 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี เป็นต้น พร้อมทั้งศึกษาหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่มีผลในทางปฏิบัติ


จนบัดนี้งานศึกษาที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานใช้งบเกือบ 40 ล้านบาท ว่าจ้างกรมพัฒนาที่ดินและคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ศึกษาผลกระทบจากการแพร่กระจายดินเค็มและน้ำเค็มของทั้งเกลือผิวดินและใต้ดิน ก็ยังไม่มีใครได้เห็นรายงานดังกล่าวว่าทั้ง 2 หน่วยงานที่รับจ้างไปนั้นได้ทำการศึกษาเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และมีผลออกมาเป็นประการใด ทำไมถึงหายสาบสูญไปจากความคิดคำนึงของนักการเมืองและข้าราชการที่ผลักดันโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขง


การแพร่กระจายดินเค็มและน้ำเค็มที่อาจจะขยายไปยังพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเกษตรกรรมนั้น เป็นประเด็นที่เปราะบางมากต่อการทำระบบชลประทานในภาคอีสานโดยใช้น้ำภายในประเทศหรือนำน้ำโขงเข้ามาใช้ก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลและข้าราชการจะอ้างว่าข้อดีของทำการอุโมงค์ส่งน้ำก็คือ หลีกเลี่ยงผลกระทบของการแพร่กระจายดินเค็มในภาคอีสานและป้องกันการรั่วไหลของน้ำ แต่ในความเป็นจริงโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงไม่สามารถใช้อุโมงค์ส่งน้ำแต่เพียงอย่างเดียวได้ จะต้องมีอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บสะสมเอาไว้ใช้ควบคู่กันไปด้วย


ดังนั้น โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดจากการแพร่กระจายดินเค็มและน้ำเค็มไปได้ จึงต้องนำงานศึกษาที่ได้ว่าจ้างไว้มาเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อประเมินผลกระทบ ความคุ้มค่าและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการโ ขงชีมูลในส่วนที่ได้ดำเนินการผ่านมาเสียก่อน ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการใหม่ต่อไป


 


 


 


5. จากโขงชีมูลถึงโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขง เมื่อไหร่น้ำจะถึงไร่นาเกษตรกร


            ก่อนที่จะมาเป็นโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงของในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชาชนนั้น ได้มีโครงการต่อขยายมาจากโครงการโขงชีมูลอยู่ 2 โครงการ คือ โครงการเติมน้ำเติมชีวิต และโครงการชลประทานระบบท่อ เนื่องจากโครงการโขงชีมูลได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ระงับโครงการในส่วนที่นำน้ำโขงมาใช้เอาไว้ก่อน ทำให้นักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาแม่น้ำโขงต้องคิดโครงการใหม่เพื่อนำน้ำโขงเข้ามาใช้ให้ได้


            โครงการเติมน้ำเติมชีวิต หรือชื่อเต็มว่า "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ถูกผลักดันเมื่อประมาณปี 2542 ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย แนวคิดของโครงการนี้ได้ปฏิเสธแนวผันน้ำเก่าของโครงการโขงชีมูล คือแนวผันน้ำห้วยหลวง-หนองหาน โดยได้เสนอแนวผันน้ำแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ขึ้นมาแทน เพราะเป็นแนวผันน้ำที่มีความต่างของระดับพื้นที่ถึง 20 เมตร สามารถส่งน้ำไปตามแรงโน้มถ่วงของโลกได้ ไม่สิ้นเปลืองพลังงานในการสูบน้ำ


            ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่มาเป็นนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จึงมีโครงการชลประทานระบบท่อขึ้นมาแทน เป็นรูปแบบที่ทันสมัยและรวดเร็วกว่า โดยจะพัฒนาระบบท่อและเครือข่ายคลองส่งน้ำเชื่อมต่อกับระบบชลประทานในโครงการโขงชีมูล ให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี (2547-2551) เพื่อตอบสนองวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมผลผลิตการเกษตรให้เป็นครัวของโลก และเกษตรกรจะต้องหลุดพ้นความยากจน ตามนโยบาย "ขจัดความยากจนให้หมดไปใน 6 ปี" โดยกำหนดเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ส่งออกให้เป็น 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในปี 2551 และประชาชนยากจนที่มีรายได้น้อยจำนวนกว่า 35 ล้านคน จะทำให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 120,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ให้ได้


            จะเห็นได้ว่านักการเมืองไทยนิยมโครงการใหม่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่าต่อจากโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงแล้วประเทศเราจะมีโครงการอะไรใหม่อีก ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดสิ่งที่เกษตรกรรอคอยอยู่ก็คืออยากได้น้ำเข้าไปถึงในไร่นาแบบให้เปล่าเท่านั้น ไม่ใช่ผลักดันโครงการใหม่ ๆ เพียงเพราะคำนึงถึงเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความปรารถนาดีที่จะให้เกษตรกรในภาคอีสานได้รับน้ำเพื่อทำการผลิตให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างแท้จริง


และต้องไม่ลืมว่าจะต้องทำการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าจากโครงการโขงชีมูลในส่วนที่ได้ดำเนินการผ่านมาเสียก่อน ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการใหม่ต่อไป ถ้ามิเช่นนั้นเราจะไม่มีบทเรียนความล้มเหลวใด ๆ ของนักการเมืองและข้าราชการให้จดจำและถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์เพื่อเอาไว้บอกกล่าวพร่ำสอนให้ลูกหลานของเราได้เลย


 


 


 


 


……………………………………………..


เชิงอรรถ


[1] โครงการโขงชีมูลฉบับเต็ม มีองค์ประกอบของโครงการเป็นตัวเขื่อน ฝาย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า คลองผันน้ำและคลองส่งน้ำ ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายโครงการ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 4.98 ล้านไร่  ในพื้นที่ 15 จังหวัด ยกเว้นจังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร และหนองบัวลำภู  กำหนดแผนพัฒนาโครงการเป็น 3 ระยะ รวม 42 ปี (พ.ศ.2535-2576) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 228,000 ล้านบาท เพื่อจะพัฒนาพื้นที่ชลประทานบนลุ่มน้ำมูนและชี และลุ่มน้ำสาขาของลุ่มแม่น้ำโขงบางส่วน โดยการผันน้ำโขงข้ามลุ่มน้ำเข้ามายังลุ่มน้ำชีและมูน โดยส่วนประกอบของโครงการทั้ง 3 ระยะ จะใช้น้ำภายในประเทศเพียง 734,540 ไร่ (รวมการปรับปรุงระบบชลประทานเดิมของเขื่อนลำปาว 305,000 ไร่ ด้วย) ที่เหลือนอกจากนั้นจะใช้น้ำโขงถึง 4,272,050 ไร่


 


[2] กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ซึ่งเดิมชื่อว่า การพลังงานแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อ 7 มกราคม 2496 ต่อมาปี 2514 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานพลังงานแห่งชาติ เมื่อ 1 ตุลาคม 2514 - 2535, ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(พ.พ.) เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2535 อยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมจนถึงปี พ.ศ.2545, ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อและสังกัดใหม่อีกอันเนื่องมาจากการปฏิรูประบบราชการ โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ส่งผลให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานปรับเปลี่ยนชื่อเป็น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (โดยใช้ชื่อย่อเดิม คือ พ.พ.) นับตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2545 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546) จนถึงปัจจุบัน ภายใต้สังกัดกระทรวงที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ กระทรวงพลังงาน รับผิดชอบงานทางด้านการค้นคว้า ศึกษา วิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำที่เคยอยู่ในกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เช่น โครงการโขงชีมูล โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ฯลฯ ถูกถ่ายโอนไปที่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


 


[3] คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2537 ให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทำตามแผนพัฒนาระยะที่ 1 เฉพาะขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยใช้น้ำภายในประเทศก่อน ซึ่งประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนหรืออาคารบังคับน้ำและระบบชลประทานในลุ่มน้ำมูนและชี รวม 13 โครงการย่อย วงเงิน 9,996 ล้านบาท และโครงการระบบชลประทานรอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง 350 ล้านบาท รวมเป็น 14 โครงการย่อย รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 10,346 ล้านบาท สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้ 525,592 ไร่ ในระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ ปี 2535 - 2543


สำหรับการพัฒนาตามแผนพัฒนาระยะที่ 1 ที่เหลือ คือ ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นการนำน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเพื่อพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มเติมจากส่วนที่เหลืออีก 1.813 ล้านไร่ นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานศึกษารายละเอียดและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง


 


[4] หลังจากที่ได้มีการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าน้ำพุงที่จังหวัดสกลนครแล้วเสร็จเมื่อปี 2508 มีการใช้ไฟฟ้าในภาคอีสานน้อยกว่าที่ผลิตได้จากเขื่อนน้ำพุง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ทั้งรัฐบาลไทยและแผนการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เงินลงทุนไปอย่างมหาศาลและไม่คุ้มค่า โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแห่งแรกจึงเกิดขึ้นมาเมื่อปี 2510 ด้วยจุดประสงค์ที่จะตอบสนองการใช้ไฟในภาคอีสานให้มากขึ้น ต่อจากนั้นมาจึงเกิดการสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขึ้นอีกในหลายพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำของภาคอีสานและทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ จากหลายประเทศ รวมทั้งงบประมาณภายในประเทศเอง 


ซึ่งโครงการโขงชีมูลได้วางระบบเก็บกักน้ำและกระจายน้ำเอาไว้ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นส่วนของการผันน้ำและเขื่อน/ฝาย เพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ ส่วนที่สองคือการกระจายลงสู่พื้นที่การเกษตรของประชาชนด้วยโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้านั่นเอง ซึ่งเกษตรกรจะต้องเสียค่าสูบน้ำด้วยไฟฟ้าร่วมกับภาครัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ไม่ใช่การได้น้ำใช้เปล่า ๆ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าสูบน้ำจากหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในอัตราหน่วยละ 1.17 บาท แต่สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำจะต้องจ่ายในอัตราหน่วยละ 60 สตางค์เท่านั้น ตามจำนวนหน่วยที่ปรากฎในมิเตอร์ของ กฟภ.(ปัจจุบันราคาอาจเปลี่ยนแปลงไปตามราคาค่าไฟที่เพิ่มขึ้น)


 


[5] กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (2543). รายงานประจำปี 2542 โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า  ฝ่ายกิจการสูบน้ำ  ส่วนปฏิบัติการและบำรุงรักษา 2  สำนักปฏิบัติการและบำรุงรักษา  มิถุนายน 2543, 66 หน้า


 


 


 


 


…………………………………


เกี่ยวข้อง


รายงาน : อุโมงค์ผันน้ำโขง รากหญ้าอีสานจะได้ใช้น้ำ-ต้องเสียค่าน้ำหรือไม่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net